แก้วกาญจนา

ขยายพันธุ์แก้วกาญจนา ตามแบบฉบับกูรู

แก้วกาญจนา หรืออโกลนีมา (Aglaonema) หรือเขียวหมื่นปี (Chinese Evergreen) เป็นไม้ใบอีกชนิดหนึ่งที่ปลูกเลี้ยงในเมืองไทยมานาน แต่เดิมมีเพียงใบเขียวด่างขาว ด่างเทา

ขณะที่ แก้วกาญจนา หลายพันธุ์ในปัจจุบัน กลับมีสีสันของใบแตกต่างจากเดิม ทั้งแดง ส้ม น้ำตาล และใบด่าง ซึ่งเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติว่า เมืองไทยเป็นแหล่งแก้วกาญจนาที่สวยที่สุดในโลก

วันนี้เรามีโอกาสได้พูดคุยกับคุณปราโมทย์ โรจน์เรืองแสง แห่งสวนอัญมณี ถึงจุดเริ่มต้นในการพัฒนาพันธุ์ แก้วกาญจนา ว่าเริ่มต้นอย่างไร “ประมาณ 25 ปีก่อน ผมเริ่มจากเก็บสะสมชนิดแท้จากป่าในบ้านเรา ลองผสมไป สำหรับลูกผสมรุ่นแรกๆ เป็นลูกของโพธิสัตว์กับขันหมากชาววัง ช่วงสองปีแรก เราลองผิดลองถูกไป ได้สวยบ้างไม่สวยบ้าง จนมาได้ต้นโคชินพม่าที่กลายพันธุ์จากต้นเขียวปกติเป็นใบสีขาว ซึ่งเป็นต้นที่รับยีนใบสีแดงได้ดีมาก

แก้วกาญจนา

“จนกระทั่งลองเอาโพธิบัลลังก์ที่ใบมีใบสีเขียวคล้ำ กระดูกแดง มาผสมขันหมากชาววัง ปรากฏว่าได้ลูกไม้ที่มีใบสีแดงหลากหลายขึ้น ซึ่งตอนนั้น เราเปิดตลาดด้วยต้นอัญมณี ที่มีใบสีลายใบสีแดงสด กับลูกไม้โคชินอีกสองต้นที่มีใบสีน้ำตาลอมส้ม ซึ่งมีชาวต่างชาติซื้อไปในราคาสามต้นหนึ่งล้านบาท”

แก้วกาญจนา
คุณอุษา วงศ์สมบูรณ์ กำลังผสมเกสรแก้วกาญจนา

โชคดีที่เจอดอกแก้วกาญจนากำลังบานอยู่สองต้น คุณอุษา วงศ์สมบูรณ์ ผู้เป็นภรรยา ซึ่งเชี่ยวชาญการผสมเกสรก็สาธิตวิธีการผสมเกสรให้เราดูทันที

ขั้นตอนสาธิตวิธีการผสมเกสร ดอก แก้วกาญจนา

Step 1

ใช้มีดหรือกรรไกรปลายแหลมตัดโคนจานรองดอกของต้นพ่อพันธุ์ออก ใช้พู่กันหรือปลายนิ้วแตะละอองเรณู

Step 2

นำปลายนิ้วหรือพู่กันที่มีละอองเรณูติดอยู่ แตะเบาๆ ที่ยอดเกสรเพศเมียของต้นแม่พันธุ์ ที่เป็นตุ่มนูนแลมีเมือกเยิ้มติดอยู่

แก้วกาญจนา

Step 3

แขวนป้ายแสดงชื่อแม่พันธุ์–พ่อพันธุ์ และวันผสมเกสร แล้วคลุมดอกด้วยถุงพลาสติก เพื่อป้องกันน้ำฝนทำให้ละอองเรณูหลุดออกและป้องกันการผสมทับโดยแมลงพาหะ

