รวมเรื่องต้องรู้ ก่อนเริ่มปลูก “เงาะ”

“เงาะ” เป็นผลไม้เมืองร้อนที่ได้รับความนิยมปลูกอย่างมากในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่ง การปลูกเงาะ พันธุ์ดีอย่าง “เงาะโรงเรียน” ที่มีรสชาติที่หวานอร่อยเป็นเอกลักษณ์ ทำให้เงาะกลายเป็นผลไม้ที่มีบทบาทสำคัญทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ

การปลูกเงาะ จึงมีความสำคัญต่อเกษตรกรไทยอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูผลไม้ (พฤษภาคม–กรกฎาคม) ที่สามารถสร้างรายได้หลักให้กับครัวเรือนที่ปลูกเงาะ นอกจากนี้เงาะยังเป็นผลไม้ส่งออกที่มีศักยภาพสูง มีตลาดต่างประเทศที่ให้ความสนใจ เช่น จีน เวียดนาม และประเทศในตะวันออกกลาง

จะเห็นได้ว่าเงาะนอกจากจะมีรสชาติที่อร่อยแล้ว ยังมีศักยภาพในการแข่งขันที่สูง แต่การที่จะปลูกเงาะได้นั้น ก็ต้องเข้าใจตั้งแต่สายพันธุ์ การเตรียมพื้นที่ และวิธีเตรียมต้นให้ติดดอกออกผล รวมถึงการป้องกันกำจัดศัตรูพืช

การปลูกเงาะ

สายพันธุ์เงาะยอดฮิตในประเทศไทย

ประเทศไทยมีเงาะที่เป็นพันธุ์การค้าอยู่ 3 พันธุ์ ได้แก่ เงาะโรงเรียน เงาะสีชมพู และ เงาะสีทอง

  • เงาะโรงเรียน หรือ ที่หลายคนรู้จักกันในนามเงาะนาสาร ที่เรียนกว่าเงาะนาสาร เพราะ มีถิ่นกำเนินอยู่ที่ อำเภอนาสาร จังหวัดสุราษฎร์ธานี เปลือก และขนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดง แต่ปลายขนจะมีสีเขียว เนื้อสีขาวขุ่น รสชาติหวาน
  • เงาะพันธุ์สีชมพู มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี จุดเด่นของเงาะสายพันธุ์นี้คือ เจริญเติบโตได้ดี ผลดก เปลือกมีสีเหลืองปนชมพู ขนสีชมพู เมื่อแก่จัดจะเปลือก และขนเปลี่ยนเป็นสีชมพูเข้ม เนื้อสีขาวขุ่น กรอบ ไม่ฉ่ำน้ำ รสชาติหวาน แต่เนื้อติดเมล็ดไม่ล่อน
  • เงาะพันธุ์สีทอง เป็นเงาะพันธุ์เบาให้ผลผลิตเร็ว เปลือกมีสีเหลือง เมื่อแก่จัดจะเปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ขนสีเขียว เนื้อสีขาวขุ่นล่อนไม่ติดเมล็ด รสชาติหวานอมเปรี้ยวเล็กน้อย

นอกจากนี้ยังมีเงาะสายพันธุ์อื่นๆ อีก เช่น น้ำตาลกรวด บางยี่ขัน ซาลังงอ สีนาค ปีนัง และตาวี แต่ไม่เป็นที่นิยมและเริ่มมีจำนวนลดน้อยลงแล้ว

การปลูกเงาะ

พื้นที่สำหรับ การปลูกเงาะ

พื้นที่เพาะปลูกเงาะในประเทศไทยส่วนใหญ่ อยู่ในภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศ ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศ และดินเหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเงาะ โดยเฉพาะในจังหวัด จันทบุรี ระยอง ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช เงาะที่ปลูกในภาคตะวันออกจะให้ผลผลิตในช่วง เดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ส่วนภาคใต้จะให้ผลผลิตในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม นอกจากนี้ยังมีปลูกในพื้นที่จังกาญจนบุรี และภาคเหนือบางส่วน

การปลูกเงาะ
ผลอ่อนเงาะ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อ การปลูกเงาะ

สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมในการปลูกเงาะ มีความสำคัญอย่างมากต่อคุณภาพของผลผลิต ทั้งในเรื่องของขนาด รสชาติ และความหวานของผล โดยสามารถสรุปเงื่อนไขที่เหมาะสมได้ดังนี้

เงาะชอบดินร่วนปนทราย หรือดินร่วนเหนียวที่มีการระบายน้ำดี เพราะเงาะไม่ทนต่อน้ำขัง ความเป็นกรดเบสของดินที่เหมาะสม ประมาณ 5.5 – 6.5 (ค่าค่อนข้างเป็นกรดเล็กน้อย) อุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 22 – 35 °C  ควรได้รับแสงแดดเต็มที่ตลอดวัน เพราะ แสงช่วยให้ต้นสมบูรณ์และออกดอกดี เหมาะกับพื้นที่ที่มีระดับความสูงไม่เกิน 500 เมตรจากระดับน้ำทะเล

การปลูกเงาะ

การเตรียมพื้นที่ก่อน การปลูกเงาะ

ก่อนเริ่มปลูกเงาะจะต้องเตรียมพื้นที่ให้พร้อมเสียก่อน ไถพรวนดินให้ร่วนซุย ปรับพื้นที่ให้สม่ำเสมอ มีร่องระบายน้ำ ต้นพันธุ์ที่นำมาปลูกควรเป็นต้นพันธุ์ที่มาจากการตอนกิ่ง การทาบกิ่ง การติดตา และต้องเป็นต้นพันธุ์ที่มีความสมบูรณ์แข็งแรง

ควรปลูกในช่วงต้นฤดูฝน ขุดหลุมให้ลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ผสมปุ๋ยคอกลงในหลุม ปลูกให้โคนต้นสูงกว่าปากหลุมเล็กน้อย และหาวัสดุคลุมโคนต้น เช่น ฟางหรือเศษใบไม้ แล้วรดนำให้ชุ่ม ในช่วงแรกควรหาวัสดุพรางแสงให้ต้นเงาะ และไม้ปักเป็นหลัก 4 มุม แล้วล้อมด้วยซาแรนพรางแสง เมื่อต้นเงาะตั้งตัวได้ก็สามารถย้ายออกได้

การปลูกเงาะ
ดอกเงาะ

การดูแลเงาะให้ติดดอกออกผล

การให้น้ำในช่วงแรก หลังจากปลูกต้องให้น้ำสม่ำเสมอ จนต้นเงาะสามารถตั้งตัวได้ หลังจากนั้นจึงค่อยทิ้งช่วงการให้น้ำประมาณอาทิตย์ละครั้ง พร้อมกับให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 16-16-16 หรือ จะเป็นปุ๋ยคอกที่ผ่านการหมักแล้ว ใส่บำรุงต้นเดือนละครั้ง

เมื่อต้นเงาะโตพอจะที่จะให้ผลในฤดูถัดไป จะมีใบแก่ที่สะสมอาหารไว้เต็มที่ ให้งดน้ำในช่วงปลายฝน ประมาณ 1 เดือน เมื่อสังเกตใบเริ่มห่อก็สามารถให้น้ำในปริมาณมากเต็มที่ พร้อมกับให้ปุ๋ยที่เน้นฟอสฟอรัสสูงเพื่อช่วยเร่งการเจริญเติบโตของดอกหรือปุ๋ยคอกอย่าง ขี้ไก่ ขี้หมู เพราะมีฟอสฟอรัสสูง และงดน้ำไปประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นตายอดจะพัฒนาเป็นตาดอกแทงช่อสีน้ำตาลทอง และให้น้ำได้ตามปกติ

การปลูกเงาะ

วิธีการเก็บเกี่ยวเงาะ

หลังจากที่เงาะติดดอกแล้ว ประมาณ 130-150 วัน จะเริ่มเปลี่ยนสี หากเก็บเพื่อจำหน่ายไปยังตลาดที่ระยะทางไกลก็จะเก็บเงาะที่เปลือกมีสีเหลืองหรือส้ม แต่ถ้าเก็บเพื่อบริโภคเองหรือว่าจำหน่ายใกล้บ้านก็เก็บในระยะที่เปลือกมีสีแดง

หนอนร่านกินใบ ศัตรูตัวฉกาจของเงาะ

โรคแมลงศัตรูพืชของเงาะ

เมื่อเราปลูกเงาะแล้ว ช่วงที่ต้องระมัดระวังศัตรูพืชจะมีอยู่ 2 ช่วงหลักๆ คือ ช่วงเริ่มแตกใบอ่อน และ ช่วงติดดอกออกผล

  • ช่วงแตกใบอ่อนของเงาะ จะเป็นอาหารอันโอชะของหนอนต่างๆ เช่น หนอนคืบกินใบ หนอนร่านกินใบ ซึ่งหนอนเหล่านี้จะกัดกินใบอ่อน และ เมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ ก็สามารถกินใบเงาะได้ในทุกระยะ หากพบการเข้าทำลายไม่เยอะ สามารถเก็บออกจากแปลงได้ แต่ถ้าหากมีการระบาดของหนอนจำนวนมาก ควรใช้จุลินทรีย์ชีวภาพ เช่น BT (Bacillus thuringiensis) เป็นแบคทีเรียที่ช่วยกำจัดหนอนได้ หรือ จะใช้น้ำส้มควันไม้ น้ำหมักจากสมุนไพรอย่าง ใบสะเดา ใบขี้เหล็ก ใบน้อยหน่า บอระเพ็ด ก็สามารถนำมาใช้ได้
  • ช่วงออกดอกและติดผล มักจะพบหนอนกินช่อเงาะ หนอนเจาะขั้วผลเงาะ และ เพลี้ยไฟที่จะดูดกินน้ำเลี้ยงที่ดอกและผลอ่อน นอกจากนี้แล้วยังมีโรคที่เกิดจากเชื้อราอย่าง ราแป้ง ที่ปกคลุมที่ดอก และผลอ่อนทำให้ดอกผลที่โดนปกคลุมด้วยราแป้งนั้นเกิดการหลุดร่วงได้ เมื่อพบการระบาดแล้วควรฉีดพ่นด้วยผงกำมะถัน ในช่วงเวลาเช้าหรือเย็น

เรื่อง : สรวิศ บุญประสพ

ภาพ : สรวิศ บุญประสพ / หนังสือ Garden&Farm ผลไม้ในสวน vol.7

7 ชนิด ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ที่ปลูกง่าย ติดดอกออกผลดีในไทย

จากเกษตรเชิงเดี่ยว สู่การสร้างรายได้ให้มั่นคง ด้วยสวนผลไม้ผสมผสาน