ช่วงต้นปลายปี หลายคนคงผ่านตากับภาพทุ่งข้าวสีชมพูที่แพร่หลายอยู่ในโลกออนไลน์ ข้าวสีรุ้ง หรือ “ ข้าวสรรพสี ” คืออะไร มีที่มาอย่างไร วันนี้เราจะพาคุณไปรู้จัก พร้อมเผยข้อมูลเชิงลึกที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงนัก
ทุ่งนาข้าวสีรุ้งหนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียวและจะได้เห็นกันอีกทีก็เดือนธันวาคมปีหน้าที่งานเกษตร กำแพงแสน 2566 อ่านแล้วเกิดข้อสงสัย อยากลองปลูกบ้าง ไปทำความรู้จักข้าวสีรุ้งไปพร้อมๆ กัน
ข้าวสรรพสีมีที่มาอย่างไร?
“ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวเริ่มทำการวิจัยเกี่ยวกับข่าวสรรพสีมาตั้งแต่ปีพ.ศ.2553 ครับ เรานำ “ข้าวก่ำดอยสะเก็ด” ซึ่งเป็นข้าวเหนียวสีดำพันธุ์พื้นเมืองทางภาคเหนือ ที่ต้น ใบ และเมล็ดมีสีดำ มาผสมกับ “ข้าวหอมนิล” ข้าวเจ้าเมล็ดสีดำที่มีความทนทานต่อโรค และเป็นพันธุ์ข้าวที่เราปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา ได้ลูกที่ตั้งชื่อว่า“ข้าวก่ำหอมนิล” เก็บเมล็ดแช่เย็นไว้ก่อนครับ
“หลังจากนั้นเราเอา “ข้าวหอมนิล” พันธุ์แท้หลายแสนเมล็ดไปฉายรังสีเพื่อเร่งให้เกิดการกลายพันธุ์ ซึ่งวิธีการนี้จะไม่ใช่การตัดต่อพันธุกรรมนะครับ เราได้เมล็ดกลายพันธุ์มาชุดหนึ่ง นำไปปลูกคัดเลือกได้เป็นพันธุ์ “ข้าวเจ้าหอมนิลพันธุ์กลายใบขาว” จากนั้นก็เอาไปผสมพันธุ์กับ “ข้าวก่ำหอมนิล” ที่เราเก็บไว้ครับผลคือได้ข้าวที่มีลักษณะแปลกๆ ออกมามากมาย เราก็ทำการคัดเลือกต้นที่มีสีสวย เกิดเป็นข้าว สรรพสี (Rainbow Rice) อย่างที่เห็น” คุณสุมน ห้อยมาลา นักวิชาการเกษตร ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เล่าถึงจุดเริ่มต้นของข้าวสรรพสีให้เราฟัง
“เรามีการคัดเลือกพันธุ์มาเรื่อยๆ ครับ ดูการเจริญเติบโต ดูทรงต้น ดูสี การออกรวง ความแข็งแรง ความต้านทานโรคและแมลง จนเมื่อปีพ.ศ. 2562 เราปลูกเป็นแปลงเล็กๆ หลังศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวและจัดแถลงข่าวเปิดตัวเป็นครั้งแรกหลังจากนั้นเราก็ยังทำการวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทดลองนำไปปลูกที่อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เพราะเรามีข้อมูลว่าข้าวพันธุ์นี้ต้องการอากาศเย็น เติบโตได้ดีในที่อุณหภูมิต่ำ สีจะจัดจ้านสวยงาม เราปลูกข้าวสรรพสีบนผืนนากว่า 8 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นการโชว์เปิดตัวครั้งใหญ่ครั้งแรกเลยครับ”
ตลอดระยะที่มีการทดลองปลูกเพื่อคัดเลือกต้น โดยเน้นจากความหลากหลายของเฉดสีบนแผ่นใบ เลือกเฉพาะต้นที่มีทรงสวยรูปร่าง ขนาด และสีใบมีความสม่ำเสมอ จนในปีพ.ศ. 2558-2559 ก็ได้ตัวแทนของแต่ละเฉดสีออกมารวม 5 สายพันธุ์
