รวม 8 เศษอาหาร ที่มีประโยชน์ใช้ทำปุ๋ยหมักได้

อาหารที่รับประทานกันในแต่ละวัน พอรวมกันแล้วก็มี เศษอาหาร เหลือทิ้งไม่น้อย และหากไม่กำจัดอย่างถูกวิธี ก็จะส่งกลิ่นเหม็น เรียกเหล่าหนอนแมลงต่างๆ มารบกวนได้ เศษอาหารส่วนใหญ่จึงนิยมทำไปทำเป็นปุ๋ยหมักใช้บำรุงพืชผักกัน

แต่รู้ไหมว่า เศษอาหาร บางชนิดก็มีสารอาหารหรือคุณสมบัติที่น่าสนใจ สามารถใช้ทำน้ำหมักป้องกันเชื้อรา หรือใช้ทำปุ๋ยสูตรบำรุงผล รวมถึงนำไปเป็นอาหารสัตว์ช่วยลดต้นทุนในการทำเกษตรก็ยังได้ จะมีเศษอาหารชนิดใดบ้างและมีวิธีการทำอย่างไร แฟนฟาร์มสามารถศึกษาจากบทความนี้ได้เลย

เศษอาหาร

1I เศษอาหาร จากเปลือกมังคุด ใช้ทำน้ำหมักป้องกันเชื้อรา

เปลือกมังคุด มีสารทางชีวภาพหลายชนิด เช่น flavonoids, xanthones และ mangiferin เป็นสารช่วยเพิ่มความต้านทานของพืช และยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรีย Ralstonia solanacearum สาเหตุโรคเหี่ยวในมะเขือเทศ และเชื้อรา Aspergillus spp. สาเหตุโรคเน่าในเมล็ดถั่วเขียวได้

ขั้นตอนการทำ ใช้เปลือกมังคุดที่แกะเนื้อออกหมดแล้ว มาล้างทำความสะอาด โดยนำมาหมักในอัตราส่วนตามนี้ เปลือกมังคุด 4 กิโลกรัม น้ำหมัก EM 300 ซีซี น้ำตาลทรายแดง 300 กรัม จากนั้นเติมน้ำให้ท่วมเปลือกมังคุดและคนให้เข้ากัน หมักทิ้งไว้ ประมาณ 3 เดือน เมื่อครบแล้วก็สามารถนำไปใช้ฉีดพ่นพืชผักได้ โดยผสมในอัตราส่วน น้ำหมักเปลือกมังคุด 100 ซีซี ต่อ น้ำ 10 ลิตร

2 I เศษอาหาร จากเศษปลา ใช้ทำน้ำหมักบำรุงพืชผัก

เศษปลา เช่น หัวปลา ก้างปลา หัวปลา พุงปลา และเลือด สามารถนำมาทำน้ำหมักปลาได้ โดยจะได้ธาตุหลัก ทั้ง ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม รวมถึงธาตุรองและธาตุเสริม เช่น กำมะถัน เหล็ก ทองแดง และแมงกานีส ล้วนแล้วเป็นธาตุที่สำคัญกับพืชทั้งสิ้น

ขั้นตอนการทำ นำเศษปลา 2 กิโลกรัม เทใส่ภาชนะขนาด 10 ลิตร ตามด้วยกากน้ำตาล 1 กิโลกรัม น้ำสะอาด 1 ลิตร สารเร่งพด. ซุปเปอร์ 2 จำนวน 1 ถุง และน้ำสะอาด 1 ลิตร (โดยเติมให้น้ำสูงประมาณ 80% ของถัง) จากนั้นคนให้เข้ากัน การดูแลให้หมั่นเปิดฝาและคนเป็นประจำ ซึ่งใช้เวลาหมักประมาณ 2 เดือน เศษปลาจะย่อยสลายได้ดี ก็สามารถนำไปใช้ฉีดพ่นพืชผักได้ โดยผสมในอัตราส่วน น้ำหมักปลา 100 ซีซี ต่อ น้ำ 10 ลิตร ฉีดพ่นทุกๆ 7-10 วัน

เศษอาหาร

3 I เศษอาหาร จากเปลือกไข่ ใช้ทำน้ำหมักสูตรแคลเซียม

เปลือกไข่อุดมไปด้วย แคลเซียม ซึ่งเป็นธาตุอาหารรองที่พืชต้องการใช้ในการเจริญเติบโต ถึงแม้ว่าจะใช้ไม่เยอะ แต่ก็ขาดไม่ได้ และบ่อยครั้งถ้าขาดก็มักจะทำให้ผลมีผิวที่บอบบางและปริแตกได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงที่ขาดน้ำและได้รับน้ำอย่างกระทัน

