อาหารสัตว์มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ในหลายประเทศจึงเฟ้นหาวัตถุดิบเพื่อมาทดแทนอาหารสัตว์จากพืช ซึ่งหนึ่งในตัวเลือกที่น่าจับตามอง คือ การเลี้ยงหนอน แมลงวันลาย
แมลงวันลาย หรือ หนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly) หรือแมลงโปรตีน นับว่าเป็นแมลงทางเลือกที่เข้ามาทดแทนกากถั่วเหลืองได้อย่างดี เนื่องจากมีโปรตีนสูงถึง 40-50% อีกทั้งยังมีกรดลอริกที่ช่วยป้องกันเชื้อก่อโรค และอุดมไปด้วยโอเมก้า 3,6,9 นอกจากนี้ก็ยังเป็นนักย่อยสลายเศษอาหาร ซึ่งสามารถช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ต้นตอของสภาวะโลกร้อน รวมถึงช่วยลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ภายในฟาร์มด้วยเช่นกัน
จากปัญหาราคาอาหารสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ความต้องการก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เกษตรกรหลายรายจึงเริ่มหันมาเลี้ยงหนอนแมลงวันลายกันมากขึ้น เช่นเดียวกันกับ คุณฉัตร – ฉัตรสุดา ธิตินาสกุล อดีตวิศวกรโยธา เจ้าของฟาร์มหนอนแมลงวันลาย Suda Ento Farm แมลงโปรตีน Black Soldier Fly ที่ได้มองเห็นโอกาสในการทำธรุกิจในครั้งนี้
คุณฉัตรเล่าว่า “เราพบว่าต่อไปในอนาคตอาหารจะเป็นวิกฤต และอาหารสำหรับสัตว์มีแนวโน้มเติบโต จากประชากรโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เพราะสุดท้ายคนก็ต้องรับประทานเนื้อสัตว์อยู่ดี รวมถึงตลาดสัตว์เลี้ยงก็เติบโตด้วยเช่นกัน แล้วอะไรเป็น pain point ของตลาดนี้ ก็คือ วัตถุดิบในการทำอาหารสัตว์มีต้นทุนที่สูงขึ้น จึงเริ่มหาว่ามีวัตถุดิบอะไรที่มาทดแทนได้บ้าง ก็พบว่า แมลงเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และพอเรามาดูข้อดี-เสีย ที่เราพอจะทำได้ ก็พบว่า หนอนแมลงวันลายเหมาะสมกับเราที่สุด”
สำหรับใครที่กำลังหาแนวทางในการลดต้นทุนอาหารสัตว์ หรือ ผู้ที่อยากกำจัดขยะอาหารในครัวเรือนด้วยตนเอง ก็สามารถเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ ซึ่งคุณฉัตรก็ได้เล่าวิธีการเลี้ยงไว้อย่างละเอียดสามารถนำไปปฏิบัติตามได้ไม่ยาก
วิธีเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย
อุปกรณ์เลี้ยงหนอน แมลงวันลาย
- ไข่หนอนแมลงวันลาย 5 กรัม
- อาหารเลี้ยง (สูตรเฉพาะของทางฟาร์ม) สามารถใช้เป็นเศษอาหารเลยก็ได้
- ผงโรยกันหนอนไต่ออก (รำละเอียด)
- กระบะ
- ตาข่าย
การเตรียมอาหารและภาชนะสำหรับเลี้ยงหนอน แมลงวันลาย