ข้าวที่ไม่ได้มีดีแค่สีสวยๆ
จากผลลัพธ์ของการผสมพันธุ์ ทำให้เราได้ข้าวที่ใบมีสีสันงดงามแตกต่างกันออกไปมากมาย ดังนั้นเป้าหมายของการคัดเลือกพันธุ์ข้าวสรรพสีจึงมุ่งไปที่ความสวยงามเป็นหลัก นอกจากเราจะได้เมล็ดข้าวเพื่อนำไปบริโภคแล้ว ใครจะไปคิดว่าข้าวก็สามารถนำมาปลูกเป็นไม้ประดับได้เช่นกัน นอกจากนี้คุณสุบินยังเผยความลับที่น่าสนใจให้ฟังอีกว่า
“ในระหว่างการศึกษาทดลอง ยิ่งเราค้นคว้าวิจัยมากขึ้น เรายิ่งเจอประโยชน์ที่มากกว่าเมล็ดนั่นก็คือใบครับ ใบของข้าวสรรพสีอุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารอีกมากมายในปริมาณที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะพวกสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่จะพบมากในพืชที่มีสีสันครับรงควัตถุสำคัญที่พบปริมาณมาก คือ แอนโทไซยานิน (anthocyanin) ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดสีแดงม่วงไปจนถึงน้ำเงินในข้าวสรรพสี เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สามารถละลายนํ้าได้และถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ช่วยลดสภาวะ Oxidative Stress ภายในเซลล์ได้เป็นอย่างดี และยังเป็นสารกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตในเส้นเลือดแดง โดยเฉพาะเส้นเลือดฝอย ต่อต้านการสะสมไขมันอุดตันในเส้นเลือดได้
“การวิเคราะห์โภชนาการในใบข้าวที่มีอายุ 60-80 วัน พบว่าใบข้าวสรรพสีเต็มไปด้วยเส้นใยอาหารที่ปราศจากแป้งโปรตีน เหล็ก สังกะสี แมกนีเซียม แคลซัยม โปแตสเซียมในปริมาณที่สูงมากครับ เราทดลองนำใบข้าวสรรพสีที่มีอายุ 60 วันหลังเพาะกล้า นำไปตากแห้งและบดให้เป็นผงคล้ายแป้งนำไปผสมกับแป้งทำขนมปังทำเป็นขนมปังขายที่ร้าน The Premium @ KU ทั้งที่บางเขนและกำแพงแสนมาเกือบปีแล้วครับ ผงใบจะช่วยเพิ่มปริมาณใยอาหารและทำให้ขนมปังนุ่มขึ้น และยังช่วยลดดัชนีน้ำตาลของขนมปังได้อีกด้วยครับขนมปังเราไม่ได้ทำเองนะครับ เราเอาผงใบนี้ไปให้ผู้ผลิตขนมปังรายหนึ่งทำให้ เป็นการทดลองเรียนรู้และคิดค้นพัฒนาไปด้วยกัน เราพาเขาไปอบรมเรื่องการทำขนมปัง แนะนำการนำวัตถุดิบของเราไปใช้ พัฒนาปรับปรุงสูตรจนทำขายสร้างรายได้ ซึ่งก็เป็นจุดประสงค์ของเราอยู่แล้วครับ เราอยากพัฒนา SME ให้เขาเติบโตต่อไปได้ครับ”
นอกจากที่คุณสุมนเล่าให้ฟังแล้ว เรายังค้นพบผลการวิจัยที่น่าสนใจอีกหลายอย่าง เช่น การนำผงใบข้าวสรรพสีมาทดสอบความสามารถในการกระตุ้นให้เชื้อจุลินทรีย์โปรไบโอติก(Probiotics)หลายชนิดมีชีวิตอยู่ในระบบการย่อยและดูดซึมอาหาร จนไปเจริญเติบโตในลำไส้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี สามารถผลิตกรดไขมัน (Fatty Acid)ที่มีโมเลกุลขนาดเล็กในปริมาณมาก ใบข้าวสรรพสีจึงมีคุณสมบัติในการเป็นพรีไบโอติกส์(Prebiotic) ที่ดี
อีกเรื่องที่น่าสนใจมากคือ สารสกัดจากสารต้านอนุมูลอิสระในใบข้าวสรรพสีมีผลช่วยชะลอการเสื่อมของจอรับภาพในระดับเซลล์ของมนุษย์ และกำลังมีการศึกษาวิจัยประยุกต์นำมาใช้ในการชะลอการเสื่อมของจอรับภาพที่มักเกิดในผู้สูงวัย ในเด็กและกลุ่มคนที่ใช้คอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน
“เราสามารถนำผงใบไปผสมในอาหารได้ทั้งคาวหวาน และเครื่องดื่มนะครับ ตอนนี้เรากำลังทดลองนำไปบรรจุแค็ปซูลเป็นอาหารเสริม แต่ยังไม่มีวางขายนะครับ เพราะต้องทำการวิจัยเพิ่มเติมในเรื่องก่อให้เกิดอาการแพ้ไหม มีเอ็ฟเฟ็กซ์อื่นๆ กับร่างกายหรือไม่ครับ และต้องผ่านการขึ้นทะเบียน อย. ก่อนครับ
“ในยุคหนึ่งเราเคยกินต้นอ่อนข้าว ไม่ว่าจะเป็นข้าวบาร์เลย์ ข้าวสาลี แต่เราก็ยังไม่เคยพบการกินต้นอ่อนข้าวนะครับด้วยความที่ใบมีขนสาก ทำให้ระคายคอ แต่ในวันนี้ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวเรากำลังสร้างประวัติศาสตร์ในการกินใบข้าว ใช้ประโยชน์จากใบข้าวของไทย เราค้นพบแล้วว่าสามารถกินโดยไม่ต้องผ่านความร้อนก่อน แต่ต้องทำให้แห้งและแปรรูปก่อน ตอนนี้เรากำลังวิจัยหารูปแบบอื่นๆ ที่จะนำไปทานได้อยู่ครับ”
สนใจอยากปลูกต้องเตรียมอะไรบ้าง!
ข้าวสรรพสีเป็นพันธุ์ข้าวเหนียว (ยกเว้น สรรพสี 05 ที่เป็นข้าวเจ้า) มีอายุอยู่ได้ 120 วัน เป็นข้าวนาปลังคือสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี ปลูกได้ทุกภาคของประเทศ แต่จะเติบโตและสีใบสวยในที่อากาศเย็นอย่างเช่นภาคเหนือ ในภาคกลางก็ปลูกได้เช่นกันแต่สีอาจจะไม่จัดจ้าน หรือถ้าจะให้เหมาะก็ต้องรอปลูกตอนปลายปีประมาณเดือนกันยายนที่อากาศเริ่มเย็นต้นจะสวยพีคสุดช่วงเดือนธันวาคมที่เริ่มเข้าฤดูหนาว ปลูกได้ทุกพื้นที่ทั้งที่ลุ่ม ที่ดอน ขอเพียงแค่ให้มีน้ำถึง เพราะยังไม่มีการพัฒนาพันธุ์ไปถึงขั้นทนแล้ง วิธีการปลูกเหมือนเช่นการทำนาทั่วไป จะหยอดเมล็ด จะหว่าน จะโยน จะดำทำได้หมด แต่ถ้าปลูกเพื่อความสวยงามคุณสุมนแนะนำให้ใช้วิธีนาโยนหรือนาดำ หรือจะทดลองปลูกเป็นไม้กระถางก็น่าสนใจครับ
ปัญหาเดียวในตอนนี้คือ เมล็ดพันธุ์ยังไม่มีขาย!!! ซึ่งในเรื่องนี้คุณสุมนขอชี้แจงว่า
“ตอนนี้อยู่ในระหว่างขั้นตอนการยื่นจดคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (Plant Variety Protection: PVP)ในบ้านเราจึงยังไม่มีเมล็ดพันธุ์ขายนะครับ อาจต้องใช้เวลาอีกเป็นปีอดทนรอกันอีกนิด รอให้เป็นพันธุ์ข้าวที่ถูกต้องตามกฎหมายก่อนนะครับ ซึ่งในระหว่างรอนี้ทางศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวได้นำไปทดลองปลูกเพิ่มที่จ.ตาก เพื่อหาข้อมูลพื้นที่และสภาพที่เหมาะสมในการปลูกเพิ่มเติม เราไม่ได้หวงพันธุ์นะครับ เพราะบทสรุปสุดท้ายแล้วเราต้องการเผยแพร่ให้ได้นำไปปลูกกันมากๆอยู่แล้วเพียงแต่รอให้ถูกต้องเสียก่อนครับ”
ถามถึงโอกาสที่ข้าวจะกลายพันธุ์เหมือนไม้ด่างหรือไม่ ได้คำตอบมาว่า “โอกาสที่ข้าวสรรพสีจะกลายพันธุ์มีตามธรรมชาติครับ แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกนานเลยครับ ส่วนจะกลายพันธุ์ไปทางไหนก็ตอบไม่ได้นะครับ ข้าวที่เห็นอยู่นี้เป็นลูกรุ่นที่ 6ที่ 7แล้วครับ ความนิ่งในสายพันธุ์ก็อยู่ในระดับหนึ่ง เพราะเราต้องนำไปขอจดทะเบียนพันธุ์ ก็เหมือนถูกบังคับว่าพันธุ์ต้องนิ่งไม่เพี้ยนส่วนที่เห็นเป็นสีซีดนี้ไม่ใช่การกลายพันธุ์ครับ ข้าวแก่ออกรวง ต้น ใบ และรวงสีจะเปลี่ยนตามธรรมชาติครับ ข้าวตอนอายุ 90 วันจะมีสีที่สวยที่สุด และข้าวที่เราผสมขึ้นมานี้เป็นลูกผสมเปิด หมายความว่าสามารถนำเมล็ดไปทำพันธุ์เพาะต่อได้ครับ”
ทิศทางต่อไปในอนาคต
จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เราพอจะสรุปได้ว่า ข้าวสรรพสีเป็นข้าวที่เหมาะจะปลูกเพื่อใช้ประโยชน์จากใบเป็นหลัก ซึ่งจากการสอบถามได้ข้อมูลเพิ่มเติมมาว่า ข้าวสรรพสีให้ผลผลิตเมล็ดข้าวได้แค่ 300 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งถือว่าเป็นผลผลิตที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับการปลูกข้าวชนืดอื่นๆ (ข้าวหอมมะลิได้ 500 กิโลกรัมต่อไร่) ประเด็นการปลูกเป็นธุรกิจจึงควรเน้นไปที่การปลูกเพื่อขายใบมากกว่าเมล็ด
แต่จุดอ่อนที่สำคัญของข้าวสรรพสี คือ ไม่ต้านทานโรคและแมลง โดยเฉพาะโรคใบไหม้ ใบแห้ง ซึ่งเป็นโรคสำคัญของข้าว
“ในเมื่อเราปลูกเพื่อกินใบ ยิ่งต้องระวังเรื่องการใช้สารเคมีในกรณีที่เกิดโรคแมลง แนวโน้มการปลูกจึงมีทิศทางไปในรูปแบบระบบออแกนิค ดังนั้นคนที่สนใจปลูกต้องเรียนรู้การเพาะปลูกพืชในระบบออแกนิคครับมีแนวโน้มว่าปีหน้าเราจะมีการคัดเลือกพื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการปลูก สร้าง Rainbow Rice Valley ขึ้นมา รวมกลุ่มเกษตรกรร่วมกันปลูกในเงื่อนไขและรูปแบบที่เรากำหนด เตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาให้สามารถปลูกเพื่อสร้างรายได้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ได้จริงครับ”
ข้อมูลจากเกษตรต้นแบบที่อ.บ้านสร้างจ.เชียงใหม่ ในพื้นที่ 1 ไร่ที่ปลูกข้าวสรรพสี 1 รอบสามารถเก็บเกี่ยวใบข้าวได้ 1-3 ครั้ง โดยครั้งแรกเก็บใบข้าวอ่อนเมื่ออายุไม่เกิน 21 วัน ครั้งที่ 2 เมื่อต้นข้าวอายุ 60 วัน และครั้งที่ 3 ไม่เกิน 90 วัน หลังจากนั้นจึงปล่อยให้ต้นข้าวผลิตเมล็ดจนเก็บเกี่ยวได้ การเก็บเกี่ยวใบข้าวแต่ละครั้งจะถูกนำไปใช้ในอาหารเสริมที่หลากหลาย เช่น ใบข้าวอ่อนอายุไม่เกิน 21 วัน สามารถนำมาใช้ปั่นทำเครื่องดื่ม ใบข้าวอายุ 60-80 วัน สามารถนำมาใช้แปรรูปเป็นใบบดผง และเมล็ดยังสามารถขายเป็นข้าวเหนียวดำใช้บริโภคได้ สามารถสร้างรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 35,500 บาท โดยใต้นทุนประมาณ 4,000 บาทเท่านั้น
“ส่วนข้าวสรรพสีเราก็จะยังคงทำงานวิจัยกันต่อไป อาจจะมีสีอื่นๆ เพิ่มเติมขึ้นมา หาข้อมูลการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายมิติ เป็นทั้งอาหารในชีวิตประจำวัน เป็นอาหารเสริม เป็นเครื่องสำอาง สร้างพันธุ์ที่ทนทานต่อโรคและแมลง ทนน้ำท่วม ทนแล้ง เรามีฐานพันธุกรรมข้าวอยู่แล้ว เราพัฒนาพันธุ์ข้าวอื่นๆ อยู่แล้ว นักวิจัยก็ต้องทำการวิจัย ค้นคว้า คัดเลือกยีนส์ที่เหมาะสมต่อไปครับ
“ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวเราทำงานวิจัยข้าวในทุกมิติ เป้าหมายในการพัฒนาพันธุ์ข้าวของเราคือ กินอิ่ม เป็นประโยชน์ เกษตรกรผู้ปลูกไม่ต้องลงทุนสูง ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ฉีดยา ผู้บริโภคได้ของดี สิ่งแวดล้อมก็ดีด้วย ในอนาคตระบบนิเวศน์ที่เกี่ยวข้องของการทำนาต้องดี คนปลูก คนกิน นก หนู ปูนา ดิน น้ำลม อยู่ร่วมกันได้เหมาะสม
“การนำพืชมาใช้เป็นยา การศึกษาวิจัยที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ ข้าวสินเหล็ก ข้าวเพื่อโภชนาการต่างๆ เรามุ่งเน้นในแนวทางธัญโอสถเป็นเรื่องสำคัญ การนำพืช นำธัญหารมาเป็นยา ที่นี่เรามีอาจารย์และนักวิจัยหลายๆ ท่านครับ รวมถึงหน่วยงานวิจัยของศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. เรามีห้องปฏิบัติการดีเอ็นเอเทคโนโลยี ที่รับบริการตรวจดีเอ็นเอ จีเอ็มโอ ออกใบรับรองจัดส่งข้าวไปต่างประเทศ เรามีห้องทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพวกเราทำงานร่วมกันทั้งหมดครับ เราจึงทำงานได้เร็ว เราเป็นหน่วยงานราชการที่ทำงานแบบเอกชน ทำงานเชิงรุก 100% อยากให้ทุกคนติดตามข่าวสารงานวิจัยใหม่ๆ ที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือจากศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวโดยตรง เรายังมีงานวิจัยที่น่าสนใจอีกเยอะเลยครับ ” คุณสุมนทิ้งท้ายไว้ก่อนจากกัน
หรืออยากลงทะเบียนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัย ดูข้อมูลได้ที่https://dna.kps.ku.ac.th/ หรือติดต่อโดยตรงถึงคุณสุมน ห้อยมาลา นักวิชาการเกษตรของศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าวหนึ่งในผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการนี้ที่เบอร์. 08-5181-5363 ครับ
เรื่อง : วชิรพงศ์ หวลบุตตา
ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย / กรานต์ชนก บุญบำรุง