ปุ๋ยพืชสด โรงงานผลิตปุ๋ยบนผืนดิน ด้วยไนโตรเจนจากธรรมชาติ

ดินเมื่อใช้ปลูกพืชไปสักระยะแร่ธาตุในดินก็จะน้อยลงเรื่อยๆ จากการที่พืชดูดแร่ธาตุเหล่านั้นไปใช้ในการเจริญเติบโต และเพื่อเสริมธาตุอาหารที่ขาดหายไป ก็จำเป็นต้องบำรุงดินด้วยการใส่ปุ๋ยเข้าไป ซึ่งมีปุ๋ยชนิดหนึ่ง ก็คือ ปุ๋ยพืชสด

ปุ๋ยพืชสด เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้จากการตัดสับและไถกลบพืชคลุกเคล้าลงดิน เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติและเพิ่มแร่ธาตุในดินให้ดีขึ้น และเมื่อซากพืชเริ่มย่อยสลาย ก็จะปลดปล่อยธาตุอาหารให้กับพืช หลังจากนั้นจึงค่อยปลูกพืชหลักต่อไปได้

และเมื่อพูดถึงปุ๋ยพืชสด หลายคนก็อาจคุ้นตากับ ทุ่งปอเทือง ที่ปลูกไว้บำรุงดิน แต่จริงๆ แล้วยังมีพืชอีกหลายชนิดที่สามารถปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดินได้ และมีวิธีการปลูกที่แตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละฟาร์ม รวมถึงประโยชน์ของปุ๋ยพืชสดก็น่าสนใจมากๆ อีกด้วย

ปุ๋ยพืชสด

ประโยชน์ของปุ๋ยพืชสด

  1. ช่วยปรับโครงสร้างดินให้ร่วนซุยและอุ้มน้ำได้ดีขึ้น โดยปุ๋ยพืชสดจะแทรกตัวอยู่ระหว่างเม็ดดิน เปรียบเสมือนมีฟองน้ำคอยกักเก็บน้ำและแร่ธาตุไว้ในดิน
  2. ปุ๋ยพืชสดส่วนใหญ่จะนิยมใช้พืชตระกูลถั่ว เนื่องจากมีไรโซเบียมอาศัยอยู่ในราก จึงสามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศมาสะสมไว้ในพืชได้ และเมื่อไถกลบไนโตรเจนจะถูกปลดปล่อยสู่ดิน จึงช่วยทนแทนปริมาณการใช้ปุ๋ยลงได้ ส่วนกรดที่เกิดจากการย่อยสลายของปุ๋ยพืชสด ก็ยังช่วยละลายธาตุอาหารในดินให้แก่พืชอีกด้วย
  3. ช่วยรักษาปริมาณธาตุอาหารพืชในดิน เนื่องจากปุ๋ยพืชสดจะใช้ปุ๋ยที่ตกค้างอยู่ในดินมาใช้ประโยชน์ รวมถึงมีพืชบางชนิดที่ระบบรากลึก จะดึงธาตุอาหารจากชั้นใต้ดินที่อยู่ลึกขึ้นมาสะสมไว้ในต้น และเมื่อไถกลบจึงช่วยเพิ่มธาตุอาหารในชั้นดินด้านบนด้วย
  4. ช่วยลดการชะล้างพังทลายของหน้าดินจากน้ำฝนและลม รวมถึงลดปริมาณของวัชพืชลงได้ ในระหว่างที่ต้นคลุมดินอยู่
ปุ๋ยพืชสด
ถั่วแปปม่วง หรือ ถั่วแปะยี นอกจากจะเป็นปุ๋ยพืชสด ยอดอ่อน ช่อดอกอ่อน ฝักอ่อน สามารถทานเป็นผักสดได้

ลักษณะของปุ๋ยพืชสด

  1.  สามารถเจริญเติบโตได้ในสภาพดินทั่วไป โดยเฉพาะในดินเลว ที่ต้องการบำรุงดิน
  2. เมล็ดมีอัตราการงอกดี สามารถงอกได้แม้มีความชื้นต่ำ และสามารถเก็บเมล็ดมาขยายพันธุ์ปลูกต่อได้
  3. ปลูกง่าย เจริญเติบโตเร็ว มีระยะเวลาออกดอกสั้น 1-2 เดือน ก็สามารถไถกลบได้ และให้น้ำหนักพืชสดสูง 2,000-7,000 กิโลกรัมต่อไร่
  4. ลำต้นเปราะไถกลบแล้ว ย่อยสลายได้อย่างรวดเร็ว และสามารถกำจัดได้ง่าย ไม่มีลักษณะกระจายพันธุ์เป็นวัชพืช
  5. ต้านทานโรคและแมลงได้ดี ไม่ต้องดูแลมาก