หลังจากที่ได้ไข่มาแล้ว ให้นำไข่มาเก็บไว้ในภาชนะปิดด้วยฝาตาข่ายเพื่อช่วยระบายอากาศ และวางไว้ในที่ร่ม ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน ตัวอ่อนจะเริ่มฝักออกมา จากนั้นให้นำอาหารสำหรับเลี้ยงมาผสมเข้ากับน้ำ โดยถ้าบีบแล้วมีน้ำไหลตามร่องนิ้วแสดงว่าสามารถใช้ได้แล้ว
สำหรับผู้ที่เลี้ยงเพื่อกำจัดเศษอาหารในครัวเรือน ก็สามารถนำเศษอาหารมาวางไว้ในกระบะได้เลย โดยอาหารที่ให้ได้มีตั้งแต่ เศษอาหารจากครัวเรือน อาหารกระป๋องหมดอายุ เศษผักผลไม้ที่เน่าเสีย ในปริมาณ 1 ถ้วย/วัน สำหรับปริมาณไข่ 5 กรัม
จากนั้นโรยด้านข้างด้วย รำละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวหนอนไต่ออกได้ สาเหตุที่ตัวหนอนจะไต่ออกนั้น เนื่องจาก อาหารอุ้มน้ำหรือเปียกมากเกินไป และ สภาพอากาศมีความชื้นสูง สุดท้ายให้เทตัวอ่อนที่พึ่งฟักลงบนอาหาร พร้อมปิดตาข่ายเพื่อป้องกันสัตว์ชนิดอื่นเข้ามากินหนอน รวมถึงป้องกันแมลงวันบ้านเข้ามาวางไข่ นำไปวางไว้ในที่ร่มอากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ได้รับแสงแดดโดยตรง
หนอนแมลงวันลาย อายุได้ 4-7 วัน
จากชุดทดลองเลี้ยง มีไข่ในปริมาณ 5 กรัม ในระยะนี้สามารถแบ่งเป็น 3 กระบะได้ โดยแบ่ง 2 กระบะแรกสำหรับนำไปเป็นอาหารสัตว์ ส่วนอีกกระบะเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์เพื่อใช้ขยายต่อในอนาคต
วิธีสังเกตเศษอาหารว่าต้องเพิ่มหรือไม่เพิ่ม ให้สังเกตปริมาณของเศษอาหารที่เหลืออยู่ ถ้าจากเดิมที่ให้อาหารในปริมาณเท่าเดิม แต่เริ่มย่อยได้ช้าลงให้ลดปริมาณเศษอาหารลง หรือถ้าเศษอาหารกลายเป็นผุยผง (มูลหนอน) แล้ว แสดงว่าเศษอาหารที่ให้เริ่มไม่พอแล้ว
ข้อควรระวัง ถ้าให้เศษอาหารเยอะมากเกินไป หนอนจะย่อยอาหารได้ช้า ส่งผลให้อาหารเริ่มมีกลิ่นและดึงดูดแมลงบ้านมาได้
หนอนแมลงวันลาย อายุ 13-18 วัน พร้อมเก็บเกี่ยวสำหรับนำไปเป็นอาหารสัตว์
เป็นช่วงที่ตัวหนอนมีโปรตีนสูงที่สุด เหมาะสำหรับนำไปเป็นอาหารสัตว์ และกินอาหารเร็วมากที่สุดด้วยเช่นกัน โดยความเร็วในการเจริญเติบโตของหนอนนั้น ขึ้นอยู่กับปริมาณของสารอาหาร ถ้าอาหารที่เลี้ยงมีโปรตีนสูง ก็จะช่วยให้หนอนโตได้เร็วกว่าอาหารที่มีโปรตีนต่ำ
โดยที่ฟาร์มที่เลี้ยงเชิงพาณิชย์จะควบคุมปริมาณสารอาหาร จึงทำให้เก็บเกี่ยวได้เร็ว ใช้ระยะเวลาเพียงแค่ 13 วัน ส่วนที่เลี้ยงด้วยเศษอาหารตั้งแต่แรกก็จะโตช้ากว่าและเก็บเกี่ยวได้ช้ากว่าตามไปด้วย ในการเก็บเกี่ยวนั้นจะไม่เก็บทั้งหมด โดยจะให้แบ่งส่วนหนึ่งเก็บไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ชุดต่อไปด้วย
ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยวหนอน ที่ฟาร์มเลือกใช้เครื่องร่อนเพื่อลดระยะเวลาการแยกหนอนออกจากมูล โดยลักษณะของมูลหนอนที่ดี ที่เหมาะสำหรับในการนำไปเป็นปุ๋ยบำรุงพืชผัก จะมีกลิ่นของมูลหนอนชัดเจน แต่ถ้ากลิ่นที่ได้เป็นกลิ่นเศษอาหารแสดงว่าหนอนกินไม่หมด ให้นำมูลหนอนที่มีเศษอาหารอยู่ไปหมักอีกที
