ไปรู้จักอีกหนึ่งบทบาทของคุณจอย รินลณี ศรีเพ็ญ กับการ ปลูกผักสลัดอินทรีย์ นอกเหนือจากบทบาทนักแสดง พิธีกร ในวงการบันเทิง
ในบทบาทนักแสดงเราได้เห็นเธอผ่านหน้าจอมายาวนาน แต่ในอีกมิติหนึ่งของชีวิตคุฯจอย คือนัก ปลูกผักสลัดอินทรีย์ มือใหม่ที่ทำได้ดีไม่แพ้งานที่เธอถนัด ซึ่งเราได้รับเกียตริให้เข้าชมแปลงปลูกผักเล็กๆ ของเธอเป็นครั้งแรก
Little ‘Joy’ Garden เป็นชื่อเรียกที่ขออนุญาตตั้งให้สวนแห่งนี้ เพราะ ข้อจำกัดและพื้นที่หน้าบ้านจัดสรรที่คุณจอยใช้ปลูกผักนั้นมีขนาดเล็กจิ๋วจนคิดไม่ถึงว่าจะสามารถปลูกผัก และให้ผลผลิตหลายชนิดจนเธอสามารถนำมาประกอบอาหาร ทำคลิปลงช่องโซเชียลมีเดียได้แทบทุกวัน ทั้งยังสร้างสรรเมนูให้น่ารับประทานจนรู้สึกอยากลองชิมลิ่มรสไปด้วย
“เมื่อก่อนไม่เคยปลูกต้นไม้เลย ตั้งแต่เล็กจนโต ยกเว้นที่โรงเรียนให้ปลูกต้นกล้วยอะไรแบบนี้ค่ะ ตอนมีบ้านหลังนี้ก็ไม่เคยปลูกเลย จะมีก็แต่คุณแม่ปลูกผักสวนครัวผสมไว้เก็บไปทำกับข้าว แต่ว่าจริงๆ แล้วจอยเป็นคนชอบทานผักนะคะ อยากลองปลูกเหมือนกันแต่มันไม่มีจุดเริ่มต้น พอคิดจะลงมือทำจริงจังก็ขี้เกียจค่ะ หลายคนก็น่าจะเป็นเหมือนจอย แล้วก็ไม่รู้ด้วยว่าจะต้องทำอย่างไร เริ่มจากตรงไหน ไปซื้อของจากที่ไหน แต่พอมาช่วงโควิดระบาดได้อยู่บ้านแบบไม่รู้จะทำอะไร เลยเริ่มลงมือทดลองปลูกค่ะ”
จากความนึกคิดที่อยากจะทดลองปลูก การสรรหาชนิดของพืชผักจึงเริ่มจากผักที่ชอบรับประทาน นั่นคือ ผักสลัด ซึ่งเธอตั้งต้นจากการเพาะเมล็ดเป็นขั้นตอนแรก ก่อนลงมือปลูกในแปลงไม้ขนาดเล็กในมุมหน้าบ้านจัดสรร คละกับผักพื้นบ้านอื่นๆ ที่เป็นผักคู่ครัวของบ้านหลังนี้
เริ่มด้วยสัมพันธภาพในโซเชียลมีเดีย
“โชคดีค่ะที่สมัยนี้หาข้อมูลเรื่องการปลูกผักได้ง่ายขึ้น ทั้งในเฟซบุ๊ค ยูทูบ เสิร์จกูเกิล จอยหาข้อมูลจากพวกนี้เลยค่ะ แล้วก็เข้าไปอยู่ในกรุ๊ปเกี่ยวกับการทำเกษตร ไปคอมเมนต์ถามวิธีปลูกจากคนที่เขาปลูกมาก่อน อะไรแบบนี้ค่ะ มันทำให้เรารู้จักแหล่งซื้อเมล็ดพันธุ์ผักต่างๆ และมีแบ่งปันกันด้วยนะคะ”
มิตรภาพจากกลุ่มคนชอบปลูกยังให้ความรู้ที่ช่วยแก้ปัญหาสำคัญ เมื่อวิธีที่เธอใช้ปลูกผักนั้นมันไม่ได้ผลดีเท่าใดนัก ซึ่งเกิดจากคุณภาพของดินที่เธอใช้ปลูกนั่นเอง
“จอยมารู้ว่าดินมันสำคัญมากๆ แต่ก่อนจะรู้ก็ลองใช้ดินถุง 3 ถุง 100 ที่ขายตามร้านอุปกรณ์เกษตรทั่วไปมาลองปลูกค่ะ แต่ผักก็จะเหลืองๆ เหมือนมันไม่ดี พอไปเห็นวิธีหมักดินของคนอื่นจึงเริ่มเรียนรู้ว่า อ้อ! ถ้าดินไม่ดีเราก็ต้องใส่ปุ๋ย ใส่มูลวัว ใส่มูลไส้เดือนหรือใส่น้ำหมักอินทรีย์แล้วต้องหมักดินก่อนปลูก ผลที่ได้คือผักที่เราปลูกงามขึ้นอย่างเห็นได้ชัดค่ะ”
“ทุกวันนี้เวลาไปเที่ยวต่างจังหวัดก็จะขอซื้อดินกลับมาด้วย เพราะคุณภาพดินในบางพื้นที่เป็นดินที่เหมาะกับการปลูกผักมาก ที่บ้านจอยก็ได้ปุ๋ยจากเศษอาหารอยู่แล้วก็นำมาใช้โรยๆ ผสมเข้าไปด้วยค่ะ”
เลือกผักที่ชอบกิน จะมีกำลังใจในการปลูก
“คนที่เริ่มปลูกผัก ถ้าอยากมีกำลังใจในการปลูกให้เริ่มจากปลูกเห็ดก่อนค่ะ เพราะมันปลูกง่ายมาก แค่ทำโรงเรือนเล็กๆ ให้ แล้ววางก้อนเชื้อเห็ด รดน้ำ 7 วันก็ได้เก็บแล้วค่ะ”
ผักส่วนใหญ่ที่ปลูกยังคงเป็นผักในเมนูสลัดและผักปั่นสด ทั้งกรีนโอ๊ก เรดโอ๊ค ฟิลเลย์ คอส สวิสชาร์ด เคล รวมทั้งถั่วฝักยาวที่ตั้งใจปลูกให้ หนูน้อย น้องหมาปอมเมเรเนียนที่ชอบกินถั่วฝักยาวเป็นชีวิตจิตใจ หมุนเวียนปลูกในแต่ละแปลงตามความเหมะสมของแสง และย้ายเปลี่ยนตำแหน่งแสงที่เปลี่ยนไปในแต่ละฤดู ซึ่งบางส่วนก็ย้ายหนีจากศัตรูพืชตัวร้าย นั่นคือ ‘หอยทาก’
นักสู้กับหอยทาก แบบประณีประนอม
“ไม่รู้ทำไมที่บ้านจอยหอยทากจะเยอะมากๆ ค่ะ ตั้งแต่เราเริ่มปลูกผักเลยจะเห็นหอยทากบุกสวนตลอด ยิ่งตอนฝนตกนะ ไม่ต้องพูดถึงเลย เก็บได้เป็นกะละมังเลยค่ะ วิธีกำจัดก็ใช้วิธีเก็บทิ้งเป็นหลักแต่พอเยอะมากๆ เราก็เริ่มไม่ไหว เลยหาที่ปลูกผักใหม่ย้ายขึ้นอยู่บนดาดฟ้าหลังคาที่จอดรถเลยค่ะ”
วิธีป้องกันหอยทากที่คุณจอยทำได้คือย้ายแปลงผักหนีไปอยู่บนอาคาร สวนด้านล่างใช้ปลูกผักอื่นๆ ที่หอยทากไม่กิน เช่น หัวไชเท้า เบบี้แครอท หรือพวกสมุนไพรอย่างกะเพรา โหระพา ผักชี ซึ่งเธอยังเล่าอีกว่าเคยลองทำตามคอมเมนต์ต่างๆ ที่แนะนำเข้ามา อย่างการใช้เปลือกไข่โรยในแปลง ผ่านการลองทำแล้วแต่เหมือนจะได้ผลเฉพาะหอยทากตัวเล็กๆ ส่วนตัวใหญ่ที่ผิวเขาหนาก็ยังกินผักได้เช่นเดิม
หนีขึ้นดาดฟ้า สร้างแปลงปลูกให้ผักสลัด
ดาดฟ้าโรงจอดรถที่เคยเป็นระเบียงชมวิวถูกรีโนเวทครั้งใหม่ให้เป็นสวนครัวเต็มพื้นที่ แม้ขนาดเพียง 5 x 6 เมตร แต่ก็จัดสรรให้วางแปลงปลูกโดยใช้กระบะไม้ที่มีความสูง 25 เซนติเมตร เหมาะสำหรับปลูกผักรากสั้นอย่างผักสลัด วางบนแผ่นไม้พาแลทเพิ่มความสูงขึ้นอีกสเต็ปอยู่ในระดับพอดีเมื่อนั่งทำสวน พืชผักอื่นๆ ปลูกในกระถางวางคละกันให้เกิดความสวยงาม ปูพื้นด้วยหญ้าเทียม ป้องกันความร้อนจากพื้นคอนกรีตได้อีกทาง
“ก่อนจะปลูกตรงนี้ ตอนแรกเริ่มปลูกที่ระเบียงห้องนอนของจอยก่อนค่ะ ลองปลูกกะหล่ำปลีในช่วงหน้าหนาว เพราะเห็นว่าอากาศมันเย็นมันอาจจะห่อ ก็ปลูกไปสักแป๊บนึงก็เริ่มเห็นว่าเหมือนมีอะไรมากินอีกแล้ว ดูไปดูมามีนกมาทำรัง นกมากิน เราก็เลยต้องไปเสิร์จว่าต้องทำอย่างไร ได้วิธีเอากระดาษมาห่อ เอาถุงมาห่อ มันก็เหมือนแบบค่อยๆ เรียนรู้ไป”
“จอยไม่เก่งเลยนะคะ คือจอยไม่รู้ว่ามันต้องอย่างไร แต่เราค่อยๆ เรียนรู้ไปว่าพอเกิดปัญหาแบบนี้แล้วจะต้องทำอย่างไร บางทีก็ถามในกลุ่มบ้าง บางทีก็เสิร์จหาข้อมูลเอง ลองผิดลองถูกไปเรื่อย ๆ ค่ะ”
มุมแอบ แสงน้อย ก็ปลูกผักได้
มุมสวนครัวที่หมุนตามแสง แปลงปลูกบนดาดฟ้าอาคารจอดรถ และยังมีอีกจุดสำหรับปลูกผักที่ชอบแสงน้อย คือมุมข้างโรงรอดรถที่ได้ร่วมเงาของอาคารบังแสงช่วงบ่าย เป็นพื้นที่ปลูกผักชอบแสงรำไร เช่น เตยหอม ใบช้าพลู กระเจี๊ยบเขียว มันหวานญี่ปุ่น สะระแหน่ ผักเป็ดญี่ปุ่น กระชาย ตะไคร้
“มุมนี้เคยเป็นสวนใบชะพลูมาก่อนค่ะ ตอนนั้นใบชะพลูงามมากๆ มันเลื้อยกันเต็มไปหมด แต่ปัญหาก็คือไม่กล้าไปตัดใบเตยที่อยู่ริมรั้วเพราะกลัวงูกัน ใบมะกรูดกับใบเตยเขาจะอยู่ฝั่งซ้ายของบ้านเพราะมีแดดรำไร เราก็ปลูกจิงจูฉ่าย ปลูกใบเตย และใบชะพลูแต่เราก็รื้อหมดเลยแล้วลงแปลงปลูกกระเจี๊ยบเขียวเพราะที่บ้านชอบทานกระเจี๊ยบเขียวกันด้วย มีมันหวานญี่ปุ่นด้วยค่ะเอาไว้เก็บใบชุบแป้งทอด”
ส้มจิ๊ด อยู่คู่บ้านสู่เมนูน่าทาน
พืชผักที่ปลูกในสวนต้องใช้ทำอาหารได้จริง รวมไปถึงส้มจิ๊ดต้นใหญ่ที่ปลูกคู่บ้านมานานมานานกว่า 15 ปี ซึ่งเธอเกือบทำลาโลกมาแล้ว
“ผลส้มจิ๊ดต้นนี้จะเยอะมากเลยค่ะ ตอนแรกไม่ค่อยได้ทาน เพราะไม่ได้เห็นคุณค่าของเขาเลย ที่ปลูกก็ตามฮวงจุ้ยเท่านั้น ไม่ได้คิดอะไร แต่มีช่วงหนึงที่มะนาวหมดเลยลองใช้ผสมน้ำอุ่นดื่มแทนมะนาวในตอนเช้า ชิมก็ชอบเลยค่ะ ลองทำเป็นเครื่องดื่มไปขายในงานเปรี้ยวปากแฟร์ด้วยนะคะ”
“ที่ตลกมากอีกอย่างคือ พอเราเริ่มเห็นคุณค่าเขา อยู่ดีๆ เกิดรักเขาขึ้นมา เอาปุ๋ยไปใส่เขา ดูแลเขา แต่เขาดันเหี่ยวเหมือนจะตายค่ะ ใบไหม้ ตกใจมากค่ะ (หัวเราะ) ก็คิดว่าเขาคงไม่ต้องการการดูแลเยอะๆ มั้ง ไม่ค่อยกล้าเอาอะไรไปใส่เขาปล่อยให้เขาอยู่ตามธรรมชาติ เขาก็คืองามอยู่แบบนี้”
ความภูมิใจกับบทเรียนที่ค่อยๆ เก็บเกี่ยว
“จอยรู้สึกว่ามันภูมิใจทุกครั้งที่เรากินผักตัวเอง เรารู้สึกว่ามันอร่อยที่สุดเลย ผักสลัดของเรารสหวาน ไม่ขมเลย จอยอาจจะคิดไปเองก็ได้นะ(ขำ) แต่ทุกอย่างจอยว่าจอยภูมิใจเพราะว่าเราไม่เคยปลูกอะไรแล้วพอเราเห็นมันงอกงามเราจึงรู้สึกภูมิใจกับมันมากๆ ”
“อีกอย่างคือจอยว่าการการปลูกผักหรือการปลูกต้นไม้มันคือ การเรียนรู้ธรรมชาติของโลกใบนี้ว่าแบบมันไม่มีอะไรที่เราควบคุมได้ มันไม่มีอะไรที่แน่นอน มันไม่มีอะไรเป็นไปอย่างที่เราหวัง เราปลูกกะหล่ำปลีซึ่งรู้สึกว่ามันยากมาก มันกำลังจะได้แล้วแต่นกก็มากิน คือเราคิดว่าเราหนีหอยทากแล้วแต่ว่าก็ไม่มีอะไรที่ควบคุมมันได้ หรืออย่างผักสลัดมันงามแต่เริ่มยืดเพราะจอยรอให้มันงาม แบบอยู่ดีๆ มันก็งาม จอยปลูกพร้อมกันสองแปลงพร้อมกัน แปลงนึงใหญ่มาก สวยมากแต่อีกแปลงนึงไม่ค่อยโตทั้งที่ดินเหมือนกัน ดูแลเหมือนกัน เราก็เลยเริ่มคิดว่าหรือแค่เราปูฟางไม่เหมือนกัน เหตุผลแค่นี้เองเหรอที่ทำให้เขาเติบโตแตกต่างกัน อะไรแบบนี้ค่ะ มันเป็นคำตอบที่ธรรมชาติบอกเราอยู่เรื่อยๆ” คุณจอยกล่าวทิ้งท้าย
เรื่อง JOMM YB
ภาพ อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม