ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ปลูกอย่างไรให้จำหน่ายได้ถูกกฎหมาย

การปลูก ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เป็นอีกหนึ่งวิธีทำเกษตรที่ได้รับความสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรที่มีที่ดินว่างเปล่า และต้องการสร้างรายได้ในระยะยาว

ปัจจุบัน รัฐบาลได้กำหนดให้ไม้ยืนต้นที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ หลายชนิด สามารถใช้เป็นทรัพย์สินเพื่อเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้โดยสามารถนำมาค้ำประกันการกู้ยืมเงิน หรือขอสินเชื่อได้ ซึ่งมีจำนวน 58 ชนิดด้วยกัน

แต่การปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ การตัดโค่น การขนย้าย มีหลายจุดต้องอยู่ในข้อกำหนดของกฎหมาย เพื่อให้ถูกต้องตามหลัก ก่อนปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจจึงควรศึกษาทำความเข้าใจกันก่อน

ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ

ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ หมายถึง ไม้ยืนต้นทุกชนิด รวมถึงไผ่ ที่ปลูกหรือขึ้นเองทางธรรมชาติในพื้นที่นอกเขตอนุรักษ์ ที่มีการใช้ประโยชน์เนื้อไม้และผลผลิตที่ไม่ใช่เนื้อไม้ ใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นไม้ที่สามารถสร้างมูลค่าหรือแปรรูปได้ การปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจจึงเป็นการทำเกษตรลงทุนลงแรงในระยะยาว แต่ต้องใช้เวลายาวนานนับ 10 ปีจนกว่าจะเก็บเกี่ยวต้นไม้เพื่อจำหน่ายต่อไปได้ ไม้ต้นที่ปลูกจะให้ผลดีในหลายๆ ด้าน และส่งผลดีในแง่ของการเพิ่มออกซิเจน ดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ให้ร่มเงาแก่สัตว์ต่างๆ ไปจนถึงทิ้งใบให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์แก่พื้นดิน 

พื้นที่แบบไหน ปลูกไม้มีค่าเศรษฐกิจได้

พื้นที่ปลูกต้องเป็นที่ดินเอกชน ที่ดินเอกชน คือ ที่ดินที่ประชาชนมีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายอื่นๆ แบ่งเป็น 2 ประเภทคือที่ดินกรรมสิทธิ์ และที่ดินที่มีสิทธิครอบครอง แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ  

  • ที่ดินกรรมสิทธิ์ คือที่ดินที่มีหนังสือสำคัญที่ดินประเภท โฉนดที่ดิน โฉนดแผนที่ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์ได้
  • ที่ดินสิทธิครอบครอง คือที่ดินที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ ได้แก่ น.ส.3 น.ส.3ก น.ส.3ข แบบหมายเลข 3 ใบเหยียบย่ำ ที่ดินที่มีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)

จำแนกกลุ่มไม้เศรษฐกิจตามการเติบโต

  • ไม้โตเร็ว เติบโตมากกว่า 1.5 เซนติเมตร/ปี อายุตัดฟัน 5-15 ปี เช่น ไผ่ ยูคาลิปตัส สะเดาไทย กระทินเทพา
  • ไม้โตปานกลาง เติบโต 0.8-1.5 เซนติเมตร/ปี อายุตัดฟัน 15-20 ปี เช่น สัก แดง ประดู่ ยางนา
  • ไม้โตช้า เติบโต 0.8 เซนติเมตร/ปี อายุตัดฟัน 15-20 ปี เช่น รัง เต็ง ชิงชัน พะยูง กันเกรา มะค่าโมง จันทร์หอม ตะเคียนทอง

ตรวจสอบชนิดไม้มีค่าเพิ่มเติม

ก่อนปลูกต้องรู้วัตถุประสงค์

แค่ต้องการปลูกเพื่อสร้างรายได้อาจจะไม่เพียงพอ ต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ประกอบก่อนเลือกชนิดไม้มีค่าทางเศรษฐกิจด้วย โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ในการปลูก ซึ่งไม้ต้นแต่ละชนิดก็เหมาะสำหรับวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกัน

  • เพื่อเป็นไม้แปรรูป : มะค่าโมง พยุง สัก ยางนา ยูคาลิปตัส สะเดาเทียม กระถินเทพา
  • เพื่อเป็นไม้ฟืน : กระถินณรงค์ ขี้เหล็ก ยูคาลิปตัส มะฮอกกานี สะเดา
  • เพื่ออุตสาหกรรมกระดาษ : ไผ่ ยูคาลิปตัส
  • เพื่อเป็นอาหาร : ขี้เหล็ก สะเดา แค สะตอ
  • เพื่อใช้เป็นสารสกัด : ราชพฤกษ์ สมอไทย มะเกลือ เสม็ด กฤษณา

นอกจากวัตถุประสงค์ในการปลูก ยังมีปัจจัยอื่นๆ ประกอบการพิจารณา ได้แก่ ลักษณะดิน ลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ไปจนถึงแหล่งรับซื้อหรือตลาดกรณีเพื่อการค้า สามารถตรวจสอบชนิดไม้ที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ได้ที่นี่

ปลูก ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ แบบไหนดี?

  1. ปลูกแบบเชิงเดี่ยว monoculture เป็นการปลูกที่ใช้ชนิดไม้เพียงชนิดเดียว จัดการง่าย มีค่าใช้จ่ายน้อย แต่มีข้อด้อยคืออาจจะเกิดโรคและแมลงระบาดทั้งพื้นที่ ใช้เวลานานในการรอผลผลิต ดินขาดธาตุอาหารและขนาดความหลากหลายทางชีวภาพ
  2. ปลูกแบบผสมผสาน Mixed Species plantation เป็นการปลูกไม้หลายชนิดผสมผสานเข้าด้วยกัน โดยคำนึงถึงรอบการตัดฟันของไม้ ได้แก่ไม้รอบตัดฟันสั้น ปานกลาง และยาว ข้อดีคือได้ผลิตหลายช่วงเวลา มีความหลากหลายทางชีวภาพ ข้อด้อยคือต้องเลือกพันธุ์ไม้ให้เหมาะสมกับปริมาณแสง และมีการจัดการที่เหมาะสม
  3. ปลูกแบบวนเกษตร Agroforestry เป็นการปลูกไม้หลายชนิดผสมผสานกับพืชเกษตรและพืชสมุนไพร การลูกแบบนี้จะได้ผลตอบแทนในระยะสั้นจากพืชเกษตร ได้ผลตอบแทนระยะปานกลางจากพืชสมุนไพร และได้ผลตอบแทนระยะยาวจากไม้เศรษฐกิจ ซึ่งจะต้องมีการจัดการอย่างดีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สม่ำเสมอ

การขอรับรองไม้ในที่ดินเอกชน

เพื่อจำแนกแหล่งที่มาของไม้ที่ถูกต้อง เพื่อความสะดวกในการนำไม้เคลื่อนที่จากที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง สะดวกในการส่งออกไม้ ผลิตภัณฑ์ไม้ และถ่านไม้ ทำได้ 2 วิธี คือ

