พืชผักไม้ผล สินค้าเกษตร GI ในแต่ละพื้นที่ ของดีแต่ละจังหวัด!

ภูมิประเทศที่แตกต่าง มีผลต่อรสชาติของไม้ผลนั่นๆ ด้วย และด้วยความแตกต่างนี้ทำให้พืชหลายชนิดมีลักษณะเฉพาะ โดยเฉพาะรสชาติที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ หรือที่เรียกกันว่า พืช GI

อย่างที่รู้จักก็ ทุเรียนเมืองนนท์ มะขามหวานเพชรบูรณ์ น้อยหน่าปากช่อง หลายๆ คนอาจจะเคยได้รู้จัก ลิ้มรส พืช GI เหล่านี้มาบ้าง ซึ่งความโดดเด่นและแตกต่างนี้เป็นตัวแปรทำให้สินค้า GI จำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้นด้วย

GI หรือ Geographical Indication ตามความหมายของกรมทรัพย์สินทางปัญญา อธิบายว่า คือ เครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้นๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเหมือนเป็นแบรนด์สินค้าของท้องถิ่นที่บ่งบอกคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า ภายใต้การดูแลของกรมทรัพย์สินทางปัญญา

สินค้า GI เป็นเครื่องหมายที่การันตีว่าสินค้าชิ้นนี้มีความแตกต่างจากลักษณะภูมิศาสตร์ที่ปลูก วิธีการผลิต ท้องถิ่นอื่นไม่มี เป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตามแร่ธาตุ อากาศ และดิน ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ทุเรียนเมืองนนท์จะมีกลิ่นและรสชาติแตกต่างจากทุเรียนจันท์ หรือกล้วยหอมทองพบพระที่มีรสชาติหอมหวาน เนื้อแน่นเหนียวหนึบ ผลโค้งเรียวยาว เปลือกบาง อันเป็นผลมาจากสภาพภูมิอากาศของอำเภอพบพระที่มีอากาศร้อนชื้นฝนตกสม่ำเสมอ เป็นต้น โดยสินค้า GI ในปี 2567 (อัปเดทเดือนมีนาคม) มีสินค้า GI มากถึง 200 รายการด้วยกัน

ขั้นตอนการยื่นคำร้องขอขึ้นทะเบียน

1.ยื่นคำร้องไปที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา
2.ผู้เชี่ยวชาญจะลงพื้นที่เข้ามาตรวจสอบใช้เวลา 120 วัน
3.หากคำร้องขอผ่านก็จะได้รับการประกาศโฆษณาให้คนทั่วไปทราบ แต่ถ้าหากคำร้องขอไม่ผ่านทางผู้ประกอบการต้องกลับไปแก้ไขและรวบรวมเนื้อหาใหม่อีกครั้ง
4.เมื่อประกาศโฆษณาแล้ว หากไม่มีคนคัดค้านก็สามารถผ่านไปขึ้นตอนการขึ้นทะเบียนได้ แต่ถ้ามีคนคัดค้านจะมีนายทะเบียนวินิจฉัยซึ่งจะทำการตรวจสอบภายใน 15 วัน
5.เมื่อผ่านทุกขึ้นตอนแล้วจะได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI ซึ่งใบอนุญาตจะมีอายุ 2 ปีเมื่อครบแล้วจะต้องดำเนินวิธีการขึ้นทะเบียนใหม่ตั้งแต่ต้น

ข้อดีผู้ที่ได้รับอนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ GI ไทย จะช่วยยกระดับสินค้าสู่ระดับพรีเมี่ยมและจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถต่อยอดใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดเพิ่มมูลค่าได้ แม้ว่าสินค้าเหล่านั้นจะมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์อยู่แล้วก็ตามที ไม่เพียงเท่านั้นผู้ผลิตมีสิทธิพิเศษสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เช่น โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ GI กิจกรรมส่งเสริมการเผยแพร่สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ตาม platform ต่าง ๆ เป็นต้น ไปจนถึงมีสิทธิได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เช่น GI Fest GI Market Thaifex ตลาดนัด GI เป็นต้น

จังหวัดไหนมีของดีสินค้าเกษตรที่ปลูกและเลี้ยงแล้วได้สินค้า GI ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะบ้าง ไปดูกันเลยค่ะ

พืช GI

พืช GI ภาคเหนือ

เชียงราย : กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง สับปะรดนางแล สับปะรดภูแลเชียงราย ชาเชียงราย ข้าวก่ำล้านนา ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย

กำแพงเพชร : กล้วยไข่กำแพงเพชร

เชียงใหม่ : กาแฟเทพเสด็จ ข้าวก่ำล้านนา

น่าน : ส้มสีทองน่าน เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน ข้าวก่ำล้านนา

พิจิตร : ส้มโอท่าข่อยเมืองพิจิตร ข้าวขาวกอเดียวพิจิตร

สุโขทัย : ส้มแม่สิน

พิษณุโลก : กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก

เพชรบูรณ์ : มะขามหวานเพชรบูรณ์ ข้าวไร่ลืมผัว

พืช GI

ภาคเหนือ

แม่ฮ่องสอน : ถั่วลายเสือแม่ฮ่องสอน กระเทียมแม่ฮ่องสอน ข้าวก่ำล้านนา

อุทัยธานี : ปลาแรดลุ่มน้ำสะแกกรัง อุทัยธานี

ลำพูน : ลำไยอบแห้งเนื้อสีทองลำพูน ลำไยเบี้ยวเขียวลำพูน ข้าวก่ำล้านนา

อุตรดิตถ์ : สับปะรดห้วยมุ่ย ทุเรียนหลงลับแลอุตรดิตถ์ ทุเรียนหลินลับแลอุตรดิตถ์

พะเยา : ลิ้นจี่แม่ใจพะเยา ข้าวหอมมะลิพะเยา ข้าวก่ำล้านนา

ตาก : กล้วยหอมทองพบพระ อะโวคาโดตาก

ลำปาง : ข้าวก่ำล้านนา ข้าวแต๋นลำปาง

แพร่ : ข้าวก่ำล้านนา

นครสวรรค์ : ข้าวหอมใบเตยนครสวรรค์

พืช GI

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ศรีสะเกษ : ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

เลย : ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงเมืองเลย

ร้อยเอ็ด : ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

มหาสารคาม : มันแก้วบรบือ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

บึงกาฬ : สับปะรดบึงกาฬ

หนองคาย : กล้วยตากสังคม สับปะรดศรีเชียงใหม่ ปลานิลกระชังแม่น้ำโขงหนองคาย

ชัยภูมิ : ส้มโอทองดีบ้านแท่น กล้วยหอมทองหนองบัวแดง มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบ้านโหล่น

พืช GI

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

นครราชสีมา : กาแฟดงมะไฟ ข้าวหอมมะลิทุ่งสัมฤทธิ์ กาแฟวังน้ำเขียว มะขามเทศเพชรโนนไทย ทุเรียนปากช่องเขาใหญ่ น้อยหน่าปากช่องเขาใหญ่

กาฬสินธุ์ : ข้าวเหนียวเขากวางกาฬสินธุ์ พุทรานมบ้านโพน

นครพนม : สับปะรดท่าอุเทน ลิ้นจี่นครพนม

บุรีรัมย์ : ข้าวหอมมะลิดินภูเขาไฟบุรีรัมย์

อุบลราชธานี : ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี

สกลนคร : ข้าวฮางหอมทองสกลทวาปี หมากเม่าสกลนคร เนื้อโคขุนโพนยางคำ

ยโสธร : ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

สุรินทร์ : ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้

พืช GI ภาคกลาง

นครนายก : มะยงชิดนครนายก มะปรางหวานนครนายก ข้าวหอมข้าวเจ็กชัยนาท

ชัยนาท : ส้มโอขาวแตงกวาชัยนาท

นครปฐม : ส้มโอนครชัยศรี

นนทบุรี : กระท้อนห่อบางกร่าง ทุเรียนนนท์ มะม่วงยายกล่ำนนทบุรี

กรุงเทพมหานคร : ลิ้นจี่บางขุนเทียน ส้มบางมด จำปีหนองแขม

พระนครศรีอยุธยา : ละมุดบ้านใหม่

สมุทรสงคราม : ส้มโอขาวใหญ่สมุทรสงคราม ลิ้นจี่ค่อมสมุทรสงคราม พริกบางช้าง

สุพรรณบุรี : แห้วสุพรรณ

สระบุรี : ข้าวเจ๊กเชยเสาไห้ มะม่วงมันหนองแซงสระบุรี เผือกหอมบ้านหมอ

กาญจนบุรี : เงาะทองผาภูมิ ทุเรียนทองผาภูมิ

ภาคกลาง

ราชบุรี : มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี สับปะรดบ้านคา ไชโป้วโพธาราม กุ้งก้ามกรามบางแพ

ประจวบคีรีขันธ์ : ทุเรียนป่าละอู มะพร้าวทับสะแก

ลพบุรี : กระท้อนตะลุง

เพชรบุรี : ชมพู่เพชร มะนาวเพชรบุรี น้ำตาลโตนดเมืองเพชร

สมุทรปราการ : มะม่วงน้ำดอกไม้คุ้งบางกะเจ้า มะม่วงน้ำดอกไม้สมุทรปราการ ปลาสลิดบางบ่อ

สิงห์บุรี : ปลาช่อนแม่ลา

สมุทรสาคร : มะพร้าวน้ำหอมบ้านแพ้ว ลำไยพวงทองบ้านแพ้ว

ปทุมธานี : กล้วยหอมทองปทุม ข้าวหอมปทุมธานี

ภาคตะวันออก

ชลบุรี : สับปะรดศรีราชา ขนุนหนองเหียงชลบุรี

จันทบุรี : พริกไทยจันทร์ ทุเรียนจันทร์

ปราจีนบุรี : ทุเรียนปราจีน ส้มโอปราจีน

ตราด : สับปะรดตราดสีทอง ทุเรียนชะนีเกาะช้าง

ระยอง : สับปะรดทองระยอง ทุเรียนหมอนทองระยอง

ฉะเชิงเทรา : มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า มะพร้าวน้ำหอมบางคล้า

สระแก้ว : มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว

ภาคใต้

ภูเก็ต : สับปะรดภูเก็ต มุกภูเก็ต

ปัตตานี : ส้มโอปูโกยะรัง ลูกหยียะรัง ทุเรียนทรายขาว

สงขลา : ส้มโอหอมควนลัง ล้มจุกจะนะ ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา มะม่วงเบาสงขลา ไข่ครอบสงขลา

พังงา : ทุเรียนสาลิกาพังงา ข้าวไร่ดอกข่าพังงา มังคุดทิพย์พังงา ปลิงทะเลเกาะยาว

กระบี่ : กาแฟเมืองกระบี่ ทุเรียนทะเลหอย

ระนอง : ทุเรียนในวงระนอง มังคุดในวงระนอง

ยะลา : กล้วยหินบันนังสตา ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา

ภาคใต้

ชุมพร : กล้วยเล็บมือนางชุมพร กล้อมหอมทองละแม ข้าวเหลืองปะทิวชุมพร กาแฟเขาทะลุ กาแฟถ้ำสิงห์ชุมพร

สุราษฎ์ธานี : หอยนางรมสุราษฎ์ธานี มะพร้าวเกาะพะงัน เงาะโรงเรียนนาสาร ขมิ้นชันสุราษฏ์ธานี ปลาเม็งสุราษฎ์ธานี

นครศรีธรรมราช : ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง มังคุดเขาคีรีวง

สตูล : จำปาดะสตูล

พัทลุง : ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง

ตรัง : พริกไทยเมืองตรัง

เรื่อง กัญฐิสา หาญณรงค์ , JOMM YB
ภาพประกอบ มนธีรา มนกลาง
ขอบคุณข้อมูลจาก กรมทรัพย์สินทางปัญญา >>https://bit.ly/42MCoDq

เมล็ดพันธุ์ผักอินทรีย์ ต้องผลิตและเก็บอย่างไร

รู้จัก 12 ผักไทยน่าปลูก เคียงคู่ทุกเมนูในอาหารไทย

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm