สำหรับผู้มีพื้นที่จำกัด แต่อยาก ปลูกผักข้างบ้าน เพื่อสร้างผลผลิตที่ปลอดภัยและสร้างแหล่งอาหารด้วยตนเอง หากบริหารจัดการและจัดแบ่งสรรพื้นที่ใช้งานอย่างลงตัวแล้ว สามารถสร้างมุมปลูกผัก และมุมทำงานสวนได้อย่างอเนกประสงค์เลยทีเดียว
บ้านในหมู่บ้านจัดสรรส่วนใหญ่ มักมีพื้นที่สำหรับ ปลูกผักข้างบ้าน จำกัด ส่วนใหญ่ลักษณะแคบยาวซึ่งหากบริเวณนี้ได้รับแสงแดดมากกว่าครึ่งวันก็สร้างสรรค์เป็นสวนผักเก๋ๆ ได้ดังเช่น บ้านหลังนี้
สร้างแนวคิด ปลูกผักข้างบ้าน ทำแปลงผักให้สวย
เพราะคนในครอบครัวชอบทานผักและต้องการจัดสวนไว้ประดับบ้าน ผู้ออกแบบอย่าง คุณโต้ง-ศุภกิจ มีลาภ จาก Sukyen Garden จึงวางแนวคิดของสวนเพื่อใช้ทั้งบริโภคและตกแต่งบ้านได้ในตัวโดยก่อกระบะเป็นแปลงขึ้นมาสองฝั่งสำหรับปลูกพืชผัก เว้นสเปซตรงกลางเพื่อเป็นทางเดิน ทำให้ดูแลสวนได้ง่ายขึ้นและเนื่องจากดินเดิมในพื้นที่เป็นดินเหนียว เมื่อก่อกระบะแล้วเปลี่ยนวัสดุปลูกใหม่จึงช่วยแก้ปัญหาเรื่องการระบายน้ำได้ส่วนหนึ่งด้วย สร้างภาพลักษณ์ของแปลงผักให้ดูทันสมัยกลมกลืนเข้ากับรูปแบบและสีสันของบ้านด้วยการทำแปลงสีสนิม
การออกแบบแบ่งสรรพื้นที่ ปลูกผักข้างบ้าน
พื้นที่ข้างบ้านมีลักษณะแคบยาว ความกว้างเพียง2.30เมตรแต่ยาวถึง 16 เมตร นอกจากบริเวณนี้จะใช้สำหรับปลูกผักแล้ว เจ้าของบ้านยังตั้งใจให้เป็นที่เรียนรู้ของหลานตัวน้อยผู้ออกแบบจึงแบ่งสรรพื้นที่ให้มีฟังก์ชั่นดังต่อไปนี้ 1.พื้นที่เพาะกล้าและหมักปุ๋ย 2.แปลงปลูกพืชผักและสมุนไพรทั้งไทยและเทศ 3.มุมนั่งเล่นพักผ่อน 4. ทางเดินและพื้นที่เล่นของเด็กๆ
บริเวณแปลงปลูกออกแบบเป็นกระบะสองฝั่ง ฝั่งชิดตัวบ้านมีขนาดกว้าง 0.60 เมตร ปลูกผักกินใบ อย่าง ผักสลัดปูเล่ และสมุนไพรหลายชนิด ทั้งยี่หร่า มินต์ กะเพราแบ่งความยาวของกระบะเป็นช่วงเว้นจังหวะตามช่องประตู คั่นแปลงปลูกด้วยระแนงไม้เลื้อย อย่าง อัญชัน
ส่วนฝั่งชิดริมรั้ว ขนาดกว้าง 0.85-1.10 เมตร นอกจากแปลงปลูกแล้วยังแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นที่นั่งไม้เพื่อคั่นจังหวะความยาวของแปลง บริเวณนี้ปลูกพืชผักสมุนไพร อย่าง ผักชีช้าง โรสแมรี่ ทาร์รากอน ฯลฯและไม้ผล อย่าง เลม่อน ฟิกซ์ ปลูกไม้พุ่มสูง อย่าง ต้นเมเปิ้ลไต้หวันเพื่อพรางสายตาจากบ้านข้างเคียงมายังห้องนั่งเล่นภาพรวมของกระบะออกแบบไม่ให้สูงนัก ประมาณ 30 ซม.เพื่อไม่ให้สวนดูแคบ ส่วนบริเวณที่เป็นที่นั่งเพิ่มความสูงอยู่ที่ 45 ซม.เพื่อให้นั่งสบายมากขึ้น
“ส่วนที่นั่งไม้สน ออกแบบแทรกเข้าไปกับขอบแปลงบางช่วงเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการประกอบจะใช้ขอบกระบะเป็นฐานรองด้านล่างเพื่อรับน้ำหนักก่อนวางระแนงไม้สนทับลงไปส่วนของงานโครงสร้างในสวนนั้น นอกจากกระบะแล้ว ยังออกแบบให้มีซุ้มบริเวณทางเข้าด้านหน้า ซึ่งปลูกต้นองุ่นให้เลื้อยคลุม เป็นกรอบรับมุมมองเมื่อเดินเข้าไป มีทางเดินอิฐดินเผาเป็นจุดนำสายตาไปยังแผงระแนงไม้เลื้อยที่อยู่ด้านในสุด” คุณโต้ง นักจัดสวนกล่าว
เตรียมดินดีตั้งแต่เริ่มต้น
สมุนไพรฝรั่งเป็นพืชที่ชอบดินระบายน้ำดีไม่ชื้นแฉะ ก่อนปลูกจึงต้องปรับปรุงดินใหม่ ซึ่งคุณโต้งแนะนำว่า ที่นี่จะใช้ทรายรองส่วนก้นกระบะโดยขุดดินเก่าออกก่อน การใช้ทรายรองพื้นนอกจากช่วยเรื่องการระบายน้ำแล้วยังลดการยุบตัวของวัสดุปลูก นอกจากนี้ยังช่วยให้พื้นเย็นกว่าการใช้ดินผสมที่อาจเกิดความร้อนสะสมจากการย่อยสลายของเศษใบไม้
เลือกปลูกพืชผักในแปลง
การปลูกพืชผักและสมุนไพรของที่นี่ใช้หลักการเดียวกับการจัดสวนทั่วไป คือ มีทั้งไม้ต้นไม้พุ่มระดับต่างๆ และไม้เลื้อยเพื่อให้สวนเกิดมิติที่หลากหลาย อีกทั้งพรรณไม้พุ่มเตี้ยที่ทอดเลื้อยละขอบแปลงยังช่วยลดทอนความแข็งของขอบกระบะได้ด้วย
การปลูกพืชแต่ละชนิดร่วมกัน จะจับกลุ่มความชอบแสงและน้ำใกล้เคียงกันไว้ด้วยกัน โดยดูจากขนาดและความสูงของทรงพุ่มประกอบกัน อย่าง ต้นยี่หร่าพุ่มสูงจะปลูกไว้ด้านในเพื่อใช้เป็นฉากหลังให้กับกะเพราและมินต์ที่มีทรงพุ่มเตี้ยกว่า ส่วนอีกฝั่งใช้ผักชีลาวและโรสแมรี่ต้นสูงหน่อยปลูกเป็นกลุ่มเพื่อใช้เป็นฉากหลังให้กับมุมนั่งเล่น บางกระบะเติมพรรณไม้ที่ให้ดอกสวยเข้าไป อย่าง เก็กฮวย คาลามินต์ และเข็มชมพูนุชที่ช่วยเรียกแมลงมาช่วยผสมพันธุ์ ปลูกผักกินใบ อย่าง ปูเล่ ผักสลัดต่างๆ คั่นในกระบะบ้างเพื่อให้สวนเกิดเทกเจอร์ที่แตกต่าง แทรกด้วยไม้ประดับอย่าง ต้นเมเปิ้ล และมุจลินทร์ด่างเลื้อย ที่แม้กินไม่ได้แต่ก็ให้ความงาม โดยเลือกปลูกในตำแหน่งที่ช่วยพรางตาและรับกับมุมมองอย่างพอดี
การออกแบบที่ดีจึงช่วยให้สวนในพื้นที่แคบแห่งนี้ สามารถใช้งานได้หลากหลายและคุ้มค่า เป็นทั้งแหล่งผลิตพืชอาหารและสวนสวย
สนใจเรื่องการออกแบบจัดสวนพืชผักให้สวยเก๋ ทั้งกินได้และประดับตกแต่งบ้านไปด้วยในตัว ติดตามได้จากเล่ม “จัดสวนกินได้อย่างมีสไตล์ The Edible Garden” และวิธีการปลูกพืชผักและเทคนิคการดูแล จากเล่ม “ผักนอกปลูกง่ายทำได้ทุกฤดู” จากสำนักพิมพ์บ้านและสวน
เจ้าของ คุณวรวุฒ์ ศักดิ์สุริยา
ออกแบบ/จัดสวน Sukyen Garden โดยคุณศุภกิจ มีลาภ
เรื่อง ทิพาพรรณ
ภาพ อภิรักษ์ สุขสัย
ภาพวาดประกอบ คณาธิป จันทร์เอี่ยม