หลุมพอเพียง อาจจะเป็นแนวทางการปลูกพืชที่หลายคนคุ้นเคยและได้ลองทำตามมาบ้าง รวมถึงคุณจามรี เธียรธรรมจักร เจ้าของฟาร์มภูมิใจ&เจียระไนการ์เด็นท์ ที่ประยุกต์สู่การปลูกพืชสมุนไพร แบบ หลุมต้มยำ ในพื้นที่ เกษตรทฤษฎีใหม่ แบบปลอดสารเคมี และแปลงเกษตรแห่งนี้คือที่รักษาตัวเธอจากโรคมะเร็ง
หลุมต้มยำ ในสวนสมุนไพรออร์แกนิก เกิดขึ้นเพราะผลจากการเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย คุณจามรีจึงพยายามออกกำลังกายและเข้มงวดเรื่องการบริโภคอาหาร ซึ่งลูกชายของเธอได้เล็งเห็นว่าการพักอาศัยอยู่ในเมืองกรุงไม่สามารถทำให้สุขภาพของแม่ดีขึ้นได้ ทั้งคู่จึงออกมาตระเวนหาที่ดินสักผืนเพื่อรักษาร่างกาย และอยู่ไม่ไกลกรุงเทพมากนัก ในที่สุดก็ได้ที่ดิน ”นาเก่า” บริเวณอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี มาเป็นของตนเอง ก่อเกิดเป็น ฟาร์มภูมิใจ&เจียระไนการ์เด็นท์
แต่ด้วยสภาพดินนาเก่าที่เป็นนาเคมี ดินแห้งแล้งเสื่อมโทรมจากการเผาหญ้าและใช้ยาฆ่าหญ้า คุณจามรีจึงต้องแก้ปัญหาสารเคมีตกค้างด้วยการทำน้ำหมักรสจืดจากต้นรางจืด โดยราดทั่วแปลง 4 ไร่ สัปดาห์ละ 2 ครั้งเป็นเวลานานถึง 4 เดือนพร้อมคลุมฟางข้าวไว้ จากนั้นได้จ้างชาวบ้านมาขุดปรับที่นาให้อยู่ในรูปแบบสวนป่าในบ้าน ให้สามารถสามารถใช้ประโยชน์จากพืชได้ ผ่านแนวคิดการออกแบบของลูกชายคนโตที่กำลังศึกษาด้านภูมิสถาปัตย์ที่จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย
ออกแบบพื้นที่ เกษตรทฤษฎีใหม่
การจัดสรรพื้นที่เริ่มต้นด้วยการสร้างแหล่งน้ำตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยจุดที่รับน้ำจากภายนอกได้ทำตะพักน้ำเป็นหลุมขนมครกลึกและเชื่อมด้วยคลองไส้ไก่ มีตะพักน้ำเป็นชั้นๆ ส่วนพื้นที่ตรงกลางสวนมีสระเก็บน้ำขนาดใหญ่ นอกจากนี้ยังมีคันคลองลดเลี้ยวรอบสวน โดยพื้นคลองปรับระดับลดหลั่นเพื่อให้เกิดการถ่ายเทความร้อนเกิดคลื่น และเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคช่วยให้น้ำไหลเวียนด้วย สำหรับดินที่ขุดขึ้นก็นำมาถมเป็นพื้นที่ปลูกพืช ส่วนหนึ่งทำเป็นโคกเพื่อในอนาคตจะสร้างบ้านให้ลูกอีกหลัง
การจัดวางผังแปลงเกษตรได้จัดสัดส่วนของพื้นที่รับน้ำมากกว่าที่กำหนดตามเกษตรทฤษฎีใหม่ ทำให้มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี เมื่อถึงฤดูแล้งจะสูบน้ำจากคลองที่ไหลผ่านหน้าบ้านเข้ามาพักก่อนที่จะใช้งาน แล้วยังนำฟางข้าวรวมถึงใบไม้ที่ร่วงหล่นมาคลุมดินรอบสวนเพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดินสูญเสียความชื้น
นอกจากการแก้ปัญหาเคมีตกค้างด้วยการราดน้ำหมักรสจืดทั่วแปลงและคลุมดินด้วยฟางข้าว คุณจามรียังแก้ปัญหาดินแห้งแล้งอย่างหนักด้วยการทำคลองไส้ไก่รอบสวนเพื่อสร้างความชื้นให้ดิน ปลูกกล้วยหลากหลายสายพันธุ์เพื่อให้ซึมซับเคมีที่ตกค้างในดิน และนำแนวทางแก้ปัญหาดินจากประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้ โดยหมักถ่านต้นกระถินด้วยจุลินทรีย์หน่อกล้วยแล้วใช้เป็นวัสดุรองในหลุมปลูกกล้วยและพืชอื่นๆ เมื่อกล้วยแตกใบได้ 2-3 ใบ เริ่มมีร่มจึงปลูกพืชสมุนไพร
