“นกกระทา” นับเป็นสัตว์ทางเลือกอีกชนิดหนึ่งที่สามารถเลี้ยงในพื้นที่บ้านได้ดีไม่แพ้ไก่ เป็ด และห่านที่นิยมเลี้ยงกันทั่วไป
ข้อดีของ นกกระทา คือ ขนาดตัวเล็ก ใช้พื้นที่น้อย ให้ผลผลิตเร็ว กินอาหารน้อย สำหรับเทคนิคการ เลี้ยงนกกระทา ครั้งนี้เรามีโอกาสมาที่ เอนก ฟาร์มนกกระทา จ.อ่างทอง ฟาร์มแห่งนี้นอกจากจะผลิตนกกระทาแบบครบวงจรแล้วยังมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์นกกระทาที่น่าสนใจ พร้อมด้วยองค์ความรู้และประสบการณ์เลี้ยงมายาวนานกว่า 35 ปี
คุณเอนก สีเขียวสด เจ้าของและผู้ก่อตั้ง เอนก ฟาร์มนกกระทา ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอ่างทอง พร้อมด้วยรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติปี พ.ศ. 2543 รางวัลแห่งความภาคภูมิใจที่ทำให้เขามุ่งมั่นจะตอบแทนสังคม และตั้งปณิธานว่าจะทำงานเพื่อประเทศชาติและแผ่นดิน จนเกิดโครงการสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจเริ่มต้นเลี้ยงนกกระทาเพื่อผลิตอาหารเองในครอบครัว ต่อยอดเป็นอาชีพและสร้างรายได้เสริม ใช้เงินลงทุนไม่ถึง 1,000 บาทสามารถมีฟาร์มนกกระทาจิ๋วเป็นของตัวเอง ที่ช่วยปูพื้นฐานให้ผู้เริ่มต้นได้เป็นอย่างดี
จุดเริ่มต้น เลี้ยงนกกระทา
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 35 ปีที่แล้วคุณเอนกเริ่มจากเลี้ยงนกกระทาบริเวณใต้ถุนบ้าน ซึ่งเป็นอาชีพตั้งแต่รุ่นพ่อและแม่ เมื่อเลี้ยงมาระยะหนึ่งกลับพบปัญหาคือแม่ค้าที่เคยรับซื้อไข่ทุกวันไม่ซื้อทำให้ไข่ที่มีอยู่จำนวนมากขายไม่ได้ แต่ปัญหาครั้งนั้นกลับเป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาฟาร์มมาจนถึงทุกวันนี้
“ ผมออกไปหาตลาดเพื่อปล่อยไข่ที่มีอยู่ เดินทางเข้ามาปากเกร็ด บางซื่อ เตาปูน ราชวัตร เรามีไข่วันละ 2,000 ฟอง ซึ่งผ่านมา 5 วันแล้ว ไข่จึงมี 10,000 ฟอง มันเยอะมากในสมัยนั้น เอาไปเสนอขายก็ขายได้แถมได้ราคาดีด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเขาจะซื้อเราง่าย ๆ ถึงแม้ว่าไข่ของเราจะราคาต่ำกว่าราคาที่เขาซื้อปกติก็ตาม เราก็บอกว่าให้แบ่งซื้อจากเรา…เสร็จแล้วผมยังไม่เก็บเงินเที่ยวหน้ามาส่งใหม่ผมถึงจะเก็บของเก่า…ให้เขาเอาไปขายก่อนแล้วเก็บเงินทีหลัง สิ่งที่ได้กลับมาคือมีไข่ไป 10,000 ฟอง แต่ได้ยอดสั่งมาจากหลาย ๆ รายรวมแล้ว 15,000 ฟอง เราก็หาวิธีจัดการให้มีไข่ไปขายครั้งต่อ ๆ ไป เรียกว่าเป็นการตลาดนำหน้าการผลิต ”