หนอนแมลงวันลาย อายุ 19-24 วัน เตรียมพร้อมเข้าสู่ดักแด้
สำหรับชุดที่แยกออกมาสำหรับนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ ช่วงนี้ตัวหนอนจะเริ่มมีสีน้ำตาลเข้มขึ้นไปจนถึงสีดำ โดยสีที่เข้มขึ้นนั้นมาจากตัวหนอนจะเริ่มสร้าง ไคติน-ไคโตซาน ซึ่งช่วงอายุนี้จะไม่เหมาะนำไปเป็นอาหารสัตว์แล้ว เพราะ สัตว์บางชนิดจะไม่สามารถย่อยได้ และพฤติกรรมของตัวหนอนจะกินน้อยลง เคลื่อนตัวหาที่มืดและแห้ง สุดท้ายจะหยุดนิ่งเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ดักแด้
หนอนแมลงวันลาย อายุ 25-40 วัน ระยะดักแด้
หลังจากที่กลายเป็นดักแด้แล้วให้แยกตัวหนอนกับมูลหนอนออกจากกัน ซึ่งจะเก็บดักแด้ไปไว้ในที่แห้งและมืด โดยเก็บไว้ในกรงตาข่ายเพื่อให้ตัวเต็มวัยไม่สามารถบินหลบหนีไปได้
แมลงวันลาย อายุ 40-50 วัน ระยะตัวเต็มวัย
อุปกรณ์ในการผสมพันธุ์หนอนแมลงวันลายเพื่อเก็บไข่
- กรงสำหรับเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์
- แผ่นไม้ หรือ กระดาษลัง
- เศษผักผลไม้กลิ่นหมักสำหรับล่อพ่อแม่พันธุ์มาวางไข่
หลังจากนั้นประมาณ 10-15 วัน พอเริ่มสังเกตเห็นตัวเต็มวัยของหนอนแมลงวันลายบินออกมาแล้ว ให้วางแผ่นไม้หรือกระดาษลังมาวางซ้อนทับกันเพื่อให้แมลงวันลายได้วางไข่ ส่วนด้านล่างจะรองด้วยภาชนะที่ใส่เศษผักผลไม้ที่มีกลิ่นหมัก โดยที่ไม่วางให้แผ่นไม้สัมผัสกับตัวล่อโดยตรง
ระยะนี้ตัวเต็มวัยจะกินอาหารเพียงแค่น้ำสะอาด โดยสเปรย์บนใบไม้ปลอมให้มีน้ำเกาะ และมีระยะเวลาให้ผสมพันธุ์ประมาณ 5-10 วัน หลังจากนั้นก็จะตายแล้วกลายเป็นซากแมลง และอย่าลืมเก็บแผ่นไม้หรือกระดาษลังที่วางไว้ทุกวัน เพื่อให้ตัวหนอนมีขนาดเท่ากัน
ปัจจัยที่ทำให้พ่อแม่พันธุ์ไม่วางไข่
- อุณหภูมิหนาวเกินไป จะไม่บินจับคู่เพื่อผสมพันธุ์
- อุณหภูมิร้อนเกินไป ก็มักจะมีภาวะการตายเกิดขึ้น
- พ่อแม่พันธุ์ที่ได้ มีเพศใดเพศหนึ่งเยอะเกินไป ทำให้หาคู่จับได้ยาก
- แสงมีความสำคัญในการผสมพันธุ์ในช่วงตัวเต็มวัย จะกระตุ้นให้เกิดการผสมพันธุ์ได้มากขึ้น
ส่วนซากแมลงที่ได้ก็สามารถนำไปทำเป็นปุ๋ย
ข้อควรระวังในการ เลี้ยงหนอนแมลงวันลาย
- มด ป้องกันได้โดยรองกระบะด้วยน้ำ หรือ ใช้ชอล์กกันมดขีดกันมดไว้
- ปิดตาข่ายให้มิดชิดเพื่อป้องกัน จิ้งจก และ นก มากินหนอนแมลงวันลาย
- ผักผลไม้ ที่อาจปนเปื้อนสารเคมี ที่อาจทำให้หนอนแมลงวันลายตายได้อย่างรวดเร็ว
- ระวังเรื่องการโดนแสงแดดโดยตรง โดยเฉพาะช่วงบ่ายที่อุณหภูมิสูง
- เศษอาหารทุกชนิดสามารถเทใส่ได้ แต่กรณีที่มีน้ำมากให้แยกน้ำออก เพราะถ้าน้ำมากเกินไปหนอนจะไต่ออกจากเศษอาหารได้ ส่วนก้างปลาหรือกระดูกให้แยกออกหน่อย เพื่อให้ง่ายต่อการแยกหนอนออกจากเศษอาหาร
การเลี้ยงหนอน แมลงวันลาย สำหรับเป็นอาหารเสริมสัตว์เลี้ยงในเชิงพาณิชย์
คุณฉัตรเลือกใช้สูตรอาหารที่เป็นออร์แกนิกจากผลพลอยได้ทางการเกษตร ไม่ได้มาจากเศษอาหาร ซึ่งเศษอาหารจริงๆ สามารถใช้ได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าปลายทางแล้วใช้เพื่ออะไร ถ้าใช้ลดต้นทุนค่าอาหารสัตว์ในฟาร์ม หรือลดเศษอาหารในครัวเรือนก็สามารถทำได้ แต่สำหรับเชิงการค้าก็ต้องดูเรื่องความสะอาดและโภชนาการเพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในผลิตภัณฑ์ รวมถึงมีการจดบันทึกและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
“ในช่วงแรกที่เราลองใช้เศษอาหารในการเลี้ยงร่วมกับทางมหาวิทยาลัย ก็พบว่า มีปัญหาเรื่องการจัดการ เพราะเศษอาหารที่ได้รับมาก็จะไม่ได้มีการแยกขยะ และมีเศษพลาสติกปะปนมาด้วย ซึ่งในขณะนั้นก็จะมีแมลงวันบ้านมาวางไข่ มาก่อกวน มันทำให้มันไม่คลีน และเสียคอนเซ็ปต์ที่เราตั้งไว้ตั้งแต่แรก การเลี้ยงเศษอาหารจะส่งผลต่อกลิ่นของตัวหนอนด้วย ทำให้มีกลิ่นแล้วพอเข้าสู่กระบวนการแปรรูปจัดการได้ยาก และเราควบคุมสารอาหารในตัวหนอนได้ยากด้วย”
ผลิตภัณฑ์วัสดุปลูกและบำรุงพืชจากมูลหนอน แมลงวันลาย
แบ่งเป็นกลุ่มวัสดุปลูกและปุ๋ยฉีดพ่นทางใบ โดยมีส่วนประกอบหลักจากมูลหนอนแมลงวันลายที่เป็นผลพลอยจากในฟาร์มล้วนแล้วเป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิก ซึ่งรวมถึงมีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์กลุ่มผู้ปลูกกัญชา ฉีดพ่นเพื่อช่วยในการแตกดอก
“เราพยายามทำให้สินค้าให้ใช้ง่ายที่สุด เพราะด้วยความที่เป็นสินค้าที่แปลกใหม่ ถ้าใช้ยากก็จะเข้าถึงได้ยากมากขึ้น”
สำหรับคนที่อยากเลี้ยงหนอน แมลงวันลาย
“หนอนแมลงวันลายเลี้ยงง่าย เราสามารถเลี้ยงข้างบ้านหรือระเบียงก็ได้ สิ่งที่เราต้องดูแลคือไม่ให้มี มด หรือ จิ้งจก เพราะในการเลี้ยง และมีตาข่ายป้องกันแมลงวันบ้าน ให้อยู่ใต้ชายคา มีแสงแดดรำไร ที่สำคัญเป็นแมลงในประเทศไทยสามารถเลี้ยงได้ง่าย ทางเรา Suda Ento Farm แมลงโปรตีน Black Soldier Fly ยินดีให้คำปรึกษาสำหรับท่านใดที่สนใจศึกษาหรือกำลังตัดสินใจอยากเลี้ยงหนอนแมลงวันลายอยู่ รวมถึงท่านที่ซื้อชุดเลี้ยงหนอนแมลงวันลายกับเราไปแล้วสามารถ เราก็จะให้คำแนะนำตลอดการเลี้ยง” คุณฉัตร กล่าวทิ้งท้าย
เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
คุณโพและคุณหนูดี กับการ ปลูกผักอินทรีย์ บนพื้นที่ที่เคยเป็นกองขยะ