รู้จักต้นยางนา กับ 6 ประโยชน์ที่น่าเหลือเชื่อ

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนช่วงที่มีสภาพอากาศชุ่มชื้น และมีปริมาณน้ำที่เพียงพอ เหมาะสำหรับการริเริ่มปลูกต้นไม้ต่างๆ ซึ่งรวมถึงกล้าไม้เศรษฐกิจอย่าง “ยางนา” ไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดใหญ่ที่มากด้วยประโยชน์ อีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับเกษตรกรที่อยากสร้างมูลค่าในพื้นที่ว่างเปล่า

แต่ก่อนจะไปเริ่มปลูก ยางนา เพราะมีคนชักชวนหรือกำลังตัดสินใจอยู่ อยากให้รู้จักกับต้นยางนามากขึ้น ทั้งลักษณะทางพฤกษศาสตร์ วิธีการเพาะเมล็ด สายพันธุ์ของต้นยางนา รวมถึงประโยชน์ที่น่าเหลือเชื่อของต้นยางนา ทั้งวิธีการเก็บน้ำมันจากต้นยางนา การเพาะเห็ดระโงกคู่กับยางนา การใช้ยางนาเป็นไม้ค้ำประกัน รวมถึงการพยากรณ์ฝน ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วเป็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นเมื่อปลูกต้นยางนา

ยางนา

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้น ยางนา

ต้นยางนา (Yang) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Dipterocarpus alatus Roxb. เป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบหรือผลัดใบระยะสั้นขนาดใหญ่ สามารถสูงได้ถึง 50 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกต้นสีเทาอ่อน เนื้อไม้เป็นสีน้ำตาลแดง ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่ ดอกมีสีชมพู ออกเป็นช่อตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ผลมีปีกขนาดใหญ่ที่พัฒนาจากกลีบเลี้ยง 2 อัน เป็นสีแดงอมชมพู เปลือกแข็ง มีเมล็ดเดียว พอผลแห้งจะเป็นสีตาลและร่วงหล่น

สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพดินแทบทุกชนิด ชอบแสงแดดแบบเต็มวัน และความชื้นปานกลาง มักขึ้นในป่าดงดิบ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบชื้น พบได้ทุกภาคในประเทศไทย ส่วนในต่างประเทศจะพบได้ที่บังกลาเทศ อินเดีย มาเลเซีย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนามใต้

ยางนา
ผลของต้นยางนาที่ร่วงหล่น

วิธีเพาะเมล็ดและปลูกต้น ยางนา

ต้นยางนาขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด โดยเมล็ดที่สมบูรณ์จะสังเกตจากผลที่แห้งและมีสีน้ำตาล ส่วนผลที่ยังสดและมีสีแดงอยู่ แสดงว่าผลยังอ่อนแล้วร่วงหล่นลงมา จึงไม่เหมาะที่จะนำไปเพาะเมล็ด นอกจากนี้สามารถนำเมล็ดมาสุ่มผ่าเพื่อดูความสมบูรณ์ของเมล็ดได้ (ผ่าแล้วนำไปเพาะต่อไม่ได้) โดยเมล็ดที่ด้านในมีเนื้อสีขาวแสดงว่ามีอัตราการงอกสูง แต่ถ้ามีสีน้ำตาลหรือสำดำแสดงว่ามีอัตรางอกต่ำ

ขั้นตอนการเพาะเมล็ด ให้นำเมล็ดมาตัดปีกออกแล้วนำไปเพาะในถุงชำ วัสดุที่ใช้ประกอบด้วย ทราย ขี้เถ้าแกลบ ดินร่วน ในอัตราส่วน 1:1:1 ผสมให้เข้ากันแล้วกดเมล็ดในแนวนอนฝังครึ่งเมล็ด รดน้ำให้ชุ่ม คลุมด้วยฟาง เพาะไว้ใต้ซาแรนพรางแสง ประมาณ 7-10 วัน เมล็ดจะเริ่มแทงรากและงอกขึ้นมา ดูแลต่ออีก 1-2 เดือน จึงค่อยย้ายใส่ภาชนะที่ใหญ่ขึ้น จนอายุ 1-2 ปี จึงนำไปปลูกต่อได้

การปลูกต้นยางนา แนะนำให้ปลูกช่วงฤดูฝน แต่หากมีระบบน้ำรองรับการสามารถปลูกได้ทั้งปี ขั้นตอนแรกให้เตรียมหลุมปลูกลึกและกว้างประมาณ 30 ซม. จากนั้นนำปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักคลุกเคล้ากับดินที่ขุดขึ้นมา กลบดินที่คลุกเคล้าแล้วลงในหลุมแล้วรดน้ำให้ชุ่ม ต่อไปเจาะหลุมเล็กๆ ให้ใหญ่กว่าถุงชำเล็กน้อย และปลูกต้นยางนาลงในหลุมปลูก (สำหรับพื้นที่แห้งแล้งให้รองก้นหลุมด้วยโพลิเมอร์จะช่วยเป็นแหล่งน้ำสำรองให้ฤดูแล้งได้) กลบดินให้แน่น และใช้ไม้ค้ำกันต้นล้ม

ยางนา

สายพันธุ์ของต้น ยางนา

ในประเทศไทยพบไม้วงศ์ยางมากกว่า 60 ชนิด 8 สกุล ได้แก่ สกุลไม้ยางนา (Dipterocarpus) สกุลไม้กระบาก (Anisoptera) สกุลไม้เคี่ยม (Cotylelobium) สกุลไม้พันจำ (Vatica) สกุลไม้ตะเคียน (Hopea) สกุลไม้ เต็ง รัง และสยา (Shorea) สกุลไม้ไข่เขียว (Parashorea) และสกุลไม้ตะเคียนชันตาแมว (Balanocarpus)

ทั้งหมดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ชนิดที่ไม่ผลัดใบ กับ ชนิดที่ผลัดใบหรือทนแล้ง โดยส่วนพวกที่พลัดใบมีแค่ 5 ชนิด ได้แก่  เต็ง (Shorea obtusa) และ รัง (S. siamensis) เหียง (D. obtusitifolius) พลวง (D. tuberculatus) และยางกราด (D. intricatus)

ประโยชน์ของต้นยางนา

ยางนา
ใช้ท่อยาง เป็นตัวลำเลี้ยงน้ำมันยางนาเข้าสู่ภาชนะ

1 I น้ำมันจากต้นยางนาใช้สกัดเป็นน้ำมันไบโอดีเซลได้

โดยน้ำมันที่ได้จะเหมาะใช้กับเครื่องจักรทางการเกษตรขนาดเล็ก 1 สูบ ไม่เกิน 11 แรงม้า เช่น รถไถแบบเดินตาม เครื่องสูบน้ำ เครื่องปั่นไฟ สามารถลดต้นทุนค่าน้ำมันให้กับเกษตรกรได้

วิธีเก็บน้ำมันยางนา ให้เลือกต้นยางนาที่มีอายุมากกว่า 25 ปี บริเวณที่เจาะให้สูงจากโคนต้นขึ้นไปประมาณ 30 ซม. ด้วยสว่านเจาะไม้ลึก 15-20 ซม. ในมุมชี้ขึ้น 45 องศา จากนั้นใช้ท่ออ่อนความยาว 10 ซม. เป็นท่อลำเรียงน้ำมันจากต้นเข้าสู่ภาชนะเก็บน้ำมัน โดยใช้ดินน้ำมันอุดช่องว่างระหว่างรูที่เจาะกับท่อให้สนิท จะได้น้ำมันยางนาประมาณ 400 มล./รู/วัน และต้องทำความสะอาดรูที่เจาะทุกวัน

พอได้น้ำมันยางนามาแล้ว สามารถนำไปสกัดก็จะได้เป็นน้ำมันไบโอดีเซลที่มีลักษณะใส ไม่มีตะกอน มีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีน้ำตาลอ่อน

ยางนา
เห็ดระโงก

2 I ยางนาสามารถปลูกเห็ดระโงกได้

เห็ดระโงก เป็นหนึ่งในเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซา ที่มีราคาจำหน่ายสูงถึง 200-300 บาท/กิโลกรัม เนื่องจากเป็นเห็ดที่เจริญเติบโตอยู่ภายในป่าคู่กับพืชในวงศ์ยางนา และหากินได้ยาก รวมทั้งหากินได้เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น โดยเห็ดชนิดนี้จะเกาะอาศัยอยู่กับรากต้นไม้ และจะช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตแข็งแรงเป็นภาวะพึ่งพาอาศัยกันตามสภาพธรรมชาติ

วิธีปลูกเห็ดระโงกกับต้นยางนา ให้นำดอกเห็ดระโงกที่ดอกบานเต็มที่จนสร้างสปอร์แล้วมาขยี้ล้างในน้ำ โดยใช้เห็ดระโงก 1 กิโลกรัม ต่อน้ำ 20 ลิตร แล้วให้ขุดบริเวณโคนต้นไม้ให้เห็นรากฝอย จากนั้นนำน้ำที่มีสปอร์ไปรดราดที่บริเวณโคนต้นยางนา ตามด้วยปุ๋ยคอกเพื่อกระตุ้นให้รากขึ้นมาดูดอาหารและเจอกับสปอร์เห็ด จากนั้นนำดินกลบบางๆ รอฤดูฝนในปีถัดไปเห็ดระโงกก็จะเกิดในบริเวณที่รดราดสปอร์ลงไป

