ทุกวันนี้ต้นไม้กลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้วสำหรับทุกบ้าน ไม่ว่าจะหลังเล็กหรือหลังใหญ่ แต่การปลูกต้นไม้นำมา ซึ่งการดูแลในหลาย ๆ เรื่อง
ดังนั้น บ้านและสวน ขอรวบรวมเอาไอเดียและเทคนิค การดูแลต้นไม้ในบ้านแบบมืออาชีพ ทั้งต้นไม้ที่ปลูกในบ้านหรือบริเวณบ้าน มาให้ทุกท่านลองไปทำตามกันดูครับ
ทำความรู้จักต้นไม้ กับ สถานที่ปลูก
ปัจจัยที่ทำให้ต้นไม้ได้ตายมากที่สุดมาจากการขาดความรู้และเข้าใจนิสัยของต้นไม้ที่ปลูก ทำให้เลือกสถานที่ปลูกต้นไม้ได้อย่างไม่เหมาะสม เมื่อนำต้นไม้มาปลูกในสวนหรือใส่กระถางตั้งไว้ ต้นไม้ไม่สามารถสื่อสารกับเราตรง ๆ ได้ว่า เขาไม่ชอบบริเวณนี้ หรือมีขาที่สามารถย้ายที่อยู่ด้วยตนเองได้ ดังนั้นกว่าจะรู้ตัวว่าต้นไม้ที่เราชอบไปอยู่ผิดที่ผิดทาง อาการก็อาจแย่ลงไปเกินเยียวยาแล้ว
ศึกษานิสัยของต้นไม้ชนิดต่างๆ
เราสามารถมองหารายละเอียดหรือเรียนรู้ได้จากในหนังสือ หรือเว็บไซด์ที่ให้ความรู้เกี่ยวกับต้นไม้อย่าง https://gardenandfarm.baanlaesuan.com/plants โดยเฉพาะเรื่องขนาดต้นหรือทรงพุ่ม ชอบดิน น้ำ และแสงแดดแบบไหน หรือไม่อาจสอบถามโดยตรงกับคนขายต้นไม้ที่น่าเชื่อถือ จากนั้นจึงสำรวจว่าบริเวณไหนในบ้านของเราตรงตามความชอบของต้นไม้ต้นที่ต้องการปลูกหรือไม่ หากไม่ตรงกันก็อาจจำใจต้องชื่นชมต้นไม้ดังกล่าวแค่ในร้านขายต้นไม้เท่านั้น รวมไปถึงข้อมูลเหล่านี้ยังช่วยให้เราเลือกวัสดุปลูก ปริมาณน้ำ หรือ การดูแลต้นไม้ในบ้านแบบมืออาชีพ ต่อไปในอนาคตอีกด้วย
แสงแดด จำเป็นมากๆ
ถือว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการเจริญเติบโตของต้นไม้ เพราะ ต้นไม้ใช้แสงแดดในการสังเคราะห์ด้วยแสง เป็นการทำปฏิกิริยาของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และน้ำโดยมีแสงเป็นตัวเร่งปฏิกิริยา เกิดเป็นแป้ง น้ำตาลที่จำเป็นต่อการสร้างพลังงานและเติบโตของต้นไม้ กับ ก๊าซออกซิเจน ตลอดวิวัฒนาการของต้นไม้ ต้นไม้ที่เจริญเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่หลากลายบนโลกส่งผลต่อปริมาณแสงในที่นั้น ๆ ที่แตกต่างกันไป ทำให้ต้นไม้บางชนิดปรับตัว ให้มีความต้องการแสงแดดแตกต่างกัน แบ่งออกเป็นดังนี้
กลุ่มต้นไม้ที่ชอบแสงแดดเต็มวัน ต้นไม้ส่วนใหญ่บนโลกโดยเฉพาะไม้ดอกและไม้ยืนต้นชื่นชอบแสงแดดเต็มวัน ทำให้ต้นไม้เหล่านี้เหมาะกับใช้จัดสวนในที่กลางแจ้ง ไม่มีเงาของอาคารมาบดบังตลอดวัน สร้างร่มเงาให้เหมาะสมกับการใช้งานในสวน ในขณะที่ต้นไม้ที่ชอบแสงแดดเต็มวันบางชนิดก็สามารถปรับตัวให้อยู่ภายในอาคารหรือบริเวณที่ได้รับแสงแดดจำกัดได้ เช่น หมากเหลือง หมากเขียว ปาล์มไผ่ ยางอินเดีย สาเก ลิ้นมังกร เป็นต้น
