งานเกษตรเป็นอีกหนึ่งอาชีพใหม่ที่หลายคนตัดสินใจลงมือทำ เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร รวมถึงคาดหวังว่าจะช่วยสร้างรายได้เลี้ยงครอบครัว อย่างการ ปลูกผักสลัด ไฮโดรโปนิกส์
เช่นเดียวกับคุณกฤติเดช สระบัว หรือโกติ๊ก ที่หันมา ปลูกผักสลัด ไฮโดรโปนิกส์ เจ้าของฟาร์มโกติ๊ก K-OTIK Hydroponics Farm และประธานวิสาหกิจชุมชน “เห็ดผักรักชุมชน (ภูเก็ต)” ในตำบลรัษฎา อำเภอเมืองฯ จังหวัดภูเก็ต นักธุรกิจเจ้าของบริษัทให้บริการอีเว้นต์แมเนจเม้นต์ ระบบภาพแสงสีเสียง รวมถึงเป็นผู้นำเข้าไวน์จากต่างประเทศ ซึ่งกลุ่มลูกค้าหลักของธุรกิจเหล่านี้คือนักท่องเที่ยว เมื่อการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ธุรกิจจึงต้องหยุดลงโดยปริยาย
ในวิกฤติโควิด-19 ที่ประเทศไทยประกาศล็อกดาวน์ โกติ๊กปรับตัวด้วยการเลือกศึกษาวิถีการทำเกษตร ปลูกผักสลัดไฮโดรโปนิกส์ เพาะต้นอ่อนผักและปลูกเห็ด โดยพิจารณาโอกาส ความต้องการของผู้บริโภค และช่องทางตลาดกลุ่มคนรักสุขภาพ หวังสร้างรายได้เลี้ยงพนักงานของบริษัทให้อยู่รอด ตามคอนเซ็ปต์ “ปลูกผักปลูกเห็ดเพราะรักลูกน้อง” โดยเริ่มทำฟาร์มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 เน้นวางแผนทำงานกันเป็นทีมและแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ เช่น ทีมเข้าอบรมเรียนรู้การเพาะปลูก ทีมทำโรงเรือน ทีมเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น แม้พนักงานในบริษัทไม่มีประสบการณ์ทำเกษตรมาก่อน แต่ก็จับมือกันฝ่าวิกฤติมาได้
“ผมมองว่าหัวใจสำคัญคือทีมงาน แม้เรามีความรู้ทางวิชาการดี แต่ถ้าทีมงานหรือบุคลากรไม่สามารถรับช่วงต่อแล้วนำไปพัฒนาหรือต่อยอดได้ก็ย่อมสำเร็จได้ยาก ทีมงานของผมก็คือน้อง ๆ ที่มาจากบริษัทในเครือทั้งหมด เพราะหลังจากที่ธุรกิจท่องเที่ยวและงานบริหารจัดการงานอีเว้นต์ไม่สามารถเดินต่อไปได้ เราจึงดึงน้อง ๆ เข้ามาทำเกษตรและจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนเห็ดผักรักชุมชน (ภูเก็ต) ครับ”
ปัจจุบันโกติ๊กได้รับยกย่องให้เป็น “เกษตรกรต้นแบบตามศาสตร์พระราชาของจังหวัดภูเก็ต” เป็นแบบอย่างของการปรับตัวกับสถานการณ์โควิด จากภาคการท่องเที่ยวและบริการหันมาสู่ภาคการเกษตร เป็นตัวอย่างให้หลายคนได้ผ่านช่วงวิกฤตินี้และสามารถใช้ชีวิตกับการทำเกษตร สร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเองและอาชีพอื่น ๆ ได้ต่อไป
ปรับตัวมาทำเกษตร ก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน “เห็ดผักรักชุมชน (ภูเก็ต)”
“ไม่ใช่แค่เราที่ได้รับผลกระทบแต่คือทั่วโลก เจ้าของบริษัท องค์กรต่าง ๆ เจอเหมือนกันหมด เพียงแค่เราค่อนข้างโชคร้ายเพราะทำธุรกิจเกี่ยวกับต่างประเทศ เมื่อสายการบินไม่เปิดทำการก็ไม่สามารถมีธุรกิจได้ ผมจึงมองว่าสิ่งที่เราจะต้องทำก็คือทำอะไรที่เกี่ยวกับคนในประเทศ เรามีที่ทางในภูเก็ต แล้วทำไมเราไม่ลองทำเกี่ยวกับเรื่องอาหาร คนชอบรับประทานอะไร เดี๋ยวนี้คนรักสุขภาพใช่ไหม ผมจึงคิดว่า… มาเริ่มปลูกผักดีไหม เมื่อคิดว่าจะปลูกผักจึงมุ่งมั่นศึกษาหาข้อมูล มองหาผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญจนได้รับถ่ายทอดองค์ความรู้วิชาการทำแปลงเกษตรและการปลูกผักสลัด”
“ผมพาลูกน้องไปเรียนด้วยเพื่อที่จะได้มีคนมาช่วยประคอง เพราะผมเชื่อว่าหากทำคนเดียวคงไม่สามารถเป็นอุตสาหกรรมที่ให้ผลผลิตเยอะได้ จึงแบ่งทีมกันให้ชุดหนึ่งมาเรียนปลูกผักกับผม อีกชุดหนึ่งให้ไปออกแบบและทำโรงเรือน ทุกอย่างเราทำคู่ขนานกันเพื่อให้สามารถเริ่มทำได้อย่างรวดเร็ว”
“ผักสลัดที่ฟาร์มทำอยู่มี 6 ชนิด คือ กรีนคอส เรดคอรัล กรีนโอ๊ก เรคโอ๊ก บัตเตอร์เฮด และฟิลเลซ์ไอซ์เบิร์กส์ เหล่านี้คือผักสลัดที่คนไทยนิยมรับประทาน ร้านอาหาร โรงแรม ภัตตาคารใช้งานอยู่แล้ว นอกจากนี้ผมยังปลูกโหระพา แมงลัก และวอเตอร์เครสใบเล็กในกระบะน้ำ รวมถึงเพาะต้นอ่อนทานตะวัน ต้นอ่อนผักบุ้ง ต้นอ่อนถั่วลันเตาหรือโต้วเหมี่ยว รวมถึงเห็ดชนิดต่าง ๆ ถือเป็นกิจกรรมที่ทำผสมผสานกันเพื่อลดความเสี่ยงด้านราคา และสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารด้วยครับ”
“เมล็ดผักสลัดนำเข้าจากต่างประเทศ ผมจึงทำห้องปรับอากาศสำหรับเพาะเมล็ดไว้ที่บ้าน จากนั้นจึงย้ายต้นกล้าออกมาไว้ในแปลงอนุบาลซึ่งอยู่ที่ฟาร์ม มีการวางแผนการปลูกในแต่ละรอบเพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวผักได้ทุกวันยกตัวอย่างให้เห็นภาพง่าย ๆ หากเพาะเมล็ดวันจันทร์ก็จะย้ายต้นกล้าลงกระบะปลูกในวันจันทร์ถัดไป โดยก่อนย้ายปลูก 1 วันจะเติมปุ๋ยน้ำให้สูงจนถึงขอบในของกระบะ และไม่มีการเติมปุ๋ยน้ำเพิ่มอีกตลอดระยะเวลาที่ปลูก หลังจากย้ายปลูก 30 วัน ผักสลัดก็พร้อมเก็บเกี่ยว ปริมาณปุ๋ยน้ำในกระบะจะลดลงเหลือน้อยมากครับ เวลาเก็บเกี่ยวใช้วิธีเก็บยกแปลงเป็นล็อต ๆ หลังจากเก็บผักแล้วจะใช้เวลา 2-3 วันในการฆ่าเชื้อและทำความสะอาดกระบะปลูก เติมปุ๋ยน้ำใหม่ และย้ายปลูกหมุนเวียนกันตามแผนการผลิตที่วางไว้”
