วิธีขยายพันธุ์ต้นวานิลลา ด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

วานิลลาเป็นพืชเถาไม้เลื้อย วงศ์เดียวกับกล้วยไม้ โดยสารที่ให้กลิ่นหอมจะมาจากฝักของต้นวานิลลา ที่ผ่านกระบวนการผสมเกสรด้วยมือ จากนั้นนำฝักที่ได้ มาบ่มอย่างพิถีพิถันผ่านระยะเวลาที่ยาวนาน จนเกิดสาร วานิลลิน (vanillin) ที่มีกลิ่นหอมเป็นเอกลักษณ์ ปัจจุบันการ ขยายพันธุ์วานิลลา สามารถใช้เทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อวานิลลาได้ ช่วยลดระยะเวลาในการเพิ่มจำนวน อีกทั้งได้ต้นก็แข็งแรง และ ปลอดโรค

จากกระบวนการผลิตที่ซับซ้อน และ ใช้เวลานาน เหตุนี้จึงทำให้วานิลลา มีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด ส่งผลให้วานิลลา กลายเป็นเครื่องเทศที่มีมูลค่าอันดับ 2 ของโลก ปัจจุบันเกษตรกรจึงให้ความสนใจ ในการปลูกต้นวานิลลาเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหนึ่งที่วิธีการ ขยายพันธุ์วานิลลา ที่เข้ามาตอบโจทย์ปัญหาตรงนี้ได้อย่างดี คือ เทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ซึ่งมีรายละเอียดทั้งสูตรอาหาร การเลือกชิ้นส่วน รวมถึงขั้นตอนการทำความสะอาด ที่สามารถศึกษาเป็นความรู้พื้นฐาน ต่อยอดสู่การปฏิบัติจริงได้

ขยายพันธุ์วานิลลา

รู้จักองค์ประกอบของอาหาร สำหรับ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อวานิลลา

อาหารสำหรับเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อวานิลลา เป็นอาหารที่สังเคราะห์ขึ้น ลอกเลียนแบบดินที่ปลูกพืช ประกอบไปด้วย ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม น้ำ น้ำตาล และ มีผงวุ้นเป็นตัวกลางที่ทำให้อาหารแข็ง ไว้ให้รากใช้ยึดเกาะ ซึ่งอาหารต้องทำให้ปลอดเชื้อ โดยการนึ่งฆ่าเชื้อด้วยความร้อน หรือ อาจจะเติมสารยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์หรือเชื้อก่อโรคต่างๆ

ขยายพันธุ์วานิลลา

การเลือกชิ้นส่วนที่จะใช้ ขยายพันธุ์วานิลลา ด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

การเลือกส่วนที่จะใช้ขยายพันธุ์ โดยทั่วไปจะใช้ส่วนที่มีจุดเจริญหรือเนื้อเยื่อเจริญ (Meristem) เช่น ยอด ตาข้าง และ มักจะใช้ส่วนยอด หรือ ส่วนที่อยู่ห่างจากพื้นดิน เพราะ โอกาสที่จะมีเชื้อโรคปนเปื้อนมีน้อย อีกทั้งชิ้นส่วนบริเวณยอด มีอัตราการเจริญเติบโตสูง

สำหรับต้นวานิลลาจะใช้ส่วน ตาข้าง ในการเพาะเลี้ยงให้เกิดเป็นต้นใหม่ ซึ่งส่วนที่นำมาใช้จะต้องมีความสะอาด ไม่มีโรค และ แมลงติดมาด้วย ที่สำคัญต้องมีความแข็งแรงพอสมควร

ขยายพันธุ์วานิลลา

การเลือกชิ้นส่วนที่จะใช้ขยายพันธุ์ เป็นการเริ่มต้นที่สำคัญมาก โดยส่วนที่จะใช้ในการขยายพันธุ์ต้องมีความสมบูรณ์ ไม่มีโรค หรือ แมลงปะปน และ พร้อมที่จะเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้

รวมถึงชิ้นส่วนที่นำมาใช้ควรเป็นชิ้นส่วนที่ไม่อ่อน หรือ แก่จนเกินไป หากเป็นชิ้นส่วนที่อ่อนจะมีความอ่อนแอ เมื่อนำมาฟอกฆ่าเชื้อด้วยสารเคมี อาจถูกทำลายจนไม่สามารถเติบโตได้ หรือ ถ้าเป็นส่วนที่แก่จนเกินไป จะมีความแข็ง และ พัฒนาเป็นต้นใหม่ได้ช้า

ขยายพันธุ์วานิลลา

ทำความสะอาดชิ้นส่วนวานิลลาให้ปลอดเชื้อโรค

หลังจากที่ตัดชิ้นส่วนที่จะขยายพันธุ์มาแล้ว ให้นำมาล้างทำความสะอาดด้วยน้ำยาล้างจานหรือสบู่ 1 รอบ แล้วเปิดน้ำไหลผ่าน ให้ชิ้นส่วนวานิลลาหมุนวน ล้างสิ่งสกปกที่ติดอยู่ภายนอกออกให้หมด เป็นเวลา 30-60 นาที

ขยายพันธุ์วานิลลา

เมื่อทำความสะอาดเบื้องต้นเสร็จแล้ว จะทำความสะอาดด้วยแอลกอฮอล์ 70% ประมาณ 1-2 นาที และ นำมาฟอกฆ่าเชื้อด้วยคลอร็อกซ์ (6% Sodium Hypochlorite) หรือ น้ำยาซักผ้าขาว ที่ความเข้มข้น 30-50% ร่วมกับสารจับใบ Tween-20 2 หยด เขย่าทำความสะอาด 20 นาที แล้วล้างออกด้วยน้ำกลั่นที่ทำการนึ่งฆ่าเชื้อ 3 ครั้ง ครั้งละ 5 นาที

ขยายพันธุ์วานิลลา

เตรียมชิ้นส่วนสำหรับ ขยายพันธุ์วานิลลา ด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

ขั้นตอนถัดมา คือ การตัดแต่งชิ้นส่วน และ เพาะเลี้ยงชิ้นส่วนในอาหารสังเคราะห์ โดยทำการตัดแต่งชิ้นส่วนเนื้อเยื่อเอาส่วนที่ได้รับความเสียหายจากสารเคมีออก ให้เหลือเฉพาะส่วนของตาข้าง จากนั้น นำไปเลี้ยงในอาหารสังเคราะห์สูตร MS (Murashige and Skoog, 1962) เป็นสูตรอาหารที่ใช้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ต้นไม้ส่วนใหญ่สามารถเจริญเติบโตได้ดี จากนั้นเติมน้ำตาล 3% เพื่อใช้เป็นแหล่งพลังงานให้แก่ชิ้นส่วน และ เติมผงวุ้นเพิ่ม 0.8% ให้อาหารแข็งตัวเป็นที่ยึดเกาะของราก

แต่ หากมีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนต้นอีกรอบหลังจากที่ต้นโตแล้ว ให้เติมฮอร์โมนในกลุ่มของไซโตไคนิน อย่างเช่น BA (6-benzyladenine) ฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยในการพัฒนาของตาข้าง การแตกกอแตกหน่อให้มีมากขึ้น และ จะได้จำนวนต้นมากขึ้นตามไปด้วย

เมื่อตัดชิ้นส่วนแล้ว นำขวดอาหารมาเผาปากขวดแล้วเปิดฝา
จากนั้น เอาชิ้นส่วนนั้นปักลงอาหารประมาณครึ่งหนึ่งของชิ้นส่วน แล้วเผาปากขวดอีกครั้งและปิดฝา

สภาพแวดล้อมสำหรับ ขยายพันธุ์วานิลลา ด้วยเทคนิคเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือ ภายในห้องเพาะเลี้ยงต้องปิดมิดชิด อุณหภูมิคงที่ประมาณ 25 องศาเซลเซียส มีแสงไฟส่องสว่างที่มีค่า PPFD ประมาณ 25-40 ไมโครโมลต่อตารางเมตรต่อวินาที ระยะเวลา 16 ชั่วโมงต่อวัน

หลังจากที่เพาะเลี้ยงประมาณ 2 เดือน หรือ ต้นมีความสูงประมาณ 3 นิ้ว ก็สามารถย้ายออกปลูกสู่สภาพแวดล้อมปกติได้

แต่สำหรับกลุ่มที่ต้องการเพิ่มจำนวน และ ได้ใส่ฮอร์โมนในกลุ่มของไซโตไคนินตั้งแต่แรก ให้รอต้นเจริญเติบโตอีกประมาณ 3 เดือน จะได้ต้นที่มีจำนวนข้อปล้องมากพอ ที่จะนำมาขยายพันธุ์อีกรอบได้ แต่ครั้งนี้ให้เปลี่ยนอาหาร และตัดแยกแต่ละข้อ (Subculture) เลี้ยงบนอาหารสังเคราะห์สูตร MS ที่ไม่เติมฮอร์โมน

ก่อนจะเปิดขวดนำต้นออกมาขยายต่อให้เผาปากขวด 1 รอบก่อนเปิดฝา และ หลังจากตัดข้อขยายเสร็จ ปักชิ้นส่วนลงอาหารเรียบร้อยแล้ว ให้เผาปากขวดอีก 1 รอบ ก่อนปิดฝา และ นำไปเลี้ยงไว้ในสภาพแวดล้อมสำหรับ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อต่อไป

ข้อดีของต้นพันธุ์ที่ได้จาก เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อวานิลลา

การขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีที่ได้รับการยอมรับและใช้กันอย่างแพร่หลาย วิธีการขยายพันธุ์แบบนี้จะทำให้ได้ต้นวานิลลาจำนวนมากในเวลาอันสั้น สามารถขยายพันธุ์ได้ตลอดทั้งปี และที่สำคัญต้นพันธุ์วานิลลาที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อจะเป็นต้นพันธุ์ที่มีความแข็งแรง สะอาดปลอดจากเชื้อรา แบคทีเรีย และเชื้อก่อโรคต่างๆ

เรื่อง : สรวิศ บุญประสพ

ภาพ : สรวิศ บุญประสพ / อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

สวนวานิลลาข้างบ้าน กิจกรรมไม่เล็กภายในครอบครัว ที่มีต้นวานิลลากว่า 1,000 ต้น

วานิลลา ปลูกได้ในประเทศไทย ให้ผลผลิตราคาสูงถึง 20,000 บาทต่อกิโลกรัม