อ่านเรื่อง บ้านที่ให้อิสระของโจน จันใด ตอนที่ 1
หมู่บ้านนี้คือบ้านของผม โจน จันใด
การให้ความสำคัญกับการสร้างชุมชนที่เอื้อเฟื้อดูแลกัน เป็นผลมากจากความประทับใจในวัยเด็กต่อหมู่บ้านที่โจนเคยอยู่อาศัย
“บ้านที่ผมอยู่ตอนเด็ก ผมชอบตรงที่ว่าหมู่บ้านนี้คือบ้านของผม ตอนเป็นเด็กตัวเล็กๆผมไปทุกที่ วิ่งไปบ้านลุง บ้านป้า บ้านน้า บ้านอา พ่อแม่ต้องตามหาว่าไปกินข้าวอยู่บ้านใคร ชอบตรงที่ไปไหนก็ได้ มันสบายใจ ไปไหนก็เหมือนบ้านเราหมด เลยอยากจะให้ลูกรู้สึกอย่างนั้นด้วย ผมรู้สึกว่าความอบอุ่นมันเป็นสิ่งที่ซื้อไม่ได้ บรรยากาศตอนนั้นมันทำให้เราสนใจความรักความอบอุ่นในชีวิตมากขึ้นเพราะเราสัมผัสมันมา
การได้อยู่กับพ่อแม่ เห็นการเสียสละ การทุ่มเทเพื่อดูแลลูก มันเป็นความรู้สึกที่ซาบซึ้งมาก เกิดเป็นความรู้สึกที่เรารักพ่อแม่มาก แต่ว่าในชีวิตปัจจุบันมันไม่มีโอกาสให้พ่อแม่ได้ทุ่มเทหรือเสียสละ เราให้แต่เงินหรือของเล่นแล้วเข้าใจว่านั่นคือความรัก แต่มันทำให้เด็กไม่เข้าใจความรัก กลายเป็นสร้างความรู้สึกว่าคนอื่นจะต้องให้เราตลอด อยากได้อะไรต้องมีคนเอามาให้ คนรุ่นใหม่ก็เลยเป็นนักบริโภคที่เก่ง ไม่คิดจะทำเอง ไม่คิดถึงการให้หรือการเอื้อเฟื้อ ซึ่งตรงนี้ผมรู้สึกว่ามันน่าเสียดาย ฉะนั้นการอยู่ใกล้ชิดพ่อแม่ในช่วงไม่เกิน 12 ปีสำคัญมาก
ผมจึงมีความรู้สึกค่อนข้างรุนแรงว่าเด็กไม่ควรจะไปโรงเรียนจนกว่าอายุ 12-13 ปี ถ้าเขาอยากไป เพราะมันเป็นช่วงที่สำคัญที่สุดของเด็ก เป็นช่วงที่เด็กเรียนรู้การมีชีวิตอยู่ สิ่งสำคัญของการมีชีวิตคืออะไร คือความรัก ความอบอุ่น การอยู่ร่วมกัน ผมว่าเป็นสิ่งที่สอนได้ในครอบครัวที่เดียวเท่านั้น การให้เด็กไปเรียนอนุบาลจึงเป็นการพลาดโอกาสของเด็กที่จะได้เรียนรู้สัญชาตญาณของความเป็นมนุษย์อย่างน่าเสียดาย พวกเราก็เลยค่อนข้างจริงจังในเรื่องนี้ เด็กที่นี่ทุกคนก็เลยไม่ต้องเรียน ได้อยู่กับพ่อแม่ สนุกกับคนนั้น เล่นกับคนนี้ เออมันก็ดี
“ที่นี่มีอะไรให้เรียนตลอด แต่มันไม่เป็นไปตามหลักสูตรเท่านั้น เราไม่เคยคิดว่าการศึกษาในโรงเรียนจะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น แต่ว่าการศึกษาด้วยตัวเขาเองต่างหากที่จะทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น คนเราถ้าได้ทำสิ่งที่ชอบมันจะไปไกลมาก แต่ถ้าถูกบังคับให้ทำมันจะไม่ไปไหน เหมือนโรงเรียนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ เราเรียนเยอะมากแต่เราไม่รู้อะไรเลย เรียนจบออกมาบางคน
ก็ไม่รู้อะไรเลยในชีวิต เพราะระบบการศึกษาทำลายคำว่าจินตนาการ
“จินตนาการเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในช่วงอายุไม่เกิน 10 ปี เด็กจึงทำอะไรได้อย่างที่ผู้ใหญ่ไม่คาดคิด เด็กวาดรูปม้าสีน้ำเงิน แต่ครูในหลายโรงเรียนบอกว่าม้าสีน้ำเงินไม่ได้นะ ไม่เคยมีม้าสีน้ำเงินบนโลกนี้ จินตนาการของเด็กก็ตายลง เมื่อทุกอย่างเป็นเรื่องของการบังคับ เด็กก็สูญเสียโอกาส
“โรงเรียนทางเลือกหลายๆ โรงเรียนก็ดีนะ แต่มีน้อยมาก และบางโรงเรียนก็แพงมากๆ ผมว่าโรงเรียนที่ห่างไกลต่างหากที่น่าสนใจ อย่างโรงเรียนแถวแม่สอด แถวอุ้มผาง เด็กชาวเขา 20 คน ครู 2 คน เด็กเรียนรู้เยอะมาก แบ่งเวรกันทำอาหาร ทุกคนทำอาหารเป็น ปลูกผักกินเอง พูดภาษาอังกฤษแจ๋ว เด็กช่วยเหลือตัวเองได้ในทุกสถานการณ์ และมีความสุขกับการอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อันนั้นคือทางเลือกที่ผมว่าน่าสนใจ แต่มันก็หายากนะครับ”
โจนแนะนำว่าสำหรับเด็กในเมือง พ่อแม่ก็สามารถร่วมกันสร้างชุมชนเพื่อการเรียนรู้ของเด็กได้
“เด็กในเมืองนี่เราควรจะสร้างชุมชน อาจจะค้นหาคนที่คิดคล้ายๆ กัน อาจจะใช้เฟซบุ๊ก ใช้อะไรก็ได้ ชวนมาทำโครงการร่วมกัน เจอคนที่คิดคล้ายกันสัก 3-4 บ้าน เอาลูกมารวมกัน เปลี่ยนเวรกันดูแลลูก พาไปทำนั่นทำนี่ ถ้าจดทะเบียนโฮมสคูลก็จะได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล เขาจ่ายให้ทุกเทอมอยู่แล้ว อะไรที่เราทำเองไม่ได้เราก็เอาเงินนั้นหาคนมาทำตามหลักสูตรที่เราวางไว้ พาเด็กไปพิพิธภัณฑ์ เดินป่า ดูนก ทำเครื่องปั้นดินเผา ไปนั่นไปนี่ ผมว่ามันทำได้ คืออย่าไปคิดถึงการสอนมาก ทำยังไงก็ได้ขอให้มันสนุก ถ้าตั้งหน้าตั้งตาสอนโดยไม่คิดถึงอารมณ์ความรู้สึกของเด็กเลยเด็กก็จะไม่ได้อะไร
“เด็กไปโรงเรียนเบื่อคณิตศาสตร์มาก แต่ก็ต้องเรียน เรียนคณิตศาสตร์จบปุ๊บ เรียนภาษาอังกฤษต่อ ไม่ชอบอีก พอถึงวิชาภาษาไทย ชอบมากแต่เรียนชั่วโมงเดียว จากนั้นเรียนประวัติศาสตร์ต่อ ไม่ชอบอีก มันเสียอารมณ์ไง ถูกบังคับ ไม่เพลินเพลิน ผมถือว่านี่เป็นปัญหาของการศึกษา ฉะนั้นถ้าเราเอาเด็กมารวมกันได้ เราจัดการศึกษาตามที่ต้องการได้ มันไม่ได้แพงเหมือนส่งลูกเข้าโรงเรียนแพงๆ ผมว่าคุ้มกว่า”
โลกคือโรงเรียน
โจนและเพ็กกี้ จัดการศึกษาให้ลูกด้วยตนเอง นอกจากทานจะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตจากพ่อแม่ จากผู้คนหลากหลายในชุมชนพันพรรณ โลกกว้างใบนี้ยังเป็นโรงเรียนของเขาด้วย
“ทานไม่ค่อยอยู่บ้านหรอกครับ ไปทุกที่แหละ ไปนอนบ้านเพื่อน ไปเล่นเรือใบ ไปขี่จักรยาน ไปเดินป่า คือ โลกเป็นโรงเรียนของเขา ทีนี้เราก็แค่ส่งเสริมให้เขาได้ทำสิ่งที่อยากทำ มันก็เลยเป็นอะไรที่กว้าง ไม่ค่อยได้อยู่บ้านหรอก”
“ทุกวันนี้เราทำโฮมสคูล เราก็สอนหนังสือกันแค่เดือนหนึ่งไม่กี่วัน วันละชั่วโมงสองชั่วโมง แค่ 3 วิชาคือภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คณิตศาสตร์ นอกนั้นเขาอ่านเองหมดแล้วแต่ความสนใจของเขา ส่วนมากจะปล่อยให้เล่น ความคิดของเราคือไม่อยากสอนลูก เราแค่แนะนำวิธีหาความรู้ให้ แล้วลูกไปหาความรู้ด้วยตัวเอง ถ้าเขาสนใจเรื่องไหนเขาหาเอง ตอนนี้อาทิตย์หนึ่งเขาจะไปใช้อินเตอร์เน็ต 2-3 ครั้ง ไปหาข้อมูลเรื่องที่เขาชอบ ช่วงหลังๆ มานี่เขาชอบมายากล ก็ไปเรียนมายากลที่เชียงใหม่อาทิตย์ละวัน แล้วก็เรียนเต้น B-Boy เราจะสนับสนุนให้เขาค้นหาตัวเอง”
“ที่นี่เราอยู่กันหลายคนก็ต้องช่วยกันทำงาน มีงานดูแลสวน ดูแลวัว แล้วก็ก่อสร้าง บางช่วงเขาก็ต้องไปหาหญ้าให้วัว เลี้ยงไก่ แล้วก็มีเวรทำอาหาร”
“เด็กเล็กๆ ถ้าเขาเห็นพ่อแม่ทำอะไรเขาอาจจะช่วยบ้างไม่ช่วยบ้างก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้เห็นว่าเราทำอะไร พอเด็กเห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่ามันก็อยู่ในตัวเขา พอเขาเริ่มทำปุ๊บก็เกิดจำได้ว่าต้องทำแบบนั้นแบบนี้ ก็ทำได้ไปเอง เขามองเราอยู่ตลอดเวลาครับ เขาอาจจะเล่นไปด้วย แต่เขาเห็นและรู้ว่าเราทำอะไร เราต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ทำให้เป็นชีวิต อย่าจัดฉาก ถ้าเราจัดฉากก็เสียเวลาเปล่าไม่ได้อะไร ถ้าทำเป็นชีวิตก็สบาย”
“การสอนลูกเองไม่ได้หมายความว่าต้องให้ลูกอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมทุกวัน มันต้องอยู่ข้างนอกด้วยเพราะโลกมันกว้าง ต้องให้เขาอยู่ในโลกกว้าง ถ้าเขาได้อยู่ที่ไหน เขาก็จะเรียนรู้สิ่งนั้นโดยไม่ต้องสอน เพราะวิธีคิดของเราคือ เราไม่คิดว่าต้องสอน”
ในความง่ายของ “ชีวิตต้องง่าย” สำหรับพ่อแม่หลายคนคงต้องเริ่มต้นด้วยความยาก นั่นคือการมีความกล้าที่จะให้อิสระแก่ลูก แต่หากเชื่อมั่นในลูก คอยเป็นสายลมที่พัดพาประคับประคองไปในทิศทางปลอดภัย ลูกก็คงจะเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ มีความสุขและมีความภาคภูมิใจในตัวเอง อย่างที่พ่อแม่ทุกคนอยากให้เป็น และแม้จะบินไปไกลแค่ไหน สายใยที่เราถักทอไว้เป็นเรือนรังอบอุ่นแน่นหนาเมื่อครั้งยังเยาว์ ก็คงจะทำให้ลูกรู้ว่าลูกบินกลับมาที่บ้านหลังนี้ได้เสมอ
เรื่อง ลัญชนา ศาสตร์หนู
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