ปลูกผัก แบบไม่ไถพรวน หรือ No-dig Gardening หนึ่งกระแสการทำเกษตรที่กำลังได้รับความสนใจในตอนนี้ ฟาร์มเมอร์หลายๆ คน ก็ได้ทดลองทำตามแนวคิดการปลูกนี้มาสักระยะ ซึ่งบางคนอาจจะสงสัยว่าการไม่ไถพรวนนั้น ดีจริงไหม?
ที่มาที่ไปของการ ปลูกผัก แบบไม่ไถพรวน เริ่มจากแนวคิดที่ว่า การไถพรวนดินจะเป็นการรบกวนธรรมชาติของดินซึ่งมาจากการทับถมของซากพืชซากสัตว์ หากไถพรวนพลิกหน้าดินจะเป็นการทำลายนิเวศตามธรรมชาติ จึงเกิดแนวคิดการทำเกษตรแบบไม่ไถพรวนโดยใช้แผ่นกระดาษปูทับป้องกันวัชพืชแล้วเติมดินที่ผ่านการหมักกับปุ๋ยหมักและอินทรีย์วัตถุสำหรับปลูกพืชผัก ซึ่งกรรมวิธีนี้เป็นการปรับปรุงโครงสร้างดินที่เสื่อมสภาพได้ด้วย
ในปัจจุบันแนวคิดวิธีการทำเกษตรรูปแบบนี้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายและเป็นที่นิยมในยุโรป โดยฟาร์มเมอร์นามว่าชาร์ลส์ โดว์ดิง ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญแห่งการทำสวนแบบไม่ไถพรวน ผ่านการทดลองทำ และเผยแผ่ความรู้ของเขาผ่านช่องทางออนไลน์ เขียนออกมาเป็นหนังสือแนะนำให้แก่นักปลูกคนอื่น ๆ นำไปอ่านเป็นแนวทางได้ โดยจุดเริ่มต้นความสนใจในแนวคิดนี้ของชาร์ลส์ คือ “การเคารพต่อสุขภาพของตนเอง” เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เขาศึกษาและทำความเข้าใจแนวคิดการปลูกผักแบบออร์แกนิก
มาจนถึงจุดนี้หลายคนอาจจะก็เกิดคำถามมากมายว่า หากจะทำเกษตรปลูกผักแบบไม่ไถพรวนต้องมีขนาดพื้นที่เท่าไหร่? ปลูกที่ไหนได้บ้าง? หรือต้องใช้ดินชนิดไหน? เรามาดูวิธีการทำสวนแบบไม่ไถพรวนของชาร์ลส์กันดีกว่า
อะไรคือ No-dig Gardening ปลูกผัก แบบไม่ไถพรวน
หลักการทำเกษตรแบบไม่ไถพรวนไม่ได้เกิดขึ้นจาก ชาร์ลส์ โดว์ดิง เป็นคนแรก แต่วิธีการทำสวนแบบไม่ไถพรวนเกิดขึ้นเมื่อราว ๆ ปี 1940 โดยอาเธอร์ เกสต์ เป็นผู้ทดลองใช้แนวคิดการเกษตรแบบไม่ต้องการขุดในขณะที่เขากำลังทำงานเป็นคนงานเหมืองในยอร์กเชียร์ แนวคิดการทำเกษตรรูปแบบนี้ทำให้เขาได้รับรางวัลจากงานการแสดงพืชผักสวนครัว เป็นจุดเริ่มต้นของการเขียนหนังสือที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่าง “Gardening Without Digging” พร้อมทั้งความคิดที่ว่า “ทำสวนตามธรรมชาติดีกว่าทำสวนตามเสียม” เรื่องราวนี้ถือเป็นจุดกำเนิดที่วิธีการทำสวนแบบไม่ไถพรวนและถูกบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรผ่านหนังสือ
จุดเด่นของวิธีการทำสวนแบบไม่ไถพรวนคือเป็นการกำจัดวัชพืชและปรับปรุงโครงสร้างดินให้เหมาะแก่การปลูกพืช โดยรักษาสภาพดินให้อุดมไปด้วยแร่ธาตุและจุลินทรีที่จำเป็นต่อการเติบโต รักษาความชื้นด้วยวัสดุคลุมดินให้สิ่งมีชีวิตได้เติบโตตามธรรมชาติ ส่งผลให้พืชผักที่ปลูกแข็งแรงต้านทานต่อโรค และได้ผลผลิตที่ดี
นอกจากนี้ยังสามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาไถกลบตากดินปลูกหลักเก็บเกี่ยว หรือกำจัดวัชพืชก่อนปลูกด้วยการถางขุดรากเหง้า ซึ่งใช้ทั้งเวลาและแรงงานไม่น้อยทีเดียว
วิธีการทำสวนแบบไม่ไถพรวน
สำหรับนักปลูกมือใหม่ควรเริ่มต้นจากการสร้างแปลงปลูกผักขนาดเล็ก 1 แปลงขนาดกว้างประมาณ 1.2 เมตรเพื่อที่จะสามารถดูแลแปลงผักได้อย่างทั่วถึงและง่ายต่อการเก็บเกี่ยว แต่หากมีพื้นที่มากก็เพิ่มจำนวนแปลงหรือกำหนดขนาดเท่าที่ต้องการได้
อุปกรณ์จะประกอบไปด้วย
- กระดาษแข็ง หรือ กระดาษลัง
- อิฐบล็อก หรือ ไม้
- ดินปลูกที่ผ่านการหมัก
- กล้าผักที่ต้องการปลูก
- น้ำสะอาดสำหรับการรดน้ำต้นไม้
ขั้นตอนการทำ
1 กำหนดตำแหน่งของแปลงปลูก เป็นตำแหน่งที่อากาศถ่ายเท มีแสงส่องถึงอย่างน้อยครึ่งวัน โดยมีข้อควรระวังคือไม่ควรวางแปลงไว้ใกล้ต้นไม้สูงและพุ่มไม้ เพราะว่าพวกมันดูดความชื้นจากดินและสร้างร่มเงา อาจจะเป็นที่อยู่ของหอยทากได้
2 นำแผ่นกระดาษปูไว้ที่พื้นดินเรียบที่กำหนดให้เป็นแปลงปลูก กระดาษจะทำหน้าที่ป้องกันวัชพืชไม่ให้แทงยอดขึ้นมาบนแปลงผัก
3 สร้างแปลงปลูกโดยนำอิฐบล็อกหรือไม้ มาวางตีกรอบตามขนาดที่แนะนำไปหรือตามที่ต้องการ ในกรณีที่ไม่สร้างแปลงปลูกสามารถถมดินเป็นเนินเล็กๆ บนแผ่นลังกระดาษได้โดยใช้ไม้เนื้อแข็งทำแนวเส้นนำทางให้แปลงปลูกตรง ไม่บิดเบี้ยว
4 นำดินปลูกที่ผ่านการหมักเทลงไปในแปลงที่เตรียมไว้ หากใช้ดินถุงให้หมักกับปุ๋ยคอกและอินทรีย์วัตถุอย่างเศษใบไม้แห้ง ก่อนปลูกผัก
5 นำกล้าผักที่ต้องการจะปลูกมาปลูกลงดินที่เตรียมไว้ โดยเลือกผักที่ชอบรับประทาน เน้นหลากหลายชนิดคลุมหน้าดินด้วยฟางข้าวเก็บความชื้นในดิน
6 รดน้ำใช้เปียกชุ่มทั่วแปลง
ในช่วง 1 สัปดาห์แรก วัชพืชจะพยายามขึ้นหาแสงแดดเพื่อใช้เติบโต แต่จะติดตรงกระดาษแข็งที่รองฐานไว้ในตอนแรก ทำให้ค่อยๆ ตายภายใน 4 สัปดาห์ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ลังกระดาษจะเริ่มย่อยสลาย (4-10 สัปดาห์) ทำให้รากพืชผักที่กำลังเติบโตค่อยๆ ชอนไชลงไปยังดินชั้นล่างได้ เมื่อเวลาผ่านไปดินปลูกในแปลงจะหยุบตัวลงให้เติมดินใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องพรวนดิน ปล่อยให้จุลินทรีย์ในดินได้เติบโต ให้ไส้เดือนพรวนดินตามธรรมชาติ
ข้อดี ข้อด้อย มากน้อยต่างกัน
ข้อดี
1 สามารถทำได้ในพื้นที่ที่ดินเสื่อมโทรม
2 เป็นการกำจัดวัชพืชโดยไม่ต้องเปลืองแรงไถพรวน
3 ทำได้ง่าย สะดวกสบาย ไม่ต้องใช้แรงขุด
4 เป็นการปรับปรุงสภาพดิน และรักษาสภาพของดินไว้ได้ดี
ข้อด้อย
1 ต้องใช้เวลาในการจัดเตรียมดินปลูกให้มีคุณภาพ
2 ต้องขนย้ายดินปลูก
3 เมื่อไม่สามารถเปลี่ยนตำแหน่งได้เหมือนปลูกในกระถาง
4 หากวางแปลงผักไม่ถูกที่ถูกทางอาจจะมีปัญหากับศัตรูพืชได้ง่าย อย่างเช่น หอยทาก
ไม่ไถพรวนแล้วดีจริงไหม??
ทีนี้มาดูกันว่าการปลูกแบบไม่ไถพรวนตามวิธีการของคุณชาร์ลส์ โดว์ดิงได้ผลดีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งมีข้อมูลสถิติที่ถูกจัดเก็บโดยคุณชาร์ลส์ เรื่องผลผลิตที่ได้จากการทำสวนแบบไถพรวนดินและไม่ไถพรวนระหว่างปี 2013 – 2022 เป็นระยะเวลา 10 ปี
พบว่าผลผลิตที่ได้รับจากการทำสวนไม่ไถพรวนอยู่ที่ 1067.13 กิโลกรัม และการทำสวนแบบไถพรวนดินได้รับผลผลิตอยู่ที่ 946.10 กิโลกรัมเท่ากับว่าการทำสวนไม่ไถพรวนได้รับผลผลิตมากกว่าการทำสวนแบบไถพรวนดิน 121.03 กิโลกรัม จากสถิตินี้ทำให้เราเห็นว่าการทำสวนแบบไม่ไถพรวนมีอัตราการได้รับผลผลิตที่มากกว่านั้นเอง
ทั้งนี้ ไม่ว่าจะปลูกแบบไถพรวน หรือไม่ไถพรวน นั้นไม่อาจจะตีเส้นผิดถูกใดๆ ให้แน่ชัดได้ หากแต่เป็นอีกวิธีทำเกษตรให้สายออร์แกนิกได้ลองใช้ทดลองทำสวน โดยเฉพาะพื้นที่ที่วัชพืชขึ้นรก หากไม่ต้องการขุดพรวนรากเหง้าของวัชพืชออก การทำแปลงปลูกแบบไม่ไถพรวนก็เป็นอีกแนวคิดที่น่าสนใจไม่เบาทีเดียว
ปลูกพืชแบบ หลุมพอเพียง (แบบย่อส่วน) ดูแลง่าย ประหยัดน้ำ
ทำแปลงฮูกูลฯ ปลูกพืชผัก ทำถูกหลักอยู่นานนับ 10 ปี
เรื่อง ธนพนธ์ หัสกรรัตน์
ภาพ มนธีรา มนกลาง