The Florimel Garden น้ำผึ้งหวานในสวนที่เกิดจากฝันเดียวกัน

“โชคดีที่เรามีความคิดเดียวกัน มีฝันเหมือนกัน” ประโยคปิดท้ายบทสนทนาที่ต้องยกให้เป็นประโยคทัชใจ ท่ามกลางเสียงลมพัดแผ่วเบาและเสียงสูดหายใจสม่ำเสมอของเจ้ามิลาน น้องหมาโกลด์เด้นรีทีฟเวอร์ที่มาแอบหลับอยู่ใต้เก้าอี้หลังวิ่งทั่ว สวนเพ็ชร ฐกฤต

The Florimel Garden Farm พื้นที่ 10 ไร่เมื่อตอนรุ่งเช้า ฟาร์มที่เป็นความฝันของคุณมายด์ ฑาริกา อินสุวรรณ์ และ สวนเพ็ชร ฐกฤต ตะวันพงค์ คู่รักของเธอซึ่งได้กลายเป็นคนที่มีความสุขเพราะได้เป็นส่วนหนึ่งในความฝันนั้น

สวนเพ็ชร ฐกฤต

ภาพที่เห็นอยู่ตรงหน้า คล้ายตอนจบของละครที่ส่วนใหญ่มักจะจบ Happy Ending เสมอ มันคือภาพสวนที่เต็มไปด้วยความงดงามสมบูรณ์ของพืชผล สัตว์และแมลงได้เข้ามามีส่วนร่วม คุณมายด์คุณเพ็ชรเดินสำรวจพื้นที่พร้อมน้องมิลานเจ้าหมาตัวอ้วนที่วิ่งตามไม่ห่าง ท่ามกลางแสงสีส้มในช่วงเช้าของวัน แต่กว่าจะเดินทางมาถึงช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสวยงามนี้ ทั้งคุณเพ็ชรและคุณมายด์ สองนักแสดงที่หลายคนคุ้นหน้าต้องผ่านเส้นเรื่องที่ไม่ง่าย กับการทำเกษตรที่ให้รสชาติของชีวิตจริง

สวนเพ็ชร ฐกฤต
คุณมายด์ คุณเพ็ชร และเจ้ามิลาน

The Florimel Garden Farm จังหวัดชัยนาท คือบ้านฟาร์มในแปลงเกษตรผสมผสานที่ คุณเพ็ชรและคุณมายด์ สองนักแสดงผู้มีความฝัน และมีหัวใจดวงเดียวกันสร้างขึ้นในช่วงเวลาล็อกดาวน์เมื่อ 5 ปีทีแล้ว เหตุการณ์ที่เปลี่ยนวิถีชีวิตของทุกคนบนโลก รวมถึงพวกเขาทั้งสองที่เลือกกันแล้วว่าจะต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อให้สามารถดำรงชีพต่อไปได้ แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อย่างน้อยๆ ขอปลูกอาหารได้เอง ไม่ต้องไปแย่งชิงกับใคร ไม่ขาดแคลน ถึงแม้วิถีชีวิตในอีกแบบที่ทั้งสองเลือกจะเป็นการนับหนึ่งใหม่เลยก็ตาม

สวนเพ็ชร ฐกฤต
มิลานรู้งานมาก!

“สำหรับผม เรียกว่านับศูนย์เลยครับ เพราะไม่รู้จักหรือมีความรู้เรื่องการทำเกษตรเลย ต้นไม้ผลไม้ ผมก็แทบไม่รู้จัก ตลอดชีวิตนักแสดงก็ใช้ชีวิตในเมือง ต่างจากน้องมายด์ที่เขาผูกพันกับต้นไม้อยู่แล้วก็จะเป็นคนที่ทำให้เรารู้จักมากขึ้น เป็นคนเลือกต้นไม้ลงสวน ทำให้ผมรู้ว่านี่ต้นอะไร ปลูกอย่างไร ส่วนผมก็รับหน้าที่เป็นคนงานฝ่ายช่าง ตั้งแต่ออกแบบพื้นที่ วางผังสวน คิดค้นหาทางขุดสระเจาะน้ำบาดาล ติดตั้งระบบรดน้ำ อะไรที่ไม่เคยทำก็ได้ทำครับ” คุณเพ็ชรเล่า

The Florimel Garden Farm ในภาพของความบริบูรณ์ที่ผ่านสองมือของคนสองคน ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา ประกอบด้วยเรื่องราวมากมาย เส้นเรื่องที่สุขแต่ต้องเหนื่อยเหน็ด สนุกแต่ก็ท้ายทาย แต่สุดท้ายก็เกิดเป็นความสวยงามของชีวิตได้เช่นกัน

The Florimel Garden Farm
แปลงกุหลาบหน้าบ้านขาว

เฟ้นหาที่ทาง ไม่มีบ้าน แต่ก็อยู่ได้

“ตอนนั้นเราก็คิดกันว่าจะหาที่สักแปลงนึง สักไร่สองไร่ก็พอ จริงๆ ในมุมมองเพ็ชรก็ไม่รู้ว่า 1 ไร่มันกว้างยาวแค่ไหน แต่พอไปดูที่จริง ๆ มันเล็กมาก แล้วน้องมายด์เองก็เป็นคนชอบปลูกต้นไม้ไร่เดียวคงไม่พอ บวกกับราคาก็เกินงบที่วางไว้ครับ ซึ่งช่วงนั้นเราก็อยากรัดเข็มขัดกันไว้ก่อนเพราะไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก”

“จากนั้นมายด์ก็เสิร์จหาที่ดินอีกเรื่อย ๆ ค่ะ ก่อนมาเจอที่ตรงนี้ ซึ่งมันก็ตรงกับที่ดินในแบบมายด์และพี่เพ็ชรชอบ บรรยากาศป่าๆ แบบภาคเหนือแต่ไม่ต้องเดินทางไปไกลมาก มีแนวทิวเขาให้เห็น มีลมพัดอากาศเย็นสบาย ขับจากกรุงเทพฯ ง่าย มีเวลามาดูแลได้ จึงมาจบที่จังหวัดชัยนาทตรงนี้”

มายด์ ฑาริกา

นั่นคือจุดเริ่มต้นของ The Florimel Garden Farm บนที่ดินแปลงแรกขนาด 6 ไร่ ที่ดินเปล่าๆ ที่เคยเป็นไร่อ้อย ไม่มีไม้ใหญ่สักต้น ภาพฝันที่ทั้งคู่วาดไว้จึงเริ่มจากการวางผังพื้นที่ พร้อมกับแนวรั้วต้นไม้ที่เริ่มปลูกลงดิน และเต้นท์หลังเล็กกลายเป็นที่พักอาศัยแทนบ้านพักที่ยังเป็นแค่ที่แปลงดินเปล่าๆ

“ระหว่างวางแผนสร้างบ้าน เราก็โดนช่างโกงครับ (หัวเราะ) ทำให้งบเราเหลือน้อยลง จากที่คิดไว้เหลือแค่บ้านขาวหลังเล็กที่เห็นในตอนนี้พื้นที่ 4 x 5 เมตรเองครับ เดิมจะสร้างเป็นโรงเรือนปลูกต้นไม้หลังคาเลยดูสูงๆ หน่อย ตอนที่ทำบ้านเราก็ใช้วิธีนอนเต้นท์กันไปก่อนครับ ประหยัดงบแล้วได้อยู่สวนแบบเต็มๆ”