กลุ่มต้นไม้ที่ชอบแสงแดดรำไรหรือแดดครึ่งวัน ต้นไม้ทั้งสองกลุ่มนี้มีความใกล้เคียงกัน คือห้ามได้รับแสงแดดจัดโดยตรง ตลอดทั้งวัน ไม้ชอบแดดรำไรเป็นต้นไม้ที่ชอบอยู่ในบริเวณที่ได้รับแสงแดดอ่อน มีร่มไม้หรือสิ่งพรางแสงอยู่ในระดับหนึ่ง หากได้รับแสงแดดและความร้อนมากเกินไป จะมีโอกาสใบไหม้และเหี่ยวเฉาได้อย่างรวดเร็ว ส่วนไม้ที่ชอบแสงแดดครึ่งวัน เหมาะกับปลูกบริเวณที่ได้รับแสงแดดเช้าในช่วงเช้าได้เต็มที่สามารถปลูกประดับไว้ในห้องโดยตั้งใกล้ๆกับหน้าต่างหรือในสวนที่แสงแดดส่องถึงโดยเฉพาะตอนเช้า เช่น ฟิโลเดนดรอน เสน่ห์จันทร์แดง คล้า เงินไหลมา เดหลี ซุ้มกระต่าย เป็นต้น
รดน้ำ อย่างถูกวิธี
ปลูกต้นไม้ต้องมีน้ำ เพราะต้นไม้ทุกต้นต้องการน้ำ แรกเริ่มในธรรมชาติต้นไม้พึ่งเพียงน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำใกล้เคียงในการเจริญเติบโต เมื่อมนุษย์เริ่มรู้จักการเพาะปลูกเบื้องต้น การรดน้ำต้นไม้ก็เกิดขึ้นมาพร้อมกัน ต่อยอดไปถึงการชลประทานในแบบต่างๆ
การรดน้ำต้นไม้ที่ถูกต้อง คือ รดบริเวณรากที่ห่างจากโคนต้นเล็กน้อยในรัศมีรอบ ๆ โคนต้น โดยเราสามารถรดไปที่บริเวณใบให้ชุ่มได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการรดน้ำไปที่บริเวณดอก เพราะจะทำให้ดอกร่วงและเฉาได้ง่ายกว่าปกติ ช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการรดน้ำต้นไม้มีให้เลือกแค่ช่วงเช้าและเย็น หากเป็นช่วงเช้าจะเหมาะสมกับต้นไม้ที่ชอบน้ำปานกลางและต้นไม้ที่รากเน่าได้ง่ายอย่างกลุ่มต้นไม้อวบน้ำ เพราะเมื่อยามสายแสงแดดจะช่วยให้น้ำระเหยออกไปบ้าง ช่วยป้องกันสารสะสมเชื้อโรคและเชื้อรา การรดน้ำในเวลากลางวันโดยเฉพาะวันที่แสงแดดจัดเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเพราะจะทำให้ต้นไม้ตายนึ่ง เกิดจากน้ำจะไปเกาะกับใบ เมื่ออุณหภูมิสูง น้ำก็จะมีอุณหภูมิสูงตามเหมือนกับน้ำร้อนที่ไปลวกใบ ซึ่งพวกไม้ใบอ่อนอย่างผักสวนครัวจะเห็นผลกระทบได้อย่างชัดเจน
การรดน้ำต้นไม้ไม่ใช้เรื่องที่ทำสม่ำเสมอได้ในทุกวัน ยิ่งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาแบบนี้ ควรใช้การสังเกตแสงแดดและอุณหภูมิในแต่ละวัน อย่างในวันที่อากาศร้อนจัด ควรปรับการรดน้ำให้สม่ำเสมอเช้าเย็น ทั้งบริเวณโคนต้นและพุ่มใบด้วย เพื่อลดการคายน้ำ ส่วนในวันที่ฝนตกก็ควรสังเกตว่าผิวดินแห้งหรือยังหรือมีน้ำท่วมขังหรือไม่ หากยังเปียกอยู่ก็งดการรดน้ำไปเลยก็ได้ การมีน้ําขังนาน ๆ อาจส่งผลให้รากขาดอากาศหายใจ ขณะในช่วงที่อากาศหนาวเป็นช่วงที่ต้องรดน้ำถี่ที่สุด อาจเป็นเช้า บ่ายและเย็น และต้นไม้บางชนิดที่ต้องการน้ำมากอย่างเฟิน ควรหาวัสดุปลูกมาคลุมแปลง เพื่อเก็บรักษาความชื้นในดินเอาไว้
