การ ปลูกผักหน้าฝน ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ท้าทาย เพราะต้องเจอกับหลายปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก ทั้งความชื้นที่เอื้อต่อการเกิดโรค ท้องฟ้าที่มืดครึ้มทำให้พืชขาดแสง รวมถึงภัยธรรมชาติต่าง ๆ ที่คาดเดาไม่ได้
เมื่อปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกัน การ ปลูกผักหน้าฝน จึงได้รับความเสียหาย ส่งผลให้ผลผลิตลดลง และราคาพืชผักหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นในช่วงฤดูฝน นับเป็นผลกระทบที่เชื่อมโยงกันตั้งแต่แปลงปลูกไปจนถึงมือผู้บริโภค
เพราะฉะนั้น เกษตรกรจึงต้องเตรียมรับมือให้ดี วางแผนล่วงหน้า และเรียนรู้จากปัญหาในอดีต เพื่อป้องกันความเสียหายไม่ให้ซ้ำรอยเดิม และพัฒนาการทำเกษตรให้เดินหน้าต่อไปได้แม้ในฤดูที่เต็มไปด้วยอุปสรรค

#ฟาร์มรู้ ปลูกผักหน้าฝน มะเขือเทศผลปริแตก เกิดจากการที่ได้รับน้ำไม่สม่ำเสมอ และขาดธาตุแคลเซียม
หากมะเขือเทศ ได้รับน้ำและความชื้นมาก จะทำให้ต้นมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ปริมาณน้ำที่ได้รับลดลงการเจริญเติบโตก็หยุดชะงักเซลล์ก็จะเกิดการเหี่ยว และถ้าหากได้รับน้ำมากขึ้นอีกช่วงหนึ่งเซลล์ที่เหี่ยวก็จะกลับมาเต่งและเซลล์ขยายตัวได้ไม่ทัน ส่งผลให้เกิดรอยแตกได้ ส่วนใหญ่แล้วอาการเหล่านี้จะเกิดในช่วงฤดูฝน ที่มีปริมาณน้ำฝนไม่สม่ำเสมอหรือฝนทิ้งช่วง แล้วกลับมาตกอีกครั้ง
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผลมะเขือเทศเกิดรอยแตกคือ การขาดธาตุแคลเซียม หรือธาตุแคลเซียมในดินไม่สมดุล เนื่องจากแร่ธาตุชนิดนี้จะช่วยให้ผนังเซลล์แข็งแรง วิธีการแก้ปัญหาผลแตกเนื่องจากปริมาณน้ำไม่สม่ำเสมอ สามารถทำได้โดยการคลุมดินให้มีความชื้นสม่ำเสมอ อย่าปล่อยให้ดินแห้ง และไม่ควรใส่ปุ๋ยเพื่อเร่งการเจริญเติบโตที่มากเกินไป อีกทั้งการคัดเลือกสายพันธุ์ที่เหมาะสมต่อสภาพแวดล้อมก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปัญหานี้

#ฟาร์มรู้ หลังน้ำลดมักเกิดโรครากเน่าโคนเน่า ให้ป้องกันได้ด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา
ในสวนไม้ผลหากฝนตกติดต่อกันหลายวัน หรือมีน้ำท่วมขังทำให้พื้นแฉะตลอดเวลา ก็มักจะเกิดปัญหาโรครากเน่า โคนเน่าได้ ซึ่งหนึ่งในสารกำจัดเชื้อราที่ปลอดภัย ไตรโคเดอร์มา (Trichoderma asperellum) ที่สามารถควบคุมและกำจัดเชื้อราโรคพืชได้หลายชนิด
วิธีใช้ไตรโคเดอร์มาสำหรับทาบริเวณโคนต้นของไม้ผล เพื่อป้องกันโรครากเน่าโคนเน่า ให้นำไตรโคเดอร์มาเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมกับ น้ำ 1 ลิตร และฝุ่นแดงที่ใช้สำหรับทาหน้ายาง 0.5 กิโลกรัม ผสมให้เข้ากัน แล้วนำไปทาบริเวณโคนไม้ผล ควบคู่กับการฉีดพ่น โดยใช้ไตรโคเดอร์มาเชื้อสด 1 กิโลกรัม ผสมน้ำ 200 ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วต้นในช่วงเช้าหรือช่วงเย็นของวัน ก็จะช่วยป้องกันโรคเน่าโคนเน่าในไม้ผลหลังน้ำท่วมลดได้

#ฟาร์มรู้ ปลูกผักหน้าฝน เปลือกแตงโมช่วยล่อหอยในแปลงผักได้ ทำให้สามารถเก็บออกและนำไปกำจัดได้ง่าย
ในช่วงฤดูฝนมีเหล่าศัตรูพืชประจำฤดูอีกชนิดอย่าง หอย ที่มักเข้ามากินพืชผักที่ปลูกไว้เป็นประจำ หากจะกำจัดอย่างปลอดภัย ก็ต้องหมั่นเก็บออกไปจากแปลงผัก แต่บางชนิดอย่างหอยเจดีย์มีขนาดตัวที่เล็กและมีจำนวนมหาศาล ทำให้เก็บได้ไม่ง่าย
หนึ่งในวิธีที่ใช้ล่อหอยเหล่านี้ได้อย่างดี คือ การใช้เปลือกแตงโมมาวางไว้ในแปลงผัก เนื่องจากแตงโมมีกลิ่นหอมและรสชาติหวานกว่าผัก จึงดึงดูดหอยเหล่านี้ให้มากินเปลือกแตงโมได้อย่างดี โดยวางเปลือกแตงโมช่วงเย็น และช่วงค่ำๆ หอยก็จะมาเกาะทั้งบนและใต้เปลือกแตงโม ทีนี้ก็เก็บหอยออกจากแปลงผักได้ง่ายๆ แล้ว

#ฟาร์มรู้ ปลูกผักหน้าฝน ฤดูฝนผักแพง เพราะ แสงน้อยและน้ำเยอะ
ในฤดูฝนมีปัญหามาจากหลายสาเหตุด้วยกัน โดยกลุ่มพืชที่ได้รับผลกระทบจนทำให้มีราคาสูง ได้แก่ พริกขี้หนูแดง ผักชี ขึ้นฉ่าย ต้นหอม ผักกาดหอม ผักกาดขาว มะเขือเทศ กรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก ถั่วฟักยาว เป็นต้น และถ้าไม่อยากซื้อผักแพง ก็คงอยากปลูกเองมากกว่า จึงได้หาวิธีการดูแลผักในช่วงฤดูฝน พร้อมอุปกรณ์ ที่สามารถทำตามนี้ได้เลย
- ทำโค้งพลาสติกคลุมแปลงผัก โดยที่จะคลุมเพื่อไม่ให้ดินได้รับน้ำฝนติดต่อกันหลายวันจนกระทั่งรากเน่า และป้องกันใบของผักช้ำจากแรงกระแทกของน้ำฝน
- ยกร่องให้สูงจากพื้นดินขึ้นมาเพื่อป้องกันน้ำท่วมแปลงผัก
- เอาใจคนพื้นที่ไม่เยอะด้วยการย้ายมาปลูกผักในตะกร้าเพื่อให้น้ำระบายได้ดี
- คลุมแปลงผักด้วยฟาง เพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชขึ้น และป้องกันการชะล้างธาตุอาหารจากหน้าดินออกไป
- ฉีดพ่นด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มาเป็นประจำ เพื่อลดโอกาสการเกิดเชื้อราโรคพืชได้
- ทำกับดักหอยทาก โดยฝังแก้วลงในดินให้ขอบแก้วอยู่สูงจากดินประมาณ 1 นิ้ว แล้วเทเบียร์ลงในแก้วทิ้งไว้ในช่วงเย็น พอตอนเช้าก็รอเก็บหอยทากไปทิ้งได้เลย
เรียบเรียงข้อมูลจาก : สวนผักคนเมือง