ขั้นตอนการทำ ให้นำเปลือกไข่ไปตากแดดให้แห้งก่อน ไม่อย่างนั้นเปลือกไข่ที่มีเศษไข่ขาวอยู่จะดึงดูดเหล่ามดให้เข้ามารบกวนได้ จากนั้นนำเปลือกไข่มาตำให้ละเอียด และเติมด้วยน้ำตาลทรายแดง 2 ช้อนโต๊ะ น้ำหมัก 1 ช้อนโต๊ะ และน้ำซาวข้าว 1 ลิตร นำมาใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ แล้วปิดฝาทิ้งไว้ 14 วัน ในระหว่างนั้นให้เปิดฝาทุกวันเพื่อระบายแก๊สจากกระบวนการหมัก เมื่อครบแล้วก็สามารถนำไปใช้ฉีดพ่นพืชผักและไม้ผลได้ โดยผสมในอัตราส่วน น้ำหมักเปลือกไข่ 25 ซีซี ต่อ น้ำ 10 ลิตร

เศษอาหาร

4 I เศษอาหาร จากเปลือกกุ้ง ใช้ทำน้ำหมักป้องกันเชื้อรา

เปลือกกุ้งมีไคโตซาน สามารถใช้ป้องกันเชื้อราได้ เพราะ เมื่อไคโตซานสัมผัสกับปลายยอดของเชื้อรา จะสร้างเอนไซม์ไคตินดีอะเซทิเลส ที่ทำให้ปลายยอดของเชื้อราแตกสลาย จนสารต่างๆ ภายในไหลออกมาภายนอก เชื้อราจึงเจริญเติบโตได้ยากและตายในที่สุด

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากนำเปลือกกุ้งไปตากแดดจนแห้ง จากนั้นนำมาใส่เครื่องปั่นตามด้วย น้ำมะพร้าว 1 ผล และกากน้ำตาลครึ่งแก้ว พอปั่นจนเข้ากันดีแล้ว ให้กรอกใส่ขวดหมักทิ้งไว้ประมาณ 10 วัน ส่วนวิธีใช้ให้ผสมน้ำในอัตราส่วน น้ำหมักเปลือกกุ้ง 20 มล. ต่อ น้ำ 20 ลิตร ใช้ฉีดพ่นช่วงเช้า

เศษอาหาร
ภาพ : ภัทรพร เวียร์ซิอ็อค

5 I เปลือกทุเรียน ใช้ทำปุ๋ยหมักสูตรบำรุงผล

เปลือกทุเรียน ถึงแม้ว่าจะมีหนามและเปลือกที่หนา แต่สามารถย่อยสลายได้ง่าย ที่สำคัญมีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมสูง เหมาะสำหรับนำไปทำปุ๋ยหมักบำรุงผลได้ โดยทุเรียน 1 ลูก จะมีเปลือกทุเรียนมากถึง 58% ที่สามารถนำมาทำปุ๋ยหมักได้

ขั้นตอนการทำ จะใช้หลักการของปุ๋ยหมักไม่กลับกอง วิศวกรรมแม่โจ้ 1 และสามารถทำในวงตาข่ายได้ โดยเริ่มทำวงตาข่ายให้มีความกว้างและสูง 1 เมตร จากนั้นนำเปลือกทุเรียนเทลงไปเป็นชั้นแรก สูงประมาณ 10 ซม. ตามด้วยฟางข้าว และปิดด้วยมูลสัตว์ ในอัตราส่วน เปลือกทุเรียน 4 ส่วน ต่อ ฟางข้าวและมูลสัตว์อย่างละ 1 ส่วน

จากนั้นให้รดน้ำ ทำแบบนี้ซ้อนทับกันไปเรื่อยๆ จนเต็มวงตาข่าย แล้วชั้นบนสุดให้โรยด้วยมูลสัตว์ จนกระทั่งเวลาผ่านไป 2 เดือน จึงค่อยล้มกองปุ๋ย แล้วนำปุ๋ยที่ได้ไปตากแดดให้แห้ง จากนั้นก็สามารถนำปุ๋ยไปใช้ได้เลย

เศษอาหาร

6 I กากกาแฟ ใช้ทำปุ๋ยหมักบำรุงพืชผัก

กากกาแฟมีธาตุไนโตรเจนสูงถึง 1.2 – 2.4% รวมถึงมีฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมด้วย ล้วนเป็นธาตุอาหารหลักที่จำเป็นต่อพืช ในทางกายภาพยังช่วยปรังปรุงโครสร้างดินให้ร่วนซุย ดังนั้น กากกาแฟจึงเป็นปุ๋ยใช้บำรุงพืชผักได้เป็นอย่างดี แต่ในการนำกากกาแฟมาใช้ต้องผ่านกระบวนการหมักก่อน เนื่องจากยังมีคาเฟอีนหลงเหลืออยู่ในปริมาณมาก ถ้าหากไม่หมักจะทำให้เป็นพิษต่อพืชและจุลินทรีย์ในดิน

