สวนผักอินทรีย์ที่ให้ทั้งสุข สวย และดีต่อใจ ในมุมเล็กๆ ข้างบ้าน

ความสงบเงียบของเส้นทางไปยัง สวนผักขนาดเล็ก ที่แวดล้อมไปด้วยต้นไม้ขนาดใหญเมื่อผ่านพ้นเข้าสู่ประตูรั้ว บรรยากาศคล้ายกับบ้านสวนในต่างจังหวัดซึ่งย้อนแย้งกับบริบทรอบนอกที่เป็นชุมชนเมือง แต่แปลงผักขนาดเล็กแห่งนี้บอกเราอย่างชัดเจนว่า การปลูกผักทำฟาร์มเกษตรนั้น ทำเลหรือข้อจำกัดของพื้นที่ไม่ได้เป็นปัญหาในการลงมือทำเลยสักนิด

เราได้รู้จักกับคุณแนน กาลัญญา นีวงศ์และคุณเอเดรียน เบาว์เด้น เจ้าของ สวนผักขนาดเล็ก ในย่านบางขุนนนท์แห่งนี้ผ่านทางโซเชียลมีเดีย สวนของเธอนั้นได้รับกระแสตอบรับและได้รับคำชื่นชมจากสมาชิกในกรุ๊ปปลูกผักเสมอมา แม้ว่าในตอนนั้นรูปแบบสวนผักจะยังไม่ได้ปรุงแต่งให้โดดเด่นมากมายแต่ผลผลิตที่ได้กลับงอกงามสมบูรณ์ แต่วันนี้คือวันที่เธอฝึกฝีมือการปลูกให้ได้ผักสวนครัวปลอดสารเคมีที่หลากหลายมากขึ้นพร้อมๆ กับตกแต่งมุมสวนให้งดงามในแบบฉบับที่เธอชอบ ในช่วงระยะเวลากว่า 3 ปี

สวนเกษตรในบ้านจากหนังสือ FarmHouse 

สวนผักขนาดเล็ก
คุณแนน กาลัญญา นีวงศ์และคุณเอเดรียน เบาว์เด้น ในมุมผักเลื้อย

เริ่มทีละนิด ค่อยๆ ลงมือทำ สวนผักขนาดเล็ก

“อะไรที่เราไม่เคยรู้ มันยากเสมอค่ะ จะทำเกษตรทำฟาร์มต้องถามตัวเองว่ามันคือสิ่งที่เราสนใจจริงไหม ทำแล้วได้อะไร มันจะมีประโยชน์อะไรกับเรา พอมานั่งคิดแบบนี้ก็ได้คำตอบ ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนที่ดินว่างเปล่าให้เกิดประโยชน์ ผักมันก็คืออาหาร เป็นปัจจัยสี่ในชีวิตคนเรา ผักปลอดสารพิษมันก็คือความปลอดภัยต่อสุขภาพ ทุกอย่างมันก็มีแต่ข้อดีทั้งนั้น” คุณแนนตอบคำถามถึงจุดเริ่มต้นทำเกษตรซึ่งเธอเริ่มจากศูนย์เช่นเดียวกับคุณเอเดรียน คู่ชีวิตของเธอ

“วินาทีที่คุณแนนบอกจะทำฟาร์มปลูกผัก ผมก็เห็นด้วย ทำก็ทำ แม้ว่าจะไม่เคยชอบต้นไม้เลยด้วยซ้ำ ไม่รู้จักต้นไม้เลย เรื่องเกษตรเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก มีชีวิตเป็นคนเมืองมาตลอด แต่เราสองคนก็เริ่มศูนย์พร้อมๆ กันครับ”

 “แต่เมื่ออายุมากขึ้น เราก็หันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพ ให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารการกิน บวกกับมีน้องสาวมาจุดประกายในการปลูกผัก ทำให้เห็นภาพและรู้ตั้งแต่แรกเลยว่าจะใช้พื้นที่ประมาณ 70 ตารางเมตร ตรงนี้เป็นแปลงผักและเลี้ยงไก่ในฝัน” คุณแนนเล่า

กล้าผักในแปลงเพาะ คุณแนนเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีสัญลักษณ์ OP ที่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ในรุ่นต่อไปได้
สวนครัวข้างบ้านจัดวางอย่างเป็นระเบียบ

ใน สวนผักขนาดเล็ก แปลงผักต้องดูดี ใช้งานได้จริง

แปลงผักคนเมืองของเกษตรกรหน้าใหม่ทั้งสองคน เริ่มจากค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป “ตอนเริ่มทำก็ดูกำลังความสามารถของเราทั้งสองก่อนว่ามันเหนื่อยเกินไปไหม มันไม่ใช่ปลูกผักแล้วจบ ต้องคอยพรวนดินรดน้ำอีก จึงเริ่มทำแค่แปลงสองแปลง พอได้เรื่องก็ขยายไปเรื่อยๆ รูปแบบแปลงผักก็หาข้อมูลจากเมืองนอก ประยุกต์อย่างไรให้เหมาะกับบ้านเรา จากนั้นก็ลิสต์รายชื่อผักที่จะปลูกโดยเลือกจากผักที่ชอบ อะไรที่ไม่ได้ทานก็คัดออก แล้วแบ่งประเภทจะได้เป็น ผักกินใบ ผักกินผล ผักเลื้อย สมุนไพรฝรั่ง จากนั้นก็วางแปลนตำแหน่งค้างผักเลื้อยต้องอยู่ตรงไหน แปลงผักกินใบจะอยู่ตรงไหน กรงไก่จะอยู่ตรงไหน”

คุณแนนเล่าเพิ่มว่าแปลงผักกินใบที่เธอเลือกสร้างขึ้นนั้น ใช้วัสดุง่ายๆ อย่างบล็อกคอนกรีตแล้วทาสีให้เหมือนอิฐดินเผาช่วยให้ดูสดใสขึ้น ใช้ท่อ PVC ทำโครงมุ้งและมีเพียงคลิปหนีบช่วยยึดมุ้งให้เปิดปิดในแบบที่ต้องการ โดยผักที่ปลูกในมุมนี้จะเน้นเป็นผักกินใบอย่าง เคล คะน้า ผักชี ต้นหอม ผักบุ้งและผักสลัดอื่นๆ ส่วนผักกินผลก็เลือกที่ชอบทานกันอย่าง มะเขือเทศ มะเขือเปาะ มะเขือพวง ถั่วฝักยาว บวบ แตงกวา เป็นต้น

แปลงผักทำจากบล็อกคอนกรีต เพื่อให้ใช้งานได้นาน ทาสีส้มให้เหมือนอิฐแดง
มะเขือห่อด้วยผ้าตาข่าย ป้องกันแมลงได้แต่ยังมองเห็นผลที่อยู่ภายใน

กว่าจะเป็นเล้าไก่ในแบบที่ใช่

ภาพเล้าไก่โมเดิร์นที่เห็นอยู่ตอนนี้ผ่านการปรับปรุงให้เหมาะกับสภาพแวดล้อม ลดความเสี่ยงจากสัตว์ร้ายซึ่งเคยสร้างบาดแผลในใจให้กับคุณแนนไว้ “แต่ก่อนเล้าไก่ทำมาจากไม้ไผ่ค่ะ เราก็ได้ไอเดียมาจากอินเตอร์เน็ต เป็นวัสดุที่หาง่าย มีกอไผ่อยู่ท้ายสวน ทำแล้วสวยแบบบาหลีเลยค่ะ แต่พอใช้งานได้สักระยะไม้ไผ่ก็เริ่มผุพัง มีเชื้อรา ปลวก ไม่ทนต่อสัตว์เลื้อยคลาน หนูและงูเข้าได้ ตอนนั้นนอนหลับก็ไม่สบายใจ กลัวจะมีตัวอะไรเข้ามากินลูกๆ จึงทำเล้าใหม่ เปลี่ยนวัสดุใหม่”

เล้าไก่เวอร์ชั่นใหม่แบ่งออกเป็น 2 โซนคืออินดอร์และมุมเอ๊าต์ดอร์ มุมอินดอร์นั้นเสมือนห้องนอน สร้างคอนไก่ มีรังสำหรับวางไข่ มุงหลังคาปิดผนังมิดชิด หลบแดดหลบฝนได้ ส่วนโซนเอ๊าต์ดอร์จะเปิดโล่ง ให้ไก่ได้คุ้ยเขี่ยอาหาร ปล่อยให้เดินเล่นในมุมนี้ รอบ ๆ พื้นดินเทปูนฝังในดินป้องกันไม่ให้งูมุดลอดเข้าไปได้ ส่วนวัสดุรองพื้น ด้านล่างเป็นดินสวน โรยแกลบดินและฟางอีกชั้นให้ไก่ได้ขุ้ยเขี่ยตามธรรมชาติ โดยตำแหน่งเลือกวางเล้าไก่ เป็นจุดใต้ต้นมะม่วงที่มีทั้งส่วนร่มและส่วนที่แดดส่องด้วยการตัดแต่งกิ่ง ทำให้พื้นแห้งกลิ่นก็ไม่ค่อยฉุนมาก

“อาหารไก่ไข่ บ้านเราให้อาหารเม็ดเป็นหลัก แต่จะมีอาหารเสริมที่หาได้ในสวนของเรา ฟ้าทะลายโจร ผักบุ้ง ตำลึง หยวกกล้วย กระถิน ทุกอย่างที่อ่านเจอก็หาได้ในสวน โยนให้เขากิน แล้วก็ผักที่ใบไม่สวยใบเหลือง แมลงกัด ก็เป็นอาหารของไก่ได้ด้วย”

ไก่ไข่พันธุ์โร๊ดไอแลนด์เรด จำนวน 9 ตัว เฉลี่ยออกไข่วันละ 6-7 ฟอง ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่จะได้ไข่ไก่สดใหม่ในทุกๆ วัน

เล้าไก่โมเดิร์นทำจากตะแกรงเหล็กฉีก โปร่งโล่ง แต่ป้องกันสัตว์ร้ายได้ดี
สวนผักขนาดเล็ก
ไก่ไข่พันธุ์โร๊ดไอแลนด์เรด จำนวน 9 ตัว เฉลี่ยออกไข่วันละ 6-7 ฟอง ซึ่งเป็นปริมาณที่เพียงพอสำหรับสมาชิกในครอบครัวที่จะได้ไข่ไก่สดใหม่ในทุกๆ วัน
ไอเดียเก๋ ทำรังให้ไก่ไข่ที่ประยุกต์จากโอ่งดินเผาสำหรับแมว

อะควาโปนิกส์ ความรู้ใหม่ที่ได้ผลดีเกินคาด

น้ำตกที่เคยสวยแต่รกร้างมาหลายปีในมุมลึกสุดของสวนกลายเป็นบ่อเลี้ยงปลาตามความตั้งใจของคุณเอเดรียนที่อยากสร้างแหล่งอาหารได้เอง แต่แล้วก็ต้องปรับเปลี่ยนเพราะทำใจกินปลาดุกและปลานิลที่เลี้ยงมากับมือไม่ได้จึงหาวิธีใช้ประโยชน์จากการเลี้ยงปลา จนไปพบกับ “อะควาโปรนิกส์” การปลูกผักด้วยน้ำโดยใช้ประโยชน์จากมูลปลาในบ่อเป็นอาหารสำหรับพืชผัก

“ไปเจอคลิปการทำอะควาโปนิกส์ในคลิปของต่างประเทศครับ เลยลองทำตามดู แรกสุดลองปลูกวอเตอร์เคสซึ่งเป็นผักปลูกง่าย เห็นผลเร็วมาก มันง่ายกว่าปลูกผักในแปลงดิน ไม่ต้องรดน้ำ ไม่ต้องใส่ปุ๋ยเพราะได้ปุ๋ยจากมูลปลา ใช้แค่ไฟฟ้าตรงปั้มน้ำนิดหน่อยถ้าอยากประหยัดไฟก็ใช้เพียงโซลาร์เซลล์ได้ อุปกรณ์ก็หาได้ง่าย อย่างบ้านเราก็ประยุกต์จากถังพลาสติกราคาไม่กี่บาทเท่านั้น”

อะควาโปนิกส์ของที่นี่ปลูกผักหลายชนิดคละในถังเดียวกัน ทั้งวอเตอร์เคส ผักแพว ซึ่งเป็นผักพื้นบ้านแต่กลับงอกงามดีเกินคาด ทั้งคู่วางแผนที่จะขยับขยายเพิ่มจำนวนแปลงอะควาโปนิกส์เป็นโปรเจ็คต่อไปด้วย

มุมอะควาโปนิกส์ ใช้พื้นที่น้อยแต่ปลูกผักได้งาม ลดขั้นตอนการดูแลผักให้สั้นลง
สวนผักขนาดเล็ก
ทั้งวอเตอร์เครส และผักแพว ต่างเติบโตได้ดีในแปลงอะควาโปนิกส์

สัตว์และศรัตรูพืช หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องหาทางอยู่ร่วมกัน

ด้วยสภาพแวดล้อมของที่ดินที่มีบรรยากาศเป็นบ้านสวน ล้อมรอบด้วยคูคลอง ข้างบ้านเป็นที่ดินรกร้าง สัตว์ร้ายต่างมาเยือนฟาร์มแห่งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็น ตัวเงินตัวทอง งู หนู นก แมลงต่างๆ

“วิธีป้องกันที่ทำได้คือคอยดักจับให้ปริมาณลดลงก็พอใจแล้ว ไม่ได้กังวลว่าหนูหรือแมลงจะต้องห้ามมากินผักในแปลง ทำใจปล่อยวางตรงนี้ เพราะผักเราปลอดสารพิษ มีแค่มุ้งบางๆ กันไว้ หนูก็ต้องคอยดักอยู่เสมอ ส่วนนก หนอน ถ้าเจอก็ใช้วิธีจับไปทิ้ง ไม่ใช้สารเคมีใดๆ  มีใช้ชีวภัณฑ์ช่วยบ้างซึ่งก็ได้ผลดีเช่นกัน”

สวนผักขนาดเล็ก
ไม้ดอกนอกจากสร้างความสดใสให้สวนผักยังช่วยล่อแมลงได้ด้วย
สูตรทำดินจากเศษใบไม้ กิ่งไม้ คุณแนนใช้วิธีทับถมตามธรรมชาติ ใช้เวลา 1 ปีจะได้ดินที่อุดมด้วยธาตุอาหารที่พืชต้องการ
มุมเก็บอุปกรณ์ที่จัดวางอย่างเป็นระเบียบ อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้สวนน่ามองขึ้น

ผักที่อร่อยที่สุดคือผักปลูกเอง

คุณเอเดรียนเล่าเพิ่มเติมว่า “การปลูกผักทำค่าใช้จ่ายในเรื่องอาหารลดลง ถ้าอยากกินเคล ต้องออกไปซื้อที่ห้าง แพ็คนึงก็แพง บางครั้งเราไม่ได้ใช้ทั้งหมดเน่าอยู่ในตู้เย็นทุกครั้ง แต่ตอนนี้เราอยากกินอะไรก็ปลูก จะใช้เท่าไหร่ก็ง่าย อย่างผักพื้นฐาน ต้นหอม ผักชี กะเพรา โหระพา บางทีเราใช้แค่นิดหน่อยเดินเข้าสวนคือจบ”

“เราเน้นการปลูกให้เหมาะสมกับปริมาณคนอาศัยในบ้านค่ะ อย่าไปมากเกินไป ถ้าจะมากเกินไปเราต้องนึกถึงคนใกล้ตัวที่เราอยากจะเอาไปแบ่งหรือแจกจ่าย สร้างมิตรสัมพันกับเพื่อนบ้าน มันไม่ยากเลยคนกรุงเทพฯ ก็ทำได้ มีพื้นที่มากทำมาก มีน้อยก็ทำน้อย ดูความเหมาะสมกับสมาชิก ค่อยๆ เรียนรู้ไป วัสดุอุปกรณ์ทุกอย่างหาได้ง่าย สิ่งที่จะได้คือผักหรือผลิตผลที่ปลอดภัย ที่สำคัญคือผักที่อร่อยที่สุดคือผักที่เราปลูกเอง” คุณแนนเน้นย้ำถึงประโยชน์ของการทำฟาร์มเล็กๆของเธอแห่งนี้

สวนผักขนาดเล็ก
สวนผักขนาดเล็ก
สวนผักขนาดเล็ก
ในเล้าไก่แบ่งเป็น 2 โซนคือเอ๊าต์ดอร์ที่เปิดรับแดดและฝน ส่วนมุมเอ๊าต์ดอร์สำหรับให้ไก่กกไข่ เปิดมิดชิดป้องกันสัตว์ร้าย

ทำเกษตรได้ทั้งสุขและสวย

ทำเกษตรอย่างไรให้ดูสวยสดใสอยู่เสมอ คุณแนนบอกเคล็ดลับในการดูแลตัวเองในวันที่ต้องอยู่กลางแจ้งว่า “ต้องรู้จักปกป้องผิวพรรณ ครีมกันแดด เสื้อคลุมกันยูวี เป็นของจำเป็นในตอนเข้าสวนค่ะ ตื่นเช้าขึ้นมารดน้ำทุกวันใช้เวลานานมาก เพราะต้องเช็คแต่ละชุด ดูแลแต่ละแปลงอย่างละเอียด กว่าจะเสร็จก็ช่วงสายเจอแดดแรงจึงต้องป้องกันผิวพรรณของเรา”

“การดูแลสวนต้องตื่นเช้า ทำให้รูปร่างผอมลง มันเกี่ยวข้องกันนะ เราต้องนอนเร็วขึ้น ต้องงดสังสรรค์ปาร์ตี้ตอนเย็นเพราะเรามีจุดหมายในวันพรุ่งนี้เช้า อีกอย่างเหมือนเป็นการฝึกสมาธิ ทำให้เรากลายเป็นคนใจเย็นขึ้น มีการไตร่ตรองความคิด เพราะการอยู่กับต้นไม้ เราต้องดูแลเขาตั้งแต่เริ่มต้น จากเด็กน้อยอนุบาลมาเป็นต้นกล้าที่แข็งแรง เราต้องคอยประคบประหงมทุกช่วงระยะเวลา การปลูกผักเป็นอะไรที่ไม่มีวันหยุด เป็นอะไรที่ไม่สามารถหยุดพักผ่อนได้ เราไม่สามารถที่จะหยุดรดน้ำได้แม้แต่วันเดียว” 

สวนผักขนาดเล็ก

สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่คุณแนนได้รับจากการทำฟาร์มของเธอคือ “สุขภาพใจ” ที่เกิดจากความสัมพันของสมาชิกในครอบครัวซึ่งได้ใช้เวลาร่วมกัน ใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นสวนแห่งความสุข ซึ่งทุกคนในบ้านได้รับเช่นเดียวกับเธอด้วย

เรื่อง JOMM YB

ภาพ ศุภกร ศรีสกุล

สร้างฟาร์มเล็ก ๆ ในบ้านให้น่ารักราวกับอยู่ในโลกนิทาน

ความจริงจังหลังโควิด-19 เมื่อสถาปนิกเริ่มเลี้ยงไก่กว่า 100 ตัว

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm