ต้นไม้ทรงไหนค้ำยันอย่างไรดี

เข้าหน้าฝนแล้วอย่าลืมตรวจตราไม้ใหญ่ในสวน ว่า ค้ำยัน ไว้มั่นคงแข็งแรงหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาโค่นล้ม จนก่อให้เกิดความเสียหายตามมา

การ ค้ำยัน ต้นไม้เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับต้นไม้ใหญ่ที่นำมาใช้จัดสวน แต่ละต้นมีลักษณะรูปทรงไม่เหมือนกัน ทั้งลักษณะทรงต้น  พุ่ม กิ่ง ที่แตกต่าง รูปแบบของการค้ำยันต้นไม้ใหญ่จึงขึ้นกับขนาดและรูปทรงของต้นไม้ต้นนั้นๆ

รูปทรงของต้นไม้ใหญ่

1.ลำต้นตั้งตรง กิ่ง และทรงพุ่มด้านบนกับขนาดของลำต้นได้สัดส่วนพอดีกับขนาดตุ้มดิน

ค้ำยัน
จุดค้ำ 4 มุม
ค้ำยัน
จุดค้ำแต่ละระยะ 1 2 3

การค้ำยันจะใช้ไม้หรือเหล็กค้ำยันสี่จุดรอบต้น ระยะความห่างของโคนไม้ค้ำควรรับน้ำหนักต้นไม้ได้ หากเราวางโคนไม้ค้ำแคบหรือห่างน้อย การรับแรงเอนหรือโยกของลำต้นจะทำได้น้อย แต่หากห่างมาก การค้ำยันด้านบนของลำต้นก็ทำได้น้อยเช่นกัน ดังนั้น ความห่างระหว่างโคนต้นกับไม้ค้ำ และความห่างระหว่างโคนไม้ค้ำกับจุดที่ค้ำบริเวณลำต้น ควรมีระยะที่พอดีกัน

การค้ำต้นไม้ลำต้นตรงแบบนี้ถือว่ายากปานกลางเพราะต้องค้ำถึงสี่มุม หากค้ำสามมุมถ้าต้นไม้สูงหรือดินอ่อนอาจมีความเสี่ยงที่จะล้มได้ ซึ่งหากไม้ใหญ่ในบ้านล้มย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กๆ โดยเฉพาะหากล้มใส่อาคารจะเกิดความเสียหาย ต้องจ้างรถเครนมายก ดังนั้นหากค้ำสี่มุมได้จะมั่นใจมากกว่า

ค้ำยัน
1 ไม้ค้ำเตี้ยไป  2 ไม้ค้ำพอดี ความสูง 2/3 ของลำต้น
1 ไม้ค้ำแคบไป  2 ความกว้างพอดี  3 ไม้ค้ำห่างเกินไป

 

2.ลำต้นตั้งตรงแต่ขนาดของต้นไม้ไม่ได้สัดส่วน ทรงพุ่มด้านบนใหญ่กว่าตุ้มรากมาก

ลักษณะเช่นนี้จะค้ำได้ยากที่สุด ทั้งนี้เพราะต้นไม้รูปทรงนี้มีหัวโตต้นเล็ก น้ำหนักจึงไปอยู่ที่ทรงพุ่มด้านบนเยอะ น้ำหนักถ่วงด้านบนมีมาก เปอร์เซ็นต์ที่ต้นไม้จะล้มหรือเอนจึงมีสูง การค้ำต้นไม้ทรงนี้ต้องพิถีพิถันหน่อย ใช้สี่จุดเหมือนประเภทที่ 1 แต่อาจต้องขยับปลายไม้ค้ำด้านบนให้สูงกว่าปกติเพื่อรับน้ำหนักของทรงพุ่มที่มากขึ้น หรืออาจใช้ไม้ค้ำที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

ลำต้นตรง ทรงพุ่มใหญ่ ตุ้มรากเล็ก

3.ลำต้นตั้งตรงแต่สูงชะลูด

ต้นที่มีทรงสูงชะลูด อย่าง ต้นยางนา ต้นขานาง เป็นอีกหนึ่งลักษณะที่ค้ำยาก การค้ำควรค้ำให้สูงกว่าครึ่งหนึ่งของความสูงของลำต้น หากค้ำต่ำโอกาสที่ต้นไม้จะเอนล้มมีมาก รวมถึงระยะห่างระหว่างโคนไม้ค้ำและโคนต้นที่ระดับดิน ควรกางอย่างเหมาะสม และควรต้องค้ำรวมสี่จุดเพื่อความมั่นคงแข็งแรง

การค้ำยันต้นทรงสูงชะลูด
– ความสูง ½ ของลำต้น

4.ลำต้นเอนได้สัดส่วน

บางคนคิดว่า รูปทรงต้นไม้แบบนี้จะค้ำยาก แต่กลับง่ายกว่าประเภทที่1และ2 เพราะน้ำหนักของลำต้นที่เอนไปนั้นมีแรงถ่วงเพียงด้านเดียว ผิดกับต้นตั้งตรงที่สามารถโอนเอนไปได้รอบทิศทาง ข้อแตกต่างของการค้ำคือ ไม้ค้ำควรมีขนาดใหญ่ สามารถรับน้ำหนักจุดเดียวได้ และตำแหน่งของการค้ำควรเป็นจุดที่รับแรงกดจากทั้งหมดได้ ซึ่งส่วนใหญ่มักอยู่บริเวณคอลำต้นที่มีกิ่งใหญ่ๆอยู่
การค้ำต้นไม้ลักษณะนี้จะค้ำเพียงหนึ่งหรือสองจุด การค้ำจุดเดียวมีข้อควรระวัง คือ หากต้นไม้เกิดแรงบิดตัว อาจทำให้ตำแหน่งที่ค้ำเลื่อนทำให้ล้มได้  การค้ำสองจุดจึงดีที่สุด และควรใช้วัสดุที่แข็งแรงอย่างไม้หรือเหล็ก แต่หากต้นไม้ต้นนั้นมีตุ้มดินใหญ่สามารถต้านแรงบิดของล้ำต้นได้ การค้ำเพียงจุดเดียวก็สามารถทำได้

การค้ำต้นไม้ที่มีลำต้นเอนได้สัดส่วน

5.ลำต้นเอนไม่ได้สัดส่วน

มีกิ่งด้านบนที่ไม่ได้ทรงซึ่งอาจบิดไปมาทำให้น้ำหนักของทรงพุ่มด้านบนมีแรงกดได้มากกว่าหนึ่งจุด และตัวของกิ่งที่บิดไปมาก็สร้างแรงบิดได้ด้วยการค้ำต้นไม้รูปทรงนี้ แม้ว่าจะเอนและมีแรงบิดก็ยังถือว่าค้ำง่ายกว่าต้นไม้ที่ลำต้นตั้งตรงแต่ไม่ได้สัดส่วน การค้ำอาจทำสองถึงสามจุดโดยพิจารณาจุดถ่วงน้ำหนักจากสายตา แนะนำให้ค้ำสองจุดในตำแหน่งจุดรับน้ำหนักของต้นไม้ก่อน แล้วค่อยค้ำอีกหนึ่งจุดเพื่อป้องกันแรงบิดของต้นไม้ ซึ่งแม้จะมีตุ้มใหญ่แต่แรงบิดก็อาจทำให้ต้นเอนล้มได้หากไม่มีการค้ำในจุดที่ต้านแรงบิด

การค้ำต้นไม้ที่มีลำต้นเอนและรูปทรงต้นไม่ได้สัดส่วน (ทรงพุ่มใหญ่กว่าตุ้มราก)

ยังมีเรื่องน่ารู้และการแก้ปัญหาต่างๆ ในสวนอีกมากมาย ทั้งการปลูกเลี้ยง ดูแลต้นไม้ และงานโครงสร้าง   ผู้สนใจดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากหนังสือ “100 ความรู้คู่สวน”

ข้อมูล วรวุฒิ แก้วสุก
เรียบเรียง ทิพาพรรณ ศิริเวชฎารักษ์
ภาพวาดประกอบ  วารุณี  อนุรักษ์ชนะพล