เชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อยที่ประสบความสำเร็จกับการทำอาชีพเกษตร ไม่ว่าจะเป็นเกษตรเชิงเดี่ยวหรือ ทำเกษตรผสมผสาน แต่ก็มีไม่น้อยเช่นกันที่ล้มลุกคลุกคลานและเดินหน้าฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อสานต่อทำการเกษตรของตนให้เป็นอาชีพที่มั่นคงอย่างยั่งยืน เกษตรผสมผสาน
หนังสือ Garden & Farm Vol.12 อยู่อย่างเพียงพอ ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง รวบรวมเรื่องราวและถ่ายทอดประสบการณ์การ ทำเกษตรผสมผสาน ด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของเกษตรกรหลายท่าน ซึ่งแต่ละท่านมีมุมมองและแนวคิดที่ดี ซึ่งผู้อ่านนำไปปรับใช้ได้อย่างแน่นอน เกษตรผสมผสาน
ใครที่กำลังท้อจากความเหนื่อยยากเพราะยังไม่พบจุดหมายที่ตั้งใจไว้ในเวลานี้ อยากให้ลองติดตามวิถีการดำเนินอาชีพเกษตรของ ลุงมนู กาญจนะ Smart Farmer ดีเด่นประจำปี 2559 ของจังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในเกษตรกรที่นำการ เกษตรผสมผสาน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2531
การเดินทางไปเยือนจังหวัดแพร่ในครั้งนี้มีจุดหมายอยู่ที่ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานลุงมนู กาญจนะ ที่ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น แม้เส้นทางก่อนถึงบ้านลุงมนูค่อนข้างคดเคี้ยวแต่ก็ไม่ลำบาก สองข้างทางที่ผ่านตามีสวนส้มเขียวหวานเป็นระยะ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเกษตรกรแถบนี้นิยมปลูกส้มเป็นพืชหลัก
ลุงมนูรอต้อนรับด้วยรอยยิ้มเต็มใบหน้า ก่อนเรียกแทนตัวเองว่าพ่อด้วยน้ำเสียงใจดี บริเวณหน้าบ้านคืออาคารเรียนรู้ที่มีเพื่อนเกษตรกรมาร่วมประชุม บอกเล่าเรื่องการทำเกษตรของตนแลกเปลี่ยนกัน ข้างบ้านด้านหนึ่งมีแปลงปลูกผักสวนครัวขนาดย่อม มีลานผสมปุ๋ยอินทรีย์ที่กองรอการผสม ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็เห็นพืชผลนานาชนิดปลูกผสมปนเปกันสุดลูกตา เราจึงไม่รอช้าตามลุงมนูเข้าสวนและหยุดคุยกันเป็นระยะเมื่อพบสิ่งที่น่าสนใจ ลุงมนูเล่าให้ฟังว่า
“พ่อเคยล้มเหลวจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยวมาหลายต่อหลายครั้ง พื้นที่ทั้ง 12 ไร่ปลูกแค่ถั่วเหลือง ซึ่งปลูกและเก็บเกี่ยวได้เพียงปีละครั้ง พ่อจึงอยากปลูกพืชชนิดอื่นด้วย เมื่อได้ยินว่ามะขามหวานให้กำไรงามก็ปลูกบ้าง แต่ผ่านไปหลายปีมะขามที่ปลูกไว้ไม่ติดฝักเพราะสภาพอากาศและดินไม่เอื้ออำนวย ทำให้ต้องโค่นต้นมะขามหวานทิ้งเกือบทั้งหมดแล้วนำเศษไม้ไปเผาถ่านขาย จากนั้นเปลี่ยนมาปลูกมะไฟหวาน แม้ได้ผลผลิตดีอย่างที่ตั้งใจ แต่ก็เจอปัญหาราคาตกต่ำ เนื่องจากปีนั้นมะไฟหวานมีมากเกินความต้องการของตลาด พ่อก็โค่นต้นมะไฟหวานทิ้งเกือบทั้งหมดอีกครั้ง แล้วหันมาปลูกมะม่วงเขียวเสวยแต่ก็ไม่สำเร็จเพราะให้ผลผลิตน้อย จนต้องโค่นต้นมะม่วงทิ้งและเหลือไว้เพียงบางส่วน
“ช่วงปี พ.ศ.2534 พ่อเริ่มปลูกส้มเขียวหวาน ลงทุนมากทั้งซื้อปุ๋ยเคมี สารกำจัดศัตรูพืชและวัชพืชปีหนึ่งหลายหมื่นบาท ถึงแม้ผลผลิตที่ได้ถือว่าดี แต่บางปีก็ขายไม่ได้ราคา ผลที่ตามมาคือขาดทุน พ่อจึงเอาประสบการณ์เหล่านี้มาเรียนรู้และปรับเปลี่ยนแนวคิดการปลูกพืชใหม่โดยศึกษาและน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงมาปรับใช้กับตัวเองโดยไม่คิดย่อท้อ”
สิ่งที่เห็นในวันนี้แตกต่างจากภาพความทรงจำที่ลุงมนูถ่ายทอดให้ฟังมากนัก จากที่ดินโล่ง ๆ ที่ปลูกพืชไร่เก็บผลผลิตขายปีละครั้ง กลายมาเป็นสวนเกษตรที่มีพืชพรรณหลากหลาย ไม่แพ้สวนเกษตรที่ไหน ๆ
เดินตามรอยพ่อ ไม่มีอับจน ไม่อดอยาก
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่เรียนรู้และปรับเปลี่ยนมาทำเกษตรผสมผสาน ทำให้ลุงมนูมีรายได้หมุนเวียนเลี้ยงครอบครัวและเก็บหอมรอมริบซื้อที่ดินเพิ่มได้อีก 12 ไร่ ซึ่งเน้นปลูกส้มเขียวหวานในลักษณะเชิงเดี่ยว แล้วจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายเพื่อเปรียบเทียบระหว่างที่ดินทั้งสองแปลง เพื่อพิสูจน์ว่าเกษตรผสมผสานเป็นวิถีแห่งความยั่งยืน
“พ่อเป็นคนทุกข์ลำบากมามากนะลูก แต่ก่อนเป็นเกษตรกรธรรมดาที่หาเช้ากินค่ำ ปลูกพืชไร่รายปี ฝนมาทีก็ทำที หากแล้งมากก็ไม่ได้ทำ วนเวียนอยู่อย่างนี้ รายได้จึงไม่พอใช้ เมื่อเห็นพ่อค้าไม้เถื่อนตัดไม้ในป่าเขามีเงิน มีรถราขี่กัน พ่อก็ไปทำบ้าง จนถูกตำรวจจับและศาลตัดสินโทษให้จำคุก 25 ปี เมื่อปี พ.ศ.2521
“พ่อคิดว่าคงติดอยู่ 25 ปีตามที่ศาลตัดสิน แต่เมื่อไปอยู่ที่เรือนจำบางขวางและทำความดีจึงได้ลดโทษลงเหลือ 10 ปี พอกลับบ้านเมื่อปี พ.ศ.2531 ก็ตั้งใจเริ่มต้นชีวิตใหม่ มีภรรยาและลูก ๆ เป็นกำลังใจ พ่อตั้งใจจะทำงานแต่สังคมไม่ยอมรับ ชาวบ้านแถวนี้ไม่มีใครคบหา พ่อเองก็น้อยใจ บางครั้งน้ำตาร่วง แต่ภรรยาบอกว่าไม่เป็นไร ทำงานของเราไปในที่ดินของเราเอง
“พ่อจึงขยัน แม้ว่าช่วงแรกจะล้มเหลวเพราะทำเกษตรตามกระแส แต่เมื่อเปลี่ยนแนวคิดและเดินตามในหลวงท่านที่สอนให้ทำสวนผสมผสานเพื่อลดความเสี่ยง ใช้ความรู้เรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่จากที่เคยสะสมเมื่อครั้งอยู่ในเรือนจำ ปลูกทุกอย่างที่กิน กินทุกอย่างที่ปลูก นำคำสอนของพระองค์ท่านมาเป็นแนวทาง เป็นแสงของชีวิต ก็เริ่มเห็นผลสำเร็จ
“เมื่อขยันปลูก ขยันทำ เราก็มีกิน มีรายได้ก็เก็บออม พ่อตั้งหน้าตั้งตาทำจนชาวบ้านร่ำลือกันถึงความขยัน กระทั่งมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุนเมื่อเห็นว่าพ่อตั้งใจทำจริง”
ทำสวนผสมผสานก็เหมือนกับการฝากเงินเข้าธนาคาร แม้เงินต้นมีไม่มาก แต่ก็เป็นดอกเบี้ยให้เก็บกินได้ทุก ๆ วัน เพราะเรามีคลังอาหารที่สามารถพึ่งตัวเองได้ผลของความขยันและมุ่งมั่นในการทำเกษตรผสมผสาน ทำให้ลุงมนูได้รับเลือกเข้าร่วมโครงการรักษ์ป่าสร้างคน 84 ตำบลวิถีพอเพียงของ ปตท. ได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่จังหวัดลำพูนและน่าน จึงจดจำสิ่งที่ได้พบเห็นแล้วนำกลับมาปรับปรุงในสวน โดยเน้นปลูกพืชชนิดละไม่มาก แต่มากชนิด ไม่ได้เน้นขาย แต่ปลูกเพื่อให้มีกินในครอบครัว ทั้งยังเลือกปลูกแบบไม่ใช้สารเคมี จึงช่วยลดต้นทุนการผลิต สภาพดินและน้ำในพื้นที่ก็ดีขึ้นด้วย
“เวลาพ่อไปดูงานที่ไหนแล้วเห็นพืชของเขาน่าสนใจก็นำมาทดลองปลูกที่สวน อย่างเสาวรสที่นี่ไม่มีปลูกหรอก พ่อไปเชียงใหม่ก็ขอซื้อผลเพื่อเอาเมล็ดมาปลูกต่อ
“ผักบางชนิด เช่น น้ำเต้า ฟักเขียว บวบ ถั่วต่างๆ พ่อจะเก็บเมล็ดไว้ปลูกต่อ พืชบางอย่างที่พอขุดหรือเก็บมาให้ดูได้ก็เอามาวางไว้ตรงอาคารเรียนรู้เพื่อเป็นตัวอย่างให้คนที่มาดูงานได้เห็น”
พืชผักในสวนมีทุกประเภท ตั้งแต่ผักกินหน่อใช้ลำอย่างไผ่พันธุ์ต่าง ๆ ไม้ผลก็ปลูกทั้งส้มเขียวหวาน มะละกอ มะนาว ส้มโอ แก้วมังกร ฯลฯ ผักพื้นบ้านทั้งล้มลุกและยืนต้น โดยเฉพาะชะอมนอกฤดูซึ่งมีเทคนิคการผลิตที่หลายคนสนใจเข้ามาศึกษาดูงาน
นอกจากชะอมนอกฤดูแล้ว ลุงมนูยังเรียนรู้เทคนิคการปลูกพืชหลายอย่างที่ได้จากการศึกษาดูงานแล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับตัวเอง เช่น การปลูกพริกไทยและดีปลีเลื้อยขึ้นไม้ใหญ่แบบเกื้อกูลกัน การปลูกผักหวานป่านอกฤดู การขยายพันธุ์พริกไทยด้วยการปักชำแบบควบแน่น การเลี้ยงมดแดงเพื่อเก็บไข่มาบริโภค การเลี้ยงไก่ไข่ การปลูกและขยายพันธุ์มะนาว รวมถึงการทำประมงและเลี้ยงสัตว์น้ำด้วย
“เราเป็นเกษตรกรที่ไม่มีต้นทุนมาก ใครมาเห็นก็ทำตามได้ เพราะพ่อเองก็เริ่มต้นจากที่ดินเปล่า ๆ จึงกลายเป็นต้นแบบแก่เกษตรกรในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง และได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนปราชญ์ชาวบ้านของจังหวัดเข้าอบรมระดับประเทศ ถือเป็นความภาคภูมิใจของเกษตรกรคนหนึ่งที่นำทฤษฎีของในหลวงท่านมาปรับใช้จนสำเร็จ
“แต่ขั้นแรกเราต้องทำเกษตรด้วยใจรัก อยากจะปลูกอะไรสักอย่างก็อย่าเพิ่งหวังเรื่องค้าขายเอากำไร แต่ให้คิดว่าปลูกแล้วอย่างน้อยเราและครอบครัวก็ได้กิน ปลูกหลาย ๆ อย่างให้ดีก่อน เหลือก็แจกจ่ายให้เพื่อนบ้านพี่น้อง เมื่อตลาดต้องการและเรามีเหลือเพียงพอจึงค่อยขายเป็นรายได้”
เมื่อพึ่งพาตัวเองได้ ความมั่นคงของชีวิตก็อยู่ไม่ไกล เพียงแค่ต้องเลือกปรับใช้ให้เหมาะสม โดยสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือความเพียรและอดทน ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค
สามารถอ่านเรื่องราวของเกษตรกรที่ทำเกษตรด้วยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเรียนรู้เทคนิคการต่าง ๆ ได้เพิ่มเติมในหนังสือ Garden & Farm Vol.12 อยู่อย่างเพียงพอ ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
ขอขอบคุณ : ศูนย์การเรียนรู้เกษตรผสมผสานลุงมนู กาญจนะ หมู่ที่ 11 ตำบลนาพูน อำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่
เรื่อง : วิรัชญา จารุจารีต
ภาพ : ธนกิตติ์ คำอ่อน