ส่วนการจัดผังปลูกต้นไม้ตามหลักการผลิตพืชออแกนิกนั้น จามรีได้รักษาต้นไม้ขนาดใหญ่สูงกว่า 1.5 เมตรที่มากับที่นาเดิมไว้รอบสวน เป็นแนวกันชนจากพื้นที่นาโดยรอบ แล้วขึงซาแรน 3 ชั้นรอบสวนเพื่อป้องกันฝุ่นและสารเคมีที่อาจหลุดรั่วเข้ามา ประกอบกับพื้นที่ฟาร์มแห่งนี้สูงกว่านาข้างๆ 80 เซนติเมตร ทำให้แนวกันชนของฟาร์มนี้มีความสูงมากขึ้น
ปลูกพืชเกื้อกูล และ หลุมต้มยำ
พืชในสวนมีต้นไม้พุ่มใหญ่ที่ปลูกในระยะห่างจากขอบรั้ว 4 เมตร คั่นด้วยถนนรอบบ้าน และชั้นในปลูกพืชสมุนไพรในรูปแบบ “หลุม” เป็นพืชที่เกื้อกูลกัน ทั้งเป็นกลุ่มพืชที่เป็นผักสวนครัว เช่น “หลุมต้มยำ” ที่ประกอบด้วย ข่า ตะไคร้ มะกรูด กลุ่มพืชเกื้อกูลด้วยการให้ร่มให้แร่ธาตุ เช่น ปลูกทุเรียน ต้นทองหลาง และกล้วยในมุม 3 เหลี่ยม โดยทองหลางให้ธาตุไนโตรเจน กล้วยให้ร่มทุเรียน สามารถเก็บผลผลิตกล้วยมาแปรรูปก่อนที่ทุเรียนจากออกผลให้เก็บขายสร้างรายได้
พืชในสวนเติบโตโดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าศัตรูพืช เพียงแต่เด็ดทิ้งเมื่อพบการทำลาย และเด็ดใบทิ้งให้ต้นไม้โปร่ง ส่วนการบำรุงพืชจะรดพืชด้วยน้ำหมักรสจืดและจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงจากใบทองหลาง ซึ่งจะช่วยลดสารพิษลงได้ ส่วนน้ำในคลองไส้ไก่ก็จะเติมน้ำหมักและจุลินทรีย์สังเคราะห์แสง ช่วยย่อยจุลินทรีย์ที่ไม่ดีในน้ำ ทำฝายจากไม้ไผ่และหินกรองน้ำอีกชั้น
ผลิตผลจากสวนสมุนไพร
ผลผลิตกล้วยที่เป็นพืชตั้งต้น คุณจามรีได้นำมาแปรรูปเป็นอาหารออร์แกนิก ทั้งกลุ่มอาหารเป็นยา เช่น กล้วยตาก กล้วยดองน้ำผึ้ง ผงกล้วยน้ำว้าดิบรักษาอาการกรดไหลย้อน และกลุ่มผลิตภัณฑ์ของใช้ดูแลร่างกาย เช่น ครีมอาบน้ำน้ำนมข้าว สบู่พญาว่าน แชมพูน้ำมันมะกรูดฟื้นฟูรากผมและหนังศีรษะ สเปรย์ตะไคร้ไล่ยุง น้ำมันเขียวจากสมุนไพรหลากชนิดบรรเทาอาการปวดข้อและกล้ามเนื้อ ผื่นแพ้และพิษแมลงสัตว์กัดต่อย
หลังจากทำสวนสมุนไพรออร์แกนิกมาได้ 3 ปี ได้ยื่นขอใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มีเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจอย่างละเอียดทั้งดินน้ำและพืชรวมถึงสัมภาษณ์คนในบ้านและชุมชน อีกทั้งยังตรวจทางกายภาพ จนฟาร์มได้รับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์จากจังหวัดราชบุรีทั้งแปลง ผลผลิตอินทรีย์จากฟาร์มแห่งนี้ยังได้รับการคัดเลือกเป็น OTOP ได้รับการคัดเลือกให้จัดจำหน่ายในงานต่างๆ ได้รับคัดเลือกเป็นของดีโพธารามและของดีเมืองโอ่งในงานกาชาดราชบุรี
ปัจจุบันคุณจามรีเป็นเกษตรกรเครือข่ายโครงการศูนย์ศึกษาวิธีการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้มอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นำผลิตภัณฑ์ไปวางจำหน่ายที่ร้านค้าของโครงการฯ และออกร้านจำหน่ายสินค้าทุกวันสุดสัปดาห์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ รวมทั้งออกบูทสถานที่ต่างๆ อาทิ ธกส. โรงพยาบาลราชบุรี ได้รับคัดเลือกให้ออกร้านในงานเกษตรแฟร์ กำแพงแสน โดยจัดแสดงผลิตภัณฑ์ในโดมนวัตกรรมของงานเกษตรแฟร์ บางเขน ปี 2567 อีกด้วย
เรื่อง : สุวินา เอี่ยมสุทธา