เมื่อหลายพื้นที่ต้องเจอกับพายุฝนตกหนัก ทั้งพายุที่เข้าสู่ประเทศไทยโดยตรงและพายุที่เข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนแล้วส่งผลกระทบให้ น้ำท่วมแปลงผัก ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับพื้นที่ทางการเกษตรเป็นวงกว้าง
โดยเฉพาะกับพืชผักอายุสั้น หรือพืชล้มลุกล้วนแล้ว เป็นกลุ่มพืชผักที่มีระบบรากสั้น จะได้รับความเสียหายจากการที่ น้ำท่วมแปลงผัก มากที่สุด ถึงแม้ช่วงน้ำท่วมขังจะแค่ 5-7 วัน เท่านั้น ก็อาจทำให้พืชผักตายหมดทั้งแปลงได้ แต่ในกรณีที่เลวร้ายกว่านั้น พื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อโครงสร้างของดินให้ได้รับความเสียหายด้วย
น้ำที่ท่วมขังจะทำให้ช่องว่างของอากาศภายในดินถูกแทนที่ด้วยน้ำ ทำให้การถ่ายเทอากาศในดินลดลง โครงสร้างของดินก็จะเกิดความเสียหายและเมื่อระดับน้ำลดลง ดินจะเกิดการอัดแน่นได้ง่าย ส่วนอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารที่อยู่บริเวณหน้าดินจะถูกชะล้างจากกระแสน้ำ รวมถึงส่งผลให้ค่าความเป็นกรดด่างของดินจะเปลี่ยนแปลงไป
ดังนั้นการดูแลพื้นที่หลังน้ำท่วมจึงต้องรีบทำทันที และต้องทำอย่างถูกวิธีด้วย เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงสร้างดิน และสำหรับพื้นที่ที่มีแนวโน้มเป็นพื้นที่เสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม ควรต้องรีบเตรียมความพร้อม
การจัดการดินหลังจาก น้ำท่วมแปลงผัก
เมื่อระดับน้ำลดลงก็สำรวจความเสียหายของแปลงปลูกหรือพื้นที่ปลูกพืชผักของเรา หากยังมีน้ำขังในบางจุดก็หาวิธีระบายน้ำออกทันที เช่น การขุดร่องเพื่อทำทางระบายน้ำ หรือใช้เครื่องสูบน้ำ และรอให้ดินแห้งหรือความชื้นในดินลดลงเสียก่อน ซึ่งในบางพื้นที่ที่น้ำท่วมหนักอาจต้องใช้เวลาหลายวัน
เมื่อดินแห้งแล้ว จากนั้นก็เริ่มพรวนดินเพื่อเพิ่มช่องว่างภายในดินให้อาหารสามารถแทรกเข้าไปในดินได้ และตากแดดทิ้งไว้ให้ดินแห้ง และหากดินมีสภาพความเป็นกรด ให้ใส่อินทรีย์วัตถุหรือปูนขาว ซึ่งจะไปช่วยปรับปรุงโครงสร้างของดิน ปรับค่า pH ให้สูงขึ้น และยังช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อโรค เชื้อจุลินทรีย์ต่างๆได้
แต่การใช้ปูนขาวและพรวนดินยังไม่เพียงพอ ต้องมีการเพิ่มเพิ่มธาตุอาหารให้กับดินที่หายไปจากการชะล้าง ดังนั้นต้องมีการใส่ปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักลงไปด้วย หรือจะบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสดอย่าง “ปอเทือง” พืชตระกูลถั่วที่ช่วยเพิ่มไนโตรเจน รวมไปถึงธาตุอาหารตัวอื่นๆ ให้กับดินได้อีกด้วย ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย
การเลือกชนิดพืชผักที่จะปลูกหลังจาก น้ำท่วมแปลงผัก
ควรเลือกชนิดพืชผักที่มีอายุสั้น สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมและเหมาะสมกับพื้นที่ ที่สำคัญต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาดด้วย เช่น แตงกวา ผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้ง ข้าวโพดหวาน หรือจะเป็นพืชผักในกลุ่มพริก มะเขือ ก็ได้เช่นกัน
ซึ่งพืชผักบางชนิดก็ต้องมีการเตรียมต้นกล้าก่อนปลูก ใช้เวลาเพาะกล้า 10-20 วัน ดังนั้น ในระหว่างที่กำลังปรับสภาพดินในแปลงปลูกหลังจากน้ำท่วม ก็สามารถเริ่มเพาะกล้าได้เลย เมื่อจัดการปรับปรุงดินเสร็จแล้ว ก็สามารถเริ่มปลูกได้เลย โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาเพาะกล้า
โรคที่จะตามมาหลังจากน้ำท่วมแปลงผัก
นอกจากน้ำท่วมจะทำให้โครงสร้างดินอัดแน่นแล้ว สิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ โรคพืชที่เกิดขึ้นหลังจากน้ำท่วม โดยส่วนใหญ่จะเป็นโรคที่เกิดบริเวณรากหรือโคนต้น เนื่องจากเป็นส่วนที่สัมผัสกับน้ำเป็นเวลานาน ซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อรา โดยโรคที่พบบ่อยได้แก่ โรครากเน่า โคนเน่า โรคเหี่ยว
โรคต่างๆ เหล่านี้สามารถป้องกันได้ด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา ซึ่งเป็นเชื้อราที่ดี ที่สามารถควบคุมและกำจัดเชื้อราโรคพืชได้หลายชนิด โดยหลังจากที่ไตรโคเดอร์มาสัมผัสกับเชื้อราโรคพืช ก็จะแทงรากเข้าไปในเส้นใยและปล่อยเอนไซม์เพื่อเข้าทำลาย ควบคู่กับการปรับปรุงสภาพดินด้วยปูนขาวหรือโดโลไมท์ จะช่วยให้ดินมีความเป็นด่างเล็กน้อย ซึ่งเชื้อราก่อโรคจะไม่เจริญเติบโตในดินที่มีความเป็นด่าง
แนวทางการป้องกันน้ำท่วมแปลงผัก
แปลงปลูกผักหรือพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมอยู่บ่อยครั้ง หากที่ผ่านมามีปริมาณน้ำไม่สูงมากนัก แนะนำให้สร้างขอบหรือกรอบกั้นดิน เมื่อเกิดน้ำท่วม แปลงปลูกก็จะไม่ถูกพัดพาให้ไหลไปกับน้ำ และน้ำไม่สามารถชะล้างเอาอินทรียวัตถุที่อยู่ในดินออกไปได้
สำหรับพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังแต่ระดับน้ำไม่สูงมาก ควรยกแปลงให้สูงหรือลอยจากพื้น เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในช่วงฤดูมรสุม การยกแปลงลอยเหนือพื้นดินจะช่วยให้ผักที่เราปลูกมีโอกาสรอดสูง และการจัดการดูแลง่ายกว่าแปลงที่อยู่บนพื้นดิน
หากเป็นแปลงใหญ่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มน้ำจะมีความเสี่ยงสูงที่จะเจอกับน้ำท่วมได้ง่าย การแปลงปลูกพืชผักจึงควรยกร่องสูง มีคูน้ำในแปลงหรือบริเวณรอบแปลงปลูก รวมถึงมีคันดินล้อมรอบพื้นที่ เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังในพื้นที่
ส่วนพื้นที่ดอนมักประสบปัญหาน้ำท่วมขังน้อย หรืออาจมีบ้างเป็นครั้งคราว ไม่จำเป็นต้องยกร่องสูงมากนัก แต่ควรระวังฝนตกต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตได้ แนวทางการป้องกัน คือ แบ่งเป็นแปลงย่อยปลูกพืชให้มีความหลากหลาย
เรื่อง : สรวิศ บุญประสพ