แม้ว่าในความหมายของคำว่า เกษตรอินทรีย์ ของแต่ละคนอาจจะแตกต่าง แต่จุดหมายปลายทางของการทำเกษตรอินทรีย์ล้วนเป็นหนึ่ง นั่นคือ ต้องการปลูกอาหารที่ปลอดภัย ที่ไม่ใช่แค่สำหรับตนเองเท่านั้น แต่รวมถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
ในความหมายของ เกษตรอินทรีย์ ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ให้นิยามไว้คือ เกษตรอินทรีย์ (Organic Farming) หมายถึง ระบบการเกษตรที่เน้นความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ โดยเน้นการปรับปรุงบำรุงดิน เคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ เกษตรอินทรีย์เป็นระบบเกษตรที่หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เน้นการปลูกพืชหมุนเวียน ใช้เศษซากพืช มูลสัตว์ พืชตระกูลถั่ว ปุ๋ยพืชสด ในการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และใช้หลักการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีชีวภาพ (Biological Control)
จะเห็นว่า การทำเกษตรอินทรีย์จะให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ซึ่งมีหลักการใหญ่ๆ ที่ผู้เริ่มต้นสนใจอยากทำเกษตรสามารถทำตามได้
- 11 หลักการทำเกษตรอินทรีย์แบบชิดธรรมชาติตามแนวคิด “เพอร์มาคัลเจอร์”
- แนวทางทำ เกษตรผสมผสาน แบ่งพื้นที่ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และแหล่งน้ำ
1 | ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์นิเวศเกษตรและสิ่งแวดล้อม
ด้วยการปฏิเสธการใช้สารเคมีสังเคราะห์ทุกชนิด เพราะสารเคมีล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่างๆ ภายในฟาร์ม ทั้งสัตว์ แมลง และจุลินทรีย์ขนาดเล็กที่อยู่บนผิวดิน ใต้ดิน ซึ่งตามกลไกธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตต่างๆ ล้วนมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลของระบบนิเวศ ทั้งช่วยควบคุมประชากรศัตรูพืช และพึ่งพาอาศัยกันในการดำรงชีวิต เช่น การผสมเกสรช่วยขยายพันธุ์ การช่วยย่อยสลายอินทรียวัตถุ เป็นต้น
2 | เกษตรอินทรีย์ เน้นฟื้นฟูระบบนิเวศเกษตร
แนวทางหลักของเกษตรอินทรีย์คือการฟื้นฟูนิเวศเกษตรเพื่อให้พื้นที่ฟาร์มกลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง จึงให้ความสำคัญกับการปรับปรุงดินเป็นอย่างมาก ด้วยการใช้อินทรียวัตถุและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้ดินกลับมามีชีวิต
3 | ไม่ฝืนกลไกของธรรมชาติ
การเกษตรอินทรีย์ตั้งอยู่บนปรัชญาที่ว่าต้องเป็นไปตามครรลองของธรรมชาติไม่ฝืนวิถีที่ควรจะเป็น เรียนรู้และการปรับระบบการเกษตรให้เข้ากับวิถีแห่งธรรมชาติ กลไกธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ วงจรการหมุนเวียน ธาตุอาหาร วงจรการหมุนเวียนของน้ำ พลวัตของภูมิอากาศ และแสงอาทิตย์ รวมทั้งความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตที่เกื้อกูล พึ่งพา และห่วงโซ่อาหาร
4 | ต้องมีการควบคุมและป้องกันมลพิษ
มีการป้องกันมลพิษต่างๆ จากภายนอกแปลงเกษตรกรรมไม่ให้ปนเปื้อนกับผลผลิตโดย การจัดทำแนวกันชนและแนวป้องกันบริเวณขอบแปลง รวมทั้งภายในฟาร์มจะต้องมีการลดมลพิษจากกระบวนการผลิตของฟาร์ม ทั้งการจัดการขยะ น้ำเสีย รวมไปการใช้วัสุดที่ปราศจากสารปนเปื้อน
5 | ผลิตปัจจัยการผลิตได้เองให้ได้มากที่สุด
อีกหนึ่งสำคัญคือการพยายามผลิตปัจจัยการผลิตต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์ หากเกษตรกรไม่สามารถผลิตได้เองก็สามารถหาซื้อได้จากนอกฟาร์มที่มีในท้องถิ่นนั้นๆ
ทั้ง 5 หลักการเกษตรอินทรีย์ ต้องมีการใช้หลายๆ วิธีร่วมกัน ต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกัน โดยมีเทคนิควิธีทางธรรมชาติที่ใช้ในระบบเกษตรอินทรีย์ เช่น
1) การใช้วัสดุคลุมดิน โดยใช้เศษซากอินทรียวัตถุ เช่น ใบไม้ ฟางข้าว แกลบ ชานอ้อย มูลสัตว์ หรือ ปล่อยให้มีพืชปกคลุมในบริเวณที่ต้องการเพื่อรักษาความชุ่มชื้น และอุณหภูมิในดิน ป้องกันการชะล้างของหน้าดิน ควบคุมวัชพืช และเมื่อเน่าเปื่อยลงก็กลายเป็นปุ๋ยบำรุงดินได้ด้วย
2) การปรับปรุงโดยใช้พืชตระกูลถั่วเนื่องจากพืชตระกูลถั่วสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศ ให้เปลี่ยนมาเป็นปุ๋ยไนโตรเจนในรูปที่พืชสามารถใช้ประโยชน์ได้ และซากต้นถั่วยังสามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสด หรือ ปุ๋ยหมักได้ด้วย
3) การใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก และเศษวัสดุจากการเกษตร ธาตุอาหารที่อยู่ในเศษซากอินทรีย์วัตถุจะหมุนเวียนกลับไปสู่ดินได้โดยไม่ทำลายความสมดุลของระบบนิเวศ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อพืชทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งยังช่วยให้พืชได้รับธาตุอาหารครบถ้วน โดยเฉพาะธาตุอาหารรองที่ไม่มีในปุ๋ยเคมี
4) การลดการไถพรวน โดยให้มีการไถพรวนน้อยที่สุด หรือใช้การไถพรวนแบบอนุรักษ์ เพื่อลดการรบกวนจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อดิน
5) การผสมผสานการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์ เพื่อหมุนเวียนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรต่างๆ และจัดการทรัพยากรในแปลงเกษตรกรรมให้มีความเกื้อกูลกัน ซึ่งจะเกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของการควบคุมศัตรูพืช และการเพิ่มอินทรียวัตถุ
6) การควบคุมศัตรูพืชโดยไม่ใช้สารเคมี ทั้งสารเคมีกำจัดวัชพืชแมลงศัตรูพืชและโรคพืช
หลักการและเทคนิคการทำเกษตรอินทรีย์ที่กล่าวมาข้างต้น สามารถประยุกต์ใช้กับการทำเกษตรในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเกษตรนอกเมืองที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ หรือเกษตรในเมืองที่มีพื้นที่เพียงน้อยนิด โดยไม่ลืมสิ่งสำคัญคือการปรับใช้ตามความสะดวก ซึ่งแต่ละคนและแต่พื้นที่ต่างมีปัจจัยประกอบที่แตกต่างกัน
อ้างอิง : คู่มือหลักการและรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม