สำหรับพวกเราที่มีชีวิตอยู่ในเขตร้อน เวลาที่พูดถึง “สน” ก็จะนึกไปถึงต้นไม้ที่มีของตกแต่งสีสวยๆ ประดับประดาสวยงามในวันคริสตมาส หรือไม่ก็นึกถึงต้นไม้รูปทรงปิรามิด ยอดแหลมๆ ที่อยู่ท่ามกลางหิมะขาวโพลน แต่ก็มีไม่น้อยที่อาจคิดไปถึงต้นไม้สูงๆ ใบเป็นเส้นๆ คล้ายเข็มที่ปลูกเรียงรายอยู่ริมทะเล
“สน” พรรณไม้โบราณ
ตามหลักฐานบันทึกไว้ว่า “สน” มีอายุอยู่ในช่วงต้นยุค Permian หรือประมาณ 290-248 ล้านปี หรือก่อนที่ไม้ดอกชนิดต่างๆ จะถือกำเนิดขึ้นบนโลกนี้ โดยจัด”สน” ไว้ในกลุ่มพืช Gymnosperms ซึ่งก็คือ พืชเมล็ดเปลือย หรือไม่มีสิ่งห่อหุ้มไข่ เมื่อเจริญเป็นเมล็ดจึงไม่มีเนื้อแบบผลไม้หรือพืชมีดอกอื่นๆ (ยกเว้นสนสกุล Juniperus)
“สน” เป็นไม้ยืนต้น มีอายุหลายปี และเกือบทุกชนิดเขียวสดตลอดปี บางชนิดเปลี่ยนสีในหน้าหนาว มีเพียงไม่กี่ชนิดที่ผลัดใบ ใบสนมีหลายแบบ บางชนิดลดรูปเป็นรูปเข็ม (aristate) รูปลิ่ม (awl-shaped) หรือเป็นเกล็ด (scale-like) และมีอายุยาวนาน บางชนิดติดอยู่บนต้นนาน 15-20 ปี ช่อดอกมีลักษณะเป็นเกล็ดเรียงซ้อนกันเป็นรูปไข่ รูปรีหรือค่อนข้างกลม เมล็ดอยู่ในซอกเกล็ดแต่ละอัน ช่อดอกเพศผู้กับเพศเมียอยู่แยกกัน แต่อาจอยู่บนต้นเดียวกันหรือแยกต้น
เนื้อไม้สนมีน้ำยาง เรียกว่า ชัน (resin) เมื่อแห้งจะแข็งมาก แต่เดิมใช้ยางสนเป็นเชื้อเพลิง สร้างความฝืดห้อุปกรณ์ทางช่าง เช่น เครื่องลากล้อเลื่อนในงานก่อสร้างสมัยโบราณ หรือเครื่องดนตรี อย่าง ไวโอลิน เป็นส่วนผสมของน้ำยารักษาเนื้อไม้หรือเคลือบผิวเฟอร์นิเจอร์ไม้ เป็นส่วนผสมของยาแผนโบราณบางชนิดและใช้งานจิปาถะในครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีหลักฐานว่าใช้เป็นส่วนประกอบของเครื่องประดับตกแต่งในบางชนเผ่า ยางสนที่ผ่านกระบวนการตกผลึกจะกลาย “อำพัน” (amber) อัญมณีราคาแพง
“สน” ในสวน
ในธรรมชาติ “สน” ขึ้นอยู่ในแถบที่มีอากาศหนาวเย็น เขตซีกโลกเหนือ ในบ้านเราจะพบสนได้ในแถบภูเขาสูง เช่น สนสองใบ สนสามใบ
สนที่นำมาใช้จัดสวนอย่างที่เห็นทั่วไป เข้าใจว่านำพันธุ์จากต่างประเทศมาปลูกเลี้ยงและพัฒนาพันธุ์จนปรับตัวเข้ากับอากาศแบบบ้านเราได้ดี นิยมปลูกเป็นไม้หลักและไม้รองในสวน ปลูกเป็นแนวริมรั้ว ริมถนน ทางเดิน ใช้เป็นแนวกันลม ตัดแต่งเป็นไม้พุ่มรูปทรงต่างๆ หรือทำไม้แคระ (บอนไซ) เป็นต้น
ในทางพฤกษศาสตร์ จำแนก “สน” เป็นวงศ์และสกุลต่างๆ ทำให้เข้าใจง่าย ต่างจากบ้านเรา ที่เรียกรวมๆ ว่า สน เป็นหลัก แล้วมีชื่ออื่นๆ มาห้อยท้าย บางครั้งก็ตั้งชื่อซ้ำกัน ทำให้สับสนว่าต้นไหนกันแน่ “สน” ที่พบปลูกในบ้านเรามีดังนี้
วงศ์ Araucariaceae มี 2 สกุล คือ Agathis Salib. กับ Araucaria Juss. มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอพริกาและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ในบ้านเรามีปลูกเป็นไม้ประดับคือ สนข้าวเม่า สนหางกระรอก สนหนาม สนฉัตร
วงศ์ Cupressaceae มี 17 สกุล 113 ชนิด ที่นิยมปลูกในบ้านเราก็เช่น
สกุล Chamaecyparis Spach ได้แก่ สนบลู สนสาหร่ายทอง สนสาหร่ายแคระ สนแผงแคระ
สกุล Cupressus เช่น สนดินสอ
สกุล Juniperus ได้แก่ สนมังกรไทย สนมังกร สนมังกรไต้หวัน สนมังกรญี่ปุ่น สนสามร้อยยอด
สกุล Thuja ได้แก่ สนแผง (T.occidentalis ‘compacta’ , T.biota var.nana aurea) สนหางสิงห์ สนแคระ
วงศ์ Pinaceae มี 9 สกุล 194 ชนิด มีถิ่นกำเนิดในเขตหนาวแถบอเมริกาใต้ถึงอเมริกากลาง ที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับได้แก่
สกุล Abies หรือ สน fir
สกุล Cedrus หรือ สน Cedar
สกุล Latix หรือ สน Larch
สกุล Pica หรือ สน Spruce
สกุล Tsuga หรือ สน Hamlock
“สน” ในวงศ์นี้เราอาจคุ้นเคยกัน เพราะนิยมนำต้นมาสร้างบ้าน ทำวัสดุตกแต่งและเฟอร์นิเจอร์ สนพวกนี้เจริญเติบโตไม่ค่อยดีในบ้านเรา สกุลที่นิยมในบ้านเราก็คือ Pinus หรือ สน pine อันได้แก่ สนเข็มแดง สนสามใบหรือสนเกี๊ยะ สนสองใบหรือสนแส้ม้า พวกสนห้าใบ เช่น สนดัดญี่ปุ่น สนดำ สนเข็มดำญี่ปุ่น ที่นิยมทำบอนไซ
วงศ์ Podocarpaceae มี 12 สกุล 155 ชนิด ชนิดที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับคือ สกุล Dacrydium ได้แก่ สนสามพันปี และสกุล Podocarpus ได้แก่ สนเฟิน สนหลิว สนฉำฉา สนใบพายหรือฉำฉาญี่ปุ่น ที่เรานำเนื้อไม้มาทำเครื่องเรือน ลังไม้ที่ใส่ของมาจากต่างประเทศก็ทำจากสนชนิดนี้
วงศ์ Casaurinaceae มี 4 สกุล 70-95 ชนิด ที่นิยมปลูกเป็นไม้ประดับคือ สกุล Casaurina เช่น สนทะเล สนประดิพัทธ์ สนปัตตาเวีย
การปลูก “สน”
“สน” ส่วนใหญ่ต้องการดินร่วนระบายน้ำดี แสงแดดตลอดวัน และอากาศเย็น แต่ก็มีบางชนิดที่ชอบแสงแดดรำไร แสงแดดครึ่งวัน หรือทนอากาศร้อนได้ดี สนหลายๆ ชนิดโตช้า ทำให้ดูแลรักษาไม่มาก
สนประดับทั่วไปไม่ค่อยมีแมลงรบกวน จะมีบ้างก็เช่น เพลี้ยแป้งและมด อาจพบมีโรค เช่น ใบเน่าและแห้ง ซึ่งเกิดจากเชื้อราบางชนิดในฤดูฝน โรครากเน่า เนื่องจากดินปลูกระบายน้ำไม่ดี เป็นต้น
ข้อมูลจาก ไม้ประดับเพื่อการตกแต่ง โดย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.ประชิด วามานนท์ และคู่มือคนรักต้นไม้ สนประดับ โดย ปัทมา แซ่ลี้
สงวนสิทธิ์ โดยบมจ. อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง ใช้เพื่อเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต ห้ามทำซ้ำหรือดัดแปลงด้วยวิธีการใดๆ โดยมิได้รับอนุญาต