สวนครัวหน้าบ้าน ที่ปลูกอาหารกายให้เป็นอาหารใจ

“สวนมันคือ Expression ของตัวเรา” คือคำนิยามที่คุณปุ๋ม รศ.ดร. ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์ นักปลูกผู้สร้างสรรค์ สวนครัวหน้าบ้าน แห่งนี้บอกกับเรา กับตัวตนในอีกบทบาทนอกเหนือจากตำแหน่งนักวิชาการ อาจารย์ ผู้เขียนหนังสือมรณาครวิถี เรื่องราวของความตายที่ซ่อนนัยยะความเหลื่อมล้ำของสังคม

สวนครัวหน้าบ้าน นี้ผ่านมาหลายรูปแบบ ทั้งสวนอังกฤษ สวนบาหลี สวนกุหลาบ แต่วันนี้ “สวนครัวกินได้” คือคำตอบของเธอที่กลมกล่อมไปกับช่วงเวลา ไลฟ์สไตล์และประโยชน์การใช้งานซึ่งลื่นไหลเป็นเรื่องเดียวกัน

สวนครัวหน้าบ้าน

ดอกฟ๊อกโกล์ฟช่อดอกสีม่วงนวลนุ่ม เอสเตอร์สีม่วงสดดอกเล็กตะมุตะมิ เยอบีร่าโทนแดงชมพูปลูกแซมอยู่กับพืชผักสมุนไพรในแปลงอิฐก่อโชว์แนว สอดแทรกด้วยกล้วยไม้ดินที่ทำตัวกลมกลืนกับโรสแมรี่ พืชผักที่ผสมผสานอย่างไร้แบบแผนแต่เล่นระดับได้อย่างดีเยี่ยม รวมเป็นภาพสวนสไตล์อิงลิชคอตเทจ และบอกเล่าตัวตนของคนปลูกได้อย่างเด่นชัด

“Urban Cottage Farm” คือชื่อเรียกสวนครัวแห่งนี้ สวนครัวที่ไม่ได้แค่ทำหน้าที่เป็นอาหารกาย แต่ยังต้องเป็นอาหารใจให้กับสมาชิกในบ้าน (รวมถึงเพื่อนบ้านด้วย) และยังรับบทเป็นโลกทดลองใบเล็กให้กับน้องปลื้ม ปลื้มปิติ ศรีรัตนบัลล์ ลูกชายของคุณปุ๋มกับความชอบที่เป็นดั่งเงาสะท้อนของตัวเธอเอง น้องปลื้มสนุกกับการปลูกมะเขือเทศและลองปลูกตั้งแต่พันธุ์ลูกเล็กจิ๋วไปจนถึงลูกใหญ่สุดบิ๊ก ทั้งยังทดลองเปลี่ยนสีมะเขือเทศให้ได้ผลที่แตกต่างออกไป

สวนครัวจึงเป็นเหมือนพื้นที่สวนกลางของสองแม่ลูกภายใต้แรงสนับสนุนของคุณโจ รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ ที่แม้จะดำรงตำแหน่งหน้าที่เป็นรองคณบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แต่ในบทบาทของการทำสวนคุณโจคือหน่วยเสริมกำลังทรัพย์และกำลังใจสำคัญในการปลูกผักสวนครัวของบ้าน

ideas

ต้องมีสมุนไพรไทยและเทศ ใน สวนครัวหน้าบ้าน

เพราะครอบครัวเราเป็นครอบครัวที่อยู่ติดบ้านกันเก่งมากๆ ค่ะ ทั้งพี่โจและตัวพี่เอง เราใช้บ้านเป็นที่พักผ่อน ทำงานหนักกลับมาก็รีแล็กซ์กันที่บ้าน ทำอาหารทานกันเอง บางครั้งก็มีสังสรรค์ เราจึงให้ความสำคัญกับบ้านและสวนมากๆ มันก็สะท้อนความชอบของพี่เองที่รักการปลูกต้นไม้ ตอนซื้อบ้านหลังนี้เมื่อเกือบ 20 ปีทีแล้วก็ดูตำแหน่งทิศแสงก่อนว่าปลูกต้นไม้ได้ไหม มีแสงแดดเพียงพอหรือเปล่า โชคดีที่บ้านนี้มีแสงเข้าทั้งปีเลยค่ะ จะเปลี่ยนตำแหน่งตามฤดูกาล จึงปลูกต้นไม้ได้ สวนรอบบ้านเราก็ออกแบบกันเองด้วยค่ะ ตอนแรกก็เป็นสวนบาหลีมีบ่อปลาสระน้ำ แต่พอมีน้องปลื้มกลัวว่าเขาจะพลัดตกสระจึงเปลี่ยนเป็นสวนสไตล์อังกฤษ ปลูกกุหลาบรอบๆ เลยค่ะ

“แต่พอช่วงที่เกิดโควิด การออกไปซื้ออาหารที่ซุเปอร์มาร์เก็ตก็เป็นเรื่องยาก แล้วเราเป็นครอบครัวที่ชอบทำอาหารทานเอง การจะหาวัตถุดิบมาใช้จึงไม่ง่าย จึงเริ่มหันมาปลูกผักทานเองกันค่ะ อยากน้อยๆ ก็ควรมี กะเพรา โหระพา พริก เพราะพี่ชอบทานเผ็ดมากๆ จะขาดพริกไม่ได้เลย จึงลุกขึ้นมาทำสวนให้เป็นสวนสมุนไพรค่ะ ไม่ใช่แค่สมุนไพรไทยผักไทยนะคะ แต่ยังมีสมุนไพรฝรั่งเพื่อใช้เป็นเครื่องเทศในการทำอาหารฝรั่งด้วย”

เรื่องราวที่คุณปุ๋มถ่ายทอดชวนให้ย้อนกลับมาชมสวนหน้าบ้าน แปลงอิฐก่อที่ทำหน้าที่คล้ายแจกันที่มีสมุนไพรฝรั่ง ผักไทยพื้นบ้าน คละเคล้าไปกับดอกไม้ที่ออกดอกสดใสขโมยซีนเก่งไม่เบาทีเดียว

ออกแบบเอง ปลูกเอง ทานเอง

ด้วยแพชชั่นที่รักการปลูกต้นไม้ การทำความเข้าใจธรรมชาติของพืชผักสวนครัวจึงไม่ใช่เรื่องยาก และเมื่อเริ่มวางแปลนเลย์เอาต์ จัดตำแหน่งให้พืชผักอยู่เป็นหมวดหมู่ ปริมาณของแสงแดดจึงเป็นเหมือนคำพิพากษาที่ใช้ชี้วัดว่าตรงไหนควรปลูกอะไร

“พอเรารู้ตำแหน่งของแสงแดดก็เป็นเรื่องง่ายในการออกแบบสวนครัวเองค่ะ พี่จะเน้นปลูกในกระถางกับกระบะ เพราะจัดการง่ายดูแลง่าย อย่างพวกผักในกระถางก็จะยกวางในตำแหน่งที่มีแสงแดดส่องถึงเรียกว่าหมุนตามแสงไปเลยค่ะ แต่ละฤดูก็จะเห็นการจัดวางต่างออกไป ส่วนที่ยึดติดตายก็จะเป็นแปลงอิฐค่ะ เราก็หาไอเดียในอินเตอร์เน็ตบ้าง ไปเจอมาจากที่อื่นบ้าง จะแอบมีกลิ่นอายอังกฤษอยู่นิดๆ อาจจะพราะอิฐที่แปะอยู่ทั่วบ้านซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่เข้ากับบ้านเรา”