“สำหรับการเพาะเห็ดทำได้เกือบปีแล้ว เห็ดของเรามีทั้งหมด 7 ชนิด ได้แก่ เห็ดนางฟ้าภูฏาน เห็ดนางรมเทา เห็ดแครง เห็ดโคน เห็ดหูหนู เห็ดหลินจือ และเห็ดฟาง การแบ่งสันปันส่วนโรงเรือนของผมแบ่งตามปริมาณที่ตลาดต้องการ ตอนนี้ในภูเก็ตต้องการเห็ดนางฟ้า เห็ดหูหนู และเห็ดฟางเยอะก็จะเพาะพวกนี้เป็นหลัก ส่วนเห็ดชนิดอื่นก็รองลงมา ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญของการทำฟาร์มเห็ดก็คือมีเชื้อเห็ดที่ดี เน้นเรื่องความสะอาด ถูกสุขลักษณะ สภาพดินฟ้าอากาศที่เหมาะสม รวมถึงการมีทีมงานที่เข้มแข็ง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ”
ปัจจุบันผลผลิตจากวิสาหกิจชุมชน “เห็ดผักรักชุมชน (ภูเก็ต)” ส่งจำหน่ายในร้านค้า ห้างค้าปลีกค้าส่งในภูเก็ต รวมถึงการจำหน่ายทางออนไลน์ ผลผลิตได้มาตรฐาน GAP ได้รับการรับรองจาก อย. มีโรงบรรจุภัณฑ์มาตรฐาน GMP และพัฒนาต่อเนื่องจนได้รับออแกนิกส์ไทยแลนด์หรือเห็ดอินทรีย์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีหน่วยงานสังกัดของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อย่างสำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ตเข้ามาเป็นพี่เลี้ยงให้อย่างต่อเนื่อง
สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ตมีโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจจังหวัดภูเก็ตด้วยแนวคิด City of Gastronomy กิจกรรมส่งเสริมการผลิตพืชปลอดภัยเพื่อการบริโภคในการสร้างอาชีพใหม่ ที่สามารถสร้างรายได้อย่างยั่งยืนในอนาคต มีการให้ความรู้ด้านการเพาะเห็ด ปลูกต้นอ่อนผัก และผักไฮโดรโปนิกส์ โดยมีโกติ๊กเป็นเกษตรกรต้นแบบที่ช่วยส่งเสริมอาชีพปลูกพืชปลอดภัยให้กับเกษตรกรในจังหวัดภูเก็ต
นอกเหนือจากการปลูกผักต้นอ่อนที่กำลังเป็นที่นิยมแล้ว ส่วนของเห็ดเองตลาดยังคงมีความต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดภูเก็ตที่มีความต้องการวันละ 3-4 ตัน ซึ่งมีการนำเข้าถึง 70 เปอร์เซ็นต์ การเพาะเห็ดจำหน่ายอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างรายได้ที่มากขึ้น
โกติ๊กเป็นอีกคนหนึ่งที่สร้างแรงบันดาลใจให้เห็นว่า “การทำเกษตรนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพียงแค่ต้องให้ใจ ลองศึกษา และสิ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องจริงจัง จริงใจ และตั้งใจ แม้ไม่เคยทำเกษตรมาก่อน ก็สามารถประสบความสำเร็จได้ ไม่ว่าจะเริ่มทำอะไร ใจต้องมาก่อน ถ้าใจมาทุกสิ่งทุกอย่างก็เป็นไปได้ สำหรับท่านใดอยากเรียนรู้การทำเกษตรเพื่อบริโภคหรือต่อยอดเป็นอาชีพ ผมยินดีให้ความรู้และคำชี้แนะครับ”
เรื่อง : อังกาบดอย
ข้อมูลและภาพ : K-OTIK Hydroponics Farm
โทรศัพท์ : 09-5418-5841
ขอขอบคุณ : สำนักงานเกษตรจังหวัดภูเก็ต