เพราะ แมลงศัตรูพืช มีหลากหลายสายพันธุ์ ทั้งที่มองเห็นชัดๆ จับได้แบบคาตาว่ามากัดกินต้นไม้ของเรา แต่ก็มีอีกหลายที่ซ่อนตัวได้อย่างแนบเนียนและมีรูปร่างหน้าที่แตกต่างกันไปบางตัวไม่คุ้นหน้าก็คิดว่าไม่อันตราย แต่พอรู้ตัวอีกทีก็เล่นต้นไม้แสนรักซะใบร่วงโกร๋น หรือเหลือแค่กิ่งไว้ดูต่างหน้า ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีเลยทีเดียว
•ภาษาต้นไม้ ep.1 : 12 อาการต้นไม้ เจอแบบนี้ขาดธาตุอาหารชนิดใด
แมลงศัตรูพืช จำแนกแบบง่ายๆ เป็น 2 ประเภทตามลักษณะการกัดกินคือ แมลงปากดูด ซึ่งจะทำลายต้นไม้ด้วยการดูดกินน้ำเลี้ยง เช่น เพลี้ยแป้ง เพลี้ยอ่อน เพลี้ยไฟ ไร แมลงหวี่ขาว อีกประเภทคือ แมลงปากกัด จะทำลายต้นไม้ด้วยการกัดกินใบ ใช้ปากแทะ เช่น หนอนชอนใบ หนอนกระทู้ ทาก ซึ่งทั้งสองชนิดจะมีแมลงศัตรูธรรมชาติที่จะทำลายเจ้าวายร้ายตัวจิ๋วในสวนตามระบบนิเวศ คือ ตัวห้ำ ที่จะไปกัดกินเหยื่อเป็นอาหาร เช่นแมลงปอ แมลงช้างปีกใส ตั้งแตนตำข้าว แมลงวันหับบุบ ด้วงเสือ ด้วงเต่าลาย แมงมุม แมงป่อง ต่อ แตน เป็นต้น อีกประเภทคือ ตัวเบียน เช่นแตนเบียนไข่ แมลงวันก้นทอง ช่วยทำลายไข่หนอน แมลงตัวเบียนจะวางไข่ที่ตัวเหยื่อ เมื่อหนอนฟักตัวก็จะชอนไชกินอยู่ภายใต้ตัวเหยื่อและตายในที่สุด
นอกจากนี้ยังมีวิธีกำจัดโดยไม่ต้องใช้สารเคมีอย่างการผสมสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อนแรงฉีดรอบๆ ต้นไม้จะออกฤทธิ์ทำให้ไข่แมลงฟ่อและกำจัดไม่แพร่ระบาดยิ่งกว่าเดิม ทั้งนี้ เจ้าของสวนต้องหมั่นระวังไม่ให้แมลงเหล่านั้นบุกสวน สังเกตอาการของต้นไม้ที่ปลูก ลักษณะใบ การออกดอกแตกผล และกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งอาการต้นไม้ที่จะแสดงผลเมื่อถูกแมลงกัดกินมีอะไรบ้าง เราจะพาไปรู้จักกัน
ใบหงิกงอ บิดเบี้ยว แคระแกรน : เพลี้ยแป้ง
เพลี้ยแป้งเป็นแมลงจำพวกปากดูด มีขนาดเล็กลำตัวสีขาวฟู อยู่เกาะกลุ่มทำให้สังเกตเห็นได้ง่าย ระบาดหนักช่วงอากาศร้อนชื้น โดยมีมดเป็นตัวช่วยในการแพร่กระจายพาไปยังจุดต่างๆ เพลี้ยแป้งจะดูดกินน้ำเลี้ยงตรงยอดอ่อนของพืช เกิดจุดด่างดำที่ใบ ยอดหงิกงอ เมื่อขาดน้ำเลี้ยงมากๆ ต้นไม้ก็จะหยุดชะงักการเจริญเติบโตและตายในที่สุด
กำจัดด้วยชีววิธี : ใช้แมลงห้ำ อย่าง ด้วงเต่าลาย แมลงปอ กินตัวเพลี้ยแป้ง
สูตรสมุนไพร : พริกสด กระเทียม หอมแดงสด น้ำยาล้างจาน
วิธีใช้ : พริกสดตำละเอียด 1- 2 ช้อนชา น้ำยาล้างจานชนิดไม่มีสารฟอกขาว 1 ช้อนโต๊ะ กระเทียมและหอมแดงสดอย่างละ 1 หัวใหญ่ นำไปปั่นโดยผสมน้ำบ้างเพื่อให้เข้ากัน แล้วเติมน้ำอีก 2 ลิตร หมักทิ้งไว้ 1 คืน จากนั้นนำมากรองก่อนฉีดพ่นบริเวณที่เพลี้ยแป้งบุกรุก
ใบเกิดรอยไหม้ บิดเบี้ยว ขอบใบม้วน : เพลี้ยไฟ
เพลี้ยไฟเป็นศัตรูพืชที่มีรูปร่างเรียวยาว ขนาดเล็ก ตัวเต็มวัยมีปีก 2 คู่ สามารถบินหนีและแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว ทำลายพืชโดยการดูดกินน้ำเลี้ยง อาศัยอยู่ตามซอกใบ ระบาดในระยะใบแตกยอดใหม่จนถึงใบพืชโตขึ้นก็จะถูกทำลายปลายใบจะเหี่ยว ขอบใบม้วนเข้าหากลางใบด้านบนและอาศัยอยู่ในใบม้วนนั้น ระบาดในช่วงอากาศร้อนแห้งแล้ง ถ้าระบาดหนักจะทำให้พืชแห้งตาย
กำจัดด้วยชีววิธี : ใช้แมลงห้ำ อย่าง ด้วงเต่าลาย แมลงปอ กินตัวเพลี้ยไฟ
สูตรสมุนไพร : สะเดา ข่า ตระไคร้หอม น้ำ
วิธีใช้ : สับใบสะเดา ข่า และตะไคร้หอม อย่างละ 1 กิโลกรัมให้ละเอียด นำส่วนผสมทั้งสามอย่างมาตำรวมกัน ผสมกับน้ำ 20 ลิตร หมักไว้1 คืน กรองเอาน้ำหัวเชื้อที่ได้ นำไปผสมน้ำในสัดส่วน 1 : 1 ฉีดพ่นทุก 7 วันในตอนเย็น
ใบหงิกงอ เหลืองร่วง : เพลี้ยอ่อน
เพลี้ยอ่อนเป็นแมลงที่มีขนาดเล็กเท่าหัวเข็ม ลำตัวอ่อนนุ่มสีเขียวอ่อนไปจนถึงสีดำเข้ม ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจะมีขนาดเล็ก สีเหลืองอ่อน มีขา 3 คู่ หนวดสั้น ดูดกินน้ำเลี้ยงตามใบ ยอด หรือดอก ทําให้มีอาการใบหงิกงอ ใบเหลืองร่วง ต้นไม่แตกยอดอ่อน ไม่ออกดอก ดอกเหี่ยวและอ่อนแอ
กำจัดด้วยชีววิธี : ใช้แมลงห้ำ อย่าง ด้วงเต่าลาย แมลงปอ กินตัวเพลี้ยอ่อน
สูตรสมุนไพร : พริกสด พริกไทย ดีปลี น้ำ
วิธีใช้ : บดพริกสด พริกไทยสด และดีปลีสด อย่างละ 1 กิโลกรัมให้ละเอียด นำส่วนผสมทั้งหมด ไปผสมกับน้ำ 20 ลิตร หมักนาน 3 – 5 วัน กรองเอาแต่น้ำหัวเชื้อ โดยอัตราส่วน การใช้ให้ผสมน้ำหัวเชื้อปริมาณ 200 – 500 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร นำไปฉีดพ่นให้ทั่วทรงพุ่มต้น ทุก 3 – 5 วัน
ใบเป็นรูพรุน : หนอนกระทู้
หนอนกระทู้เกิดจากผีเสื้อกลางคืน เป็นหนอนที่เพิ่งฟักตัวออกมาจากไข่ใหม่ๆ แล้วดำรงชีวิตตามวงจรผีเสื้อ โดยแทะกินใบผัก ใบไม้เป็นอาหาร เหลือแค่เนื้อเยื่อผิวใบบางๆ รุนแรงเมื่อเติบโตในระยะที่5 จะซ่อนตัวจากแสงในเวลากลางวัน กัดกินใบผักใบไม้ใบผักในช่วงเวลากลางคืนจนพรุนไปทั่ว ในระยะที่6 ก่อนเป็นดักแด้จะกัดใบเพื่อมาสร้างรังหุ้มดักแด้ทำให้ใบไม้ดูสกปรกและพืชอาจจะตายได้ในระยะนี้ หนอนกระทู้ระบาดในผักกินใบชนิดอย่างเช่นกะหล่ำปลี คะน้า ผักกาด ผักกวางตุ้ง และไม้ดอกไม้ประดับอย่างบัวหลวง เบญจมาศ เฟิน เยอร์บีน่า เป็นต้น
กำจัดด้วยชีววิธี : ใช้แมลงเบียนเช่น แตนเบียน วางไข่ในตัวหนอนกระทู้
สูตรสมุนไพร : สะเดา ข่า ตระไคร้หอม น้ำ
วิธีใช้ : สับใบสะเดา ข่า และตะไคร้หอม อย่างละ 1 กิโลกรัมให้ละเอียด นำส่วนผสมทั้งสามอย่างมาตำรวมกัน ผสมกับน้ำ 20 ลิตร หมักไว้1 คืน กรองเอาน้ำหัวเชื้อที่ได้ นำไปผสมน้ำในสัดส่วน 1 : 1 ฉีดพ่นทุก 7 วันในตอนเย็น
ใบม้วนพับ ห่อใบ : หนอนม้วนใบ
หนอนม้วนใบหรือห่อใบ เป็นตัวอ่อนของผีเสื้อกลางวัน เมื่อฟักเป็นตัว ระยะแรกตัวหนอนกัดพับใบหรือม้วนใบแล้วยึดใบไว้ด้วยเส้นใยที่มันสร้างขึ้นห่อตัวเองเอาไว้ หนอนจะกัดกินอยู่ในใบที่ม้วนหรือพับจนเข้าดักแด้ ทำให้ยอดอ่อนถูกห่อเป็นกระจุกเสียหาย
กำจัดด้วยชีววิธี : ใช้แมลงเบียนเช่น แตนเบียน วางไข่ในตัวหนอนใบม้วน
สูตรสมุนไพร : สะเดา น้ำ
วิธีใช้ : เก็บใบแก่ของสะเดาสดมาสัก 2 กิโลกรัม ตำให้ละเอียด นำใบสะเดาที่ตำจนละเอียดแล้ว มาแช่ในน้ำ 20 ลิตร (หรือ 1 ปี๊บ) หมักทิ้งไว้นาน 12 – 24 ชั่วโมง ใช้ผ้าขาวบางกรองเอาแต่น้ำหัวเชื้อ ส่วนกากที่เหลือนำไปทำปุ๋ยหมัก ใส่ต้นไม้ได้ อัตราส่วนการใช้ ให้ผสมน้ำหัวเชื้อ 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 20 ลิตร แล้วนำไปผสมสารจับใบ เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน และแชมพู โดยใส่เพียงเล็กน้อย (เพื่อให้สารจับกับใบพืช ได้ดีขึ้น)