ideas

แปลงอิฐจากแบบร่างสเก็ตช์ของคนวาดรูปไม่เก่ง ผ่านมือช่างเพียง 1 คนก่อร่างให้เป็นแปลงปลูกผักรอบบ้าน เล่นระดับสูงต่ำให้ดูมีมิติเพราะพื้นที่ค่อนข้างจำกัด วางตำแหน่งให้ชิดริมรั้วเพื่อให้สวนดูกว้างขึ้น จากนั้นกรุ๊บชนิดผักให้ปลูกด้วยกันได้อย่างเหมาะสม ชนิดที่มีฟอร์มทรงพุ่มอย่างมะเขือพวง มะนาว เลมอน จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกันไม่ให้บดบังแสงแดดผักอื่นๆ ผักทรงต้นเตี้ย ผักล้มลุก ผักกินใบ ต้องการแสงมากให้อยู่ในมุมข้างบ้านแซมกับดอกไม้สีสดใส ทำหน้าที่ต้อนรับแขกที่ใครเห็นก็ต้องละสายตาไม่ได้

สวนครัวหน้าบ้าน

คุณปุ๋มเล่าต่อด้วยว่าสำหรับคนที่ชอบสวนจะเข้าใจฟิลลิ่งการเดินเข้าสวนเก็บผักมาประกอบอาหาร มีผักสวนครัวหลายชนิดที่ซื้อมาทำกับข้าวแล้วนำมาปลูกต่อ ปักชำไว้ในดินดูแลให้เติบโตแล้วเก็บไปทำอาหารได้อีกครั้ง หากวันนี้อยากกินแกงไก่ อยากได้แกงสักหม้อ จะเป็น ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด พริก ก็ออกไปเก็บในสวนได้ทันที โดยเฉพาะพริก เป็นอะไรที่เธอชอบมากต้องมีติดบ้านไม่ว่าจะพริกชี้ฟ้า พริกหนุ่ม พริกจินดา พริกกะเหรี่ยง พริกขี้หนู พริกเจ็ดสี ที่ได้ทั้งรับประทานและตกแต่งสวน

สวนครัวหน้าบ้าน

โรสแมรี่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก

“เรื่องต้นไม้พี่เจ็บมาเยอะ ก่อนหน้านี้ก็ปลูกกุหลาบในสวนอังกฤษทั้งดูแลยาก โรคเยอะ ค่าใช้จ่ายก็สูง แต่มันก็เป็นความสุขช่วงนั้นนะคะ พอมาปลูกผักสวนครัวก็ต้องนี่เลย โรสแมรี่ เป็นสมุนไพรที่ชอบมากค่ะ ใช้ทำอาหารและตกแต่งเครื่องดื่ม ตกแต่งเค้ก เราก็ลองผิดลองถูกมาเยอะเรียกว่าล้มลุกคลุกคลานก่อนจะปลูกได้งามแบบนี้ หากปลูกแล้วไม่รอดก็ลองเปลี่ยนวิธีปลูกใหม่ๆ ค่ะ แล้วก็ได้ผล เซตในแปลงนี้ปลูกมา 2 ปีแล้วยังงามอยู่เลยค่ะ”

สูตรลับที่ค้นพบในการปลูกโรสแมรี่ของคุณปุ๋มคือวัสดุปลูก ที่ต้องโปร่งระบายน้ำได้ดี โดยใช้ทรายหยาบรองก้นกระบะ 1/3ส่วน จากนั้นคลุกเคล้า 2 วัสดุปลูกคือกาบมะพร้าวสับ 3 ส่วน ดินปลูก 1 ส่วน ให้เข้ากันก่อนลงปลูกโรสแมรี่ เลือกตำแหน่งปลูกที่ได้รับแสงเต็มวัน ปลูกผสมกับสมุนไพรฝรั่งอื่นๆ ทั้ง เสจ ทารากอน ไธม์ ลาเวนเดอร์ ส่วนผักกินใบจะสลับสับเปลี่ยนตามฤดูกาล อย่างเคลไดโนเสาร์ สวิสชาร์ด กรีนคอส กะหล่ำใบ ผักบุ้ง คะน้า โดยมีน้องปลื้มทำหน้าที่เป็นแผนกเพาะกล้าและเลือกสรรเมล็ดพันธุ์มาทดลองปลูก ทั้งยังเป็นหน่วยผลิตปุ๋ยฮอร์โมนไข่สำหรับบำรุงผักในสวนด้วย

นักทดลองปลูกนานามะเขือเทศ

บอร์ดกระดานดำเขียนชื่อมะเขือเทศพันธุ์ต่างๆ ด้วยลายมือของเด็กชายนักทดลองปลูกของบ้าน ไล่ตั้งแต่พันธุ์ที่เล็กที่สุดอย่าง Tomberry หรือพันธุ์ยอดฮิตอย่าง Tiny Tim ไปจนถึง Big Zac ที่มีน้ำหนักได้ถึง 2.5 กิโลกรัม ข้อมูลที่เกิดจากการค้นคว้าและลงมือปลูกจริง ด้วยความหวังว่าสักวันจะปลูกให้ได้ผลใหญ่โตได้สำเร็จในเมืองไทย

“จำไม่ได้ว่าชอบปลูกผักตอนไหนครับ น่าจะตั้งแต่เป็นเด็กมีความฝันว่าอยากปลูกผักกินเอง เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงเป็ดแบบนี้ครับ แล้วได้ลองปลูกผักเองก็ไม่ยากครับ เราก็แค่เอาเมล็ดฝังลงดิน แล้วก็รดน้ำให้มัน ทิ้งไว้ 2-3 วัน ถ้าพ่นฮอร์โมนไข่เดี๋ยวมันจะโตขึ้นครับ” คำตอบของเด็กชายเมื่อถามย้อนถึงที่มาของความชอบซึ่งไม่ได้เห็นบ่อยๆ ในช่วงเด็กวัยเดียวกันนัก คุณโจผู้เป็นพ่อยืนยันได้ว่าความชอบของน้องปลื้มถ่ายโอนโคลนนิ่งคุณปุ๋มมาแบบชนิดที่เรียกว่า สำเนาถูกต้อง

“เหมือนเป็นสิ่งที่ลูกชอบ พอเราทำสวน ไปซื้อต้นไม้ ก็ชวนเขาไปด้วยเขาก็สนุกได้ไปคุยกับพ่อค้าแม่ค้า ตอนนี้โตขึ้นก็ช่วยงานที่ต้องใช้แรงได้ มีมาขอทำด้วยบ้างแต่ก็ทำเละนะคะ (หัวเราะ) เพราะเด็กผู้ชายมือเขาจะหนักค่ะ พี่ก็มีความรู้สึกว่าคนในเจเนอร์เรชั่นนี้ พวกเขาพูดถึงความยั่งยืนกันแล้ว อย่างเขาทำโปรเจ็ควิทยาศาสตร์ที่โรงเรียนเขาก็จะคิดว่า “แม่เราต้อง Grow Food” เขาก็เลือกทำชุดปลูกผักตั้งชื่อว่า “ฟาร์มคิดดี” แล้วตั้งใจจะเอาไปแจกเพื่อนเขาในวันปีใหม่ มีแถมไข่ให้ด้วย 1 ฟอง อะไรแบบนี้ค่ะ” 

ไม่เพียงเท่านั้น อีกหนึ่งความสนใจของน้องปลื้มคือสูตรปุ๋ยฮอร์โมนไข่ที่ศึกษาวิธีทำเพื่อนำมาทดลองใช้กับต้นมะนาวซึ่งติดดอกแต่ไม่ติดผล เริ่มจากทดลองหมักโดยใช้ไข่ไก่ 1 ฟอง นมเปรี้ยวขวดเล็กหรือใช้โยเกิร์ตแทนก็ได้เช่นกัน ใช้น้ำตาล 3 ช้อนโต๊ะ ตีผสมให้เข้ากันหมักทิ้งไว้ 2-3 วัน หากนำไปใช้จะต้องผสมกับน้ำอย่างน้อย 1.5 ลิตร ความเข้มข้นขึ้นอยู่กับความต้องการใช้ ฉีดพ่นทั้งใบ ดอก ผล ซึ่งน้องปลื้มมีแผนจะให้ไก่และเป็ดที่เลี้ยงได้กินเพื่อบำรุงเร่งการเติบโตได้ด้วย

แผนการทดลองขยายพันธุ์ไก่และเป็ด

ไก่แจ้ ไก่ตัวเล็กจิ๋วที่มีขนสีสันสดใสและคนไทยมักติดภาพไก่แจ้ขันเสียงดังจนอาจจะเกิดการรบกวนเพื่อนบ้านได้ แต่ไก่แจ้ที่น้องปลื้มเลี้ยงกลับไม่ส่งเสียงรบกวนเลยสักนิด

“ไก่แจ้ตัวผู้จะไม่ขันรบกวนครับหากไก่ตัวเมียมีจำนวนมากกว่า มันไม่ต้องขันเพื่อเรียกร้องความสนใจจากตัวเมียสนใจครับ” น้องปลื้มเล่าเคล็ดลับในการเลี้ยงไก่ของเขา

“ตอนไปเลือกลูกเจี๊ยบ คนขายก็บอกว่าชุดนี้ไก่ตัวเมียทั้งหมด แต่ปลื้มเขาก็ดูออกค่ะว่าอันไหนเป็นตัวผู้ตัวเมียแล้วมีตัวผู้ติดมาด้วย 1 ตัวแต่ไม่ยอมบอกแม่เพราะอยากได้ตัวผู้มาผสมพันธุ์ให้ได้ลูกเจี๊ยบ กลายเป็นว่ามาถึงบ้านจึงเฉลยให้แม่รู้ เราก็ต้องเลยตามเลย เป็ดก็ด้วย เราเลยมีทั้งเป็ดตัวผู้และไก่ตัวผู้เลี้ยงในสวน แล้วปลื้มเขาก็ได้ทดลองฟักไข่แบบที่เขาอยากทำจริงๆ ” คุณปุ๋มเล่า

ไก่แจ้ตัวเล็กปุ๊กปิ๊กเป็นสีสันในสวน ผลิตไข่ให้เก็บทานได้ทุกวัน ทั้งยังทำหน้าที่กำจัดขยะอาหารบางชนิดอย่างเศษผักเศษผลไม้ เช่นเดียวกับเป็ดคอลดั๊กตัวกลมอ้วนที่เลี้ยงควบคู่ในสวนหน้าบ้าน แม้บางทีจะแอบกินผักที่ปลูกอยู่บ้างแต่อีกหนึ่งฟังก์ชัน เป็ดช่วยกำจัดหอยทากซึ่งเป็นศัตรูพืชในสวน และส่งผลดีเพราะแคลเซียมจากเปลือกหอยมีผลต่อรสชาติของไข่เป็ดด้วย

สวนครัวหน้าบ้าน ที่ดีคือสวนที่เราดูแลไหว

“การดูแลสวนก็ไม่มีอะไรมาก จะใช้ปุ๋ยมูลไส้เดือนหรือปุ๋ยที่ปลื้มเขาทำ น้ำส้มควันไม้ พยายามเลือกปุ๋ยอินทรีย์เป็นหลัก ส่วนปุ๋ยเคมีเราแทบจะไม่ใช้เลยค่ะ ยกเว้นแปลงดอกไม้ที่อาจจะมีใส่ปุ๋ยละลายช้าปุ๋ยวิทยาศาสตร์บ้างนิดหน่อยเท่านั้น”

ด้วยความคุ้นเคยกับการปลูกต้นไม้มานานทำให้สังเกตเห็นได้ว่าความโปร่งของดินมีผลต่อผัก คุณปุ๋มย้ำชัดว่าดินปลูกผักต้องไม่แน่น ต้องมีส่วนผสมของอินทรีย์วัตถุที่ทำให้ดินโปร่งเพื่อระบายน้ำ ซึ่งในสวนนี้ยังมีสิ่งที่ส่งเสริมให้พรรณไม้ในสวนงอกงามนั่นคือ ไส้เดือน นักผลิตปุ๋ยตามธรรมชาติที่กระจายอยู่ทั่วทั้งสวน ทั้งยังเป็นอาหารอันโอชะของไก่อีกด้วย 