แก้วกาญจนา

Step 4

หลังผสม 2-3 สัปดาห์ หากดอกเพศเมียขยายขนาดขึ้น แสดงว่าการผสมเกสรประสบความสำเร็จ

แก้วกาญจนา

Step 5

อีก 6 – 8 เดือน ผลจะเริ่มสุก และเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีเหลืองและแดง นำผลสีแดงที่เริ่มนิ่มมาบีบเอาเปลือกและเนื้อออกจากเมล็ด แล้วล้างน้ำเพื่อเอาเนื้อที่หุ้มเมล็ดออกให้หมด แล้วรีบนำไปเพาะ โดยไม่ต้องผึ่งลมให้แห้ง เนื่องจากเมล็ดแก้วกาญจนามีอายุไม่ยาวนัก

คุณปราโมทย์แนะนำว่า หลังผสมควรบำรุงต้นแม่พันธุให้แข็งแรง ไม่มีโรคแมลงศัตรูเข้าทำลายและรักษาความชื้นสัมพัทธ์ให้เหมาะกับการเจริญเติบโต เพื่อให้เมล็ดเติบโตสมบูรณ์ และมีเปอร์เซ็นต์การงอกดี

เมื่อเดินมาถึงโรงเรือนเพาะเมล็ด คุณปราโมทย์ก็นำต้นที่ได้จากการเพาะเมล็ดในระยะต่างๆ มาให้ชม ซึ่งระยะเวลาตั้งแต่เพาะเมล็ดจนได้ต้นลูกผสมใหม่ที่ให้ลวดลายใหม่ๆ ต้องใช้เวลานานถึง 1 ปี

แก้วกาญจนา

“หลังจากนั้นมา ตลาดแก้วกาญจนาในเมืองไทยเฟื่องฟูมาก อาจารย์สุรวิช (รศ. ดร.สุรวิช วรรณไกรโรจน์) และเหล่านักเลี้ยงจึงร่วมกันก่อตั้ง ชมรมผู้พัฒนาพันธุ์ไม้ประดับ 2000 ขึ้น โดยตั้งใจว่าจะส่งเสริมให้นักปลูกเลี้ยงไม้ประดับชาวไทย หันมาพัฒนาพันธุ์ มีลูกผสมของตัวเองให้มากขึ้นหลังจากตั้งชมรม เราก็จัดงานประกวดทั่ว เริ่มจากในงานเกษตรแฟร์ พรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9  สนามหลวง 2 ซึ่งชาวต่างชาติให้ความสนใจกับแก้วกาญจนาของเรามาก

ในปี พ.ศ.2549 อาจารย์สุรวิชซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานชมรมผู้พัฒนาพันธุ์ไม้ประดับ 2000 ได้ขอพระราชทานชื่อไทยจากสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในขณะนั้น) ว่า “ แก้วกาญจนา” ในวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2549 ซึ่งมีความหมายว่า งดงามสว่างไสวและสุกสว่างดุจทอง”

คุณปราโมทย์ยังกล่าวว่า “ในบ้านเราขึ้นชื่อว่ามีความหลากหลายของไม้ประดับเมืองร้อนมาก อีกทั้งฝีมือการปลูกเลี้ยงไม้ประดับของชาวไทยก็ไม่เป็นรองใคร และเมื่อเปรียบเทียบไม้ใบหลายๆ สกุลก็พบว่า แก้วกาญจนามีความเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์เป็นไม้ประดับมาก เพราะมีทรงพุ่มกะทัดรัด สีสันสวยงามหลากหลาย สามารถปลูกเลี้ยงได้ดีทั้งในห้องทำงานและงานจัดสวน ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้แก้วกาญจนากลายเป็นไม้ประดับที่นำมาใช้ปลูกประดับสวนได้อย่างมีศักยภาพ และมีลูกค้าชาวต่างชาติให้ความสนใจ และซื้อกลับไปปลูกที่ประเทศเขาบ้าง

พี่จิ๋ว กับแก้วกาญจนาที่ชื่อ สุวรรณภูมิ ที่ได้รางวัลยอดเยี่ยมในงามพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร.9 เมื่อปี พ.ศ. 2549 ซึ่งเป็นปีเดียวกับสนามบินสุวรรณภูมิ เปิดเป็นทางการ

“จริงๆ แล้วคนไทยมีพร้อมทุกอย่าง โดยเฉพาะต้นพันธุ์ดีและฝีมือ แล้วสภาพอากาศบ้านเราก็มีความพร้อมมาก ผมอยากให้ทุกคนมีลูกผสมดีๆ ของตัวเองไว้ เพราะการเป็นเจ้าของพันธุ์ที่ดี เราจะเป็นผู้กำหนดราคาไม้เองได้ ไม่ต้องกังวลว่า ราคาจะตก และหากเป็นพันธุ์ที่แข็งแรงทนทาน ใช้ประโยชน์ได้ดี ยังลดการนำเข้าไม้ประดับจากต่างประเทศและสามารถผลิตจำหน่ายส่งออกต่างประเทศได้อีกด้วย เมื่อนั้นเจ้าของพันธุ์จะมีความปลาบปลื้มใจ และยังเป็นผู้กำหนดราคาไม้ต้นนั้นอย่างแท้จริง” พี่จิ๋วกล่าวอย่างภาคภูมิใจพร้อมกับยกแก้วกาญจนาที่ชื่อ “สุวรรณภูมิ” ที่มีใบด่างสวยงามอีกต้นมาชื่นชม

ต่อไปเรามาชมความสวยงามของแก้วกาญจนาฝีมือการพัฒนาพันธุ์ของพี่จิ๋วกันค่ะ

อัญมณี ลูกผสมของขันหมากชาววังกับโพธิสัตว์ นับเป็นลูกผสมรุ่นแรกๆ ที่ให้สีแดงอมชมพู ซึ่งแข็งแรงทนทาน จึงเป็นที่นิยมจนถึงปัจจุบัน
แก้วกาญจนา
อัญมณีสามสี กลายพันธุ์จากต้นอัญมณี เกิดเป็นใบด่างสีขาว และสีเขียวอ่อน
แก้วกาญจนา
คุณมณี ลูกผสมของโพธิสัตว์ด่างกับทางสายเดี่ยวก้างปลา
แก้วกาญจนา
หยกสยาม ลูกผสมของขันหมากชาววังกับลิ้นกระทิงด่าง นับเป็นอโกลนีมาด่างต้นแรกที่ตั้งใจผสมพันธุ์ ในปี พ.ศ. 2544
สตาร์บัค ลูกผสมของขันหมากชาววังกับโคชิน
สุขสมใจปอง ลูกผสมของขันหมากชาววังกับโคชิน
แก้วกาญจนา
สยามออโรร่าด่าง กลายพันธุ์ที่สวนอัญมณี จากสยามออโรร่าที่นิยมปลูกประดับสวน

อยากเรียนรู้เทคนิคปลูกเลี้ยงเพิ่มเติม อ่านได้ในหนังสือ เทคนิคปรับปรุงพันธุ์ไม้ประดับที่รวมเทคนิคการปรับปรุงพันธุ์ไม้ประดับไว้ถึง 20 ชนิด หรือมารู้จักไม้ใบ ไม้ด่างเพิ่มเติมได้ในหนังสือ ไม้ใบ และไม้ใบ-ไม้ด่าง ของสำนักพิมพ์บ้านและสวนค่ะ

แก้วกาญจนา

ขอขอบคุณความรู้ดีๆ และภาพบางส่วน จากคุณปราโมทย์ โรจน์เรืองแสงแห่งสวนอัญมณีค่ะ

Facebook: SuanUnyamanee ,Unyamanee Garden

เรื่อง : อุรไร จิรมงคลรัช

ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย

บอนไซเพรมน่า..ทำเองได้ สร้างรายเสริมคู่งานประจำ

บอนสี ไม้ใบสวย จากยุคบุกเบิกถึงปัจจุบัน