เลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เป็นอาหารให้สำหรับ เลี้ยงไก่ไข่ อินทรีย์ แล้วใช้มูลไก่กลับไปฟื้นฟูดินในแปลงเกษตร ซึ่งเจ้าหนอนแมลงวันลายนี้ก็เป็นนักกำจัดขยะอาหาร หมุนเวียนอยู่ในแปลงเกษตรรักษ์โลก ที่ แทนคุณ ออร์แกนิกฟาร์ม
ผลิตภัณฑ์จากการ เลี้ยงไก่ไข่ อินทรีย์ อาจจะเป็นสินค้าเกษตรของแทนคุณฟาร์มอันเป็นที่รู้จักโดยทั่ว แต่มากกว่าการทำเกษตรอินทรีย์ คุณอำนาจ เรียนสร้อย อดีตสัตวบาลและนักโภชนาการ ผู้ผันตัวมาเป็นเกษตรกรและก่อตั้ง แทนคุณ ออร์แกนิกฟาร์ม ได้ขับเคลื่อนฟาร์มของเขาสู่แนวคิด เกษตรฟื้นฟู (Regenerative Organic Farming) ที่มองถึงการฟื้นฟูดินเพื่อปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์โดยยึดสวัสดิภาพสัตว์ รวมถึงใช้อาหารสัตว์อินทรีย์เป็นหลัก อีกหนึ่งรูปแบบการทำเกษตรที่รักษ์โลกได้เช่นกัน
- 10 คำถาม-คำตอบ ไขทุกข้อสงสัยเรื่องเลี้ยงไก่ในบ้าน
- เทคนิคเลี้ยงไก่และเลือกพันธุ์ไก่ ให้ออกไข่ทุกวัน
- เกษตรทฤษฎีใหม่ หมายถึงอะไร ? ไปรู้จักพร้อมหลักการเกษตรอื่นๆ
“หลังจากเสร็จฤดูทำนา จะได้ผลผลิตที่หลงเหลือ อย่าง ปลายข้าว รำ และแกลบ ซึ่งเป็น waste แต่ผมตั้งใจอยากให้ระบบการผลิตของเราเป็น zero waste จึงนำสิ่งเหล่านั้นมาใช้เป็นส่วนประกอบในอาหารสัตว์ ใช้ทรัพยกรหมุนเวียน อย่างไก่ไข่ในฟาร์ม เลี้ยงด้วยอาหารไก่ที่แปลงจากเศษอินทรีย์วัตถุ ต่อยอดสู่การนำมูลไก่ที่ได้ไปหมุนเวียนใช้เป็นปุ๋ยในการปลูกข้าวและทำการเกษตรอื่นๆ จนเกิดเป็นระบบการทำฟาร์มที่เรียกว่าเกษตรฟื้นฟู ” คุณอำนวจกล่าว
เกษตรกรรมยั่งยืน ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในฟาร์มแทนคุณเท่านั้น แต่คุณอำนาจได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการต่างๆ ส่งต่อแนวคิดการกำจัดขยะอาหารให้กลับมาเป็นอาหารไก่ผ่านกระบวนทำเกษตร สร้างเครือข่ายให้เชื่อมโยงกัน เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างชุมชนยั่งยืน ซึ่งเขาสร้างตัวตนและเล่าเรื่องราวของแทนคุณฟาร์มได้อย่างน่าสนใจ
โมเดลหนอน BSF นักจัดการ Food Waste จากกรุงสู่ฟาร์ม
BSF หรือหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly larvae) เป็นแมลงวันที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งจะไม่รบกวนคน แต่จะกินแค่น้ำกับน้ำหวาน ที่สำคัญ คือ ระยะตัวหนอนสามารถย่อยเศษอาหารได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งไวกว่าไส้เดือนถึง 10 เท่า
“โครงการนี้เป็นความร่วมมือที่เราทำร่วมกับโรงแรมแห่งหนึ่งที่เป็นลูกค้าเรา เขาต้องการเป็น Zero Food Waste Management เราเลยส่งไข่ BSF ให้ทางโรงแรมนำไปเลี้ยงต่อ เพื่อกินเศษอาหารภายในโรงแรม ใช้เวลา 20-30 วัน จนเป็นหนอนตัวเต็มวัย ทางโรงแรมก็จะส่งกลับมาเป็นอาหารไก่ที่ฟาร์ม รวมถึงไข่ที่ซื้อจากฟาร์มเรา เขาก็ส่งกลับมาให้เราใช้ทำปุ๋ย ทำอาหารสัตว์ สร้างประโยชน์ต่อไปได้”