สำหรับการปลูกต้นไม้ยืนต้นโดยเฉพาะต้นไม้ล้อมมาปลูก ไม่แนะนำให้รดน้ำบ่อย ๆ เป็นประจำทุกวัน ควรสักเกตเรื่องผิวดินแห้งหรือไม้ หากแห้งใช้วิธีการรดน้ำแบบรดให้นำซึมลงดินไปจนไหลออกมานอกแปลง แล้วจึงไปรดแปลงอื่น ก่อนกลับมารดที่แปลงเดิมอีกที 3-4 รอบ อาจรดเพียง 3-4 วันครั้งก็เพียงพอ เนื่องจากเราต้องการให้ต้นไม้ไม่ติดนิสัยชอบน้ำ สามารถรถแล้งได้ และที่สำคัญช่วยให้แรกยั้งลงไปหาน้ำใต้ดินลึกขึ้น
ปุ๋ย เพิ่มอาหาร
โดยทั่วไปเราจะแบ่งปุ๋ยออกเป็น 2 แบบหลัก คือ
ปุ๋ยอินทรีย์ คือ ปุ๋ยตามธรรมชาติที่ทำจากวัตถุดิบอย่างซากพืชซากสัตว์ ผ่านกระบวนการทางธรรมชาติโดยการหมักหรือการทับถมกันเป็นเวลาหนึ่ง ข้อดีคือเป็นปุ๋ยที่ได้รับการยอมรับว่าปลอดภัยต่อทั้งคนและสิ่งมีชีวิตในระยะยาวมากที่สุด ช่วยปรับโครงสร้างของดินให้ดีขึ้น นิยมใช้กับพวกผักสวนครัวหรือสวนออร์แกนิค แต่ข้อเสียคือไม่สามารถควบคุมปริมาณสารอาหารในตัวปุ๋ยได้นัก อีกทั้งปุ๋ยบางชนิดมักมีเมล็ดวัชพืชหรือพืชพรรณอื่นๆติดมาด้วย และหากหมักหรือจักเก็บไม่ดีก็อาจเป็นที่อยู่ของแหล่งเชื้อโรคได้เช่นกัน ส่วนใหญ่มีกลิ่นเหม็น จึงไม่นิยมใช้ใส่กับต้นไม้ภายในอาคารหรือต้นไม้ที่ขายในท้องตลาด ได้แก่ ปุ๋ยคอก(ได้จากมูลสัตว์) ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปุ๋ยชีวภาพ การนำไปใช้มักใส่ปุ๋ยอินทรีย์ 1ส่วนต่อดินที่มีปัญหา 3 ส่วน(ดินที่มีปัญหา ได้แก่ดินกรดจัด ด่างจัด ดินที่มีสารเคมีตกค้าง ดินลูกรัง พื้นที่ที่มีดินทรายหรือดินเหนียวมากๆ) หรือใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกอย่างน้อย 2 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จากนั้นคลุมแปลงและหมักทิ้งไว้2สัปดาห์เช่นกัน แล้วจึงปลูกต้นไม้ได้
ปุ๋ยเคมี คือ ปุ๋ยที่นิยมใช้ในการเกษตรกรรม และเพาะปลูกต้นไม้เพื่อขาย ข้อดีคือสามารถเพิ่มสารอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของต้นไม้ได้ในขณะนั้น ได้ผลและเห็นผลเร็ว แต่ในด้านสุขภาพต่อคนยังไม่เป็นที่ยอมรับเท่าใดนัก เพราะอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย รวมไปถึงในดินจะทำให้ดินขาดสารอาหารเสื่อมโทรม เกิดการสะสมธาตุอาหารสารเคมีชนิดต่าง ๆ จนเป็นพิษต่อพืช โครงสร้างดินอัดแน่นทึบ
แร่ธาตุอาหาร ในปุ๋ยเคมีที่จำเป็นต่อต้นไม้ คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม หรือที่เขียนตามอักษรย่อว่า N P K โดยอัตราส่วนที่แตกต่างกันจะแยกปุ๋ยเคมีออกมาดังนี้
ปุ๋ยสูตรเสมอ คือมีแร่ธาตุทั้ง 3 ตัวในอัตราส่วนและปริมาณเท่ากัน เช่น สูตร 15-15-15 หรือ 20-20-20 ใช้เมื่อให้ต้นไม้เติบโตตามปกติ ไม่เน้นส่วนใดส่วนหนึ่ง นิยมใช้กับต้นไม้ในสวนทั่วไปที่ปลูกรวมกัน