วิธีการใช้ ปุ๋ยพืชสด

  1. ปลูกในพื้นที่แปลงใหญ่ แล้วตัดสับและไถกลบ ภายในพื้นที่ที่ต้องการจะบำรุงดิน ก่อนปลูกพืชหลัก
  2. ปลูกแซมระหว่างร่องหรือแถวของพืชหลัก โดยเริ่มปลูกเมื่อพืชหลักโตได้ระยะหนึ่งแล้ว เมื่อออกดอกจึงค่อยไถกลบ
  3. ปลูกในพื้นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วตัดเอาส่วนด้านบนมาใส่ในแปลงที่จะปลูกพืชหลัก แล้วค่อยไถกลบลงไปในดิน
ปุ๋ยพืชสด
ถั่วลิสงในระยะออกดอก ที่พร้อมไถกลบเป็นปุ๋ยพืชสด

ประเภทของ ปุ๋ยพืชสด

พืชตระกูลถั่ว เป็นพืชที่นิยมทำปุ๋ยพืชสดกันมากที่สุด เนื่องจากสามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกประเภท ที่สำคัญพืชตระกูลถั่วมีไรโซเบียมช่วยตรึงธาตุไนโตรเจนจากอากาศได้ เหมาะที่จะไถกลบในช่วงที่ออกดอก เพราะเป็นช่วงมีธาตุอาหารและน้ำหนักสดสูง สามารถช่วยบำรุงดินได้ดี โดยพืชตระกูลถั่วสามารถจำแนกได้เป็น 4 ประเภทตามนี้

ปุ๋ยพืชสด
ถั่วเขียว (Vigna radiata)

1 I พืชตระกูลถั่วที่เป็นพืชเศรษฐกิจ อยู่ในกลุ่มที่ให้ผลผลิตเป็นฝักและเมล็ด ส่วนใบลำต้นนำมาเป็นอาหารสัตว์ได้ และเมื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว สามารถไถกลบลงดินเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสด

  • ถั่วเขียว – ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-5 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ไถกลบช่วงอายุ 40-50 วัน ได้น้ำหนักสด 1-4 ตันต่อไร่ ซึ่งจะให้ธาตุไนโตรเจน 10-20 กิโลกรัมต่อไร่
  • ถั่วเหลือง – ใช้เมล็ดพันธุ์ 7-12 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ไถกลบช่วงออกดอก จะได้น้ำหนักสด 600-1,400 กิโลกรัมต่อไร่ 
  • ถั่วลิสง – ใช้เมล็ดพันธุ์ 15-18 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ไถกลบช่วงอายุ 45 วัน จะได้น้ำหนักสด 542 กิโลกรัมต่อไร่ 
  • ถั่วพร้า – ใช้เมล็ดพันธุ์ 5-8 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ไถกลบช่วงอายุ 60-65 วัน จะได้น้ำหนักสด 2.5-4 ตันต่อไร่
  • ถั่วแปบ – ใช้เมล็ดพันธุ์ 4-5 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ไถกลบช่วงอายุ 45 วัน จะได้น้ำหนักสด 4-5 ตันต่อไร่
  • ถั่วพุ่ม – ใช้เมล็ดพันธุ์ 6-8 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ไถกลบช่วงอายุ 45-60 วัน ได้น้ำหนักสด 1-4 ตันต่อไร่ ซึ่งจะให้ธาตุไนโตรเจน 10-20 กิโลกรัมต่อไร่
ปุ๋ยพืชสด
โสนอินเดีย (Sesbania speciosa)

2 I พืชตระกูลถั่วที่รากมีไรโซเบียมช่วยตรึงไนโตรเจน อยู่ในกลุ่มที่มีปมบริเวณรากหรือลำต้นจำนวนมาก จึงปลูกสำหรับบำรุงดินโดยเฉพาะ และเมื่อหลังจากไถกลบลงดินแล้ว ประมาณ 2-4 สัปดาห์ จะย่อยสลายและสามารถปลูกพืชหลักต่อได้

