ศูนย์เรียนรู้ แห่งนี้ เป็นหน่วยงานหนึ่งของสถานบันเทคโนโลยีจิตรลดา ที่ตั้งอยู่ใน ตำบลป่ายุบใน อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่สนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาด้านวิชาเกษตรกรรม สาขาวิชาเกษตรนวัต (Innovative Agriculture) ซึ่งภายในมีพื้นที่กว่า 154 ไร่ ประกอบไปด้วย พื้นที่ป่านิเวศ แปลงไม้ผลเศรษฐกิจ สวนสมรม แปลงทดลองปลูกกาแฟ โรงเรือนปลูกพืช และแปลงปลูกยางพารา
เพื่อรองรับนักเรียนในหลักสูตรทวิศึกษาร่วมกับหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายกับโรงเรียนวังจันทร์วิทยา ในการนำความรู้จากภาคทฤษฎีมาควบคู่กับการปฏิบัติจริง สู่การเป็น Smart Farmer อย่างเต็มตัว และเกษตรกรที่เป็นผู้ปกครองของนักเรียนก็ได้เข้าร่วมโครงการเช่นกัน ช่วยให้มีพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น ได้ความรู้จากการเรียนการสอนภายใน ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต อีกทั้งการเพาะปลูกภายในก็เป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด เพื่อลดการใช้สารเคมี ลดต้นทุน และเป็นตัวอย่างให้กับชาวบ้าน

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์เรียนรู้ เกษตรนวัต กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมทั้งได้รับการสนับสนุนส่งเสริมการทำวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตรกับเครือข่ายองค์กรต่างๆ ทั้งกับภาครัฐและเอกชน รวมถึงทางศูนย์เองก็มีบริการวิชาการด้านการเกษตรให้กับบุคคลภายนอกที่สนใจอีกด้วย

แปลงไม้ผล พืชเศรษฐกิจภาคตะวันออก พื้นที่ 40 ไร่
เป็นสวนผลไม้ที่เน้นเป็นไม้ผลจากภาคตะวันออก เนื่องจากมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีมูลค่าการส่งออกสูง จะแบ่งเป็นแปลงผสม และแปลงเชิงเดี่ยว แปลงผสม ประกอบไปด้วย กล้วยน้ำว้ามะลิอ่อง มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มังคุด ขนุนทวายปีเดียว ขนุนจำปาดะ ขนุนทองประเสริฐ ส้มซ่า ลองกอง เงาะโรงเรียน เงาะสีชมพู มังคุด แล้วพอสังเกตจะเห็นได้ว่าจะมีการปลูกกล้วยเป็นพืชพี่เลี้ยงเพื่อช่วยให้เป็นร่มเงา และยังสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงที่ผลไม้ยังไม่ออกผลผลิต


ส่วนแปลงเชิงเดี่ยว ประกอบไปด้วย ทุเรียนหมอนทอง ก้านยาว ชะนี พวงมณี พร้อมทั้งติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ แร่ธาตุ ความชื้นในดิน และสภาพอากาศ เพื่อวางใช้ในการวางแผนการปลูก ซึ่งอยู่ติดกับแปลงทดลองเพื่อให้นักเรียนได้ลองปฏิบัติ รวมถึงเรียนรู้เรื่องโดรนเพื่อการเกษตร

พื้นที่ป่านิเวศ แปลงไม้หอม ป่าแนวป้องกัน พื้นที่ 20.45 ไร่ ภายใน ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต
ที่ศูนย์ฯมีการออกแบบพื้นที่ให้มีป่าล้อมรอบเป็น Buffer Zone เป็นแนวกันลมสำหรับแปลงเกษตรด้านใน ช่วยให้ช่วงที่มีลมแรงกันลมไม่ให้ไม้ผลโค่น ซึ่งเป็นแนวกันลมในรูปแบบการปลูกป่านิเวศโดยใช้ทฤษฎีของ ศ.ดร.อาคิระ มิยาวากิ ที่สร้างเนินดินปลูกต้นไม้ให้ถี่เพื่อให้แข่งขันกันโต ปลูกต้นไม้ให้แน่นและมีหลายชั้นเรือน


โดยเลือกใช้เป็นไม้ท้องถิ่นในภาคตะวันออก และรวบรวมพันธุ์ไม้หลากหลายไว้ด้วยกัน แต่จะไม่มีพันธุ์ไม้ต่างประเทศ และในอนาคตถ้าไม้ป่าเจริญเติบโตพอก็จะนำเมล็ดไปเพาะพันธุ์เป็นรายได้อีกเช่นกัน และเพื่อให้พื้นที่ตรงนี้ก็เป็น Low Carbon Society เป็นศูนย์เรียนรู้คาร์บอนต่ำ โดยป่าจะดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เอาไว้

สวนสมรม พื้นที่ 3.46 ไร่ ภายใน ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต
สมรม มาจากภาษาใต้ แปลว่า ผสมรวมกัน เป็นภูมิปัญญาของชาวสวนภาคใต้ในการปลูกพันธุ์ไม้ หลายชนิดที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ ประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ สวนครัวสมรม สวนยกร่องสมรม ไม้ผลสมรม และป่าสมรม
สวนครัวสมรม ใช้ปลูกผักสวนครัว ได้แก่ ขี้เหล็ก มะละกอ มะเขือ พริก กะเพรา ฟักทอง
สวนยกร่องสมรม เป็นภูมิปัญญาการปลูกจากภาคกลางที่มีการยกร่องขึ้น ระหว่างร่องจะมีการให้น้ำเพื่อกักเก็บความชื้น พืชที่ปลูกได้แก่ กระท้อน ขนุน ชมพู่ มะม่วง มะกอกน้ำ มะกรูด มะนาว

ไม้ผลสมรม ปลูกเป็นไม้ผลเศรษฐกิจและทุเรียนพันธุ์พื้นบ้าน แซมด้วยพืชสมุนไพรชนิดต่างๆ
ป่าสมรม ไม้ป่าและสมุนไพรต่างๆ ที่ชาวบ้านสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้มารวมไว้ ประกอบไปด้วย 3 ชั้นเรือนยอด ไม้พื้นล่างเป็นพวกว่านและสมุนไพรต่างๆ ไม้ชั้นกลาง ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สะตอ สะเดา กระโดน ไม้ยืนต้นขนาดสูง ยางนา สัก และจะมีป้ายพันธุ์ไม้ที่บ่งบอกชื่อไว้ด้วย

แปลงทดลองปลูกกาแฟสองสายพันธุ์ พื้นที่ 11.75 ไร่
เดิมทีพื้นที่ตรงนี้เป็นสวนยางพาราจึงให้ต้นยางพาราเป็นร่มเงาแก่ต้นกาแฟ โดยมีการทดลองปลูกกาแฟ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ โรบัสต้ากับอาราบิก้า เป็นการทดลองว่าพื้นที่ตรงนี้สามารถปลูกได้ไหม ซึ่งพบว่า กาแฟสายพันธุ์อาราบิก้าสามารถเจริญเติบโตได้ ส่วนโรบัสต้าสามารถเจริญเติบโตได้มากกว่า เนื่องจากมีสภาพอากาศคล้ายกับภาคใต้แต่ปริมาณน้ำฝนจะน้อยกว่า ผลผลิตที่ได้ยังไม่เยอะมากจึงต้องมีการพัฒนาต่อไป ส่วนผลผลิตกาแฟที่ได้ก็จะนำเข้าสู่กระบวนการแปรรูป


นอกจากนี้ยังมีโครงการบริการวิชาการให้ความรู้กับ นักเรียนสาขาเกษตรนวัตและชาวบ้านโดยรอบศูนย์ฯ มาเรียนรู้วิธีการปลูก การดูแล การแปรรูป ซึ่งมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการแปรรูปกาแฟมาให้ความรู้ เพื่อชาวบ้านสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้

โรงเรือนปลูกพืช แปลงสร้างรายได้ พื้นที่ 4.5 ไร่
มีโรงเรือนทั้งหมด 14 โรงเรือน ประกอบไปด้วย โรงเรือนเพาะกล้า 4 โรงเรือน และ โรงเรือนปลูกพืช 10 โรงเรือน โดยพืชที่ปลูกประกอบไปด้วย มะเดื่อฝรั่ง บัทเตอร์นัท เห็ดฟาง ผักต่างๆ ซึ่งโรงเรือนทั้งหมด จะให้เกษตรกรที่อยู่ใกล้ศูนย์ฯ เข้ามาปลูกพืชผักโดยทางศูนย์ฯก็จะสนับสนุนโรงเรือนและอุปกรณ์ต่างๆ ส่วนที่เหลือก็เป็นหน้าที่ของเกษตรกรที่ต้องลงทุนในวัสดุปลูกพืช เมล็ดพันธุ์ รวมถึงดูแลพืชที่ปลูกเอง


โดยผลผลิตที่ได้เกษตรกรก็สามารถนำไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้ โดยที่ไม่ต้องหักค่าเช่าให้กับทางศูนย์ฯ เฉกเช่นเดียวกันกับ คุณย่าหล่น ไสว ชูนวน เกษตรกร ผู้ปกครองของน้องบีม อนาวิล ชูนวน นักเรียนที่เรียนอยู่ในสาขาเกษตรนวัต และกำลังเรียนอยู่ในระดับชั้น (ปวส.) ซึ่งตอนนี้กำลังปลูกคะน้า กวางตุ้ง บ๊อกฉ่อย ผักชี ต้นหอม

น้องบีมเล่าว่า “ข้อดีของการปลูกในโรงเรือนช่วยให้พืชผักสามารถปลูกได้ในช่วงที่สภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม รวมถึงป้องกันสัตว์ปีกไม่ให้เข้ามาจิกกินผลผลิตเสียหาย ผลผลิตที่ได้ก็รวมกลุ่มกันไปจำหน่ายสินค้าที่สวนจันอินทร์ และก่อนปลูกจะดูตามปฏิทินปลูกผักและคำนวณระยะเวลาการเก็บเกี่ยวเพื่อให้ตรงกับช่วงฤดูกาลของผัก ก็จะช่วยให้สภาพแวดล้อมเหมาะสมกับพืชผักชนิดนั้นๆ แล้วยังดูแลง่ายอีกด้วยครับ”

แปลงปลูกยางพารา ต้นแบบภาคตะวันออก พื้นที่ 47.55 ไร่
เปิดให้เกษตรกรที่อยู่ใกล้เคียงสามารถเข้ามากรีดยางได้และแบ่งรายได้กันระหว่างเกษตรกรกับศูนย์เรียนรู้ฝ่ายละ 50% ซึ่งภายในสวนมีนวัตกรรมที่ช่วยการเก็บเกี่ยวยางพาราด้วย หมวกยางพารา ช่วยให้สามารถเก็บยางพาราได้ในช่วงฤดูฝน ส่งผลให้เพิ่มรายได้และผลผลิตได้

นอกจากนี้มีการศึกษาการเก็บคาร์บอนของต้นยางพารา โดยใช้ความยาวเส้นรอบวงและความสูงของต้นเพื่อนำไปคำนวณปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้ และในอนาคตจะมีการปลูกพืชใต้ร่มต้นพารา ประกอบไปด้วย ต้นโกโก้ ต้นดาหลา ต้นกระวาน ต้นเรียวหอม เพื่อใช้พื้นที่ภายในสวนยางพาราให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

อาคารเรือนไม้ผลภายใน ศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต
ออกแบบไว้เพื่อนำผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้มาพักรอสำหรับเตรียมจัดส่ง และอีกส่วนหนึ่งก็มี พาราโบลาโดม ที่ใช้แสงอาทิตย์ในการตากผลผลิตและควบคุมอุณหภูมิ ที่ผ่านมาก็ได้มีการตากเมล็ดกาแฟ เมล็ดมะม่วงหิมพานต์ รวมถึงทำกล้วยตาก

สวนจันอินทร์ by ลุงเดือน ต.ป่ายุบใน
เป็นสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตร ที่อยู่ภายนอกศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเกษตรกรในพื้นที่นำสินค้ามาวางจำหน่าย สินค้ามีทั้งผักผลไม้ให้เลือกซื้อกันผ่านเฉพาะหน้าร้านเท่านั้น โดยกลุ่มลูกค้าจะเริ่มบอกต่อกันและก็เริ่มมีลูกค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น จนบางครั้งก็โทรมาสั่งให้เก็บเอาไว้ก็มี เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของเกษตรกรที่ปลูกและจำหน่ายผักอินทรีย์ให้กับชุมชนชาวบ้านใกล้เคียงได้ทานผักที่สะอาดปลอดภัย

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ คุณโทนี่ – สุวิทย์ นะวะคำ พนักงานบริหารความยั่งยืนอาวุโส บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) คุณกานดา ไทรฟัก และทีมงานศูนย์เรียนรู้เกษตรนวัต ที่พาพวกเราให้ไปรู้จักสถานที่แห่งนี้ อีกทั้งยังเป็นแหล่งสะสมความรู้ พร้อมต่อยอดให้กับนักเรียนสาขาเกษตรนวัต เกษตรกร ชาวบ้าน รวมถึงบุคคลภายนอกอีกด้วย
สำหรับใครที่สนใจก็สามารถทำหนังสือขอเข้าชมสถานที่ได้ทางอีเมล์นี้ได้ครับ [email protected]
เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม
เปิดเส้นทางไม้ดอกไม้ประดับไทยสู่เวทีโลก โดย มาลัยวิทยสถาน
คูโบต้า ฟาร์ม ฟาร์มสมัยใหม่ที่พร้อมสร้างประสบการณ์ทำเกษตรแบบ Smart Farming