เข้าสู่ฤดูฝนบรรยากาศชุ่มฉ่ำ ต้นไม้ใบหญ้าช่วงนี้ดูเขียวสดใสเป็นพิเศษ หากพูดถึงพรรณไม้ยอดฮิตทุกยุคทุกสมัยและปลูกได้ดีในอากาศชุ่มชื้นคงหนีไม่พ้นเฟิน
หากใครเป็นคนรักเฟิน ก็คงจะอยากมีสวน หรือ โรงเรือนเฟิน สวย ๆจัดไว้ที่บ้าน ดังเช่นสวนในบ้านหลังนี้ จากหนังสือ Garden and Farm Vol.10 โรงเรือนข้างบ้าน
บนพื้นที่ 40 ตารางวาของบ้านขนาดกะทัดรัดในย่านรามอินทรา คุณสม-สมฤดี สิขันธกบุตร เจ้าของบ้านตัดสินใจสร้างบ้านให้เล็กที่สุดเพื่อให้มีพื้นที่สวนกว้างขวางเต็มที่ โดยออกแบบหลังบ้านเป็นทั้งพื้นที่พักผ่อนและ โรงเรือนเฟิน เพื่อควบคุมสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับการปลูกเลี้ยงเฟิน โรงเรือนนี้หน้าตาไม่เหมือนโรงเรือนทั่วไปแต่เหมือนศาลาขนาดใหญ่ที่คลุมสวนเอาไว้ และมีมุมนั่งเล่นแทรกตัวอยู่อย่างกลมกลืน
คุณสมเล่าว่าเริ่มสะสมเฟินตั้งแต่ 7 ปีก่อน แต่เพิ่งจะปรับเปลี่ยนหลังบ้านเป็นโรงเรือนอย่างจริงจังเมื่อ 2 ปีที่แล้ว โดยใช้โครงสร้างเดิมที่มีอยู่เพื่อประหยัดงบ เพิ่มเติมและปรับเปลี่ยนวัสดุใหม่ให้เหมาะสมในแต่ละจุด
“สิ่งสำคัญของเฟินคือ ลม ความชื้น และแสง ส่วนปุ๋ยไม่ต้องใช้มากเพราะเฟินไม่ใช่ต้นไม้ให้ผลให้ดอก ที่ยากคือเฟินบางชนิดต้องการน้ำมาก บางชนิดต้องการน้ำน้อย พอแขวนรวมกันจึงต้องแยกประเภท เพื่อจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะกับเฟินแต่ละชนิด”
จัดการแสง ลม และความชื้น
โครงสร้างโรงเรือนทำจากไม้เก่า ตั้งเสาสูง 3.5-3.8 เมตร แม้จะสูงกว่าโรงเรือนทั่วไปแต่ช่วยให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกและมีลมพัดหมุนเวียนดี เดิมเป็นหลังคากระเบื้องทึบทั้งหมดแต่เพื่อให้เหมาะกับเฟินจึงเปลี่ยนมาใช้หลังคาใสสลับเป็นระยะ ส่วนเฟินก้านดำที่ต้องการปริมาณแสงมากใช้หลังคาใสตลอดแนว ต่อเนื่องกับหลังคามุงซาแรนตัดแสง 40 % มุมนี้จึงได้รับแสงเต็มที่มากกว่าจุดอื่น นอกจากนี้ก็ยังเจาะรูหลังคาเป็นระยะเพื่อให้น้ำฝนหยดลงมาได้ โดยเตรียมพื้นโรงเรือนปูพลาสติกและวางอิฐมอญทับ เมื่อน้ำทั้งน้ำฝนและน้ำที่ใช้รดน้ำต้นไม้หยดลงมา อิฐจะดูดซับน้ำไว้ น้ำบางส่วนไหลลงไปขังด้านล่างและระเหยขึ้นมาในวันอากาศร้อนทำให้ภายในสวนเย็น และช่วยรักษาความชื้นให้พอเหมาะ แต่วิธีนี้อาจจะทำให้เกิดการสะสมเชื้อโรคได้จึงควรปล่อยให้พื้นโรงเรือนแห้งบ้าง
สำหรับมุมปลูกเฟินก้านดำใช้วิธีขุดพื้นลงไปเล็กน้อยและใช้อิฐกั้นขอบเขตขึ้นมาเป็นบ่อลึกประมาณ 40 เซนติเมตร ภายในปูพลาสติกและวางหินฟองน้ำให้หินจมลงไปในน้ำประมาณ 1 ใน 3 หินฟองน้ำจะดูดซับน้ำขึ้นมาทำให้บริเวณนี้เย็นและชื้น ภายในบ่อติดปั๊มน้ำเล็ก ๆ เปิดให้น้ำหมุนเวียนและถ่ายน้ำออกเป็นครั้งคราว มุมนี้ยังใช้เป็นจุดพักต้นไม้เมื่อซื้อมาใหม่ ๆ เพื่อให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
“เลี้ยงเฟินไม่ต้องดูมาก เพราะเราจะยิ่งรดน้ำ ธรรมชาติของคนรดน้ำต้นไม้จะรดไม่เลิก แล้วเฟินจะเน่าหมด พี่เลยเปลี่ยนมาติดสปริงเกลอร์ใช้ปั๊มบ้าน 150 วัตต์ ต่อจากก็อกน้ำได้เลย เช้ามาเปิดแล้วก็อาบน้ำ พอจะไปทำงานก็ปิดก๊อกน้ำปกติพี่ไม่ตั้งเวลารดน้ำเพราะอากาศมันไม่เหมือนกันสักวัน บางทีรดอาทิตย์ละครั้ง หน้าฝนแทบไม่ได้เปิดเลย แต่พอหน้าร้อนอาจจะต้องตั้งเวลาทุกชั่วโมง เน้นเปิดตัวพ่นหมอกครั้งละ 5 นาที และแบ่งโซนให้น้ำ ค่าน้ำเดือนนึงไม่ถึงร้อยบาท ปีนึงค่าน้ำพันเดียวแต่คุ้มกับต้นไม้ที่เราสะสมไว้”
เลือกวัสดุปลูกให้เหมาะ
การปลูกเฟินไม่ต้องใช้เครื่องปลูกจริงจังเหมือนพืชชนิดอื่น เพราะโดยธรรมชาติไม้อิงอาศัย เพียงแค่มีวัสดุช่วยพยุงรากก็เพียงพอ สูตรดินปลูกของคุณสมคือใช้ดินใบก้ามปูขุดมาเองผสมกับหินภูเขาไฟ อัตราส่วนดิน 1 ส่วน หินภูเขาไฟ 4 ส่วน บางครั้งใช้หินภูเขาไฟหรือเปลือกสนเพียงอย่างเดียว ข้อดีของวัสดุทั้งสองชนิดนี้คือไม่ผุกร่อนยุบตัวง่าย อุ้มน้ำดี มีลักษณะโปร่งจึงถ่ายเทอากาศได้ดี ทำให้เครื่องปลูกไม่แฉะแต่คงความชื้นไว้ได้ หากซื้อมาช่วงแรกคุณสมใช้สแฟกนัมมอสส์ห่อช่วยให้รากเกาะแล้วจึงปลูกลงในกระถาง เป็นเทคนิคช่วยให้รากติดได้ดีขึ้น ใส่ปุ๋ยละลายช้า 3 เดือนครั้ง และฉีดปุ๋ยปลาเจือจางอาทิตย์ละครั้ง
“การทำโรงเรือนพี่คิดว่าพื้นที่แต่ละคนไม่เหมือนกัน อย่างตัวพี่เองตอนที่เอาจริงเอาจังเรื่องโรงเรือนก็อ่านข้อมูลจากในเว็บไซต์เยอะมาก คอยสังเกตอาการ หาข้อมูล และปรับเปลี่ยนโรงเรือนของตัวเองให้เหมาะอีกที”
ทั้งหมดคือแง่คิดในการออกแบบโรงเรือนเฟินที่ได้ประโยชน์ทั้งเก็บสะสมต้นไม้ และมุมพักผ่อนในคราวเดียวกัน สามารถหาเทคนิคและไอเดียการทำโรงเรือนข้างบ้านเพิ่มเติมได้ที่หนังสือ Garden and Farm Vol.10 โรงเรือนข้างบ้าน
เรื่อง วรัปศร
ภาพ ณัฐวัฒน์ ส่องแสง
ภาพประกอบ คณาธิป จันทร์เอี่ยม
เรื่องที่น่าสนใจ