#ฟาร์มรู้ หลังจากระดับน้ำลดลงแล้ว ให้ใช้ปุ๋ยฉีดพ่นทางใบ จะช่วยให้ไม้ผลตั้งตัวได้เร็วขึ้น
หากพื้นที่ทำเกษตรประสบปัญหาอุทกภัยน้ำท่วม เมื่อระดับน้ำลดลงแล้วต้องเร่งฟื้นฟูดูแล เนื่องจาก น้ำจะเข้ามาแทนที่ช่องว่างของอากาศภายในดิน ส่งผลให้รากต้นไม้ไม่สามารถใช้อากาศในดินหายใจได้ เกษตรควรเข้าไปสำรวจความเสียหายในแปลงปลูก หากไม้ผลของเราได้รับความเสียหายไม่มากนัก ให้ตัดแต่งกิ่งทรงพุ่ม เพื่อลดการคายน้ำและกระตุ้นให้พืชเจริญเติบโตใหม่
รวมถึงให้ปุ๋ยบำรุงเพื่อให้ไม้ผลตั้งตัวได้เร็วขึ้น แต่ต้องเป็นการฉีดพ่นปุ๋ยทางใบ เพราะระบบรากยังไม่สามารถดูดซับธาตุอาหารจากดินได้ ปุ๋ยที่ให้ต้องมีธาตุอาหารหลักครบถ้วน ปุ๋ยน้ำทางใบสูตร 15-15-15 หรือปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำสูตร 21-21-21 และเมื่อต้นไม้เริ่มตั้งตัวได้ ควรพรวนดินและปรับปรุงสภาพดินให้มีช่องว่างของอากาศ

#ฟาร์มรู้ เปลือกทุเรียน มีโพแทสเซียมสูง ใช้ทำปุ๋ยหมักบำรุงผลได้
เปลือกทุเรียนนั้นหากนำไปทำปุ๋ยหมัก จะเป็นปุ๋ยท่ีมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งเหมาะสำหรับนำไปโรยให้กับพืชใช้บำรุงผลได้ สามารถทำปุ๋ยหมักได้ การทำปุ๋ยหมักทุเรียน ใช้หลักการเดียวกันกับ ปุ๋ยหมักไม่กลับกอง วิศวกรรมแม่โจ้ 1 ซึ่งจะใช้เวลา 2 เดือน แต่ผลที่ได้นั้นดีเกินคาด เปลือกทุเรียนถูกย่อยสลายอย่างดี
วิธีการทำสำหรับพื้นที่ที่มีเปลือกทุเรียนน้อยและพื้นที่จำกัด สามารถทำในวงตาข่ายได้ โดยเริ่มทำวงตาข่ายให้มีความกว้างและสูง 1 เมตร จากนั้นนำเปลือกทุเรียนเทลงไปเป็นชั้นแรก สูงประมาณ 10 ซม. ตามด้วยฟางข้าว และมูลสัตว์ ในอัตราส่วน เปลือกทุเรียน 4 ส่วน ต่อ ฟางข้าวและมูลสัตว์อย่างละ 1 ส่วน จากนั้นให้รดน้ำ ทำแบบนี้ซ้อนทับกันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเต็มวงตาข่าย แล้วชั้นบนสุดให้โรยด้วยมูลสัตว์
สำหรับพื้นที่ที่มีเปลือกทุเรียนจำนวนมาก ให้ทำเป็นกองรูปสามเหลี่ยม ฐานกว้าง 2.5 เมตร สูง 1.5 เมตร และมีการทำเหมือนแบบวงตาข่าย ซึ่งการดูแลกองปุ๋ยทั้ง 2 แบบนี้ ต้องมีการรดน้ำทุกวัน และทุกๆ 10 วัน ให้ใช้ไม้แทงเข้าไปในกองปุ๋ย กรอกน้ำเข้าไปตามรู โดยมีระยะห่างระหว่างรูประมาณ 40 ซม. จากนั้นปิดรูเพื่อรักษาความร้อนในกองปุ๋ย
จนกระทั่งเวลาผ่านไป 2 เดือน จึงค่อยล้มกองปุ๋ย แล้วนำไปตากแดดให้แห้ง ส่วนเปลือกทุเรียนที่อยู่ด้านรอบ ยังย่อยสลายไม่สมบูรณ์ ให้แยกออกมาไปใส่ในปุ๋ยกองใหม่แทน จากนั้นก็สามารถนำปุ๋ยไปใช้ได้เลย

#ฟาร์มรู้ น้ำปูนใส จากปูนแดงใช้ป้องกันกำจัดเชื้อราให้กับพืชผักได้ในหน้าฝน
น้ำปูนใส เกิดจากการผสมปูนแดงและน้ำเข้าด้วยกัน จากนั้นพอวางทิ้งไว้ก็จะแยกชั้นกัน โดยน้ำใสๆ ที่อยู่ด้านบนจะเรียกกว่า “น้ำปูนใส” ซึ่งปูนแดงเกิดจากการนำหินปูนมาผ่านความร้อนแล้วนำมาบดและกรองให้เหลือแต่ผงกลายเป็นปูนขาว จากนั้นก็ผสมเข้ากับขมิ้นชันป่นเข้าไป เพื่อลดค่าความเป็นด่างไม่ให้สูงจนเกินไป พอทำปฏิกิริยากันจึงเกิดมาเป็นสีของปูนแดง
น้ำปูนใสจึงมีคุณสมบัติเป็นด่างสามารถช่วยลดความเป็นกรดในดินที่มาจากน้ำฝน ช่วยลดการเกิดสาเหตุโรคพืชที่เจริญได้ดีในสภาพดินกรด อีกทั้งยังช่วยปรังปรุงกายภาพของดีให้ดีขึ้น ส่วนขมิ้นชันก็มีสารสำคัญหลายชนิดที่ป้องกันกำจัดโรคพืชที่เกิดจากแบคทีเรียและเชื้อราได้ ได้แก่ เคอร์คูมิน เอทร์มาโรน ซิงจิเบอรีน พีนีน ฟิแลนดรีน บอร์นีออล และซินิออล
ด้วยคุณสมบัติดังกล่าวจึงสามารถใช้น้ำปูนใสมาฉีดพ่นและรดราดในแปลงผัก เพื่อป้องกันกำจัดเชื้อราในช่วงฤดูฝนได้ วิธีการทำเริ่มจากนำปูนแดงมาละลายกับน้ำ ในอัตราส่วนปูนแดง 1 ช้อนโต๊ะ ต่อ น้ำสะอาด 5 ลิตร คนให้ปูนแดงละลายและทิ้งไว้จนตกตะกอน 1 คืน จากนั้นนำน้ำปูนใสที่ได้ผสมกับน้ำสะอาด อัตราส่วน 1 ต่อ 5 จึงค่อยนำมาใช้ได้ โดยให้รดกล้าผัก 2-3 ครั้ง/สัปดาห์

#ฟาร์มรู้ น้ำฝนจากธรรมชาติ พาปุ๋ยจากท้องฟ้ามาสู่ต้นพืช ทำให้พืชเจริญเติบโตงอกงามจนสังเกตได้
ในวันที่ฝนตกฟ้าร้อง ดูเหมือนว่าต้นไม้จะร่าเริงและชื่นชอบน้ำฝนไม่เบา เพราะน้ำฝนนั้นได้นำพา ไนโตรเจน แร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อพืชลงมาพร้อมกับน้ำฝนด้วย โดยน้ำฝนจะพาไนโตรเจนมาได้นั้นเกิดจากฟ้าแลบ และมีการประเมินไว้ว่า การเกิดฟ้าแลบ 1 ครั้ง จะทำให้ธาตุไนโตรเจนตกลงมายังพื้นดินประมาณ 2 กิโลกรัมต่อไร่
การเกิดฟ้าแลบ ส่งผลให้ไนโตรเจนในอากาศทำปฏิกิริยากับออกซิเจนกลายเป็น สารประกอบไนตริกออกไซด์ (NO) จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นไนโตรเจนออกไซด์ (NO2) ซึ่งละลายได้ดีในน้ำฝนกลายเป็น กรดไนตริกหรือกรดดินประสิว (NHO3) จากนั้นจึงตกลงมาบนพื้นดินพร้อมทั้งทำปฏิกิริยาจนสุดท้ายกลายเป็น แคลเซียมไนเตรท
ซึ่งแคลเซียมไนเตรท นี้มีประโยชน์ต่อพืชอย่างยิ่ง เรียกได้กว่า เป็นปุ๋ยจากธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยส่วนของแคลเซียม นั้นช่วยเพิ่มความแข็งแรงของผนังเซลล์ ส่งผลให้พืชมีความกรอบ รักษาความสดไว้ได้นาน ช่วยป้องกันผลแตก ส่วนของไนเตรทหรือไนโตรเจน เป็นที่รู้กันดีกว่าไนโตรเจนนั้นเป็นธาตุอาหารหลักของพืช ที่พืชใช้สำหรับการเจริญเติบโต เป็นส่วนประกอบหลักของคลอโรฟิลล์ในพืชที่ช่วยในการสังเคราะห์แสงของพืชทุกชนิด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดอุบราชธานี / กองปฏิบัติการฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร

#ฟาร์มรู้ ขมิ้นชันช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรีย รวมถึงแมลงศัตรูพืชที่จะเข้ามาทำลายพืชผักได้
เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนสิ่งที่มักพบได้บ่อย คือ โรคพืชจากเชื้อราและแบคทีเรีย ที่มาจากสภาพแวดล้อมที่มีความชื้นสูงต่อเนื่องหลายวัน เพื่อป้องกันกำจัดโรคดังกล่าวไม่ให้ระบาดหนัก หนึ่งในพืชที่ช่วยได้ ก็คือ ขมิ้นชัน เพราะมีสารสำคัญในกลุ่ม เคอร์คูมินนอยด์ (curcuminoids) และสารกลุ่มน้ำมันหอมระเหย เช่น เทอร์เมอโรน ซิงจิเบอรีน บอร์นิออล์ ซินิออล์ และฟิลแลนดีน ซึ่งสารเหล่านี้สามารถใช้ป้องกันกำจัดเชื้อรา แบคทีเรีย รวมไปถึงแมลงที่เข้ามากัดกินพืชผักได้ เช่น หนอนใยผัก หนอนกระทู้หอม หนอนกระทู้ผัก
วิธีการใช้ขมิ้นชันสามารถทำได้หลายวิธี สำหรับวิธีป้องกันเชื้อราและแบคทีเรีย ให้นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ 500 กรัม หรือถ้ามีแบบผงให้ใช้ปริมาณ 100 กรัม นำมาหมักกับแอลกอฮอล์หรือสุราพื้นบ้าน 1 ลิตร หมักทิ้งไว้ 5-7 วัน แล้วกรองเอาแต่น้ำหมักมาใช้ในอัตราส่วน 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 10 ลิตร ใช้ฉีดพ่นในช่วงเย็น
กรณีที่มีแมลงศัตรูพืชมากัดกินพืชผัก ให้ใช้ขมิ้นชันแบบสดมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ 1 กิโลกรัม ไปแช่น้ำ 4 ลิตร แล้วแช่ทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นกรองเอาแต่น้ำหมักมาใช้ในอัตราส่วน 200 มิลลิลิตรต่อน้ำ 10 ลิตร ใช้ฉีดพ่นในช่วงเย็น หรือจะใช้ผงขมิ้นโรยบริเวณรอบโคนต้นหรือในแปลงผัก เพื่อป้องกันแมลงอีกทางหนึ่งก็ได้

#ฟาร์มรู้ มังคุดแก้ว เกิดจากผลมังคุดที่ได้รับน้ำมากเกินไปอย่างกระทันหัน
ทำไมเวลาแกะเปลือกมังคุดออกมา พบว่า มังคุดด้านในเป็นเนื้อแก้ว อีกทั้งมียางสีเหลืองไหลอยู่ภายในจนไม่สามารถทานได้ อาการมังคุดเนื้อแก้ว เป็นลักษณะของเนื้อที่ใสและแข็งผิดปกติ มีสาเหตุมาจากผลมังคุดที่ขาดน้ำในฤดูแล้ง พอเข้าสู่ต้นฤดูฝน กลับมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผลมังคุดที่ใกล้แก่ได้รับน้ำมากเกินไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้น้ำเข้าไปแทนที่ช่องว่างภายในผล จึงเกิดเป็นเนื้อใสๆ รวมทั้งท่อน้ำยางนั้นก็ขับยางออกมา
ความเสียหายดังกล่าวทำให้ชาวสวนขายมังคุดไม่ได้ราคา และเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ในช่วงดอกตูม (อายุ 6 สัปดาห์ หลังดอกบาน) ให้ฉีดพ่นด้วยแคลเซียม เพื่อให้ผนังเซลล์หนาและแข็งแรง ต่อมาในช่วงที่ผลมังคุดใกล้แก่ (อายุ 10-13 สัปดาห์ หลังดอกบาน) ห้ามปล่อยให้มังคุดขาดน้ำ ต้องมีการรดน้ำอย่างสม่ำเสมอจนกระทั่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ควบคู่กับการรักษาความชื้นบริเวณหน้าดิน โดยการคลุมด้วยใบไม้หรือซากพืชต่างๆ
นอกจากนี้ ในเดือนกรกกฎาคม (ช่วงเตรียมต้นสำหรับออกดอก) ให้ตัดแต่งทรงพุ่ม เพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดความชื้น และมีแสงแดดส่องอย่างทั่วถึง ส่วนในพื้นที่น้ำขัง ให้ขุดทำเป็นร่องเพื่อให้น้ำสามารถระบายได้เร็วที่สุดในช่วงฤดูฝน