ที่ดินเกือบ 20 ไร่ ที่ จ.สิงห์บุรี ล้อมรอบไปด้วยแปลงนา มีปัญหากระแสลมแรง น้ำท่วม รวมถึงปุ๋ยยาจากพื้นที่รอบข้าง แต่ด้วยความรู้จาก “โคก หนอง นา โมเดล” พร้อมกับการออกแบบพื้นที่ที่เหมาะสม เข้ามาปรับพื้นที่ใหม่อีกครั้ง จึงทำให้สถานที่แห่งนี้เป็นกลายเป็น คาเฟ่สวนเกษตรผสมผสานรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นจุดเช็คอินของใครหลายคน ภายใต้ชื่อ TakFha Café ตากฟ้าคาเฟ่บ้านสวนณัฐธีร์
คุณเอ-อัครพล แก้ววิเศษ ผู้ออกแบบพื้นที่ โคก หนอง นา โมเดล เล่าว่า “เมื่อ 2 ปีก่อน คุณณัฐธีร์ ทวีทรัพย์ ติดต่อผมให้เข้ามาดูที่นี่ครับ อยากปรับพื้นที่ใหม่ให้เป็นสวนเกษตรแบบผสมผสานให้เข้ากับบริบทของพื้นที่เดิมเป็นสวนมะนาว ปัญหาหลักๆ ของที่นี่คือเรื่องของลมพัดแรง เนื่องจากพื้นที่รอบๆ เป็นที่โล่ง แวดล้อมด้วยผืนนาทั้งหมด รวมทั้งปัญหาเรื่องปุ๋ย ยา สารเคมีต่างๆ จากการทำนา อีกปัญหาใหญ่ที่สำคัญคือเรื่องน้ำ สิงห์บุรีเป็นพื้นที่รับน้ำ ช่วงหน้าฝนน้ำจะท่วมทุกปีครับ”
“ผมเริ่มต้นการออกแบบด้วยการสำรวจพื้นที่ดูว่าของเดิมมีอะไรอยู่บ้าง เพื่อจะนำผลผลิตเหล่านั้นมาต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่ม ทำยังไงก็ได้ไม่ให้รายได้เดิมหายไปและเพิ่มรายได้ใหม่ๆ ขึ้นมา นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาในเรื่องของมุมมองและความสวยงาม เพราะตั้งใจจะเปิดเป็นคาเฟ่ ร้านอาหาร และรีสอร์ทตั้งแต่แรกแล้วครับ”
ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้กลายเป็นสวนเกษตรผสมผสานรูปแบบใหม่ มีคาเฟ่ทรงสมัย บ่อบัวขนาดใหญ่ นาข้าว แปลงปลูกไม้ผล พืชผักสมุนไพร รวมถึงบ้านพักรีสอร์ท ที่พร้อมเปิดต้อนรับผู้คนที่อยากหนีความวุ่นวายมาพักผ่อน ที่ ตากฟ้าคาเฟ่ จ.สิงห์บุรี
การแบ่งพื้นที่ โคก หนอง นา โมเดล ภายในพื้นที่คาเฟ่
โซนคาเฟ่ (ครึ่งล่าง) เนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ซึ่งเป็นส่วนที่คุณเอออกแบบใหม่ทั้งหมด
โซนสวนเกษตร (ครึ่งบน) ที่อยู่อีกด้านเนื้อที่ประมาณ 10 ไร่เป็นของเดิมที่มีอยู่ก่อนแล้ว และไม่ได้ปรับปรุงพื้นที่อะไรมากนัก
แต่คุณเอก็ต้องนำมาร่วมวิเคราะห์ในการออกแบบ คิดหาวิธีนำผลผลิตจากโซนนี้มาใช้ให้เกิดประโชน์มากที่สุด ใช้ผลผลิตที่มีมาสร้างรายได้เพิ่ม และให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง
บ่อน้ำเล็กๆ ข้างอาคารคาเฟ่ ถูกขุดให้ลึกและใหญ่กว่าเดิม เพื่อนำดินมาเสริมปั้นเนินให้สูงและกว้างขึ้น ในบ่อปลูกบัวเพื่อความสวยงาม ช่วยเพิ่มความร่มรื่นให้กับคาเฟ่ ในบ่อบัวยังมีสาหร่ายหางกระรอกและสาหร่ายชนิดอื่นๆ ที่ปลูกไว้อยู่อีกมากมาย ใช้ช่วยบำบัดน้ำตามวิธีธรรมชาติ โดยจะสังเกตได้ว่าน้ำใสอย่างเห็นได้ชัด
บ่อบัวที่มีความลึกถึง 3 เมตรจะถูกออกแบบเป็น 3 ตะพักๆ ละ 1 เมตร ทำเป็นพื้นต่างระดับ 3 สเต็ปเพื่อความปลอดภัย การออกแบบในลักษณะนี้ทำให้ง่ายต่อการทำโครงสร้างอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเดินรอบบ่อ ทางเดินข้ามบ่อ และในบ่อบัวนี้จะไม่เลี้ยงปลา เพราะปลาจะกินบัว กินสาหร่ายในบ่อหมด
นาพื้นที่แค่เพียง 1 งาน เป็นนาดำที่ทำนาได้ถึง 3-4 ครั้งต่อปีเพราะมีน้ำตลอดทั้งปี ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่กับข้าวหอมสลับกัน ได้ผลผลิตครั้งละ 40 กิโลกรัม สีแล้วจะได้ข้าวสารประมาณ 20 กิโลกรัม เหลือจากกินในครัวเรือนแล้วก็แพ็ควางขายในคาเฟ่ ข้าวส่วนหนึ่งที่วางขายก็รับมาจากญาติๆ ที่ทำนาอยู่ด้วยกัน แต่ต้องคุยกันก่อนว่าจะต้องไม่ใช้สารเคมีใดๆ ทั้งสิ้น
พระเอกสำคัญในการแก้ปัญหาพื้นที่แห่งนี้ก็คือโคก หรือคันดินรอบๆ พื้นที่ คุณเอออกแบบคันดินให้มีความสูงถึง 2 เมตร เป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมูฐานกว้างเพื่อป้องกันดินพังทลาย ที่ต้องทำคันดินสูงถึง 2 เมตรก็เพื่อให้รถสามารถวิ่งบนคันดินได้ ซึ่งส่งผลให้มีความสูงตามมาด้วย เพราะหลักในการทำคันดินให้แข็งแรง ความสูงจะผันแปรกับความกว้าง ซึ่งต้องคิดคำนวณตามหลักของวิศวะโยธา
คันดินทำหน้าที่ป้องกันน้ำด้านนอกไม่ให้ไหลเข้ามาท่วมในพื้นที่ ป้องกันสารเคมี ป้องกันแมลง ช่วยกันลม ลดความแรงของลม ลดแรงปะทะ และเปลี่ยนทิศทางของลม นอกจากสโลปของคันดินที่ช่วยเปลี่ยนทิศทางของลมแล้ว การปลูกต้นไม้ใหญ่ตลอดแนวคันดินยังช่วยบังลม ตัวอย่างต้นไม้ที่ควรเลือกนำมาปลูก เช่น ไผ่รวก กล้วยตานี กล้วยป่า กล้วยพัด มะพร้าว สน อโศกอินเดีย เป็นต้น
คันดินช่วยป้องกันสารเคมีได้ถึง 90% ดินจะช่วยดูดซับสารเคมีที่ปนมากับน้ำไว้ รวมไปถึงพืชที่ปลูกอยู่บริเวณคันดินก็จะช่วยดูดซับไว้ส่วนหนึ่งด้วยเช่นกัน บริเวณหัวคันควรปลูกพืชที่มีรากยาว เช่น หญ้าแฝก หญ้าขน เพื่อให้รากช่วยยึดป้องกันดินพังทลาย อาจจะใช้ไม้หรือไม่ไผ่ยาวตอกเป็นขั้นบันไดตลอดแนวความยาวคันดิน เพื่อช่วยป้องกันดินพังทลายอีกทางก็ได้
ส่วนสโลปคันดินควรมีการปลูกพืชต่างๆ เพื่อช่วยคลุมดิน เช่น ถั่วบราซิล ใบต่างเหรียญ หรือปลูกไม้ดอกช่วยเพิ่มความสวยงาม และยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ใด้อีกด้วย
“การจะเปลี่ยนจากผืนนามาทำแปลงปลูกไม้ผล ไม่ใช่ว่าแค่ยกร่องทำแปลงปลูกต้นไม้ก็เสร็จครับ ในช่วงแรกที่ต้นไม้ยังเล็ก ยังไม่แข็งแรงพอ เจอลมแรงๆ ต้นไม้ก็ล้มตาย เมื่อพิจารณาพื้นที่โดยรวมแล้วหลักการของโคกหนองนาสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการปรับพื้นที่นี้ได้ครับ นำทรัพยากรที่เรามีอยู่มาปรับให้เหมาะสม เรามีดินแล้ว เราขุดได้เราปั้นเนินกันลมได้ เราขุดบ่อสามารถคอนโทรลน้ำยังไงก็ได้ ทำพื้นที่ให้เป็นระบบปิดที่สามารถพึ่งพาตัวเอง อยู่ได้ด้วยตัวเองครับ”
“เดิมที่นี่มีแปลงปลูกไม้ผลอยู่ก่อนแล้วครับ มีมะม่วง มะนาว หลังจากคุณเอออกแบบปรับพื้นที่ใหม่ ในโซนคาเฟ่ก็มีการปลูกไม้ผลเพิ่มเติม เช่น มะพร้าวน้ำหอม ตาล กล้วย ส้มโอ อะโวคาโด และปลูกดอกไม้กินได้ เราจะเลือกปลูกไม้ผลที่กินได้ สามารถนำมาใช้ในร้านได้ ทำผลิตภัณฑ์แปรรูปขายได้ ปลูกเลี้ยงง่ายไม่ต้องดูแลมาก ต้นมีขนาดพอเหมาะไม่เกะกะ ไม้ผล รวมไปถึงพืชผัก ผลไม้ที่ปลูกที่นี่เราไม่ได้ปลูกแยกเป็นแปลงเห็นชัดเจน แต่จะปลูกปะปนกันไปแบบเกษตรผสมผสาน ปลูกโดยอิงตามหลักธรรมชาติ ให้เขาพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันครับ”
“ผลไม้เหล่านี้ใช้มาทำเค้ก ทำขนมขายในคาเฟ่ เราทำขนมเองทั้งหมดไม่ได้รับจากที่ไหนมาครับ นอกจากนี้ทางร้านยังมีผลผลิตแปรรูปจากพืชผลการเกษตรในสวนวางจำหน่าย อย่างเช่น น้ำอินฟิวส์ต่างๆ น้ำมะม่วง น้ำมัลเบอร์รี่ น้ำมะยงชิด มีแยมผลไม้ มีผลิตภัณฑ์จากกล้วยหอมและกล้วยน้ำว้าแปรรูป เช่น กล้วยตากแห้ง” คุณฟลุ๊ค-กฤตวัฒน์ ทวีทรัพย์ ลูกชายของคุณณัฐธีร์ ผู้ทำหน้าที่ดูแลเรื่องขนม และมีคุณภัทริน ติโลกวิชัยช่วยดูแลเรื่องอาหารในคาเฟ่เล่าให้เราฟัง
บ่อปลาของเดิมที่อยู่ด้านหน้าของพื้นที่ถูกปรับให้ใหญ่ขึ้น ดึงน้ำจากคลองด้านหน้ามาเก็บไว้ ควบคุมคุณภาพน้ำด้วยการขังน้ำพักไว้ในบ่ออย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพื่อให้เคมีที่ปะปนในน้ำเจือจางลง ใช้วิธีธรรมชาติบำบัด ทั้งฆ่าเชื้อด้วยแสงแดด ให้ต้นไม้ที่อยู่รอบๆ บ่อและแพลงก์ตอนพืชในน้ำช่วยดูดซับสารเคมี มีเครื่องตีน้ำเพื่อเติมอากาศให้น้ำ มีประตูน้ำเพื่อเปิดปิดให้น้ำที่ได้รับการบำบัดแล้วไหลผ่านท่อเข้ามาที่ร่องน้ำด้านในของพื้นที่
ด้านล่างติดกับบริเวณฐานคันดินจะขุดร่องน้ำลึก 1 เมตรตลอดแนวยาว ร่องน้ำนี้จะช่วยดักน้ำในช่วงหน้าฝน น้ำฝนจะไหลจากคันดินลงมาที่ร่อง ป้องกันปัญหาน้ำเจิ่งนองท่วมพื้นที่ ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ขอบร่องน้ำอาจปักไม้ช่วยป้องกันดินสไลด์เพิ่มก็ได้
ร่องน้ำเปรียบเหมือนเป็นตัวรับน้ำ เป็นตัวส่งน้ำ และเป็นตัวระบายน้ำ เป็นเหมือนเส้นเลือด เป็นตัวกลางที่ระบายถ่ายเทน้ำจากส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นนาข้าว บ่อบัว และยังช่วยป้องกันไม่ให้น้ำจากนอกพื้นที่หลากเข้ามาท่วมในพื้นที่อีกด้วย ในร่องน้ำจะไม่ได้ปล่อยปลาเพราะปลาอาจจะตีให้คันดินเสียหายและพังได้
ข้อส่งท้ายจากใจนักออกแบบ โคก หนอง นา โมเดล
“โคกหนองนาในความคิดของผมคือ การนำสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยพิจารณาจากบริบทโดยรอบ ในแต่ละพื้นที่จะมีความต่างกัน ทั้งลักษณะภูมิภาค ภูมิอากาศ รวมไปถึงสังคมที่แตกต่างกัน พืชพันธุ์ก็ต่างไป ควรออกแบบให้มีความเหมาะสมต่อการใช้ชีวิต ต่อความต้องการ พัฒนาให้เกิดศักยภาพสูงสุด เป็นระบบปิดที่จะสามารถพึ่งพาตัวเองได้”
รู้จักกับนักออกแบบพื้นที่เกษตร
คุณเอ-อัครพล แก้ววิเศษ (ซ้าย) สถาปนิกเจ้าของ Aukara Architecture and development เป็น ลูกหลานเกษตรกรที่เรียนจบด้านสถาปัตย์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในการออกแบบวางผังพื้นที่ การปรับพื้นที่ขุดดินถมดิน ออกแบบการจัดการน้ำ ออกแบบวางผังการเกษตร วางแผนการปลูก รวมไปถึงออกแบบอาคารคาเฟ่ และอาคารต่างๆ
มีประสบการณ์ด้านการออกแบบวางผังพื้นที่ทางการเกษตรมากว่า 8 ปี เป็นวิทยากรให้ความรู้ที่มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ของอาจารย์ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร ซึ่งเกี่ยวกับการทำการเกษตรโดยใช้หลักวิธีธรรมชาติให้สามารถพึ่งพาตัวเองได้ และเคยทำงานที่มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่เกี่ยวกับการจัดการน้ำโดยตรง คุณเอจึงใช้ศาสตร์ของสถาปัตย์ วิศวะ และเกษตรกรรมร่วมกันในการออกแบบพื้นที่เกษตร สนใจสอบถาม ขอคำปรึกษาได้ที่
Facebook : ติณสีหะ สิงหราช
instagram : Aukaraarchitec
โทร. 09-5582-8559
หรือเข้าไปพูดคุยหาความรู้ได้ที่กลุ่มส่วนตัวในเฟซบุ๊ก “โคก หนอง นา ออกแบบวางผังบ้านและสวน คาเฟ่เกษตรผสมผสาน (ถูกหลักใช้งานได้จริง)” ซึ่งเป็นกลุ่มของผู้ออกแบบ ที่จะช่วยแนะนำ แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการออกแบบวางผังบ้านและสวน เกษตรผสมผสานสำหรับผู้ที่สนใจก็ได้ครับ
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
ภาพโดรน : อัครพล แก้ววิเศษ