ตามหาวัสดุราคาประหยัดไว้ ทำแปลงผัก ประดับสวนเก๋ๆ

การ แปลงปลูกผักสวนครัว สามารถออกแบบได้หลายรูปแบบ ให้เหมาะกับพื้นที่และรูปแบบสวนโดยรวมวัสดุที่ใช้ทำขอบแปลงก็เช่นกันมีหลากหลายประเภทแต่การจะเลือกนำมาใช้นั้น  นอกจากพิจารณาในแง่ความงามแล้ว ยังควรพิจารณาในแง่ความเหมาะสมในการใช้งานและงบประมาณประกอบกันด้วย

ข้อควรรู้ในการทำ แปลงปลูกผักสวนครัว คือ พืชผักที่มีระบบรากสั้น อย่าง ผักสลัด ผักบุ้งจีน คะน้า กวางตุ้งฯลฯ  สามารถทำขอบแปลงสูง 15-20 ซม. ก็เพียงพอ แต่หากต้องการปลูกพืชผักกินหัว อย่างแครอท หัวไช้เท้า ควรทำขอบแปลงสูงมากกว่า 30 ซม.

ในการปลูกพืชผักเชิงการค้าสำหรับฟาร์มเนื้อที่กว้างอาจไม่จำเป็นต้องก่อขอบแปลง แต่ใช้วิธีขุดดินแล้วยกขอบแปลงให้สูงมากพอสำหรับพืชชนิดนั้นๆ แต่บางพื้นที่ซึ่งมีปัญหาเรื่องดินแข็งหรือเสื่อมคุณภาพไม่มีแรงงานในการขุดดิน การทำขอบแปลงแล้วปรุงดินใหม่ผสมปุ๋ยหมักและปุ๋ยคอกเข้าไป ก็ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มความสะดวกได้ส่วนหนึ่ง

แปลงผักสวนครัว ในบ้านนิยมทำขอบแปลงจากวัสดุต่างๆ เพื่อใช้ประดับเพิ่มความงามให้กับสวนขณะที่วัสดุบางประเภทก็เป็นสิ่งของเหลือใช้ในบ้าน จึงช่วยประหยัดงบประมาณในกระเป๋าได้ด้วย

ส่วนจะมีวัสดุใดบ้างไปดูตัวอย่างกันเลยแปลงปลูกผักสวนครัว

1.แปลงอิฐมอญ อิฐมอญเป็นวัสดุจากดินเหนียวผสมแกลบ ทรายและน้ำ เผาด้วยความร้อนสูงมีหลายขนาด ที่นิยมใช้กันทั่วไปมีอยู่ 2 รูปแบบคือ ชนิดทำมือซึ่งผิวไม่เรียบแต่ดูมีเสน่ห์และเป็นกันเองจึงนิยมใช้กับสวนครัว และอีกชนิดอัดด้วยเครื่องซึ่งจะมีผิวเรียบ จึงนิยมใช้กับงานที่ต้องการความเนี๊ยบ

ข้อดี สวยงามและทนต่อสภาพอากาศภายนอกทั้งยังช่วยเก็บความชื้นให้กับดิน สีสันดูคลาสสิกและกลมกลืนกับบรรยากาศสวน ทั้งสวนยุโรปชนบทและสวนธรรมชาติ

ข้อจำกัด แต่ละก้อนมีขนาดเล็ก จึงใช้ระยะเวลาก่อสร้างค่อนข้างนานและต้องยึดกันด้วยซีเมนต์เคลื่อนย้ายไม่ได้ จึงควรออกแบบตำแหน่งของแปลงให้ลงตัวก่อน   หากต้องการให้แปลงคงทนไม่แตกร้าว ควรเทคานรองรอบแปลงก่อนก่ออิฐด้วย

งบประมาณ300-500 บาทสำหรับอิฐทำมือ

แปลงขนาด 1ตรม.ความสูง 15-20 ซม.ใช้อิฐก้อนเล็กจำนวน 84 ก้อน ซึ่งราคาอิฐมอญทำมือ ประมาณ 2 บาท/ก้อนบวกค่าปูนซีเมนต์ 1 ถุง

Tips เทคนิคการก่อขอบแปลงให้ตรง ควรปักหมุดแต่ละมุมของแปลงแล้วขึงเชือกหรือเอ็นให้ตึง เพื่อใช้เป็นแนวผนังกระบะไม่ให้เอียง โดยเฉพาะหากต้องการทำกระบะสูง

แปลงปลูกผักสวนครัว

2.แปลงบล็อกประสาน ตัวบล็อกผลิตจากดินต่างๆผสมกับปูนซีเมนต์และน้ำในสัดส่วนที่พอเหมาะแล้วอัดด้วยเครื่องให้เป็นก้อนบางพื้นที่อาจประยุกต์ใช้วัสดุอื่นๆในท้องถิ่น เช่น ดินลูกรัง ดินเหนียว ผักตบชวาแห้ง ฯลฯ จุดเด่น คือ เป็นวัสดุก่อสร้างที่มีเดือยและรูบนตัวบล็อกสำหรับยึดกันไว้จึงสะดวกสำหรับนำมาก่อเป็นแปลง

ข้อดี ใช้งานง่าย สามารถติดตั้ง เคลื่อนย้าย หรือปรับเปลี่ยนได้ง่ายตัวบล็อกมีทั้งแบบทรงเหลี่ยม และแบบโค้งสำหรับต่อเป็นแปลงวงกลม

ข้อจำกัด สีสัน รูปแบบและขนาดยังไม่หลากหลายนัก มีน้ำหนักมาก

งบประมาณ 250-500 บาท

 คิดที่แปลงขนาด 1ตรม.ความสูง 20 ซม.ใช้จำนวน 32 ก้อน ราคาต่อก้อน (บล็อก 2 ปุ่ม) มีตั้งแต่ก้อนละ 8-16 บาท ขึ้นกับวัสดุและความคงทน

แปลงปลูกผักสวนครัว

3.แปลงอิฐบล็อก ตัวบล็อกผลิตจากปูนซีเมนต์และทราย อัดด้วยเครื่องเป็นก้อนตามขนาดมาตรฐานนิยมใช้กับงานก่อสร้าง

ข้อดี ทนทาน ก่อสร้างได้เร็ว และราคาประหยัด

ข้อจำกัด น้ำหนักมาก เหมาะกับบ้านปูนเปลือยสไตล์ลอฟท์

งบประมาณ 50-70 บาท

คิดที่แปลงขนาด 1ตรม.ความสูง 20 ซม.ใช้ประมาณ 12 ก้อน ราคาเฉลี่ยก้อนละ 4-6 บาท

แปลงปลูกผักสวนครัว

4.แปลงไม้ ไม้ลัง ไม้พาเลท ไม้สน เป็นวัสดุหาง่าย ราคาไม่แพง การทำเป็นขอบแปลง อาจยึดไม้แต่ละด้านเข้าด้วยกันเป็นกรอบสี่เหลี่ยม หรือในกรณีที่ใช้ไม้ด้านละสองแผ่นขึ้นไป ควรมีเสาไม้ทั้งสี่มุมเป็นหลักยึดเพื่อเพิ่มความแข็งแรง

ข้อดี ราคาประหยัด สามารถขัด ทาสี หรือตกแต่งได้หลากหลาย น้ำหนักเบา ยกเคลื่อนย้ายเปลี่ยนตำแหน่งได้ง่าย

ข้อจำกัดอายุการใช้งานไม่นาน อาจต้องเปลี่ยนทุกปี หรือจะทาน้ำยารักษาเนื้อไม้เพื่อให้ทนต่อความชื้น

งบประมาณ 200-500  บาท ขึ้นกับชนิดของไม้

ราคาไม้พาเลทเก่า ชุดละ 40 บาท ใช้จำนวน 4 ชุด

แปลงปลูกผักสวนครัว

5.แปลงไม้ไผ่ เป็นวัสดุท้องถิ่น ที่สามารถนำมาใช้กั้นขอบแปลง ให้บรรยากาศกลมกลืนกับสวนแนวชนบท และสวนแบบเอเชียอย่าง สวนญี่ปุ่น

ข้อดี สวยงาม น้ำหนักเบา ราคาประหยัด

ข้อจำกัดไม่คงทน ผุและแตกได้อาจต้องเปลี่ยนใหม่ทุกปี นอกเสียจากตัวไม้ผ่านกระบวนการกันมอดมาก่อน ซึ่งก็จะมีราคาสูงขึ้น

งบประมาณ 300-400 บาท (แปลงขนาด 1 ตารางเมตร สูง 20 ซม.)

ไม้ไผ่อายุ 4 ปีขึ้นไป ความยาว 2-6 เมตร ราคาลำละ 30-60 บาท ทั้งนี้ ราคาไม้ไผ่ขึ้นกับแต่ละท้องถิ่น

Tips การติดตั้ง ใช้วิธีตั้งเสาคู่ทั้งสี่มุมแล้วใส่ไม้ไผ่เรียงลงในช่องว่างระหว่างเสา จากนั้นยึดพันด้วยเชือกให้แน่ ผนังด้านในทั้งสี่ด้านอาจกรุด้วยพลาสติกกันน้ำ จะช่วยลดการผุกร่อนได้ระดับหนึ่ง

แปลงปลูกผักสวนครัว

7.แปลงวัสดุสาน เลือกวัสดุที่มีความยืดหยุ่น สามารถนำมาสานหรือถักทอเป็นขอบแปลงได้ อย่าง เถาวัลย์ ฟากไม้ไผ่ กิ่งไผ่ กิ่งกระถิน ซึ่งแต่ละวัสดุก็มีความคงทนที่ต่างกัน และราคาก็แตกต่างกันด้วย

ข้อดี สวยแปลกตา ดูเป็นงานหัตกรรม

ข้อจำกัด ต้องอาศัยเวลาและความชำนาญในการสาน หากใช้วัสดุคงทนราคาจะสูง

งบประมาณ ฟากไม้ไผ่ราคาไม่เกิน  200 บาท

ฟากไม้ไผ่สาน ราคามัดละ 120 บาท ไม้รวก 1 มัด 80 บาท หากนำมาสานทำแปลงขนาด 1 ตารางเมตร สามารถทำได้หลายแปลง

8. แปลงกรวด-หิน ตกแต่งโดยใช้ตะแกรงลวดและหมุดยึดเป็นแนวผนังด้านละสองชิ้น จากนำกรวดใส่ระหว่างช่องว่างของตะแกรงทั้งสองแผ่น ตกแต่งลบคมให้สวยงาม

ข้อดี สวยแปลกตา ระบายน้ำง่าย

ข้อจำกัด ต้องใช้คนทำมากกว่า 1 คน ควรยึดหมุดให้ผนังขอบแปลงมั่นคงแข็งแรงก่อน

งบประมาณ 400-550 บาท

ตะแกรงลวดกรงไก่ ขนาดหน้ากว้าง 2 เมตร ความยาว 5 เมตร  ราคา 90 บาท กรวดแม่น้ำเบอร์ 4 จำนวน 10-12  ถุง ราคาถุงละ 35 บาท ( 9 กก.)

9. ทำแปลงผัก จากวัสดุเหลือใช้

ใช้วัสดุอะไรก็ได้ที่สามารถกั้นขอบแปลง อาจนำวัสดุเหลือใช้ในสวน อย่าง ท่อนไม้กิ่งไม้นำมาสานหรือวัสดุเหลือทิ้งอย่าง แผ่นฟิลเจอร์บอร์ด  สังกะสีเก่า แผ่นกระเบื้องที่เหลือจากการตกแต่งบ้าน  ล้อยางรถยนต์เก่า วงท่อซีเมนต์มาออกแบบเป็นแปลงปลูก

ข้อดี หาง่าย ประหยัดสามารถนำมาตกแต่งให้เข้ากับสไตล์จังก์การ์เดน

ข้อจำกัด ต้องอาศัยหลักศิลปะของแต่ละคนในการคัดเลือกวัสดุที่เข้ากันและไม่ควรใช้ที่หลากหลายเกินไป ทั้งควรคำนึงในแง่ความปลอดภัย หลีกเลี่ยงวัสดุที่มีขอบคมที่ทำให้เกิดบาดแผลได้

สวนครัวนอกจากเป็นพื้นที่สำหรับปลูกพืชอาหารแล้ว ยังใช้ประดับตกแต่งบ้านได้ในตัว สามารถเพิ่มไอเดียต่อยอดได้หลากหลาย การออกแบบสวนครัวในพื้นที่ให้สวย ไม่ควรใช้วัสดุที่หลากหลายเกินไป แต่ควรเลือกใช้ให้ดูกลมกลืนไปด้วยกัน

นอกจากแปลงปลูกที่กล่าวมาแล้ว ยังมีแปลงปลูกระดับความสูง 40-50 ซม. ที่โชว์พื้นผิววัสดุได้อย่างเต็มที่สามารถใช้ประโยชน์สำหรับนั่งเล่นริมขอบแปลงได้ ทั้งยังเหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่นั่งรถเข็นสามารถเข้าไปปลูกหรือเก็บผลผลิตได้สะดวก รวมถึงยังมีแปลงปลูกรูปแบบโต๊ะปลูกผัก สำหรับยืนทำงานได้สะดวก ทั้งนี้หากในสวนมีแปลงหลายระดับ  มีองค์ประกอบอย่างค้างหรือซุ้มให้ผักเลื้อยบ้าง รวมถึงปลูกพรรณไม้สูงต่ำหลายระดับ ทั้งไม้ต้น ไม้พุ่ม ไว้ตามมุมสวนแต่ละมุมบ้าง ย่อมทำให้สวนเกิดมิติที่สวยงามกว่าการเลือกใช้องค์ประกอบที่มีความสูงใกล้เคียงกันทั้งหมด

ติดตามเรื่องราวของสวนครัวและความรู้ต่างๆ ได้จาก หนังสือ สวนสวยกินได้ Edible Garden และ Garden & Farm Vol.9 : ผักสวนครัว รั้วกินได้

เรื่อง ทิพาพรรณ

ภาพ อภิรักษ์, อนุพงษ์

บทความที่เกี่ยวข้อง