ideas

สวนครัวหน้าบ้าน ที่สะท้อนตัวตนและหน่วยสนับสนุนที่ดี

“เป็นพลขับ แผนกซ่อมแซม และเป็นกำลังทรัพย์” คุณโจเล่าถึงบทบาทของตนเองในการช่วยทำสวน แม้จะไม่มากมายแต่ก็สำคัญยิ่งเพราะในสวนแห่งนี้ หากปลูกแล้วไม่โตหรือตายก็จะใช้วิธี เปลี่ยนแล้วปลูกใหม่ แค่นั้น

“เวลาปลูกผักแล้วผักไม่รอด พี่ไม่รู้สึกเศร้าหรือเสียใจเลยค่ะ พี่ถือคติ ‘ตายก็เติม ไม่ขึ้นก็เปลี่ยน’ (หัวเราะ) คือหมายความว่าไม่มีอะไรจะเสีย งามก็งาม จะไม่งามก็เปลี่ยน การจัดสวนจึงไม่ได้อิงหลักการจัดวางออกแบบ แต่ใช้ความรู้สึกว่าต้องสวยในสายตาเรา อาหารที่มาจากพืชผักก็เป็นแบบหนึ่งแต่อาหารตาก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ จะปลูกแต่ผักโดยไม่มีดอกไม้ลงไปเลยก็ไม่ใช่เรา เพราะ “สวนมัน คือ Expression ของตัวเรา” เราเป็นใคร ชอบอะไร ให้ความสำคัญกับอะไรมันก็จะออกมาในลักษณะของสวนที่เราปลูก สวนครัวของพี่ก็เลยเป็นความสุขจริงๆ ที่ได้ทำสิ่งที่เป็นตัวเราเองค่ะ”

สวนครัวหน้าบ้าน

“จริงๆ บ้านเราก็ไม่ถึงกับใหญ่มาก จะปลูกอาหารเองทุกอย่างคงไม่เพียงพอค่ะ แต่ว่าอย่างน้อยก็ไม่ต้องซื้อทุกอย่าง เคลไดโนเสาร์หน้าบ้านก็เก็บทานได้เป็นปี บางฤดูก็มีพริกหวาน บางฤดูก็มีบวบ ตอนนี้มะเขือเทศก็เริ่มติดผลเราก็นำมาทำอาหารได้ เวลาเราทานไข่เป็ด ไข่ไก่ของบ้านเรา ก็รู้สึกขอบคุณเขาทุกครั้งที่เขาออกไข่ให้ แค่น้องปลื้มบอกว่า ‘นี่ไข่ออร์แกนิกแท้ๆ เลยนะครับ’ แค่นี้ก็รู้สึกว่าคุ้มแล้ว”

คุณปุ๋มกล่าวทิ้งท้ายไว้ด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มถึงบทสรุปสั้นๆที่เธอได้จากสวนแห่งนี้ สวนครัวของคนเมืองที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อจำกัดของบทบาทหน้าที่การงาน เวลา ความเร่งรีบ แต่การได้ใช้เวลาชีวิตในสวนไปกับอะไรที่ควบคุมได้ ไม่เร่งรีบมากไป ไม่เป็นพิษเป็นภัย และถูกจริตกับรสนิยมของตัวเอง เท่านี้ก็เป็นความสุขของตัวเธอแล้ว

ตามหาแรงบันดาลใจและเสริมความรู้ในการปลูกผักทำเกษตรในบ้านได้จากหนังสือ FarmHouse สวนเกษตรในบ้าน

เรื่อง : JOMM YB

ภาพ : กรานต์ชนก บุญบำรุง

สวนผักตามสะดวกของผู้ประกาศข่าวที่บอกให้ผักสู้ชีวิต

Little ‘Joy’ Garden สวน ‘จอย’ เล็กจิ๋ว แต่ความสุขใหญ่มาก

พริกหวาน 3 สี ประโยชน์ต่างกัน