นอกจากนี้สามารถปลูกพร้อมกับกล้าไม้ในวงศ์ยางได้ ในช่วงที่ต้นยังอยู่ในถุงปลูกให้นำน้ำสปอร์มารดที่โคนต้น และนำไปปลูก เชื้อเห็ดก็จะเจริญเติบโตไปพร้อมกับยางนา

ยางนา
หลังจากดอกยางนาที่ร่วงหล่น ให้นับไปอีก 85-95 วัน ฝนก็จะตกในบริเวณนั้นๆ

3 I ยางนา พยากรณ์วันที่ฝนจะตกได้

ซึ่งไม่ใช่แค่ต้นยางนาเท่านั้นที่พยากรณ์วันฝนตกได้ แต่รวมถึงต้นไม้ในวงศ์ยางนาทั้ง 9 ชนิด จากการเก็บข้อมูลก็พบว่า ต้นไม้ในวงศ์ยางนาหลังจากที่ดอกร่วงไปแล้วครึ่งหนึ่ง หรือช่วงที่เรียกว่า ดอกร่วงพรู เมื่อนับวันไปจะตรงกับช่วงที่ฝนตกพร้อมกับเมล็ดที่แก่และร่วงหล่นพอดี ก็เพื่อให้ต้นยางนาสามารถขยายพันธุ์ได้ เนื่องจากเมล็ดยางนาหากไม่ได้รับน้ำและงอกภายใน 3 วัน เมล็ดก็อาจเสียจนไม่สามารถงอกได้

โดยกลุ่มแรกจะพยากรณ์ไว้ 85-95 วัน หลังดอกร่วง คือ ยางนา ยางกราด ยางเหียง และอีกกลุ่มที่พยากรณ์ไว้ 55-65 วันหลังดอกร่วง คือ คือ เต็ง รัง พลวง กระบาก พะยอม ตะเคียนทอง

ยางนา

4 I ยางนา ใช้ก่อสร้างและทำเฟอร์นิเจอร์ได้

ต้นยางนาเป็นไม้ขนาดใหญ่ ไม่ค่อยมีกิ่งก้าน การตัดไม้ยางนาจึงได้เนื้อไม้มาก และเนื้อไม้มีความแข็งปานกลาง มีสีน้ำตาลแดงและหยาบ สามารถเลื่อยไสกบตกแต่งให้เรียบได้ง่าย นิยมนำมาใช้ก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เช่น ทำเสาบ้าน ทำไม้ระแนง โครงหลังคา ทำพื้น เพดาน ฝาบ้าน รวมถึงสามารถทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ได้

5 I ยางนา เป็นหลักค้ำประกันในการกู้ยืมเงินได้

จุดเริ่มต้นมาจากการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างเปล่า สู่การปลูกไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าสูง เปรียบเสมือนเป็นการออมเงิน โดยมีวิธีการขอหลักประกันไม้ยืนต้นตามนี้

  1. นำข้อมูลมายื่นจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
  2. ทาง ธ.ก.ส. จะเป็นผ่ายประเมินราคา

ทั้งนี้ เกษตรกรที่จะค้ำประกันจะต้องเป็นลูกค้าของ ธ.ก.ส. และเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โครงการธนาคารต้นไม้ ธ.ก.ส. และ ธ.ก.ส. ทุกสาขา ส่วนเงื่อนไขไม้ยืนต้นที่ผ่าน ต้องเป็นต้นไม้อายุ 1 ปีขึ้นไป มีลำต้นตรง 2 เมตร เส้นรอบวงที่ความสูง 130 ซม. จากพื้น และต้องมีขนาดเส้นรอบวงไม่ต่ำกว่า 3 ซม.

6 I ส่วนต่างๆ ของ ยางนา ใช้ทำตำรายาไทย

ต้นยางนาในตำรายาไทย สามารถนำเปลือกของต้นยางนามาต้ม กินแก้ตับอักเสบ บำรุงร่างกาย ฟอกเลือก บำรังโลหิต แก้ปวดตามข้อ ส่วนน้ำมันยาง มีรสร้อน ช่วยห้ามหนองและสมานแผล ใช้ทาแผลเน่าเปลื่อย แผลมีหนอง แผลโรคเรื้อน นอกจากนี้สามารถนำน้ำมันยางนาผสมกับเมล็ดกุยช่าย คั่วให้เกรียม บดให้และเอียด ใช้อุดฟันแก้ฟันผุ รวมถึงใช้จิบเป็นยาขับเสมหะได้ โดยใช้น้ำมันยาง 1 ส่วน ผสมกับ เอทิลแอลกอฮอล์ 2 ส่วน

อ้างอิงข้อมูลจาก : มูลนิธิโลกสีเขียว / ฐานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี / กรมป่าไม้ / ประชาชาติธุรกิจ

ปลูกป่า ปลูกต้นไม้ นำมา ขายคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้ระยะยาว

กล้าต้นไม้ฟรี จากกรมป่าไม้ หรือสถานีเพาะชำใกล้บ้าน