1. การรับรองโดยเจ้าหน้าที่

แบ่งเป็น 3 กรณีด้วยกันคือ

  • การออกหนังสือรับรองไม้ กรณีเคลื่อนย้ายในประเทศ ไม้ที่สามารถรับรองได้ คือไม้ที่ขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดิน ไม้ต้องมีสภาพเป็นไม้ยืนต้น หรือไม้ท่อนที่ตัดแล้วแต่ยังไม่นำเคลื่อนที่ออกจากบริเวณตอ ในพื้นที่กรุงเทพยื่นคำขอได้ที่สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ ต่างจังหวัดยื่นคำขอได้ที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ในท้องที่ ศูนย์ป่าไม้ในท้องที่ หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ในท้องที่
  • การออกหนังสือรับรองไม้ กรณีผลิตภัณฑ์ไม้และถ่านไม้เพื่อการค้า หรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ได้แก่ ไม้ท่อน ไม้แปรรูป ไม้ล้อม ที่เป็นไม้ที่ขึ้นในที่ดินกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครอง หรือมีหลักฐานแสดงว่าได้มาโดยถูกกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ไม้ต้องมีหลักฐานแสดงว่าได้มาโดยถูกกฎหมาย ถ่านไม้ต้องได้มาจากการเผา มีหลักฐานแสดงว่าได้มาโดยถูกกฎหมาย ในพื้นที่กรุงเทพยื่นคำขอได้ที่สำนักเศรษฐกิจการป่าไม้ ต่างจังหวัดยื่นคำขอได้ที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ในท้องที่ ศูนย์ป่าไม้ในท้องที่ หน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้ในท้องที่
  • การขึ้นทะเบียนสวนป่า ผู้ทำสวนป่าสามารถนำที่ดินมาขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่าได้ เมื่อมีการตัดฟันไม้ออกจากสวนป่าและนำเคลื่อนย้ายจะได้มีเอกสารหลักฐานเพื่อใช้กำกับควบคุมไม้ โดยกรมป่าไม้มีระบบสวนป่าออนไลน์เพื่ออำนวยความสะดวก ประชาชนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเองได้ที่นี่

2.การรับรองด้วยตัวเอง ประชาชนสามารถทำหลักฐานยืนยันความเป็นเจ้าของไม้ที่ได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยจัดทำหนังสือรับรองตนเองว่าไม้ที่นำเคลื่อนย้ายเป็นไม้ที่ได้มาจากที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองของตน และให้กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านลงนามเป็นพยานในเอกสารรับรองต้นไม้

การตัดหรือโค่นไม้ในที่ดินเอกชน

  1. กรณีไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นส่วนป่า สำหรับไม้ทุกชนิดที่ขึ้นบนที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมาณกฎหมายที่ดิน ไม่เป็นไม้หวงห้าม สามารถตัดไม้เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
  2. กรณีขึ้นทะเบียนเป็นสวนป่า จะต้องแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยยื่นคำขอสป.12 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกหนังสือรับรองการตัดหรือโค่น สป.13 ภายในวันที่รับแจ้ง เจ้าหน้าที่ต้องออกไปตรวจสอบจำนวน ชนิดไม้ ตามที่แจ้งตัดหรือโค่น ก่อนรายงานผล ซึ่งผู้ทำสวนป่าต้องเก็บรักษาหนังสือรับรองเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี ตั้งแต่วันที่นำไม้เคลื่อนออกจากสวนป่า การเคลื่อนย้ายไม้จะต้องมีหนังสือ สป.15 และเจ้าหน้าที่รับรองถูกต้องกำกับไม้ท่อน ไม้แปรรูป ไม้ประดิษฐ์ก่อนจะนำเคลื่อนที่ และต้องมีรอยตราตี ตอก ประทับหรือแสดงความเป็นเจ้าของ และต้องทำสำเนา สป.15 มอบให้แก่ผู้รับโอนหรือผู้นำเคลื่อนที่ทุกครั้งที่มีการจำหน่าย หรือเคลื่อนไปยังสถานที่ค้า

ขอบคุณข้อมูลจาก

  • คู่มือประชาชน การปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ ในที่ดินเอกชนตามประมาณกฎหมายที่ดิน สำนักเศรษฐกิจป่าไม้ กรมป่าไม้,
  • เอกสารเผยแพร่ “องค์ความรู้ในการส่งเสริม การปลูกไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ” สำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้

เรื่อง : JKR

ภาพประกอบ : ไผ่ตง

อ่านเพิ่มเติม