“ตอนนั้นเรามีบทเรียนจากการถูกโกงไปแล้ว มายด์เลยเลือกออกแบบบ้านเองและซื้อของเองค่ะ แบบบ้านก็หาจากอินเตอร์เน็ต อยากได้บ้านสไตล์อิงลิชคอตเทจ มีแปลงกุหลาบหน้าบ้าน มายด์ก็วาดๆ แบบเลย์เอ๊าท์แปลงกุหลาบแล้วให้ช่างทำตามค่ะ ตอนนั้นเราต้องประหยัดกันจริงๆ แต่สิ่งที่เริ่มมาแล้วก็อยากทำให้มันสำเร็จ ถามว่าเหนื่อยไหมก็เหนื่อยค่ะ แต่การทำบ้านมันสนุกและมีความสุขมาก”

ภาพของนักแสดงรุ่นใหม่ที่ลุคสวยหล่อกับวิถีชีวิตในสวนโล่งแจ้งที่มีเพียงเต้นท์เป็นที่พักอาจจะไม่อยู่ในความคาดคิดของใครหลายคน แต่สำหรับชาวบ้านในพื้นที่ใกล้ๆ นี่คือภาพปกติที่ทั้งสองต่างปรับตัวไปตามสถานการณ์โดยยังมีสิ่งไม่คาดคิดเกิดขึ้นนั่นคือการเผาอ้อย

สวนเพ็ชร ฐกฤต

มาต่างถิ่น ต้องอยู่ร่วม

“ตอนนั้นเราไม่รู้ด้วยซ้ำค่ะว่าชาวบ้านที่นี่ เขามีการเผาอ้อยที่กลายเป็นวิถีชีวิตของพวกเขาไปแล้ว เราคิดแค่ว่า เราได้ที่ดินตรงตามที่ชอบ ราคาจับต้องได้ แต่เราลืมเรื่องนี้คือมองสภาพแวดล้อมวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชุมชนรอบข้าง อันนี้ก็สำคัญเหมือนกันค่ะ เพราะการที่เราจะเอาตัวเองมาอยู่ในจุดที่เขาเป็นมาตั้งแต่โบราณอยู่แล้ว ย่อมเกิดการผิดใจกันเป็นเรื่องปกติ จึงต้องระวังด้วยเราเองด้วยส่วนหนึ่ง และสื่อสารพูดคุยกับเขาด้วยค่ะ ไปที่บ้านขอให้เขาระวังปัญหาต่างๆ ให้ ซึ่งพวกเขาก็น่ารักค่ะ อย่างหากจะมีการพ่นสารเคมีก็จะระวังลมพัดให้เรา บอกเราก่อนให้เราเตรียมตัว มีการปลูกพืชเป็นกำบังให้ด้วย การเผาถ่านก็น้อยลงทำแค่พอใช้ในครัวเรือน พอตอนหลังเขาพบเจอด้วยตัวเองคนอื่นๆ คนในหมู่บ้านเริ่มเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากเผา ทำให้เริ่มกลัวแล้วก็ทำลดลงกันค่ะ”

อยู่ร่วมไม่ใช่แค่การพูดคุยเท่านั้น แต่ผลผลิตจากสวนยังถูกส่งไปเชื่อมความสัมพันธ์ที่ทั้งสองมอบให้กับชาวบ้านรอบข้าง ด้วยผลไม้ชื่อแปลกๆ กับรสชาติที่คนที่นี่ไม่เคยลิ้มลองแต่อร่อยในแบบที่ทั้งคู่ชื่นชอบ