ขั้นตอนการทำ ให้นำกากกาแฟ 2 ส่วน มาผสมกับ มูลวัว แกลบดิบ รำละเอียด อย่างละ 1 ส่วน พร้อมกับรดราดด้วยไตรโคเดอร์มาและน้ำหมักจุลินทรีย์เพื่อช่วยย่อยสลายและป้องกันการเกิดเชื้อรา หมักทิ้งไว้จนไม่ร้อน หรือประมาณ 2 สัปดาห์ ก็สามารถนำไปโรยรอบทรงพุ่ม หรือ ผสมในวัสดุปลูกได้เลย

7 I เศษอาหารทั่วไป ใช้ทำโปรตีนอาหารสัตว์และปุ๋ยจากมูลหนอน BSF

หนอนแมลงวันลาย (BSF) นับว่าเป็นแมลงทางเลือกที่เข้ามาทดแทนโปรตีนอาหารสัตว์จากกากถั่วเหลืองได้อย่างดี เนื่องจากมีโปรตีนสูงถึง 40-50% อีกทั้งยังมีกรดลอริกที่ช่วยป้องกันเชื้อก่อโรค และอุดมไปด้วยโอเมก้า 3,6,9 นอกจากนี้ก็ยังเป็นนักย่อยสลายเศษอาหารที่เก่งกาจ สามารถกินเศษอาหารได้เกือบทุกประเภท รวมถึงกับอาหารที่มีรสชาติจัด เพียงแต่ให้กรองน้ำออกก่อน และพอย่อยสลายเสร็จก็จะได้มูลที่เป็นปุ๋ยให้กับพืชได้อย่างดี

ขั้นตอนการทำ เริ่มจากเทเศษอาหารที่เตรียมไว้ในกระบะแล้วตามด้วยไข่หนอน จากนั้นโรยรำละเอียดรอบเศษอาหาร แล้วนำตาข่ายมาคลุมไว้เพื่อป้องกันสัตว์อื่นมารบกวน นำไปวางไว้ในที่ร่ม หากระหว่างนั้นอาหารย่อยสลายหมด ก็ให้เติมเศษอาหารใหม่ลงไป พอหนอนมีอายุประมาณ 13-18 วัน ก็นำไปเป็นอาหารสัตว์ได้ และแบ่งส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ชุดต่อไป ส่วนมูลหนอนสามารถนำไปโรยเป็นปุ๋ยต่อไปได้

8 I เศษผักผลไม้ ใช้ทำปุ๋ยมูลไส้เดือน

มูลไส้เดือน ประกอบไปด้วยธาตุอาหาร ได้แก่ ไนโตรเจน 0.995% ฟอสฟอรัส 0.669% และ โพแทสเซียม 1.487% ใช้สำหรับบำรุงต้นและรากได้ อีกทั้งมีความร่วนซุยสามารถใช้เป็นส่วนผสมในวัสดุเพาะเมล็ดได้อย่างดี โดยอาหารสำหรับไส้เดือนก็จะมาจากเศษผักผลไม้ที่ย่อยสลายได้ง่าย เช่น ผักกาดขาว คะน้า กวางตุ้ง ผักกาดหอม และหลีกเลี่ยงผักที่มีเส้นใยเหนียว และผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว

ขั้นตอนการทำ เตรียมกะละมังมาเจาะรูด้านล่าง เพื่อให้เป็นที่ระบายน้ำ จากนั้นโรยด้วยแกลบดิบหรือขุยมะพร้าว ตามด้วยเศษผักผลไม้ ต่อไปก็นำมูลวัวนมที่แช่น้ำแล้วมาผสมกับวัสดุเลี้ยงไส้เดือนเดิม เพื่อให้ไส้เดือนคุ้นชิน จากนั้นรดน้ำให้มีความชื้นพอประมาณและใส่ไส้เดือนตามลงไป ปิดกะละมังด้วยมุ้งสีดำ และนำไปวางไว้ในที่ร่ม ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 1 เดือน ก็ให้ร่อนแยกตัวไส้เดือนออก ก็จะได้มูลไส้เดือนมาใช้งานแล้ว 

สำหรับท่านใดที่สนใจอยากศึกษาเรื่องการทำปุ๋ยหมักเพิ่มเติม ทั้งปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ ก็สามารถหา หนังสือ ปุ๋ยอินทรีย์ Organic Fertilizer มาอ่านเติมพลังสมองกันได้นะ