หากถามว่า “ใครเคยรับประทานรากถั่วพูต้มให้ยกมือขึ้น” คงจะมีคนยกมือไม่มากนัก เพราะ “ถั่วพู” ที่หลายคนรู้จัก คือ ถั่วฝักสดที่นำมารับประทานคู่กับน้ำพริก หรือนำฝักมาผ่านความร้อน ปรุงเป็นเมนูอาหารรสเลิศ เช่น ยำถั่วพูกุ้งสด ผัดพริกแกงหมูใส่ถั่วพู แต่วันนี้จะพาทุกท่านไปทำความรู้จักกับ ถั่วพูกินราก ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า “สามารถนำรากมารับประทานได้ด้วย!!”
ถั่วพูกินราก ที่กล่าวถึงนี้ เป็นหนึ่งในพืชท้องถิ่นของชุมชนอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มีการปลูกสืบทอดกันมาเป็นเวลากว่า 60 ปีแล้ว ในอดีตคนในชุมชนนิยมกินรากถั่วพูเพราะเชื่อว่าเป็นสมุนไพรที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย บวกกับความเหนียวนุ่มและกลิ่นหอมเฉพาะของรากที่ต้มเสร็จก็ชวนรับประทาน จึงมีการปลูกสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงทุกวันนี้ กระทั่งมีการรวมกลุ่มผู้ปลูกถั่วพูกินรากแปลงใหญ่ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดทำมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (GAP) โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอโพธารามเป็นพี่เลี้ยง คาดว่าจะได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP เร็ว ๆ นี้
การปลูก ถั่วพูกินราก
ถั่วพูกินราก จัดเป็นถั่วพูพันธุ์หนัก ซึ่งเป็นพันธุ์เฉพาะที่สามารถบริโภครากได้ (ไม่ใช่ถั่วพูที่ปลูกรับประทานฝักทั่วไป) โดยเกษตรกรจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง และเตรียมแปลงก่อนปลูกโดยหว่านเมล็ดปอเทืองเพื่อบำรุงดินให้ร่วนซุย ระบายน้ำดี และเป็นการเพิ่มธาตุอาหารในดินในรูปแบบปุ๋ยพืชสด
เกษตรกรนิยมหยอดเมล็ดลงแปลงปลูกในช่วงเดือนกรกฎาคม เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูฝน ทำให้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องการให้น้ำได้พอสมควร แปลงปลูกยกร่องสูง 20 – 30 เซนติเมตร ใช้ระยะปลูก 100 x 100 เซนติเมตร ขุดหลุมลึก 2 – 3 เซนติเมตร แล้วหยอดเมล็ดหลุมละ 3 เมล็ด ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หลังจากหยอดเมล็ดจึงจะถอนรากขึ้นมารับประทานได้ ซึ่งจะตรงกับช่วงเดือนมกราคม – มีนาคมของทุกปี
นอกจากนี้ ยังนิยมปลูกถั่วพูกินรากผสมผสานกับข้าวโพด โดยหยอดเมล็ดข้าวโพดไปพร้อม ๆ กับถั่วพู เนื่องจากข้าวโพดโตเร็วจึงช่วยให้ร่มเงา เมื่อข้าวโพดเจริญเติบโตจนให้ผลผลิตก็เก็บฝักไปขาย จากนั้นจึงตัดส่วนยอดไปเลี้ยงโค ส่วนโคนต้นของข้าวโพดจะปล่อยไว้เพื่อใช้เป็นหลักให้ต้นถั่วพูเลื้อยขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องปักไม้ค้าง
การดูแลรักษา
ระยะแรกต้องรดน้ำทุกวัน เช้า-เย็น กระทั่งต้นเจริญเติบโตจึงเว้นระยะการให้น้ำตามสภาพอากาศ อาจพบโรคที่เกิดจากเชื้อรา เช่น โรคราสนิม โรคใบจุด เป็นครั้งคราว หรือพบโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรครากเน่า บริเวณที่ดินมีน้ำขัง และพบแมลงศัตรูเข้ากัดกินดอกอ่อนและฝักอ่อนประปราย ไม่รุนแรงนัก อาจเพราะในรอบ 1 ปี มีการปลูกถั่วพูเพียงครั้งเดียว และมีการพักแปลงไปปลูกพืชชนิดอื่นสลับกัน จึงช่วยตัดวงจรของโรคและแมลงศัตรูได้อีกช่องทางหนึ่ง
การเก็บเกี่ยว
ขุดรากเมื่อถั่วพูมีอายุประมาณ 6 เดือน นับจากวันที่หยอดเมล็ด ตัดแต่งรากฝอยออก แล้วนำไปล้างทำความสะอาด จนได้รากถั่วพูที่ขาวสะอาด
การต้ม ถั่วพูกินราก
หลังจากล้างทำความสะอาดรากถั่วพูเรียบร้อยแล้ว นำไปต้มประมาณ 3 ชั่วโมง เมื่อรากเริ่มนิ่มจึงใส่น้ำตาลทรายลงไปเล็กน้อยเพื่อช่วยเพิ่มรสชาติ ต้มต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมงจึงใส่เกลือลงไป ระหว่างนี้ต้องเพิ่มไฟให้แรงขึ้น และต้มต่ออีกประมาณ 15 นาทีเพื่อให้น้ำตาลและเกลือซึมเข้าถึงเนื้อในของราก ก็เป็นอันเสร็จกระบวนการ รับประทานได้
อนึ่ง เรื่องราวของถั่วพูกินรากที่นำมาฝากนี้ สื่อให้เห็นถึง
- ในแต่ละท้องถิ่น แต่ละชุมชน น่าจะมีพืชที่เป็นอัตลักษณ์ซึ่งสามารถนำมาสร้างเรื่องราวและจุดเด่นเพื่อต่อยอดเป็นอาชีพให้กับคนในชุมชนนั้น ๆ ได้
- ถั่วพูกินรากเป็นพืชที่หนึ่งปีมีผลผลิตให้รับประทานหนึ่งครั้ง จึงเป็นจุดขายที่น่าสนใจ และช่วยลดความเสี่ยงผลผลิตมีมากเกินความต้องการของตลาด
- การปลูกพืชผสมผสานระหว่างรอถั่วพูให้ผลผลิต เช่น การปลูกข้าวโพด หรือพืชชนิดอื่นที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เร็ว ทำให้มีรายได้อีกหนึ่งช่องทาง
- การพักแปลงเป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยตัดวงจรของโรคและแมลงศัตรู
- มาตรฐานความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญ คนในชุมชนจึงพร้อมใจกันปฏิบัติตามมาตรฐาน GAP เพื่อความปลอดภัยต่อผู้ปลูก ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม
เรื่อง : แดนไทย
ข้อมูลและภาพ : คุณภณกฤด อุ่นพิพัฒน์ และคุณภรณ์ทิพย์ สุจจิตร์จูล สำนักงานเกษตรอำเภอโพธาราม กรมส่งเสริมการเกษตร