นายช่าง = นับหนึ่ง

สองแรงแบ่งกันสองหน้าที่ อีกหนึ่งความสนุกที่เกิดขึ้นจากคนที่มีแพชชั่นเดียวกัน

“เพ็ชรจะทำพวกงานช่างต่าง ๆ เป็นหลัก อย่างการต่อสปริงเกอร์ เลือกปั๊มน้ำ พวกนี้หาดูจากคลิปที่คนอื่นๆ ทำแล้วลองทำตาม ส่วนเรื่องการทำผังสวนก็นี่เลย วาดในกระดาษเอสี่ธรรมดาแบ่งโซนพื้นที่ ตอนแรกผมก็หาแหล่งน้ำก่อน คือเราตั้งเป้าไว้แล้วว่าจะทำเกษตร น้ำ อากาศ ดิน สำคัญมาก ถ้าไม่มีน้ำคือจบ ก็คิดหาทางให้มีน้ำใช้ทำสวน แล้วจบที่เจาะบาดาลเพื่อมาใช้เอง ไล่สำรวจทั่วสวนครับ แต่ก็โชคดีที่เราเจอตาน้ำใหญ่ความลึก 84 เมตร ลึกมากเพราะชั้นหินเป็นศิลาแลง แต่ก็มีปริมาณมากพอที่จะปลูกต้นไม้ทั้งสวนใช้ได้กว่า 30 ไร่/ปี เลยครับ”

คุณเพ็ชรเล่าต่ออย่างเต็มอรรถรถเกี่ยวกับวิธีหาตำแหน่งขุดเจาะบาดาลที่ใช้เพียงเหล็ก 2 เส้นเดินสำรวจทั่วสวน แต่ก็เจอตำแหน่งร่องหินที่เป็นแหล่งตาน้ำจริงๆ

“ตอนช่างบาดาลบอกมีตาน้ำเพราะแท่งเหล็กมันวิ่งหากัน มันเหลือเชื่อครับ วันต่อมาเขาก็เอาเครื่องขุดเจาะมาติดตั้ง ขุดอยู่นาน ช่างจะจับสัมผัสดินหินดูเป็นระยะ ความลึก 10 เมตรก็แห้ง 20 เมตรก็แห้ง พอเริ่มชื้นที่ระดับ 50 เมตรช่างก็จะมั่นใจแล้วว่ามีน้ำแน่ ๆ จนระดับ 84 เมตร น้ำก็พุ่งขึ้นฟ้า เราดีใจกันมาก ผมตื่นเต้นมากๆ ชีวิตนี้ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อน”

หลังจากได้แหล่งน้ำขนาดใหญ่ แผนต่อมาคือพื้นที่กักเก็บในสระที่วางแผนไว้ตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มแรก ไล่ไปถึงคลองไส้ไก่ที่ขุดไปรอบแปลงสวนตามผังที่วางไว้ และให้ง่ายในการใช้ดูแลแปลงไม้ผลตามผังที่ออกแบบไว้ โดยจัดสรรให้เหมาะกับการปลูกพืชตามความต้องการของคุณมายด์ ที่อยากให้มีไม้ผล 2 แปลง แปลงนึงเป็นไม้ผลแปลก และอีกแปลงเป็นไม้ผลของไทย แบ่งครึ่งกลางด้วยถนนใต้ร่มเงาของต้นกัลปพฤกษ์เป็นทางเดินยาวเชื่อมมาถึงตัวบ้านขาว ซึ่งเป็นที่พักและมุมขยายพันธุ์ต้นไม้

นักปลูก = ทดลอง

“แปลงไม้แปลกเป็นโซนทดลองที่ลองปลูกต้นไม้จากหลาย ๆ ที่ หลายๆ ชนิดค่ะ ทุกวันนี้ก็ยังมีสับเปลี่ยนไม้อยู่ อันไหนที่ดูว่าปลูกไม่น่าได้ เราก็ให้เวลาเขาอีกนิด หากไม่เวิร์กจริง ๆ เราก็จะเอาต้นอื่นมาปลูกข้างๆ แต่ถ้ายังไม่ดีขึ้นก็ค่อยตัดทิ้ง(หัวเราะ)” คุณมายด์เล่าเทคนิคการปลูกพืชแบบสนุกๆ ที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับหลักการมากไปกว่าการได้ทดลองในแบบฉบับของตัวเอง

พลับช็อกโกแลต
พลับช็อกโกแลต

“ไม้ผลที่เลือกมาปลูกมีเกณฑ์ง่ายๆ อย่างแรกคือทดลองกินแล้วชอบ อย่างที่สองคือเผื่อไว้สำรองตลาด อย่างมายด์ปลูกมะม่วงไข่พระอาทิตย์ ที่ยังมีในตลาดไม่เยอะมาก ลูกค้าจึงมุ่งมาหาต้นพันธุ์ที่เรา ซึ่งน่าจะสร้างมูลค่าได้ในอนาคต สามคือสามารถต่อยอดมาทำผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ แปลงไม้ผลจึงแบ่งเป็น 2 ส่วนอย่างที่พี่เพ็ชรเล่าคือแปลงไม้แปลก ก็จะมีส้มสายน้ำผึ้ง เลมอน ฟิกส์ พลับช็อกโกแลต เอบิว ส่วนแปลงไม้ไทยจะเลือกไม้ที่ไม่ได้มีในตลาดเยอะ เช่น มะม่วงก็จะเลือกที่แปลกขึ้นมาหน่อย ราคาไม่ถูกจนเกินไป อย่าง พันธุ์ไต้หวัน อินเดีย จักรพรรดิ น้ำดอกไม้สีทอง มายด์ไม่ได้หวังว่าจะได้ยอดขายอะไรมากมายเพราะเรามีกำลังในการขยายพันธุ์ได้จำกัด แต่อย่างน้อย ๆ ให้สิ่งที่เรารักทำเงินกลับมาได้บ้าง เป็นค่าใช้จ่ายในฟาร์มก็เพียงพอแล้ว”

นอกจากไม้ผลที่ขยายพันธุ์จำหน่ายแล้ว พันธุ์ไม้อื่นๆ อย่างแคฝรั่ง สนเกรวิลเลีย ก็เป็นหนึ่งต้นไม้ยอดนิยมที่หาได้จาก The Florimel และเป็นสิ่งที่คุณมายด์ภูมิใจกับมันเป็นอย่างยิ่ง

“มายด์เป็นคนชอบทำ ลองทำไปเรื่อย ก็ลอง ๆ เรียนรู้ขยายพันธุ์เองทั้ง เสียบยอด ตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ติดตา ไปขอเรียนรู้กับคนที่ทำเกษตรจริงๆ พวกเขาจะมีเทคนิคพิเศษนอกตำราเรียนที่ทำให้เราเรียนรู้จากตรงนั้นได้ ทำให้เราไม่ต้องลองผิดลองถูก หรือเสียเวลากับตรงนั้นมากมาย เหมือนคนปลูกพืชด้วยกันจะพูดภาษาเดียวกันค่ะ กลายเป็นมิตรภาพเป็นเพื่อนเป็นพี่น้องกันไป”

แคฝรั่ง ดอกสวยสีชมพูหวาน ออกดอกดกในช่วงปลายฤดูหนาวเข้าสู่ฤดูร้อน

เข้าใจดินก็ปลูกได้

แน่นอนว่าในการปลูกพืช หนึ่งหัวใจสำคัญก็คือดิน แต่ข้อจำกัดของพื้นที่ก็บีบให้ไม่มีทางเลือกเท่าไรนักกับสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้นั่นคือดินเสียเพราะที่ดินผืนนี้คือไร่อ้อยมาก่อน

“ตอนที่เห็นด้วยตาเนื้อ มายด์คิดว่าดินดีมากเลยค่ะ มีสีดำเลย พอเริ่มมีความรู้กลายเป็นว่าที่ดินดำเพราะเป็นดินเสียที่เกิดจากการเผาอ้อย ก็คิดว่าดินมันอาจจะไม่ไหวที่จะปลูกพืชอื่นๆ จึงปลูกต้นปอเทืองเพื่อฟื้นดินก่อนเป็นอันดับแรก แล้วไถกลบทำปุ๋ย ปลูก 2 รอบด้วยกันค่อยลงต้นไม้”

แต่อีกหนึ่งข้อดีของพื้นที่เกษตรไร่อ้อยคือการมีโรงน้ำตาลอยู่ใกล้ๆ ทำให้มีวัสดุปลูกชั้นเยี่ยมที่ไม่ต้องใช้เงินก็ได้มา นั่นคือเค้กขี้อ้อย หรือ ฟิลเตอร์เค้ก (Filter Cake) โดยใช้ผสมกับมูลสัตว์อย่างมูลวัว มูลแพะ เศษใบไม้ เป็นดินปลูกแบบไม่มีสูตรตายตัว แต่เลือกให้เหมาะกับความชอบของพืชแต่ละชนิด

จัดการน้ำ ให้น้ำดูแลพืช

การจัดการน้ำเพื่อดูแลสวน กลายเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับเกษตรกรมือใหม่ได้ใช้ช่วงเวลาสำรวจตรวจตราในสวนได้ง่ายขึ้น  ผลตอบแทนของการวางแผนที่ดี

“ระบบรดน้ำ มาจากการเริ่มศึกษาก่อน หลักๆ ก็ดูคลิปและเพจต่างๆ ที่เขาเป็นเกษตรกร ไปดูการเลือกปั๊มน้ำให้เหมาะกับขนาดพื้นที่ วิธีคำนวณจำนวนวัตต์ให้เพียงพอ ศึกษาแนวทางการเลือกสปริงเกอร์ เลือกหัวแบบไหน ต้นเล็กก็เลือกหัวผีเสื้อแบบเล็กๆ แต่ถ้าเป็นต้นใหญ่ก็เลือกสปริงเกอร์ใหญ่” คุณเพ็ชรเล่าถึงการก้าวเข้าสู่วงการช่างสปริงเกอร์ และได้บทเรียนจากการลงมือทำสิ่งนี้

“ตอนแรกที่เพ็ชรทำสำหรับรดต้นกล้าผลไม้ นี่เลย เลือกเทปน้ำหยด (หัวเราะ) เพราะเราก็ไม่รู้ว่าน้ำมันจะค่อยๆ หยดที่ละนิดๆ มารู้ทีหลังว่ามันไม่เหมาะกับต้นกล้าไม้ผล มันเหมาะกับพืชไร่ อย่างอ้อย ข้าวโพด หรือพืชระยะสั้นที่ปลูกชิดๆ กัน แต่ก็ใช้อยู่ประมาณ 2 ปีเลยครับ อาศัยรดน้ำด้วยมือช่วยด้วย เป็นประสบการณ์ เป็นครูให้เราเรียนรู้กันไป”

เพราะเป็นการเรียนรู้ใหม่ที่นักแสดงหนุ่มไม่เคยทำมาก่อน จึงเกิดข้อผิดพลาดเสมอ “โชคดีที่เพ็ชรเรียนรู้ไว พอเคยผิดพลาดก็ทำให้เราระวังมากขึ้น รอบคอบมากขึ้น จะทำอะไรจึงต้องคำนวณดีๆ ซื้อของซื้ออุปกรณ์เกินได้แต่อย่าขาดเพราะการกลับไปซื้อใหม่ล้วนเกิดค่าใช้จ่ายจากการเดินทางด้วย”

สวนเพ็ชร ฐกฤต
แปลงสวนครัวและเล้าไก่

ปลูกอาหารปลอดภัย ต้องเข้าใจพื้นที่

ลม เป็นหนึ่งเหตุผลสำคัญของการตัดสินใจเลือกพื้นที่แห่งนี้ แต่ในข้อดีก็มีข้อด้อย เพราะลมหากแรงมากไป ต้นไม้ในสวนก็ยากจะต้านทาน

สวนเพ็ชร ฐกฤต
แนวต้นไม้กันลม ไล่เป็นระดับชั้น

“เราเลือกปลูกต้นไม้ใหญ่เป็นแนวลดแรงลม หรือ windbreak ก่อนเลยค่ะ ศึกษาดูว่าต้องระดับชั้นอย่างไรให้เกิดเป็นแนวรั้วที่ กันไฟ กันควัน กันเคมีจากแปลงพืชไร่ข้างๆ ที่สำคัญคือเบรกแรงลมเพราะที่นี่ลมแรงมาก และช่วยบังสายตาจากหมู่บ้านด้วยค่ะ พี่เพ็ชรก็เลือกชั้นแรกเป็นต้นสนประดิพัทธ์ก่อนเลยค่ะ เขาชอบมาก ระดับต่อมาก็เป็นกระถินณรงค์ ไผ่ แล้วค่อยเป็นไม้ผลที่เราทาน” คุณมายด์เล่า

สวนเพ็ชร ฐกฤต

“ส่วนแปลงผักสวนครัวที่เราทานและเล้าไก่ก็เลือกให้อยู่ไกลจากแปลงพืชไร่ข้างๆ อย่างที่บอกว่าเราต้องระวังตัวเราเองปรับตัวให้อยู่กับชุมชนให้ได้ วางแผนให้แต่ละจุดในสวนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต้องยอมรับว่ามันเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องใช่เคมีบ้าง อย่างการปลูกกุหลาบที่เราชอบมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเป็นอินทรีย์ 100% จึงต้องเลือกที่ใช้งานแล้วปลอดภัย ไม่ทำลายสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อย่างพวกแมลง ผึ้ง ชันโรง แตน กระรอก และนกต่างๆ ที่เข้ามาอยู่ในสวนของเรา”

แปลงผักสวนครัวจากสองแรงที่ลงมือทำเองตั้งแต่วางผังเลย์เอ๊าท์ เลือกอิฐมอญค่อยๆ ก่อทีละแปลง ออกแบบเล้าไก่เลือกตำแหน่งที่เหมาะ รวมถึงพันธุ์ไก่ที่เลี้ยงก็จะเป็นในแบบที่ชอบ ไม่ว่าจะเป็น บราม่า บราพลีมัทร๊อค อีสเตอร์เอ็กเกอร์ ซึ่งให้ความสวยงามและไข่ไก่ที่มีสีสันหลากหลาย

สวนเพ็ชร ฐกฤต
บ้านเขียว พื้นที่รับรองแขก

บ้านเขียว ส่วนเติมให้เต็ม 10

“จังหวะที่เหมาะเจาะทำให้มายด์ได้ที่ดินข้าง ๆ เพิ่มมาอีก 4 ไร่ค่ะ รวมกันเป็น 10 ไร่พอดี พอเรามีประสบการณ์จากแปลงแรกเลยจัดการกันได้ง่ายขึ้น เริ่มจากการถมดินก็เลือกหน้าดินที่มีคุณภาพหน่อยเป็นหน้าดินชั้นบนๆ ปลูกต้นไม้ได้ง่ายขึ้น ตั้งใจจะเพิ่มช่องทางให้ฟาร์มสามารถทำเงินได้ พี่เพ็ชรก็อยากทำให้เป็นสถานที่จัดเลี้ยง หรือเป็นลานแคมป์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรืออาจจะเป็นคาเฟ่ในแบบที่เราจัดการกันไหว ให้ฟาร์มสามารถทำรายได้ด้วยตัวของมันเองได้ค่ะ”

สวนเพ็ชร ฐกฤต

บ้านสีเขียวโอลีฟที่ล้อมด้วยสวนแนวอิลลิชคอตเทจกลายเป็นบ้านพักแขกคอยต้อนรับเพื่อนฝูงในระหว่างพัฒนาพื้นที่ ซึ่งความฝันนี้จะเกิดขึ้นต้องใช้เวลา กำลังทุนกำลังแรง จึงกลายเป็นฝันที่ไม่มีกำหนดการ แต่รูปร่างที่เห็นตอนนี้ไม่น่าจะใช่เรื่องไกลที่คุณเพ็ชรและคุณมายด์จะทำมันสำเร็จได้