หลังจากเริ่มมีตลาดเอง คุณเอนกก็เริ่มสร้างเครือข่าย เพื่อซื้อสินค้าล่วงหน้า แบบ Contract Farming เพราะความเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าที่มีความคิดไม่หยุดนิ่งเขาจึงเริ่มมองหาช่องทางใหม่ ๆ และพบว่าในตลาดผลไม้มีการทำผลไม้กระป๋อง ทั้งเงาะ ลำไย ลิ้นจี่ เป็นจุดเริ่มต้นในการก้าวเข้าสู่โรงงานผลิตไข่นกกระทาต้มบรรจุกระป๋องในเวลาต่อมา ปัจจุบันเปิดโรงงานแปรรูปไข่นกกระทาเองร่วม 20 ปีแล้ว ปริมาณไข่ 20 ล้านฟองต่อวัน จากเครือข่ายผู้เลี้ยงนกกระทากว่า 20 จังหวัดทุกภาคทั่วประเทศ และจัดส่งสินค้าเหล่านี้ไปยัง 40 จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งร้านอาหารและร้านค้าชั้นนำไม่ว่าจะเป็น SIZZLER , TOPS Supermarket รวมทั้งส่งออกต่างประเทศได้แก่ เยอรมนี แคนาดา สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศในตะวันออกกลาง การสร้างเครือข่ายผู้เลี้ยงช่วยกระจายความเสี่ยงและลดความเสียหายเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่นโรคระบาด อุทกภัย วาตภัยลงได้
ก่อนเริ่ม เลี้ยงนกกระทา ต้องเริ่มหาตลาด
“ ปัจจุบันคนมาหาผมไกล ๆ จากหลายที่ครับ เขาดูในทีวีอยากจะมาเลี้ยงนกกับผมด้วย แต่ผมจะคุยก่อนว่าเลี้ยงเท่าไหร่ ถ้าเลี้ยงเท่านี้มาส่งที่นี่ไม่คุ้มนะ เพราะมีทั้งค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าผลิตก่อนค่อยขาย แต่เราจะขายก่อนค่อยผลิต ผมจะแนะนำว่าคุณยังไม่ต้องเลี้ยงแต่ลองซื้อไข่ผมหรือไข่ใครก็ได้ไปก่อน เอาไปส่งตามตลาด ไปหาตลาดดู พอมีลูกค้าถึงค่อยเลี้ยงเอง ต้องขายก่อนผลิตไม่ใช่ผลิตแล้วค่อยขาย พอเราบอกไปอย่างนี้จากเมื่อกี้เขาจะมาซื้อนกผม ผมไม่ได้ตังค์เลยนะ (หัวเราะ) แต่ผมเข้าใจเกษตรกร เราเคยเป็นคนจนมาก่อนเงินพันเงินหมื่นมันมีค่าสำหรับคนไม่มี เราก็ทำงานแบบนี้กับคนที่มาเลี้ยงกับเรา ”
สร้างฟาร์มจิ๋วในบ้าน ลงทุนไม่ถึง 1,000 บาท
“ลงทุนไม่ถึง 1,000 บาท สามารถเปิดฟาร์มนกกระทาได้” โครงการที่คุณเอนกคิดขึ้นมาเพื่อผู้เริ่มต้นลองเลี้ยงนกกระทาสามารถซื้อกรงชุดเล็กไปฝึกเลี้ยงดูก่อนหากไปได้ดีจึงพัฒนาเพิ่มจำนวนต่อไปได้ ใช้กรงแขวนขนาด 60x 60×20เซนติเมตร พร้อมนกกระทา 25 ตัว ยกกลับบ้านได้เลย
“มันเข้ากับเหตุการณ์ยุคปัจจุบันนะ คุณสามารถสร้างอาหารในบ้านเองได้ เงินไม่ถึง 1,000 บาท มีนก 25 ตัวใส่กรง แขวนไว้ เอาอาหารให้ ไข่ที่ได้เอามาลวกทานตอนเช้ากับกาแฟ โอวัลตินลองดูว่าฉันเลี้ยงเท่านี้ได้แล้ว ถ้าเลี้ยง 500 ตัว 1,000 ตัวจะได้เท่าไหร่ หรือถ้าเลี้ยงเป็นหมื่นล่ะ ทำจากเล็กไปหาใหญ่ พอไปได้เราค่อยทำเพิ่ม “
“การเลี้ยงนกกระทา 25 ตัวปกตินกกระทาจะกินตามน้ำหนักตัว ประมาณ 23 กรัม คิดเป็นเงิน 40 สตางค์ ต่อตัวต่อวัน ดังนั้นค่าอาหารจะตกวันละ 10-11 บาท ได้ไข่ 20 ฟอง ถ้าขายไข่ฟองละบาท ได้ 20 บาท กำไร 9-10 บาท หรือเอามาแปรรูปขายก็ได้ ถ้าอยากเลี้ยงเพิ่มก็ต่อชั้นขึ้นมา ต่อไปใครอยากเลี้ยง 50 ตัว 100 ตัวก็ทำ สำหรับอาหารจะเป็นอาหารนกกรทาโดยเฉพาะซึ่งมีโปรตีนสูง 21 % แต่ถ้าหายาก สามารถซื้ออาหารไก่ไข่ให้กินได้แต่ปริมาณไข่จะน้อยกว่า ”
“ สิ่งที่ได้ไม่ใช่แค่ไข่นกกระทาแต่ยังได้เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำกิจกรรมร่วมกัน พ่ออาจจะเป็นคนให้อาหาร ลูกเป็นคนเก็บ แม่เป็นคนทำอาหาร สร้างกิจกรรมในบ้านมันมากกว่าแค่เลี้ยงอีก เด็กๆได้รู้จักการรอคอย รู้จักหน้าที่ หน้าที่ฉันต้องเก็บไข่ ให้อาหารเป็นประจำทุกวัน ทำให้เขามีความรับผิดชอบโครงการนี้สามารถนำไปเลี้ยงในโรงเรียนหรือสร้างอาหารในครัวเรือนง่าย ๆให้ชาวบ้านได้ด้วย หากต้องการทำเป็นอาชีพก็มาเป็นเครือข่ายเลี้ยงร่วมกันได้ ”
นกกระทา…เลี้ยงและดูแลอย่างไร
เทคนิคการ เลี้ยงนกกระทา เราพูดคุยกับ คุณนก-พยุงศักดิ์ สีเขียวสด เกษตรกรรุ่นใหม่ลูกชายวัย 24 ปี ของคุณเอนก ผู้ก้าวมาสานต่อฟาร์มแห่งนี้ซึ่งมีประสบการณ์เลี้ยงนกกระทามาตั้งแต่อยู่ชั้นประถม เขาอธิบายว่าการเลี้ยงนกกระทาจะใช้กรงเตี้ยสูงเพียง 20 เซนติเมตร เนื่องจากหากนกระทาเกิดตื่นหรือตกใจมักจะกระโดด กรงสูงตัวนกจะตกลงมากระแทกทำให้ไข่ในท้องแตกและตายได้ แต่สำหรับผู้ที่เลี้ยงในบริเวณบ้านหากไม่ต้องการเลี้ยงกรงเตี้ยอาจจะนำตาข่ายครอบโดยรอบหรือใช้สุ่มไก่ เพื่อป้องกันสัตว์ชนิดอื่นมาทำร้าย
“ นกกระทาต้องให้อาหารตรงเวลาครับ ที่นี่จะทำวัคซีนนิวคาสเซิลเป็นหลัก แต่หากเลี้ยงจำนวนน้อยที่บ้านก็ไม่จำเป็น อายุของนกกระทาหลังจากเข้าเครื่องฟักประมาณ 17 วันจะออกมาเป็นตัว พออายุ 45 วันไม่เกินจากนี้จะเริ่มไข่ ออกไข่ตั้งแต่บ่าย 2 จนถึง 2 ทุ่ม ปริมาณไข่ที่ได้หากเลี้ยงน้อยจะได้ 80-90 % แต่ถ้าเลี้ยงจำนวนมากให้คำนวณอยู่ที่ 70 % พอนกกระทาอายุประมาณ 10-12 เดือนก็จะเริ่มหยุดไข่สามารถนำไปขายหรือรับประทานเนื้อได้ ”
คุณเอนกทิ้งท้ายว่าตลาดเลี้ยงนกกระทายังมีอนาคตเพราะไข่เป็นอาหารสากลที่กินได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกประเทศ ไม่มีข้อจำกัด จากประสบการณ์ 35 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะพัฒนาอาชีพและต่อยอดสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงให้วงการนกกระทาแล้ว ที่นี่ยังส่งต่อความรู้ให้กับผู้เริ่มต้นเลี้ยงสามารถมาขอคำแนะนำและติดต่อเข้ามาศึกษาดูงานที่เอนกฟาร์มนกกระทาได้
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม
เอนก ฟาร์มนกกระทา อ.เมืองฯ จ.อ่างทอง
Facebook : เอนก ฟาร์มนกกระทา
โทร. 08-1652-5666 , 09-2279-4605
เรื่อง วรัปศร
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
อ่านเพิ่มเติม
ไก่ไข่พันธุ์ไวท์เลกฮอร์น ไก่นอกสวยงาม เลี้ยงง่ายเหมือนไก่บ้าน
ไก่ซิลกี้ และไก่สวยงามอื่นๆ ในโรงเรือนที่เน้นทำง่าย ราคาถูก แต่ดูดี