“ปัจจุบันผู้ประกอบการที่ใช้หนอน BSF ไปจัดการเรื่อง Food Waste ยังมีไม่มาก เราตั้งใจทำให้เป็นต้นแบบ เพื่อในอนาคตอาจเกิดความร่วมมือระหว่างเกษตรกรและผู้ประกอบการมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้จะไปช่วยลดต้นทุนของทั้ง 2 ฝ่าย ทำให้สินค้าอินทรีย์ราคาถูกลงได้ในอนาคต อีกทั้งยังช่วยลดปัญหา Food Waste ได้ด้วย”
นอกจากนี้ BSF จะกำจัดเศษอาหารได้แล้ว ปัจจุบันยังสามารถนำมาสกัดน้ำมันจากแมลงวันลาย ไปใช้เป็นส่วนประกอบในยาและเครื่องสำอาง เนื่องจากมีรายงานผลวิจัยของญี่ปุ่นพบว่า เอ็มไซม์ที่อยู่ในตัวหนอนสามารถต้านแบคทีเรียได้
เลี้ยงไก่ไข่ อินทรีย์ ให้ประโยชน์ได้ทุกส่วน
รูปแบบการเลี้ยงไก่หรือสัตว์ทั่วๆ ไปต้องมีวัสดุรองพื้น (Litter Material) ซึ่งแกลบเป็นวัสดุรองพื้นที่ใช้มากในระบบการเลี้ยงไก่ ทำหน้าที่ดูดซับของเสียทั้งฉี่และมูลที่ไก่ถ่ายออกมา ไม่ให้เกิดการหมักหมม ช่วยให้ไม่ต้องทำความสะอาดเล้าได้เป็นระยะเวลาหลายเดือน อีกทั้งแกลบเป็นวัสดุที่ย่อยสลาย จึงช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน ทำให้ดินฟูขึ้น มีช่องว่างอากาศมากขึ้น สามารถเก็บน้ำเก็บสารอาหารได้ดีขึ้น
“เมื่อหลังจากปลดไก่ (ขายไก่แล้ว) เราจะโกยแกลบที่รองพื้นเล้าออกไปกองผึ่งแดด เพื่อให้เกิดกระบวนการหมักตามธรรมชาติ ไม่ต้องรดน้ำเติมสารย่อยสลายเหมือนการทำปุ๋ยหมักทั่วไป ปุ๋ยหมักขี้ไก่ที่จะใช้ได้ ให้สังเกตจากสีแกลบถ้าแกลบเปลี่ยนเป็นสีคล้ำ หรือลองเอามือซุกเข้าไปในกอง ถ้าไม่มีความร้อนเกิดขึ้นก็แสดงว่านำไปใช้ได้แล้วครับ”
ช่วงแรกที่ปรับพื้นที่มาปลูกข้าวทำนา ดินที่นี่ยังมีความเสื่อมโทรม ขี้ไก่ที่ได้จากฟาร์มเลี้ยงไก่ถูกใช้เป็นวัสดุปรับปรุงดิน ให้ปุ๋ยขี้ไก่ค่อยๆ ช่วยปรับโครงสร้างดิน ส่วนผืนดินที่ยังไม่ทำประโยชน์ก็ปล่อยให้หญ้าขึ้นรกปกคลุมไว้ เพื่อช่วยให้ดินยังคงความชุ่มชื้น รากของหญ้าจะทำหน้าที่ชอนไชช่วยปรับโครงสร้างดิน ถ้าถางหญ้าทิ้งปล่อยให้เป็นพื้นที่เตียนโล่ง ดินก็จะตายได้เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวคิดตามหลักเกษตรฟื้นฟูที่ปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม
ทำปุ๋ย บำรุงดิน หน้าที่ของมูลสัตว์
นอกจากไก่และเป็ดแล้ว แทนคุณฟาร์มยังเลี้ยงหมูไว้เพื่อไว้ผลิตปุ๋ยมูลหมูหลุม สำหรับเพิ่มความหลากหลายของมูลสัตว์
“เราเชื่อว่าดินที่ดี คือ จุดเริ่มต้นของอาหารที่ดี และไม่ได้เกิดจากปุ๋ยมูลสัตว์แค่ชนิดเดียว ที่ฟาร์มเราจึงเลี้ยงสัตว์หลายชนิด เราควรจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระบบทั้งวงจร และปัจจัยการผลิตหลักของพืชก็ คือ ปุ๋ย เราใช้ปุ๋ยจากมูลสัตว์หลายชนิด ดังนั้นธาตุอาหารที่คืนกลับสู่ดินจึงมีความหลากหลาย”
ส่วนเศษเนื้อไก่ที่หลงเหลือจากการตัดแต่ง ก็นำไปเป็นอาหารปลาดุก เพื่อกำจัด waste และลดต้นทุนค่าอาหารปลาดุก
“ปกติในอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่ทั่วไปนิยมเลี้ยงปลาดุกไว้ใต้กรงไก่ เพื่อให้ปลากินมูลไก่ แต่ที่ฟาร์มเราจะมีบ่อเลี้ยงปลาดุก เพื่อไว้กิน waste จากโรงตัดแต่งไก่ครับ ซึ่งปลาในบ่อที่เลี้ยงไว้ ก็กินกันในฟาร์ม คนงานทุกคนที่นี่รวมทั้งผมเราจะกินอาหารเหมือนกัน กินข้าวออร์แกนิก ที่เราปลูก กินไข่และเนื้อไก่ออร์แกนิกที่เราเลี้ยง”
ใช้ประโยชน์จากสัตว์ ทดแทนเครื่องจักรในแปลงเกษตร
หลักการลดการใช้กำลังเครื่องจักร เป็นอีกหนึ่งหลักของเกษตรฟื้นฟูที่แทนคุณฟาร์มนำมาปรับใช้ โดยหลังจากเกี่ยวข้าวแล้ว จะปล่อยให้ “เป็ด” สัตว์ในฟาร์มเป็นตัวจัดการหญ้า และกินเศษเมล็ดข้าวที่ตกหล่น เพื่อไม่ให้ปนเปื้อนกันข้าวในฤดูกาลถัดไป
“นอกจากเป็ดจะช่วยเรื่องหญ้าแล้ว ขณะที่เป็ดย่ำก็ยังถ่ายมูลเป็นอาหารให้จุลินทรีย์ที่อยู่หน้าดินใช้ในการเติบโต จุลินทรีย์เหล่านี้จะทำหน้าที่ช่วยย่อยอินทรียวัตถุในดินทำให้ดินนุ่มขึ้น ถึงเวลาก็ดำข้าวได้เลย แต่ช่วงข้าวเริ่มออกรวงต้องหยุดปล่อยเป็ดไม่งั้นเป็ดกินข้าวหมดครับ”
การใช้เป็ดไถนานอกจากจะไม่ต้องใช้เครื่องจักรแล้ว ข้อดีอีกอย่าง คือ ไม่ทำลายโครงสร้างของดิน หรือเรียกอีกอย่างว่า ทฤษฎีลดการไถพรวน (No-Till Farming) เนื่องจากการไถพรวนเป็นการทำลายโครงสร้างหน้าดินที่สะสมมานาน ยิ่งการไถแห้งที่พลิกดินจากข้างล่างขึ้นมาตากแดด จุลินทรีย์ที่อยู่ใต้ดินพอโดนแดดก็จะตาย
“หลังดำนาแทบไม่ต้องทำอะไร อาจมีหญ้าขึ้นในขณะข้าวยังเล็กบ้างก็แค่ถอนออก หลังจากข้าวโตใบคลุมแสงส่องไม่ถึงหญ้าก็จะไม่ขึ้นแล้ว ส่วนปุ๋ยแทบจะไม่ต้องใช้เพราะเป็ดได้เตรียมไว้ให้หมดแล้ว และยังมีไส้เดือนขนาดเล็กที่อยู่ในนาข้าวที่ช่วยทำหน้าที่พรวนดินใส่ปุ๋ยให้เรา”
แหนแดงในนาเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ เป็ดใช้เป็นอาหารขณะย่ำ ช่วงที่น้ำในนาแห้งแหนแดงจะช่วยคลุมผิวดินไว้ ช่วยตรึงไนโตรเจนในอากาศเปลี่ยนให้เป็นไนโตรเจนที่เป็นยูเรียธรรมชาติให้กับต้นข้าว
ถ่ายทอดองค์ความรู้ เลี้ยงไก่ไข่ อินทรีย์ และปศุสัตว์อื่นๆ
เหตุผลหลักที่คุณอำนาจทำ แทนคุณ ออร์แกนิกฟาร์ม ไม่ได้ทำเพื่อเป็นธุรกิจอย่างเดียวเท่านั้น แต่อยากสร้างให้เป็นโมเดลต้นแบบให้เกษตรกรได้เห็นว่า เราเป็นเกษตรกที่สามารถทำปศุสัตว์ขนาดเล็กแบบพึ่งพาตัวเองได้
“จริงๆ เรามองว่าสิ่งที่แทนคุณทำไม่ได้มีอะไรใหม่เลย มันยังเป็นรูปแบบการทำเกษตรปศุสัตว์หลังบ้านเมื่อสมัย 20-30 ปีก่อน ใครก็ทำได้ ไม่ได้เป็นอะไรที่ใหม่หรือทำยาก เพียงแค่ทำอย่างไรให้มีมาตรฐานและพึ่งพาตัวเองได้ในระบบการผลิต ใช้พันธุ์สัตว์ที่มีอยู่ในท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ใช้ทรัพยากรที่ตัวเองมีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นได้ เพียงแต่คุณต้องมีความรู้และมีต้นแบบ”
เครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่เชื่อมโยงถึงกัน
“ปัจจุบันเราสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเครือข่าย ทำงานร่วมกับกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มที่ปลูกพืชอาหารสัตว์อินทรีย์ ไปดูแล้วรู้ว่าเขาไม่ใช้สารเคมี ไม่มีการเผา หรือ กลุ่มประมงขนาดเล็ก ที่ไม่ใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ไม่ทำร้ายปะการัง เราก็จะซื้อผลพลอยได้จากพวกเขา เพราะ เรารู้ว่าเขาดูแลสิ่งแวดล้อม”
“เราต้องการให้ปศุสัตว์อินทรีย์มีขนาดโตขึ้นเพื่อไปขับเคลื่อนภาคอื่นๆ ให้โตไปด้วยกัน ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมให้น้อยลงด้วยปศุสัตว์ ถ้าเราอัพสเกลปศุสัตว์อินทรีย์ให้เติบโตขึ้นได้ มันก็น่าจะดีกว่าไหมครับ นี่คือภาพหลักภาพรวมที่เราอยากจะเห็นครับ”
ปัจจุบันฟาร์มแห่งนี้มีเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงไก่ประมาณ 50 ครอบครัว ในเขตนครปฐม ราชบุรี กาญจนบุรี เพชรบุรี น่าน เชียงใหม่ ช่วยกันตั้งแต่การวางแผนการผลิต การเลือกใช้วัตถุดิบ การบริหารจัดการฟาร์ม ไปจนถึงการจำหน่าย การทำมาตรฐานร่วมกัน และการตรวจสอบ อีกทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรที่สนใจหันมาทำปศุสัตว์เกษตรอินทรีย์
“จริงๆ แล้วปัญหาทุกอย่างที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ เกิดจากการกินของเรานี่แหล่ะครับ การบริโภคที่มากขึ้นก็ยิ่งนำมาซึ่งปัญหา เราสามารถเลือกได้ว่าการกินและสนับสนุนแหล่งอาหารที่ผลิตจากระบบอินทรีย์ เพื่อสร้างผลกระทบให้สิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดได้ มาช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลโลก เพราะสุดท้ายแล้วสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะกลับมาดูแลเราครับ” คุณอำนวจกล่าวทิ้งท้าย
สำหรับท่านที่สนใจการทำเกษตรอินทรีย์และปศุสัตว์อินทรีย์ สามารถเข้าไปเยี่ยมชมหรือส่งข้อความสอบถามได้ที่เพจ “แทนคุณ ออร์แกนิกฟาร์ม”
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง / ภาณุ พิมพิลา
รวม 4 สายพันธุ์ไส้เดือน ยอดฮิตติดสวน ที่นิยมเลี้ยงกันมากในประเทศไทย
คุณโพและคุณหนูดี กับการ ปลูกผักอินทรีย์ บนพื้นที่ที่เคยเป็นกองขยะ