สวนเพ็ชร ฐกฤต

ความสุข ความฝัน ของหัวใจที่ไม่ต่างกัน

ความสุขส่งท้ายก่อนเดินทางมาถึงตอนจบของบทความอันยาวเหยียดนี้ แววตา รอยยิ้มของคนทั้งคู่ได้เติมพลังบางอย่างได้อย่างน่าอัศจรรย์

“สำหรับมายด์ The florimel คือความฝันเลยค่ะ มายด์เติบโตมาในครอบครัวชาวสวน แต่ก็เป็นพื้นที่ของเขาที่ทำกันมาพอเราจะไปเปลี่ยนให้เป็นไปตามฝันของเราก็ไม่ใช่ มาทำตรงจึงเป็นการได้ทำในแบบที่เราชอบจริงๆ ได้เลือก ได้ทำในแบบที่เราชอบทั้งหมดและมีความสุขมาก ๆ ที่ใคร ๆ ได้ชิมผลผลิตที่มันแปลกใหม่ แล้วเขารู้สึกว่ามันว้าว มายด์ไม่เคยเหนื่อยเลยกับการที่ได้เดินพาทุกคนเดินทัวร์สวน มีผลผลิตให้เขาชิม คนชิมก็ตื่นเต้น สนุก ประทับใจ เราก็มีความสุขส่วนนึงที่เราเป็นทั้งผู้ให้แล้วก็ผู้รับ แบ่งปันความสุขให้กับคนอื่น ได้ก้าวผ่านในสิ่งที่หลายคนอาจจะมองว่าเราทำไม่ได้ แต่เราทำได้ ที่นี่คือความภาคภูมิใจ ทั้งหมดมันคือสิ่งที่อยู่ในก้นลึกของตัวมายด์ มันคือตัวตนของมายด์จริงๆ “

“เรามีความคิดเดียวกันครับ ทั้งเพ็ชรและน้องมายด์เรามอง The florimel เป็นเป้าหมายเดียวกันคือสร้างความสุข เป็นพื้นที่ของความภูมิใจ ไม่ได้มองว่าจะต้องเป็นเชิงพานิชย์ที่ลงทุนไปต้องได้กำไรกลับมา เมื่อก่อนต้องยอมรับว่าเพ็ชรไม่ได้มีฝันทางด้านนี้ ไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับการทำสวน พอเราได้เปิดใจ เราก็รู้สึกมีความสุข มันเหนื่อยมากนะครับ แต่ก็เป็นความสุขที่ท้าทายมากสำหรับคนที่นับหนึ่งในด้านนี้ สุดท้ายก็ทำเป็นทุกอย่าง มันเปลี่ยนความคิดเรา เราได้เป็นส่วนหนึ่งของความฝันของน้องมายด์ เป็นส่วนหนึ่งของ The Florimel ที่เราสร้างมาด้วยกัน  ประสบการณ์นี้มันมีเรื่องเล่า กว่าจะเป็นภาพที่เห็นนี้เหนื่อยแค่ไหน ให้มันเป็นเรื่องที่เราสามารถเล่าให้ลูกหลานฟังได้อย่างภูมิใจครับ” คุณเพ็ชรกล่าวทิ้งท้าย

สวนเพ็ชร ฐกฤต

เรื่อง JOMM YB

ภาพ นันทิยา บุษบงค์ ,สุรเชษฐ์ แปรกิ่ง

เรื่องเล่าจาก สวนผักบนดาดฟ้า ห้องทดลองปลูกของ “แพรี่พาย”

ในสวนลับที่เป็นสวนรักของแม่และลูก ที่ White House Forest KORAT

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm