ด้วยบรรยากาศของ ฟาร์มเลมอน ที่ดูโล่ง ปลอดโปร่ง เป็นระเบียบเรียบร้อยให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งในขณะที่กำลังเดินไปคาเฟ่นั้นจะพบกับแปลงดอกไม้ระหว่างทาง แล้วทุกครั้งที่มองผ่านหน้าต่างบานใหญ่ในคาเฟ่จะพบกับแปลงเลมอนที่กว้างสุดสายตา ที่ คาเฟ่เลมอนสไตล์ญี่ปุ่น Lemon Me Farm อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม
Lemon Me Farm แห่งนี้เกิดขึ้นจาก คุณมิ้น – ฉัตรชัย ดีสวัสดิ์ วิศวกรหนุ่มจากกรุงเทพฯ ที่ได้มีโอกาสรับช่วงดูแลฟาร์มมะนาวต่อคุณพ่อ ซึ่งมีความตั้งใจที่อยากให้ที่นี่ เป็นศูนย์การเรียนรู้จากกิจกรรมมากมายภายในฟาร์ม สินค้าแปรรูปจากส่วนต่างๆ ของมะนาว รวมทั้งได้นำความทรงจำและประสบการณ์จากประเทศญี่ปุ่น ในการออกแบบฟาร์มเลมอนแห่งนี้อีกด้วย
คุณมิ้น เล่าว่า “ที่ฟาร์มนี้มีกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น เพราะ ที่ผ่านมาผมเคยไปทำงาน และ ชอบความเป็นญี่ปุ่น รวมทั้งประเทศญี่ปุ่นก็ขึ้นชื่อเรื่องการเกษตร ส่วนตัวของคาเฟ่ที่เลือกใช้สีขาวครีม เพราะ อยากให้มีความรู้สึกที่อบอุ่น และ ทุกอย่างที่ตกแต่งภายในคาเฟ่จะมีวงกลมเป็นองค์ประกอบหลัก เพื่อสื่อถึงผลของเลมอน”
“การออกแบบเส้นทางการเดินให้เจอคาเฟ่ก่อน แล้วพอเข้าไปในคาเฟ่ เมื่อมองออกมาจะพบกับแปลงเลมอนที่กว้างสุดสายตาผ่านหน้าต่างของตัวอาคาร และ ภายนอกของอาคารก็มีโซนส่วนตัวที่อยู่ติดกับสนามกิจกรรมเล็กๆ สำหรับลูกค้าที่พาสัตว์เลี้ยงมาด้วย”
คุณมิ้น ได้มีการออกแบบสวนที่มาพร้อมกับฟังก์ชันการใช้งานอื่นๆ ด้วย อย่างเช่น ต้นเลมอนที่ใช้สำหรับตกแต่งคาเฟ่พออายุถึง 2 ปี ลูกค้าสามารถเลือกซื้อต้นที่ถูกใจไปปลูกเลี้ยงต่อที่บ้านได้เลย หรือ จะเป็นแปลงดอกไม้นอกจากปลูกเพื่อความสวยงาม ยังสามารถนำมาใช้สำหรับตกแต่งเครื่องดื่มในคาเฟ่ได้เช่นกัน
นอกจากนี้ คุณมิ้นมีการปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกมะนาวของคุณพ่อให้ดูแลง่ายขึ้น เพราะ ปัญหาแรงงานหายากตามความเจริญของพื้นที่ใกล้เคียง
“ก่อนหน้านี้คุณพ่อทำเป็นแปลงมะนาวลอยฟ้า โดยปลูกบนเล้ากล้วยไม้เก่า มีระยะห่างต่อต้น 1×1 เมตร หมายความว่า 1 ไร่ปลูกได้ 400 ต้น ทำให้ผลผลิตต่อไร่เยอะ เมื่อเทียบกับฟาร์มที่ปลูกแบบ 4×3 เมตร จะได้แค่ 60-70 ต้น แต่ที่เปลี่ยนมาเป็น 4×3 เพราะว่า ปัญหาเรื่องแรงงานหายาก ซึ่งต้นไม้ต้องดูแลตลอด ถ้าแปลงมะนาวขาดคนดูแล พังแน่นอน และ การปลูกมะนาวแบบ 4×3 เมตร นั้นสามารถเก็บได้นานถึง 8 ปี ซึ่งนานกว่าแบบ 1×1 ที่เก็บได้เพียงแค่ 4-5 ปี เท่านั้น หมายความว่าระยะยิ่งห่างยิ่งเก็บได้นาน”
ส่วนการออกแบบ คุณเพชร – ไพรีพินาศ นิลรัตน์ สถาปนิกผู้ออกแบบ เล่าว่า “Key Success ของคาเฟ่นี้ ประกอบไปด้วย 3 ส่วนนี้ คือ เลมอน ญี่ปุ่น และความอบอุ่น ทำให้เข้าถึงผู้คนได้ง่ายทุกช่วงวัย พร้อมกับบรรยากาศที่ปลอดโปร่งทำให้ผู้คนพักผ่อนได้นาน คนที่เดินทางเข้ามาจะเจออาคารที่เป็นคาเฟ่ แล้วพอเข้ามาในอาคารจะเห็นมุมมองใหม่ๆ ของสวนมะนาว ที่มีการออกแบบให้เป็นบ้านที่อบอุ่น มินิมอล เพิ่มความเป็นวงกลมเพื่อสื่อถึงลูกมะนาว และ ดูสนุกขึ้น”
คุณมิ้นได้แนะนำสายพันธุ์มะนาวที่น่าปลูกว่า “สายพันธุ์ที่ปลูกต้องเป็นที่ตลาดต้องการ แล้วค่อยหาวิธีการปลูก ไม่ว่าพันธุ์ที่ตลาดต้องการจะปลูกยากหรือง่าย สิ่งนี้เป็นหน้าที่ของเกษตรกร อย่างสายพันธุ์แป้นแม่ลูกดกที่เลือกปลูก เพราะ เปลือกบาง น้ำเยอะ กลิ่นหอม เป็นคุณสมบัติของมะนาวไทยที่ตลาดต้องการ ซึ่งที่ฟาร์มมีกิ่งชำให้เลือกซื้อทั้งหมด 5 สายพันธุ์ด้วยกัน”
– มะนาวสายพันธุ์แป้นแม่ลูกดก เปลือกบาง น้ำเยอะ กลิ่นหอม
– เลมอนสายพันธุ์ญี่ปุ่น ผลทรงกลม มีกลิ่นหอม
– เลมอนสายพันธุ์ยูเรก้า ผลทรงรี มีจุกยาวชัดเจน ผลดก แต่ทรงผลไม่ค่อยนิ่ง
– เลมอนสายพันธุ์ฮาวาย เลมอนทรงหยดน้ำ หรือบางชื่อเรียก “มะนาวนมยาน”
– เลมอนสายพันธุ์ยูเรก้าอัลเลน ทรงผลยาวรี มีจุก แต่สั้นกว่ายูเรก้า
“ปัจจุบันเรากำลังสร้างอาคารด้านหลังที่จะเปิดให้มีการอบรมทุก เสาร์-อาทิตย์ มีตั้งแต่ การปลูก การเตรียมปุ๋ย การเตรียมดิน การทำปุ๋ยหมัก ไปจนถึง การทำแปรรูปจากมะนาว การทำเบเกอร์รี่ การเรียนมุมมองด้านการตลาด การเตรียมเครื่องดื่มจากมะนาว ทั้งหมดรวมๆ คือ มะนาวสามารถไปทางไหนได้บ้าง จะมีคลาสให้เรียนเยอะมาก”
แฟนฟาร์มที่สนใจอยากเปิดประสบการณ์เกี่ยวกับมะนาวอย่างเต็มรูปแบบสามารถเดินทางมาได้ที่ Lemon Me Farm
เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทร์ทองสุข
Organ by Smart Nine Farm ฟาร์มคาเฟ่ของพยาบาลที่มาเป็นคนปลูกผัก