ปุ๋ยสูตรหน้าสูง เช่น 30-20-10 คือมีไนโตรเจนสูงที่สุด สำหรับช่วยให้ต้นและใบเจริญเติบโตเร็วขึ้น
ปุ๋ยสูตรกลางสูง เช่น 15-30-15 หรือ 12-24-12 คือไม่แร่ฐานฟอสฟอรัสสูงที่สุด ใช้สำหรับเร่งการเจริญเติบโตของรากและทำให้ดอกและผลออกเร็วขึ้น
ปุ๋ยสูตรหลังสูง เช่น 12-12-27 หรือ 10-20-30 มีธาตุโพแทสเซียมสูง ใช้บำรุงผลและราก ช่วยเพิ่มรสหวานได้ สำหรับไม้ดอกจะช่วยให้มีสีสันสวยเข้มขึ้น
การใส่ปุ๋ยนิยมใส่ตอนเช้าช่วงที่แดดยังไม่แรง ต้นไม้พึ่งเริ่มกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง มีกำลังให้รากดูดซึมสารอาหารมาใช้ประโยชน์ หากใส่ปุ๋ยในปริมาณมากเกินไป ต้นไม้ก็ไม่สามารถดึงขึ้นมาใช้ได้หมดอยู่ดี สุดท้ายก็จะเป็นการสูญเปล่า ควรให้ในปริมาณน้อยและสม่ำเสมอจะดีที่สุด ซึ่งปัจจุบันมีปุ๋ยสูตรละลายช้า ก็ช่วยทุ่นแรงให้สามารถใส่ปุ๋ยได้บ่อยน้อยลงอีกด้วย โดยปุ๋ยละลายช้ามี ดังนี้
สูตรฟอสฟอรัสสูงหรือปุ๋ยเร่งดอก เหมาะกับต้นไม้ที่ต้องการให้ออกดอก เช่น สูตร12-25-6
ปุ๋ยบัวมีทั้งแบบเป็นเม็ดและก้อน ใส่ลงไปในน้ําแล้ว ไม่ทําให้น้ําขุ่น
ปุ๋ยละลายช้า สําหรับกล้วยไม้ ช่วยเพิ่มสารอาหารที่กล้วยไม้ต้องการเป็นพิเศษ
หลังใส่ปุ๋ยควรรดน้ำต้นไม้รอบ ๆ ให้ชุ่ม เพื่อลดความเข้มข้นของสารอาหารที่เป็นอันตรายต่อต้นไม้ หากใช้ปุ๋ยพ่นทางใบ อย่าลืมผสมสารจับใบอย่างยาเปียกใบด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะกับต้นไม้ใบมัน หากต้องการให้ปุ๋ยกับต้นไม้ใหญ่ควรขุดหลุมที่โคนต้นลึกลงไปประมาณ 30-50 เซนติเมตร รอบโคนต้นห่างกันหลุมละ 50 เซนติเมตร นิยมใช้ปุ๋ยคอกเพราะจะดีกับสภาพดินที่สุด
โรคที่ต้นไม้ต้องเจอ
เบื้องต้นการหมั่นพรวนดินให้อากาศเข้าไปในดิน ถ่ายเทได้สะดวกก็ช่วยป้องกันดินไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค รวมไปถึงงดการรดน้ำในช่วงเย็น เพราะ ต้นไม้จะนำน้ำไปใช้ในกระบวนการต่าง ๆ น้อยลง และไม่ระเหยขึ้นไป ทำให้ความชื้นสะสมมาก ซึ่งเราสามารถดูจากอาการของต้นไม้ดังนี้
- ต้นไม้มีรอยฉ่ำน้ำ เหี่ยว เห็นจุดสีดำ หรือมีลักษณะเป็นเส้นใย อาจสันนิฐานได้ว่าต้นไม้นั้นเป็นเชื้อรา ซึ่งสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากพบกิ่งที่แสดงอาการไม่มาก สามารถตัดแล้วทำลายทิ้ง ร่วมไปกับการฉีกน้ำยาป้องกันเชื้อราประเภท Orthocide และตัดแต่งทรงพุ่มให้โปร่ง มีลมและแดดเช้าพัดผ่านได้
- อาการใบหงิกงอหรือใบด่าง มีจุดเขียวคล้ำที่ลำต้น หรือใบ ซึ่งมาจากเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย แสดงว่าต้นไม้ต้นนั้นติดโรคมาจากเชื้อไวรัส ซึ่งส่วนใหญ่รักษาได้ยาก ควรตัดส่วนที่เป็นโรคไปเผาหรือทำลายทิ้ง เนื่องจากไวรัสในธรรมชาติสามารถแพร่กระจายได้โดยมีแมลงเป็นพาหะ เช่น เพลี้ยอ่อน หรืออาจติดมากับอุปกรณ์ทำสวน จึงต้องหมั่นทำความสะอาด และฉีดน้ำที่ทรงพุ่มเพื่อไล่แมลงเหล่านั้นไปบ้าง
หากต้นไม้เริ่มออกอาการเปลี่ยนเป็นสีเหลือง ฉ่ำน้ำ เน่าเละ เป็นอาการจากกลุ่มเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมักเกิดกับต้นไม้ที่มีสภาพอ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ต้องรับตัดส่วนที่มีอาการไปเผาและทำลายเพื่อป้องกันการลุกลาม
แมลงตัวร้าย ศัตรูพืช
ทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ
กลุ่มแมลงปากกัด เช่น ด้วง หนอนเจาะลำต้น ตั๊กแตน และยังมีหอยทาก ที่ทำลายใบ ยอดอ่อนและเปลือกของต้นไม้ ทำให้ต้นไม้เกิดรอยแหว่งหรือเป็นรูพรุนทั่วทั้งต้น การเจริญเติบโตหยุดชะงัก แคระแกร็น หรือลำต้นถูกเจาะทำลาย ส่งผลต่อการลำเลียงน้ำและอาหาร ทำให้ต้นเฉาและตายในที่สุดอย่างรวดเร็ว วิธีรักษาคือนำเอาน้ำหมักสะเดาหรือสารเคมีที่ดูดซึมเข้าลำต้น ทำให้แมลงที่เจาะและกัดกินน้ำเลี้ยงส่วนต่างๆตายไปกันหมด เช่น ไซเปอร์เมทริน อะบาเมคติน
หลังฝนตกจะเป็นช่วงที่หอยทากระบาดและออกจากที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะหอยทากยักษ์แอฟริกาที่เป็นสัตว์ต่างถิ่นที่ระบาดหนักและกัดกินต้นไม้ได้อย่างรวดเร็ว อาจแก้ไขโดยใช้ปูนขาวหรือปูนใสโรยตามบริเวณที่พบราว 4-5 ครั้ง จนกว่าหอยทากจะหมด หรือใช้ยาเบื่อโรยหลังฝนตก
กลุ่มแมลงปากดูด ได้แก่ เพลี้ยแป้ง เพลี้ยหอย เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไรแดง แมงมุมแดง และแมลงหวี่ขาว แมลงเหล่านี้ดูดกินน้ำเลี้ยงแบบค่อยเป็นค่อยไป จนต้นไม้เริ่มแสดงอาการแคระแกร็น ใบหงิกงอและตายในที่สุด สารเคมีที่นิยมใช้คือ เซฟวิน หรือเอส-85 ฉีดพ่น หรือใช้ภูมิปัญญาไทยโดยการนำเอาใบยาสูบแห้งแช่น้ำทิ้งไว้หนึ่งคืนจนน้ำกลายเป็นสีน้ำตาลเข็ม จากนั้นนำมาผสมสารเคลือบใบอย่างน้ำสบู่หรือนำยาล้างจาน แล้วนำไปฉีดได้เลยนอกจากนั้น ให้พยายามทําให้บริเวณแปลงปลูกเปียกเพลี้ยไฟจะเข้าดักแด้ได้ลําบากนอกจากนี้ยังมีเพลี้ยแป้งที่สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพอากาศร้อนชื้นและมักแพร่ระบาดในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม
การใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำที่เขียนอยู่ที่ฉลากอย่างเคร่งครัด สารบางชนิดมีผลต่อร่างกายมนุษย์รวมไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ที่อยู่โดยรอบ ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน พร้อมทั้งสวมหน้ากากและใส่เสื้อผ้าที่รัดกุม เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
กำจัดวัชพืชที่ไม่พึ่งประสงค์
อีกรูปแบบของศัตรูพืชมาในรูปแบบของวัชพืช ซึ่งหมายถึงต้นไม้ที่ขึ้นเองโดยที่เราไม่ต้องการ มีอัตราการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์รวดเร็วจนเข้าไปเบียดเบี่ยนการเจริญเติบโตของต้นไม้ที่เราปลูก ได้แก่ หญ้าแห้วหมู หญ้าขน หญ้าคา หรือหญ้าเจ้าชู้ ซึ่งวิธีแก้ไขทั่วไปหากมีปริมาณไม่มาก ใช้วิธีการถอน ซึ่งต้องทำเป็นประจำอย่างต่อเนี่อง โดยขุดออกให้ถึงหัวและราก เพราะหากดึงออกเพียงใบก็จะแตกใบให้ได้อย่างรวดเร็วตามเดิมอีกทั้งยังขยายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ
บางคนใช้สารไกลโฟเสตผสมน้ำและจิ้มไปที่ตัวหญ้าหรือฉีดพ่นตามลักษณะพื้นที่ก็เป็นการทุ่นแรงอย่างหนึ่ง หลังจากนั้นไม่ควรรดน้ำภายในระยะเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง เพื่อให้สารเคมีแทรกซึมไปกำจัดต้นใหญ่ได้ แต่ควรระวังเพราะสารดังกล่าวเป็นอันตรายต่อต้นไม้ชนิดอื่น สัตว์เลี้ยงและคนด้วยเช่นกัน ดังนั้นควรใช้ในกรณีที่จำเป็นจริง ๆ เท่านั้น อีกทั้งต้องปฏิบัติตามกฎหรือคู่มือการใช้อย่างเคร่งครัด
ตัดแต่งให้สวยเสมอ
เพราะต้นไม้ต้องโตอยู่เรื่อย ๆ ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องตัดแต่งเพื่องบังคับทรงและขนาดให้เหมาะสมกับสวนและความต้องการเสมอ แม้แต่สวนที่ต้องการให้ต้นไม้มีรูปทรงอิสระก็จำเป็นต้องตัดแต่งเหมือนกัน นอกจากความสวยงามแล้ว ยังช่วยให้ต้นไม้แตกกิ่งยอดออกมาใหม่แน่นกว่าเดิม ขนาดใบจะเล็กลง ทำให้ผิวสัมผัสดูละเอียดสบายตาเมื่อมอง และสำหรับไม้ดอกยังทำให้ออกดอกเพิ่มขึ้นด้วย หากเราตัดแต่งดอกที่โรยแล้วหรือตาดอกเก่าออก เมื่อแตกกิ่งใหม่ต้นไม้ต้นนั้นก็จะออกดอกและออกผลมากยิ่งขึ้น
โดยพื้นที่ฐานกิ่งที่ตัดคือกิ่งที่ไม่สมบูรณ์ เช่น กิ่งที่หักหรือมีรอยฉีกขาด มีแมลงกัดหรือเป็นโรค เหี่ยวเฉา ดูเกะกะ หรือยืดยาว ทำให้ทรงพุ่มสวยงามมากขึ้น ทั้งนี้เราสามารถตัดเพื่อควบคุ่มรูปทรงลองต้นได้ เช่น ทรงกลม ทรงสี่เหลี่ยม หรือทรงพีระมิตรเป็นต้น ส่วนมากพบในต้นไม้ทรงพุ่มแน่นอย่าง ไทรเกาหลี ชาดัด ข่อย แก้ว เป็นต้น ซึ่งจะเล็มจากกิ่งนอกสุดค่อยๆเข้าไปกิ่งด้านให้เพื่อค่อยๆดูความสมดุลย์ขณะตัดไปเรื่อย ๆ
สำหรับต้นไม้ใหญ่จะตัดกิ่งที่อ่อนแอหรือทำมุมแคบกับลำต้นหรือกิ่งอื่น เพราะกิ่งเหล่านี้เนื้อไม้เจริญเบียดกันจะฉีกขาดได้ง่ายเมื่อเจอแรงลม หลังจากตัดกิ่งไม้ขนาดใหญ่ออกแล้ว ควรแต้มปากแผลด้วยปูนแดงงหรือสีน้ำมัน เพื่อปิดรอยแผลและป้องกันการติดเชื้อ
จากนี้เหลือเพียงความรักและความเอาใจใส่ให้ต้นไม้ เท่านี้ก็ทุกคนก็สอบผ่านวิชา การดูแลต้นไม้ในบ้านแบบมืออาชีพ เรียบร้อยแล้วครับ .. ขอให้มีความสุขกับการปลูกไม้ทุกคนครับ
เรื่อง ปัญชัช
ภาพ คลังภาพบ้านและสวน