ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ แตกต่างกันอย่างไร?

หนึ่งในวิธีที่ช่วยให้พืชผักเจริญเติบโตได้สมบูรณ์มากขึ้น คือ การใส่ปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยนับว่าเป็นสิ่งที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย มี ประเภทปุ๋ย ให้เลือกใช้มากมาย เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืชให้อุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

แต่ทว่า ประเภทปุ๋ย ในท้องตลาดนั้นมีให้เลือกหลากหลาย ไม่ได้มีแค่ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ตามที่เรารู้จักกันเท่านั้น แต่ยังมีปุ๋ยประเภทอื่นอีกด้วย ซึ่งจะมีคุณสมบัติและวิธีการใช้งานที่แตกต่างกันออกไปตามการใช้งาน แล้วมีปุ๋ยอะไรบ้าง สามารถศึกษาเพิ่มเติมกันได้เลย

ประเภทปุ๋ย : ปุ๋ยอินทรีย์

ปุ๋ยที่มาจากอินทรีย์วัตถุชนิดต่างๆ เช่น มูลสัตว์ เศษพืชผัก เศษอาหาร เป็นต้น มาผ่านกระบวนการหมักเป็นระยะเวลาหนึ่ง จนย่อยสลายดีแล้วจึงพร้อมนำไปใช้งาน ซึ่งสามารถช่วยปรับปรุงดินให้มีคุณสมบัติทางกายภาพดีขึ้น และรวมถึงธาตุอาหารในดินก็มีมากขึ้นด้วย แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก

1 I ปุ๋ยหมัก

เป็นปุ๋ยที่ได้จากการหมักวัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตร ไม่ว่าจะเป็น ฟางข้าว เปลือกถั่ว ใบอ้อย หญ้าชนิดต่างๆ ผักตบชวา จอก แหน และรวมถึงเศษอาหารจากครัวเรือน มาหมักร่วมกับมูลสัตว์ และน้ำหมักจุลินทรีย์ โดยแนะนำให้เลือกใช้วัตถุดิบที่ตนเองมีในพื้นที่ใกล้เคียงก็จะช่วยลดต้นทุนในการทำปุ๋ยได้ เช่น ถ้าพื้นที่ใกล้เคียงอยู่ใกล้ตลาดปลา ก็สามารถทำปุ๋ยหมักปลาได้ หรือถ้ามีปัญหาหอยเชอร์รีรบกวน ก็สามารถนำมาทำน้ำหมักชีวภาพจากหอยเชอร์รีก็ได้เช่นกัน

2 I ปุ๋ยพืชสด

เป็นปุ๋ยที่ได้จากการไถกลบพืชบางชนิดขณะที่เจริญเติบโตในระยะเริ่มออกดอกคลุกเคล้าลงดิน เพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของดินให้ดีขึ้น เมื่อซากพืชเริ่มย่อยสลายจึงค่อยปลูกพืชหลักต่อไปได้ พืชที่ปลูกเพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดจะนิยมใช้พืชตระกูลถั่วในการทำ เนื่องจากสามารถเจริญเติบโตได้ในดินทุกประเภท โดยสามารถจำแนกเป็น 4 ประเภทตามนี้

  • พืชตระกูลถั่วที่เป็นพืชเศรษฐกิจ เช่น ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วลิสง ถั่วพร้า ถั่วแปบ ถั่วพุ่ม
  • พืชตระกูลถั่วที่รากมีไรโซเบียมช่วยตรึงไนโตรเจน เช่น โสนแอฟริกัน โสนคางคก โสนจีนแดง ปอเทือง โสนอินเดีย
  • พืชตระกูลถั่วคลุมดิน เช่น ถั่วไซราโตร ถั่วคาโลโกโกเนียม ไมยราบไร้หนาม
  • พืชตระกูลถั่วที่ปลูกเป็นแนวขอบเตร เช่น กระถินยักษ์ กระถิน ขี้เหล็กผี

ประเภทปุ๋ย : ปุ๋ยชีวภาพ

ปุ๋ยที่นำจุลิทรีย์มาช่วยในการปรับปรุงดินทั้งด้าน ชีวภาพ กายภาพ ชีวเคมี และ การย่อยสลายอินทรีย์หรืออนินทรีย์วัตถุในดิน สามารถช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตหรือเพิ่มความต้านทานโรคให้กับพืชได้ ซึ่งลักษณะของดินที่ดีจะมีจุลินทรีย์ที่ดีอยู่ภายในดินด้วยเช่นกัน ได้แก่ สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน ไรโซเบียม และไมคอร์ไรซา เป็นต้น

4 I สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน

สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินเป็นพืชที่มีขนาดเล็กมาก สำหรับสกุล Anabaena สามารถพบเจออาศัยอยู่ในแหนแดง นิยมใช้ในนาข้าวเพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ภายในดิน ทำหน้าที่หาแร่ธาตุ ปรุงอาหารได้เองโดยการสังเคราะห์แสง และมีเซลล์พิเศษ เฮเทอโรซีสต์ (Heterocyst) มีเอนไซม์ไนโตรจีเนส ที่ช่วยตรึงก๊าซไนโตรเจนในอากาศ ให้เป็นแอมโมเนียม กระตุ้นการเจริญเติบโตของต้นข้าวได้ดี รวมถึงสามารถทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ ทั้งความร้อน ทนแล้ง และทนหนาวได้ดี ปุ๋ยชีวภาพที่ประกอบด้วยสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน เช่น Anabaena sp. / Calothrix sp. / Cylindrospermum sp. / Nostoc sp. / Scytonema sp. / Tolypothrixx sp.

5 I ไรโซเบียม

ไรโซเบียม (Rhizobium) เป็นแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่อาศัยร่วมกับพืชตระกูลถั่ว ช่วยให้สามารถตรึงไนโตรเจนจากในอากาศให้กับพืชได้ ช่วยให้พืชสามารถเจริญเติบโตได้ดีขึ้น ปัจจุบันจะใช้เชื้อไรโซเบียมคลุกเข้ากับเมล็ดพันธุ์พืชก่อนปลูก โดยต้องเลือกเชื้อให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกด้วย เช่น ถั่วเหลืองจะใช้ Bradyrhizobium japonicum ส่วน ถั่วลันเตาจะใช้ Rhizobium leguminosarum

6 I ปุ๋ยชีวภาพจากไมคอร์ไรซา

ไมคอร์ไรซา (Mycorrhiza) เป็นเห็ดราชนิดหนึ่งที่อาศัยกับรากพืช โดยที่พืชจะได้รับน้ำและแร่ธาตุจากที่เชื้อราหาได้ ส่วนเชื้อราจะได้รับสารอาหารจากรากพืชเช่นกัน โดยเส้นใยของเชื้อราจะช่วยดูดซับฟอสเฟตง่ายขึ้น และเพิ่มพื้นผิวการดูดซับธาตุอาหารอื่นเนื่องจากเส้นใยของเชื้อรามีขนาดที่เล็กมาก นอกจากนี้ยังช่วยส่งเสริมจุลินทรีย์ในดินให้ละลายฟอสเฟตได้ดี พอมีฟอสเฟตออกมามาก ทั้งราและรากก็ได้รับประโยชน์

ปุ๋ยเคมี

ปุ๋ยที่มาจากสังเคราะห์สารอินทรีย์และสารอนินทรีย์ ซึ่งรวมถึงปุ๋ยเชิงเดี่ยว ปุ๋ยเชิงผสม และปุ๋ยเชิงประกอบ ถึงแม้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีปุ๋ยเคมีก็นับว่าเป็นปุ๋ยเคมีด้วยเช่นกัน แต่ไม่นับรวมปูนขาว ดินมาร์ล ปูนพลาสเตอร์ หรือ ยิปซัม โดโลไมต์

7 I ปุ๋ยเชิงเดี่ยว

ปุ๋ยเคมีที่มีธาตุอาหารหลักเพียงธาตุเดียว เช่น ปุ๋ยยูเรียที่จะมีเฉพาะไนโตรเจน หรือ ปุ๋ยซุปเปอร์ฟอสเฟตที่มีเฉพาะฟอสฟอรัส เป็นต้น โดยสามารถสังเกตได้จากหน้ากระสอบปุ๋ยจะมีเลขเพียงตำแหน่งเดียวเท่านั้น ส่วนตำแหน่งอื่นจะเป็นเลขศูนย์ เช่น ปุ๋ยสูตร 46-0-0 ซึ่งหมายความว่า ปุ๋ย 100 กิโลกรัม มีไนโตรเจนอยู่ 46 กิโลกรัม

  • ปุ๋ยไนโตรเจน ได้แก่ แอนไฮดรัสแอมโมเนีย ยูเรีย แอมโมเนียมซัลเฟต แอมโมเนียมคลอไรด์ เป็นต้น
  • ปุ๋ยฟอสฟอรัส ได้แก่ หินฟอสเฟต ซูเปอร์ฟอสเฟตเข้มข้น กรดฟอสฟอริก เป็นต้น
  • ปุ๋ยโพแทสเซียม ได้แก่ ปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ โพแทสเซียมซัลเฟต โพแทสเซียมไนเตรต

ปุ๋ยยูเรีย (46-0-0) ใช้ให้เป็น ใส่ให้ถูก พืชเติบโตงอกงาม

8 I ปุ๋ยเชิงผสม และ ปุ๋ยเชิงประกอบ

ปุ๋ยเชิงผสม คือ ปุ๋ยเคมีที่มีการผสมธาตุอาหารหลักอย่างน้อย 2 ธาตุขึ้นไป โดยอาจมีการใช้สารตัวเติมหรือไม่ก็ได้ เพื่อให้ได้สูตรตามที่ต้องการ สามารถนำมาผสมกันได้แบบคลุกเคล้าในอัตราส่วนต่างๆ ซึ่งจะเรียกว่า ปุ๋ยเบ๊าค์ หรือนำมาบดรวมกันแล้วปั้นเม็ดขึ้นมาใหม่จะเรียกว่า ปุ๋ยปั้นเม็ด เพื่อให้ธาตุอาหารรกระจายตัวได้ดีกว่าปุ๋ยเบ๊าค์

ปุ๋ยเชิงประกอบ คือ ปุ๋ยเคมีที่ได้จากการผสมปุ๋ยเคมีชนิดอื่น หรือประเภทต่างๆ เข้าด้วยกัน โดยใช้กรรมวิธีทางเคมีเพื่อธาตุอาหารในเนื้อปุ๋ยมีความสม่ำเสมอมากกว่าปุ๋ยเชิงผสม

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากเพิ่มเติมความรู้เกี่ยวกับปุ๋ย สามารถหาซื้อ หนังสือ ปุ๋ยเคมี Chemical Fertilizer และ หนังสือ ปุ๋ยอินทรีย์ Organic Fertilizer ได้

เราใส่ปุ๋ยในดินเพื่ออะไร? กับ 8 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ “ปุ๋ย”

ควรใช้ ปุ๋ยเคมี อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด