เตรียมวัสดุเพาะกล้าใช้เองแบบง่าย ๆ ราคาประหยัด

เมล็ดผักจะงอกและต้นกล้าจะเจริญเติบโตได้ดีเพียงใด นอกจากการใช้เมล็ดพันธุ์ที่ดีมีคุณภาพแล้ว ยังขึ้นอยู่กับ “วัสดุเพาะกล้า” ด้วย

วัสดุเพาะกล้า ที่ดีควรมีความร่วนซุย มีความชื้นพอเหมาะ รวมถึงมีค่า pH และ EC เหมาะสม ไม่จำเป็นต้องเติมปุ๋ยระหว่างเพาะ ต้นกล้าก็สามารถเติบโตพร้อมย้ายปลูกได้ เนื่องจากต้นกล้ายังไม่ต้องการธาตุอาหารมากนัก

โดยทั่วไป เรานิยมใช้พีทมอส (peat moss) เป็นวัสดุเพาะเมล็ดหรือผสมกับวัสดุปลูกอื่น ๆ ในการปลูกพืชผักและไม้ดอกไม้ประดับ เนื่องจากใช้งานได้สะดวก ซึ่งพีทมอสเกิดจากซากสแฟกนัมมอสที่ตายแล้วทับถมกันจนย่อยสลายกลายเป็นผงสีดำ อุ้มน้ำและเก็บความชื้นได้ดี อุดมไปด้วยธาตุอาหาร แต่มีราคาค่อนข้างสูง

อาจารย์เติ้ล –เกศศิรินทร์ แสงมณี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร แนะนำสูตรวัสดุเพาะกล้าราคาประหยัดที่ทุกคนสามารถผสมใช้เองแบบง่าย ๆ มาฝากกัน ซึ่งจากการใช้งานจริงพบว่า เมล็ดพันธุ์ผักแทบทุกชนิดสามารถงอกได้ดี ต้นกล้าแข็งแรง แถมยังย้ายปลูกได้งาม ให้ผลดีไม่แพ้การใช้พีทมอสเลยทีเดียว

วัสดุเพาะกล้า

ต้นกล้าผักสลัดอายุประมาณ 15 วัน พร้อมย้ายลงกระถางและแปลงปลูก เมื่อลองนำต้นกล้าออกจากถาดเพาะจะเห็นว่าต้นกล้ามีใบจริงที่แข็งแรงและรากเจริญได้ดี

ต้นกล้าผักกินใบหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักสลัด สวิสชาร์ด คะน้าเคล คะน้าเห็ดหอม คะน้า กวางตุ้ง เบบี้กวางตุ้ง ผักกาดขาวน้อย ผักกาดเขียว รวมถึงแรดิช ควรย้ายปลูกเมื่อต้นกล้ามีอายุ 15-18 วัน

พืชผักตระกูลกะหล่ำ ทั้งกะหล่ำ กะหล่ำดอก กะหล่ำปลี และผักกาดขาวปลี ควรย้ายปลูกเมื่อต้นกล้ามีอายุ 21 วัน

ผสม วัสดุเพาะกล้า ใช้เอง

สามารถผสมวัสดุเพาะกล้าใช้เองได้ง่าย ๆ ดังนี้  

วัสดุเพาะกล้า

Step 1 เตรียมวัสดุเพาะที่มีส่วนผสมของขุยมะพร้าวร่อน 2 ส่วน มูลวัวร่อนหรือมูลไส้เดือน และขี้เถ้าแกลบ อย่างละ 1 ส่วน คลุกเคล้าให้เข้ากัน

Step 2 รดด้วยไตรโคเดอร์มา อัตรา 10 กรัม (หากเป็นไตรโคเดอร์มาเชื้อสดผสมข้าวใช้ 1 ช้อนโต๊ะ ส่วนแบบผงใช้ 2 ช้อนโต๊ะ) ต่อน้ำ 10 ลิตร หรือจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง อัตรา 20 มิลลิลิตร (4 ช้อนโต๊ะ) ต่อน้ำ 10 ลิตร

เพาะกล้าผัก

Step 3 ปรับความชื้นวัสดุเพาะให้ได้ประมาณ 60% หรือทดสอบง่าย ๆ ด้วยการกำวัสดุเพาะว่าจับเป็นก้อนไม่แตก บีบแล้วไม่มีน้ำไหลก็ใช้ได้ จากนั้นตักวัสดุเพาะใส่ถุงหรือกระสอบที่มีรูระบายอากาศ

Step 4 หมักวัสดุเพาะในที่ร่ม 15-30 วัน ก็สามารถนำมาใช้เพาะเมล็ดผักได้ทุกชนิด สูตรวัสดุเพาะนี้ใช้แทนพีทมอสได้ดี ยิ่งหมักทิ้งไว้นานก็ยิ่งดี ลักษณะคล้ายพีทมอสมาก

วิธีเพาะเมล็ดอย่างง่าย

หลังจากเตรียมวัสดุเพาะกล้าเรียบร้อยก็มาลงมือเพาะเมล็ดในถาดเพาะ ซึ่งนิยมใช้กับเมล็ดผักต่างประเทศที่ส่วนใหญ่เมล็ดมีราคาแพง เพราะช่วยประหยัดเมล็ดพันธุ์และทำให้ต้นกล้าเจริญเติบโตได้ดี แข็งแรงไม่เสียหาย โดยใช้อุปกรณ์ไม่มาก ได้แก่ ถาดเพาะ วัสดุเพาะกล้าหรือพีทมอส เมล็ดพันธุ์ผัก และป้ายชื่อ ทำได้ง่าย ๆ ดังนี้

Step 1 นำวัสดุเพาะใส่ลงในถาดเพาะ เกลี่ยให้เรียบโดยไม่ต้องกด ใช้นิ้วหรือไม้เล็ก ๆ ทำหลุมแล้วใส่เมล็ดลงไป 1-2 เมล็ด กลบวัสดุเพาะบาง ๆ

Tip หากใช้กระบะเพาะควรใส่วัสดุเพาะสูงประมาณ 3 ใน 4 ของความลึก เกลี่ยผิวหน้าให้เรียบ แล้วใช้ไม้เสียบลูกชิ้นชักร่องเป็นแถวเพื่อโรยเมล็ด

วัสดุเพาะกล้า

Step 2 รดน้ำให้ชุ่มโดยใช้บัวรดน้ำหัวฝอย เขียนป้ายชื่อระบุชนิดผักและวันที่เพาะ แล้วนำถาดเพาะไปวางในที่ร่มรำไร ดูแลรดน้ำทุกวันอย่าให้แห้งหรือแฉะเกินไป ประมาณ 3-7 วันเมล็ดจะเริ่มงอกและแตกใบเลี้ยง

วัสดุเพาะกล้า

Step 3 นำถาดเพาะออกไปวางในที่มีแสงมากขึ้น รอจนต้นกล้ามีใบจริงอย่างน้อย 2 ใบ ค่อยย้ายปลูกลงถุงเพาะชำ กระถางขนาดเล็ก หรือแปลงปลูกต่อไป โดยใช้นิ้วดันใต้หลุมเพาะและบีบตุ้มดินขึ้น

เพาะกล้าผัก

Step 4 ก่อนย้ายต้นกล้าลงแปลงปลูกประมาณ 1 สัปดาห์ ควรปรับสภาพต้นกล้าโดยรดน้ำให้น้อยลง และย้ายถาดเพาะให้ได้รับแสงมากขึ้น ถ้าย้ายกล้าเร็วเกินไปต้นอาจไม่แข็งแรง ทำให้ต้องดูแลมาก แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้จนต้นกล้ามีใบจริงหลายใบแล้วไม่ย้ายปลูก ต้นผักจะแคระแกร็น เนื่องจากธาตุอาหารในถาดเพาะมีไม่เพียงพอ

วัสดุเพาะกล้า

ต้นกล้ามะเขือเทศอายุ 21 วัน พร้อมย้ายลงกระถางและแปลงปลูก พืชผักตระกูลพริกและมะเขือ ควรย้ายปลูกเมื่อต้นกล้ามีอายุ 21-30 วัน ผักกินผลตระกูลแตง ควรย้ายปลูกเมื่อต้นกล้ามีอายุ 12-14 วัน

การเพาะเมล็ดทำได้หลายวิธี อาจโรยหรือหยอดเมล็ดลงในแปลงปลูกโดยตรง หรือเพาะเมล็ดในถาดเพาะ แล้วย้ายต้นกล้าลงแปลงปลูกก็ได้ ตัวอย่างเช่น พืชผักที่มีอายุสั้นและโตเร็วอย่างผักบุ้ง คะน้า ผักชี ผักกาดต่าง ๆ สามารถโรยหรือหว่านเมล็ดลงในแปลงปลูกได้เลย เมื่อต้นกล้างอกจึงค่อยถอนแยกต้นที่เบียดกันแน่นออก ส่วนแตงกวา บวบ น้ำเต้า และถั่วต่าง ๆ ซึ่งเมล็ดมีขนาดใหญ่ และต้นกล้ายืดยาวเร็ว นิยมหยอดเมล็ดเพาะในแปลงปลูกเช่นกัน

สำหรับพืชผักที่กินส่วนรากหรือหัวใต้ดินอย่างผักกาดหัว และแครอต ไม่นิยมย้ายกล้าเพราะอาจทำให้รากขาด ทำให้หัวผักกาดหรือแครอตไม่สมบูรณ์ ส่วนพืชผักที่ใช้เวลานานกว่าจะโตจนเก็บผลได้อย่างพริก มะเขือ มะเขือเทศ นิยมเพาะต้นกล้าก่อน แล้วย้ายปลูกลงในภาชนะหรือแปลงปลูกจริง ดังนั้นควรศึกษาการเจริญเติบโตของพืชผักที่ต้องการปลูกก่อน แล้วเลือกใช้วิธีเพาะเมล็ดที่เหมาะสม

เรื่อง : อังกาบดอย

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

ข้อมูล : อาจารย์เกศศิรินทร์ แสงมณี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร

โรสแมรี่ขยายพันธุ์ง่ายกว่าที่คิด

กักตัวแต่ไม่ต้องกักตุน เพาะผักงอก 7 วันกินได้

อัปเดทข่าวสารได้ที่บ้านและสวนGarden&Farm