หากพืชที่ปลูกอยู่เริ่มแคระแกรน ใบเหลือง กระจายอยู่เป็นหย่อมๆ และเมื่อถอนรากขึ้นมาก็พบว่า รากมีลักษณะบวมพองและปุ่มเป็นปมอย่างผิดหูผิดตา เป็นไปได้ว่าพื้นที่ตรงนี้กำลังโดนไส้เดือนฝอยรากปมเล่นงานอยู่ ต้องรีบป้องกันกำจัดด้วย เห็ดเรืองแสง สิรินรัศมี
ไส้เดือนฝอยจัดว่าเป็นศัตรูพืชที่มีความสำคัญอันดับ 1 ใน 5 ที่ก่อความเสียหายให้กับพืชเศรษฐกิจมากกว่า 4,500 ชนิด โดยไส้เดือนฝอยไปดูดกินน้ำเลี้ยงของพืชบริเวณท่อน้ำ ท่ออาหารทำให้เซลล์บริเวณนั้นเกิดการแบ่งตัว เกิดเป็นเซลล์ขนาดใหญ่ ไปปิดเส้นทางเดินน้ำและอาหารส่งผลให้พืชแสดงอาการเหี่ยว แคระแกรน เหลืองโทรม และตายในที่สุด
การกำจัดไส้เดือนฝอยรากปม จำเป็นต้องใช้สารเคมีและการเขตกรรมในการกำจัด แต่ปัจจุบันมีการค้นพบ เห็ดเรืองแสง สิรินรัศมี เป็นทางเลือกในการควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เหมาะสำหรับเกษตรอินทรีย์ที่ต้องการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยรากปม และล่าสุดยังพบว่าสามารถช่วยยับยั้งโรครากเน่าโคนเน่าเละในทุเรียนได้ดีอีกด้วย
ด้วยประโยชน์ที่น่าเหลือเชื่อของเห็ดชนิดนี้ สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ก็ได้นำมาขยายผลและเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับเกษตรกรที่สนใจ รวมถึงมีแจกจ่ายและจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจชีวภัณฑ์ไปใช้ประโยชน์ในการควบคุมโรคพืชดังกล่าว

รู้จักกับเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี
เห็ดชนิดนี้พบครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี 2544 ที่อำเภอเวียงเก่า จังหวัดขอนแก่น ภายในเขตพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นการพบด้วยบังเอิญโดย ศ.ดร. วีระศักดิ์ และคณะ
ลักษณะของเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี มีดอกเห็ดลักษณะคล้ายเห็ดนางรม ก้านดอกและครีบมีสีขาว แต่เมื่ออยู่ในสภาพกลางกลางคืนหรือไร้แสงสว่าง จะมองเห็นเห็ดในลักษณะเรืองแสงสีเขียวอมเหลือง ขึ้นบนต้นไม้ที่ตายแล้ว เช่น ต้นมะม่วง ต้นหูกวาง หรือขึ้นบนขอนไม้เท่านั้น ในธรรมชาติเห็ดชนิดนี้จะใช้ลิกนินที่อยู่ในต้นไม้ที่ตายแล้วเป็นแหล่งอาหาร จะไม่ขึ้นตามพื้นดินหรือตามเศษซากใบไม้
เมื่อทำการวิจัยและศึกษา ก็พบว่า มีสาร aurisin A ที่ส่งผลต่อระบบประสาทของตัวอ่อนระยะที่ 2 ของไส้เดือนฝอยรากปม ทำให้เคลื่อนที่ไม่ได้และตายไปในที่สุด นอกจากนี้ยังมีข้อมูลงานวิจัยที่สนับสนุนที่พบว่า เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี มีคุณสมบัติกระตุ้นความต้านทานของพืชต่อโรครากปมได้อีกด้วย
ล่าสุดก็พบว่า เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี ยังสามารถยับยั้งโรครากเน่าโคนเน่าเละในทุเรียน ที่มีสาเหตุมาจากเชื้อรา phytophthora palmivora ด้วยสาร aurisin A ที่มีอยู่ในเส้นใยเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี โดยจะไปยับยั้งการสร้างเส้นใยและการสร้างสปอร์ของเชื้อราไฟทอปฮอร่าได้อีกด้วย

เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีจะถูกเพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ภายในห้อง LAB ของกลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ที่เพาะเลี้ยงเชื้อเอาไว้เพื่อขยายและส่งต่อไปยังกลุ่มเครือข่ายเกษตรกร หน่วยงานเกษตรต่างๆ รวมไปถึงเกษตรกรโดยตรง

จากเชื้อเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีที่เพาะเลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์ภายในห้อง LAB จะถูกนำไปขยายต่อลงในขวดเพาะเลี้ยงเชื้อเห็ดที่มีข้าวฟ่างเป็นแหล่งอาหารให้กับเชื้อเห็ดเหล่านั้นได้เจริญเติบโต


วิธีขยายหัวเชื้อ เห็ดเรืองแสง สิรินรัศมีลงในก้อนขี้เลื่อย
วัสดุและอุปกรณ์ประกอบด้วย
- หัวเชื้อเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีในขวดข้าวฟ่าง
- ก้อนขี้เลื่อยที่ผ่านการนึ่งฆ่าเชื้อ
- กระดาษปิดจุกก้อนเชื้อ
- ยางวงใช้รัดกระดาษ
- ตะเกียงแอลกอฮอลล์
- แอลกอฮอลล์

1 I นำสเปรย์แอลกอฮอลล์มาฉีดพ่นบริเวณที่ต้องการจะขยายเชื้อ จากนั้นให้นำขวดหัวเชื้อเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีที่เจริญเติบโตในขวดข้าวฟ่าง มาเขย่าหรือเคาะบนผ้าเพื่อเมล็ดข้าวฟ่างร่วนออกจากกัน และเพื่อเตรียมขยายลงสู่ก้อนขี้เลื่อย

2 I แกะกระดาษและดึงสำลี เทคนิค คือ ใช้นิ้วก้อยหยิบสำลีเอาไว้ขณะที่ย้ายเชื้อลงก้อนขี้เลื่อย เพื่อป้องกันการปนเปื้อนหากวางบนโต๊ะ

3 I ลนไฟบริเวณปากขวดของหัวเชื้อเพื่อลดการปนเปื้อน

4 I หยอดเทเมล็ดข้าวฟ่าง 15-20 เมล็ด ลงในก้อนขี้เลื่อยที่นึ่งฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นก้อนขี้เลื่อยสูตรเดียวกับที่ใช้เพาะเห็ดนางรมหรือเห็ดนางฟ้า

5 I ปิดจุกด้วยกระดาษให้เรียบร้อยแล้วนำวางในที่ร่ม และปล่อยให้เส้นใยเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีเจริญเติบโตจนเต็มก้อนเห็ด ใช้เวลาประมาณ 45 วัน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้ต้องทำด้วยความระมัดระวังและต้องทำในที่ที่สะอาด เพื่อป้องกันเชื้อราชนิดอื่นปนเปื้อน

6 I เมื่อก้อนเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี 45 วัน เชื้อเจริญเต็มก้อนเห็ดแล้ว สามารถนำไปใช้ควบคุมโรคพืชได้เลย โดยไม่ต้องขี้ก้อนเพื่อปลุกเชื้อ ก้อนเชื้อเห็ดสามารถเก็บรักษาได้นานถึง 12 เดือน ที่อุณหภูมิห้อง โดยที่สภาพของก้อนเห็ดไม่ย่อยสลาย

วิธีการปลุกเชื้อ เห็ดเรืองแสง สิรินรัศมี 3 เดือนขึ้นไป
หลังจากที่เส้นใยเดินเต็มก้อนแล้ว ให้นำก้อนเห็ดนั้นมาขยี้หรือทุบให้เส้นใยของเห็ดนั้นแยกออกจากกัน เก็บใส่ในถุงพลาสติกที่สะอาด ปริมาณเชื้อเห็ดเรืองแสง 2 ใน 3 ส่วน/ถุง แนะนำให้ใช้ถุงขนาดใหญ่พอสมควรเพื่อให้มีพื้นที่ช่องว่างของอากาศอยู่ภายในถุงแล้วมัดปากถุงพอหลวมๆ เพราะเชื้อเห็ดต้องใช้ออกซิเจนในการเจริญเติบโต ใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน จะมีเส้นใยใหม่สีขาวเจริญเติบโตออกมาใหม่ ก็สามารถนำไปใช้รองก้นหลุมก่อนปลูกพืชหรือผสมในวัสดุปลูกได้เลย

วิธีการใช้ชีวภัณฑ์ เห็ดเรืองแสง สิรินรัศมีกำจัดไส้เดือนฝอยรากปม
เชื้อเห็ด 1 ก้อน มีน้ำหนักประมาณ 800-900 กรัม กรณีในการใช้แบบป้องกันจะใช้รองก้นหลุมก่อนปลูก แต่หากพบการระบาดของไส้เดือนฝอยรากปมแล้ว ให้ไถหน้าดินออกแล้วโรยด้วยเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีแล้วกลบ โดยมีอัตราการใช้ตามนี้
- พริก และมะเขือเทศ ใช้อัตรา 10 กรัมต่อต้น รองก้นหลุมก่อนปลูก หากระบาดแล้วใช้อัตรา 30 กรัมต่อต้น
- มันสำปะหลัง ใช้หว่านอัตรา 160 กิโลกรัมต่อไร่ ก่อนไถ่ยกร่อง
- พืชในวงศ์ผักชี และผักกาดหอม ใช้อัตรา 40 กรัมต่อตารางเมตร รองก้นหลุมก่อนปลูก
- ฝรั่ง ใช้อัตรา 30 กรัมต่อต้น รองก้นหลุมก่อนปลูก หากระบาดแล้วใช้ 70 กรัมต่อต้น
- เมล่อน ใช้อัตรา 30 กรัมต่อต้น รองก้นหลุมก่อนปลูก หากระบาดแล้วใช้ 50 กรัมต่อต้น

วิธีผลิตน้ำ เห็ดเรืองแสง สิรินรัศมี เพื่อกำจัดโรครากเน่าโคนเน่าเละในทุเรียน
นอกจากเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีจะใช้ควบคุมไส้เดือนฝอยรากปมได้แล้ว ยังสามารถใช้กำจัดโรครากเน่าโคนเน่าเละในทุเรียนได้อีกด้วย โดยสาร aurisin A ไปยับยั้งการสร้างเส้นใยและสปอร์ของเชื้อราไฟทอปธอร่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากการทดสอบพบว่า หลังจากใช้ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงทาบนแผลที่เป็นโรค แผลแห้งไม่มีน้ำเยิ้ม และเชื้อไม่ขยายลุกลาม

นำกากน้ำตาล 10 มิลลิตร ผสมน้ำสะอาด 1,000 มิลลิตร ในภาชนะที่ทนร้อน ต้มให้เดือดใช้ถุงร้อนปิดเพื่อป้องกันฝุ่นและเชื้อในอากาศ พักให้อุ่นอุณหภูมิ 50-55 องศาเซลเซียส จากนั้นเขี่ยเชื้อเห็ดเรืองแสงที่มีเส้นใยสีขาว จำนวน 20 กรัม เลี้ยงขยายในกากน้ำตาลที่ผ่านการต้มฆ่าเชื้อ แล้วใช้พลาสติกทนร้อนปิดใช้ยางรัดพอหลวม บ่มที่อุณหภูมิห้อง เป็นเวลา 30 วัน
เมื่อครบ 30 วัน ใช้ผ้าขาวบางที่สะอาดกรองเก็บน้ำเห็ดเรืองแสง โดยบรรจุในขวดพลาสติกใสที่สะอาด และเก็บไว้ในตู้เย็น 4 องศาเซลเซียส
วิธีใช้น้ำเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี
นำน้ำเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีมาผสมสีฝุ่น (iron oxide) ในอัตราส่วน น้ำเห็ดเรืองแสง 100 มิลลิลิตร ต่อ สีฝุ่น 100 กรัม จากนั้นทาบนแผลที่ถากส่วนที่เป็นโรคออกแล้ว

ข้อดีและข้อจำกัดของ เห็ดเรืองแสง สิรินรัศมี
เห็ดเรืองแสงสิรินรัศถึงแม้ว่าจะจัดว่าเป็นเห็ดพิษ แต่ความเป็นพิษนั้นถูกตรวจสอบแล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ และสัตว์อื่นๆ แต่จะเป็นพิษต่อไส้เดือนฝอยรากปมและเชื้อราบางชนิดเท่านั้น
สามารถใช้ร่วมกับสารชีวภัณฑ์ชนิดอื่นๆ ได้โดยไม่เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีประโยชน์ เช่น เชื้อราควบคุมโรคพืชอย่าง Trichoderma sp. และ แบคทีเรียที่เป็นประโยชน์ต่อพืช Bacilluus subtilis หรือแบคทีเรียที่ช่วยพืชตรึงไนโตรเจนอย่าง Rhizobium sp. รวมถึงพวกเชื้อราที่เป็นประโยชน์ในดินและไส้เดือนดิน การใช้สารชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีจึงมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัย และไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม
ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือ ช่วยลดต้นทุนในการใช้สารเคมีควบคุมโรค เนื่องจากการใช้เชื้อเห็ดเรืองแสงรัศมีนั้นมีต้นทุนที่ถูกกว่าสารเคมีเป็นอย่างมาก ที่สำคัญไม่เป็นอันตรายต่อผู้ใช้ และมีประสิทธิภาพสามารถควบคุมโรคได้อย่างดี
ข้อจำกัดและข้อควรระวัง
แน่นอนว่าเห็ดต่างนั้นๆ ชอบความชื้นและไม่ชอบแสงแดด เห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีก็เช่นกัน เมื่อนำไปใช้ในการป้องกันกำจัดไส้เดือนฝอยปมราก ต้องแซะหรือไถหน้าดินแล้วกลบเพื่อให้ชีวภัณฑ์เห็ดเรืองแสงพ้นจากแสงแดด เชื้อเห็ดจะอยู่ในดินได้จนกว่าขี้เลื่อยจะย่อยสลายลง

ต้นทุนในการใช้สารชีวภัณฑ์เชื้อเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี
หัวเชื้อเห็ดเรืองแสงรัศมี 1 ขวด สามารถขยายลงก้อนขี้เลื่อยได้ประมาณ 40 ก้อน ซึ่งราคาขี้เลื่อยขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่ โดยทั่วไปก็อยู่ที่ราคาประมาณ 6-10 บาท ถ้าเป็นก้อนเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมีที่เชื้อเดินเต็มก้อนพร้อมใช้จำหน่ายอยู่ที่ก้อนละประมาณ 15 บาท

สำหรับท่านใดที่อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อเพื่อขอรับเชื้อเห็ดเรืองแสงสิรินรัศมี สามารถติดต่อ ดร. สุรีย์พร บัวอาจ โทร. 02-5799581 กลุ่มวิจัยโรคพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร จตุจักร กรุงเทพฯ
เรื่อง : สรวิศ บุญประสพ
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย / สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร
ขยายพันธุ์มวนพิฆาต แมลงตัวห้ำที่ช่วยกำจัดหนอนแปลงผักอย่างปลอดภัย
รวม 4 สายพันธุ์ไส้เดือน ยอดฮิตติดสวน ที่นิยมเลี้ยงกันมากในประเทศไทย