  • โสนแอฟริกัน – ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ไถกลบช่วงอายุ 50-70 วัน ได้น้ำหนักสด 2-4 ตันต่อไร่ ซึ่งจะให้ธาตุไนโตรเจน 12-20 กิโลกรัมต่อไร่
  • โสนคางคก – ใช้เมล็ดพันธุ์ 5-6 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ไถกลบช่วงอายุ 60 วัน ได้น้ำหนักสด 1-3 ตันต่อไร่ ซึ่งจะให้ธาตุไนโตรเจน 10-15 กิโลกรัมต่อไร่
  • โสนจีนแดง – ใช้เมล็ดพันธุ์ 5-6 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ไถกลบช่วงอายุ 45-60 วัน ได้น้ำหนักสด 1-2 ตันต่อไร่ ซึ่งจะให้ธาตุไนโตรเจน 10-15 กิโลกรัมต่อไร่
  • โสนอินเดีย – ใช้เมล็ดพันธุ์ 5-6 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ไถกลบช่วงอายุ 60-70 วัน ได้น้ำหนักสด 2-4 ตันต่อไร่
  • ปอเทือง – ใช้เมล็ดพันธุ์ 5 กิโลกรัมต่อไร่ ให้ไถกลบช่วงอายุ 50-60 วัน ได้น้ำหนักสด 1.5-3 ตันต่อไร่ ซึ่งจะให้ธาตุไนโตรเจน 10-20 กิโลกรัมต่อไร่
ปุ๋ยพืชสด
ถั่วฮามาต้า (Stylosanthes hamata)

3 I พืชตระกูลถั่วคลุมดิน เป็นชนิดที่นิยมปลูกคลุมดินในร่องสวนผลไม้ ช่วยควบคุมวัชพืชบางชนิดได้แล้ว ยังช่วยป้องการชะล้างพังทลายของหน้าดิน และเมื่อใบแก่ร่วงหล่นก็จะย่อยสลายเป็นปุ๋ยพืชสด มีอายุข้ามปีเมื่อถึงฤดูฝน เถาที่แห้งจะแตกใบและยอดอ่อนเจริญเติบโตได้อีก

  • ถั่วไซราโตร – ใช้เมล็ดพันธุ์ 0.5 กิโลกรัมต่อไร่
  • ถั่วคาโลโกโกเนียม – ใช้เมล็ดพันธุ์ 1-3 กิโลกรัมต่อไร่
  • ไมยราบไร้หนาม – ใช้เมล็ดพันธุ์ 1-3 กิโลกรัมต่อไร่
  • ถั่วเวอราโน – ใช้เมล็ดพันธุ์ 1-2 กิโลกรัมต่อไร่
  • ถั่วลาย – ใช้เมล็ดพันธุ์ 3-4 กิโลกรัมต่อไร่
ต้นกระถิน (Leucaena spp.)

พืชตระกูลถั่วที่ปลูกเป็นแนวขอบ ชนิดนี้นิยมปลูกไว้ริมรั้วเพื่อแบ่งขอบเขตและเป็นแนวกันลม นิยมตัดใบและกิ่งอ่อนมาสับฝังลงในดิน รวมถึงกิ่งอ่อนและฝักอ่อนสามารถเป็นอาหารสัตว์ได้ เช่น กระถินยักษ์ กระถิน ขี้เหล็กผี

จอกหนู (Salvania culculata)

นอกจากพืชตระกูลถั่วแล้ว ยังนิยมใช้เฟินน้ำที่อาศัยอยู่ร่วมกับสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เช่น จอกหูหนู แหนแดง เนื่องจาก เป็นเฟินน้ำที่สามารถตรึงไนโตรเจนจากอากาศได้ โดยพืชน้ำที่นิยมเลี้ยงจะเป็นแหนแดง (Azolla microphylla) ซึ่งเป็นแหนแดงที่ได้มีการพัฒนาสายพันธุ์จาก กรมวิชาการเกษตร จึงช่วยให้เจริญเติบโตได้เร็วกว่าพันธุ์พื้นเมือง (Azolla pinnata) มากกว่า 10 เท่า

แหนแดง (Azolla microphylla)

ซึ่งแหนแดงจะนำมาขยายพันธุ์ในนาข้าว เพื่อไถกลบลงดินหลังจากที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้ว จะให้น้ำหนักสดถึง 3-9 ตันต่อไร่ สามารถให้โนโตรเจนได้ 5-6 กิโลกรัมต่อไร่

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับปุ๋ย สามารถหาซื้อ หนังสือ ปุ๋ยเคมี Chemical Fertilizer และ หนังสือ ปุ๋ยอินทรีย์ Organic Fertilizer ได้

ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ แตกต่างกันอย่างไร?

ควรใช้ ปุ๋ยเคมี อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด