เดอะมนต์รักแม่กลอง โชห่วยชุมชน ที่เล่าเรื่องคนผ่านสินค้าเกษตร

“มนต์รักแม่กลอง” วารสารรายสะดวกที่ชื่อเสียงเรียงนามฟังแล้วเสนาะหู ชวนจินตนาการถึงบรรยากาศริมน้ำแม่กลองที่ครื้นเครงด้วยความรักของคนหนุ่มสาว แต่ความหมายที่แท้จริงของชื่อนี้ตีความคำว่า“รัก” ไปไกลกว่าที่คิด

เพราะยังเป็นพื้นที่เล็กๆ ที่เล่าเรื่องของชาวแม่กลองผ่านตัวอักษรในวารสารที่ตีพิมพ์ตามวาระก่อนแปรเปลี่ยนเป็นร้าน “เดอะมนต์รักแม่กลอง” ซึ่งตั้งสโลแกนให้ตัวเองว่า “โชห่วยชุมชน”

ร้านชำหลังเล็กที่มีสินค้าไม่กี่สิบชิ้น แต่ที่น่าสนใจคือทุกชิ้นต่างมีเรื่องเล่าของคนทำซ่อนอยู่ในนั้น ภายใต้แพ็กเกจดีไซน์ใหม่ เรียบง่ายแต่เป็นมิตรกับสายตาเช่นเดียวกับที่ไปที่มาของแต่ละชิ้นที่เล่าเรื่องเหมือนกับว่ากำลังนั่งอ่านบทความในหน้าหนังสือที่ผ่านการร้อยเรียงของคนรักแม่กลองทั้ง 4 คน ได้แก่ คุณหนู- ภัทรพร อภิชิต,คุณโจ – วีรวุฒิ กังวานนวกุล,คุณนก – นิสา คงศรี และคุณก๊อก – กึกก้องเสือดี ผู้เล่าเรื่องเมืองแม่กลองผ่านสิ่งของและอาหาร ซึ่งพวกเขาต่าง ‘มองดาวดวงเดียวกัน’

บทสนทนาของเราเริ่มขึ้นบนพื้นบ้านหลังเล็กริมน้ำ ลมเย็นพัดโชยมาเป็นระยะ และเสียงขับกล่อมของนกน้อยที่หากินตามธรรมชาติกับเรื่องเล่าชวนเพลินหูถึงที่มาของโชห่วยชุมชนณ หนูโจอาร์ตแอนด์ฟาร์ม

เกลือนาแก้ว นาเกลือริมถนนพระรามที่ 2 ซึ่งคนที่ผ่านไปมาคงคุ้นตากับวิวสองฟากฝั่ง แต่รู้หรือไม่เบื้องหลังการคงอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป มีการต่อสู้เพื่อให้เกลือทะเล ภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวแม่กลองยังคงดำรงอยู่ไปจนถึงความสำคัญในเชิงนโยบายของแม่บทกฎหมาย หรือจะเป็นน้ำปลาผู้ใหญ่แดงที่เกิดจากการอนุรักษ์และปลูกป่าชายเลนของผู้ใหญ่แดงจนเกิดความสมบูรณ์ส่งผลให้มีปลามาอาศัยตามธรรมชาติจนสามารถนำมาผลิตเป็นน้ำปลาที่มีคุณภาพได้

สินค้าคือคอลัมน์ที่เล่าเรื่องคน

คุณก๊อกเป็นสถาปนิกผู้คลุกคลีกับแม่กลองมาตั้งแต่กำเนิด แม้จะมองว่าอาหาร สินค้าเกษตรที่ถูกยกให้เป็นของดีของเมืองแม่กลองนั้นเป็นสิ่งที่มีในชีวิตประจำวัน คนส่วนใหญ่ล้วนรู้จัก แต่ยังมีเรื่องราวส่วนลึกที่ซ่อนอยู่ก่อนเป็นสินค้าอย่างที่เห็น และเขาอยากให้คนได้รู้จักสิ่งเหล่านั้น

“มนต์รักแม่กลองตั้งตัวเป็นสื่อ เราไม่ได้ตั้งใจจะเป็นคนขายของ แค่อยากเล่าเรื่องเมืองเพราะเราเห็นเมืองสำคัญ แม่กลองมีระบบนิเวศที่มีอัตลักษณ์ ถ้ายังเก็บระบบนิเวศรักษาคูคลอง รักษาเมืองสีเขียวเอาไว้ แม่กลองก็จะเป็นเมืองแห่งอนาคตได้ เราจึงเล่าสิ่งที่แม่กลองมีผ่านสินค้าเกษตรที่มีเรื่องราวของคนในชุมชน ให้คนได้รู้จักกับเมืองนี้ผ่านอาหารที่หลายคนคุ้นเคย ทั้งกะปิ น้ำปลา น้ำตาลมะพร้าว ฯลฯ”

กรรมวิธีดั้งเดิมที่มีเรื่องเล่าในเรื่องราว

คุณหนูเล่าว่าที่นี่ยังห่างคำว่า “โชห่วย” อยู่ไกลเพราะเพิ่งเริ่ม ของที่มีก็ยังน้อย แต่ทุกชิ้นที่เลือกมาจำหน่ายต้องมั่นใจว่าปลอดภัย และมีเรื่องราว ไม่ว่าจะเป็นมิติของคนทำ หรือวิธีทำแบบดั้งเดิมที่กำลังจะสูญหายในอีกไม่ช้า

น้ำตาลมะพร้าวแท้ ตรา #ยิ้มทั้งน้ำตาล น้ำตาลมะพร้าวแท้ๆ จากเตาตาลโบราณ ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ยังคงอยู่ของชาวสวนมะพร้าว น้ำตาลมะพร้าวเนื้อแท้จากธรรมชาติ มีความผันแปรตามธรรมชาติ เช่น น้ำตาลฤดูหนาวจะดีที่สุด เพราะอากาศหนาวช่วยทำให้น้ำตาลสดอยู่ได้นานขึ้น โดยไม่ต้องใส่พะยอมมาก แต่ฤดูร้อนน้ำตาลสดจะบูดง่าย ต้องให้พะยอมเพิ่มอีกหน่อย รสเฝื่อนของพะยอมจึงปนอยู่ในรสหวานชัดขึ้น แม้จะมีความผันแปรในรสชาติแต่เป็นอาหารจากธรรมชาติที่ปลอดภัย ดีต่อสุขภาพ และให้ความหวานอันมีมิติ

น้ำมันมะพร้าวผสมอะโวคาโด ตรา บ้านคลองวัว ด้วยภูมิศาสตร์ของบ้านคลองวัวเหมาะสมกับการทำสวนมะพร้าว ทั้งสภาพดินและน้ำ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ปลูกไม้ผลทำสวนเป็นหลัก ผลผลิตที่ได้จากมะพร้าวนอกจากน้ำตาลแล้วยังสกัดเป็นน้ำมันมะพร้าวที่มากประโยชน์ ช่วยบำรุงผิวกายและเส้นผมให้เงางาม

น้ำส้มหมักจากน้ำตาลมะพร้าว ตราเรียมอรุณ น้ำตาลสดที่ได้จากดอกมะพร้าวในสวนเกษตรอินทรีย์ หมักในโอ่งดินเป็นเวลานาน 1 ปี ได้เป็นน้ำส้มจากธรรมชาติที่มีจุลินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ ใช้ปรุงอาหารหรือจะผสมเป็นเครื่องดื่มก็ได้

หัวน้ำปลาแท้ ตราผู้ใหญ่แดง ผ่านกรรมวิธีหมักแบบวิถีดั้งเดิมหมักในโอ่งดินเป็นเวลานาน 1 ปี ทำจากปลาอกกะแล้ จับเฉพาะในฤดูหนาว ไม่เจือสารปรุงแต่งใดๆ ผลิตโดยผู้ใหญ่แดง ผู้นำชุมชนที่อนุรักษ์การปลูกป่าชายเลนเพื่อป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่งจนเกิดความสมบูรณ์มีปลามาอยู่อาศัยมากพอผลิตเป็นน้ำปลาได้

เกลือทะเล ตราแก้วนาเกลือ เกลือทะเลที่เกิดจากการนำน้ำทะเลมาตากแดดตากลม จากครอบครัวคุณแก้ว ชาวนาเกลือสมุทรสงครามริมถนนพระรามที่ 2 ที่ยังยืนหยัดอยู่เพื่อรักษาที่ดินและวิถีชีวิตชาวนาเกลือไว้

กะปิเคยตาดำ ตราป้าบุญช่วย กะปิที่ทำจากเคยตาดำของแท้จากทะเลตมอ่าวแม่กลอง ผลิตโดยป้าบุญช่วย ชาวบ้านคลองช่องที่ออกเรือไปป้องเคยมาทำกะปิด้วยตัวเอง ผ่านขั้นตอนการทำที่พิถีพิถันทุกขั้นตอน ไม่ผสมกุ้งหรือปลา หมักด้วยเกลือสมุทรแบบภูมิปัญญาดั้งเดิม

น้ำมันมะพร้าว ตราบ้านคลองวัว อีกหนึ่งผลผลิตจากมะพร้าวที่ดีต่อสุขภาพ สำหรับประกอบอาหาร ผลิตจากมะพร้าวสวนยกร่องบ้านคลองวัว

น้ำส้มควันไม้ ตราสิริน บ้านเขายี่สาร น้ำส้มควันไม้ที่ได้จากการเผาเตาถ่านจากไม้โกงกาง อาชีพดั้งเดิมของชาวบ้านเขายี่สาร อำเภออัมพวา ผลิตด้วยกรรมวิธีการดักเก็บน้ำส้มเฉพาะช่วงเวลาและอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุด ตั้งทิ้งให้ตกตะกอน ปราศจากน้ำมันทาร์หรือน้ำมันดิน

ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดออร์แกนิก ตรา หนูโจ ทั้งผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผลิตภัณฑ์ซักผ้า สูตรน้ำหมักชีวภาพ ที่ผลิตจากวัสดุจากธรรมชาติ 100%

นอกจากสินค้าจากวิถีชุมชนที่ปลอดภัยแล้ว ที่โชห่วยเล็กๆ แห่งนี้ยังมีงานศิลปะจากฝีมือคุณโจ ให้เลือกซื้ออีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานพิมพ์ Woodcut งานไม้เพ้นต์สี เป็นต้น

โชห่วยที่เป็นเหมือนวารสารเล่มหนึ่ง

ด้วยความที่ทั้ง 4 คนล้วนทำงานเกี่ยวข้องกับสื่อ อย่างคุณหนู เคยทำงานเป็นนักเขียนนิตยสารก่อนอำลาตำแหน่งบรรณาธิการบริหารไปใช้ชีวิตที่แม่กลอง เช่นเดียวกับคุณโจ คู่ชีวิตของเธอที่ยังคงถ่ายภาพและทำงานศิลปะหาเลี้ยงชีพ ทั้งคู่คือผู้ก่อตั้งหนูโจอาร์ตแอนด์ฟาร์ม บ้านสวนเกษตรที่เชื่อมงานศิลปะให้เป็นส่วนหนึ่งท่ามกลางธรรมชาติของเมืองแม่กลอง ส่วนพาร์ทเนอร์รุ่นน้องอย่างคุณก๊อก สถาปนิกที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของมนต์รักแม่กลองในฐานะคนแม่กลองที่คลุกคลีกับเมืองมากที่สุด ตามมาด้วยคุณนก นักโฆษณาที่เป็นส่วนผสมให้เกิดโชห่วยในชื่อเดอะมนต์รักแม่กลอง

“ตอนนั้นแม่กลองเป็นเหมือนสาวงามที่ซ่อนตัวอยู่และเราได้ค้นพบ มันเป็นจังหวะชีวิต เมื่อเรารู้ตัวว่ากรุงเทพฯไม่ใช่คำตอบของชีวิต วันหนึ่งที่มาที่นี่ ขับรถแค่ชั่วโมงหน่อยๆ จากกรุงเทพฯ แล้วเจอบ้านเมืองอีกแบบหนึ่ง มันดีงามมากเลย ได้มาอยู่บ้านเมืองที่มองไปทางไหนก็เห็นแต่ทิวมะพร้าว มีแม่น้ำ อารมณ์เหมือนโรแมนติกนะ เราขอบคุณมากที่มีพื้นที่แบบนี้สภาพแวดล้อมแบบนี้ให้เราได้อยู่อาศัย” คุณโจเล่าย้อนถึงจุดเริ่มต้น

“ตอนที่เราตัดสินใจมาใช้ชีวิตที่แม่กลองเมื่อสิบกว่าปีก่อนได้เห็นเรื่องราวของเมืองในตอนนั้น ก็คิดว่าควรถูกบันทึกไว้แล้วนำเสนอให้ทั้งคนในท้องที่และคนต่างถิ่นได้รับรู้ เรารู้ว่าสื่อมีบทบาทมากจึงเริ่มทำวารสารชุมชนในชื่อ ‘มนต์รักแม่กลอง’ วางจำหน่ายตามวาระ ตอนนั้นมีคุณสุรจิต ชิรเวทย์ เป็นผู้ผลักดันและสนับสนุนให้ฉบับแรกคลอดออกมาได้” คุณหนูเล่าถึงที่มาก่อนจะแปรเปลี่ยนจากหน้ากระดาษเป็นร้านโชห่วยหลังเล็กแห่งนี้

มนต์รักแม่กลองตีพิมพ์อยู่หลายปี วางแผนตามช่วงเวลาที่สะดวก กระทั่งถึงจุดอำลาหน้ากระดาษมาสู่ร้านค้าหลังเล็กที่ทำหน้าที่เล่าเรื่องคนและเมืองเช่นดังเดิม

มองเมืองสู่ความยั่งยืน เริ่มจากลงมือทำ

“เราไม่กล้าที่จะบอกว่าเราทำเพื่อคนในชุมชน เพราะที่จริงมันมีหลายมิติ เราแค่อยากหาสินค้าที่เล่าเรื่องของที่ตรงนั้นได้ ซึ่งเรารู้ว่าบ้านเรามีทะเล มีสวน มีป่าชายเลน การมีสินค้าที่เล่าเรื่องพวกนั้นได้ก็เป็นส่วนหนึ่ง หรือว่าตัวผู้ผลิตมีเรื่องราวที่น่าสนใจส่วนหนึ่ง แต่ต้องเป็นสินค้าที่ดีพอที่จะเสนอต่อผู้บริโภค รวมไปถึงอาหารที่ไม่มีการปรุงแต่ง ผลิตด้วยวิธีดั้งเดิม เป็นงานที่แฮนด์เมดที่ทำส่งต่อกันมา อาจหาไม่ได้แล้วในอนาคต จึงมีหลายมิติมากในการจะเลือกสินค้า ไม่ใช่เพียงเล่าเรื่องได้สะใจ”คุณหนูกล่าวก่อนที่คุณโจจะเน้นย้ำให้ภาพนั้นชัดขึ้นว่า

“บางทีเขาก็ไม่รู้หรอกว่าเขาทำเพื่อสิ่งแวดล้อม เขาทำเพื่อดำรงอาชีพของเขา ซึ่งเราเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ มองเห็นสิ่งที่มันยั่งยืน เป็นคนธรรมดา แต่เกิดคุณูปการต่อที่ตรงนั้น”

“ความต้องการขั้นพื้นฐาน เราแค่อยากมีอากาศที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดี พื้นฐานเมืองแม่กลองควรเป็นเมืองที่ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยากให้แม่กลองทำให้คนมีอาชีพได้ในอนาคต ต้องเป็นเมืองของอนาคต ผมมองว่าการทำประโยชน์เพื่อเมืองเหล่านี้ ไม่ได้จำเป็นต้องทำเป็นกลุ่มใหญ่ๆ เสมอไป ต่างคนต่างทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ เป็นประโยชน์ ทำเล็กๆ น้อยๆ ประกอบกันไป ไม่ต้องรู้จักกันก็ได้ หรืออย่างที่พี่หนูชอบใช้คำว่า‘เรามองดาวดวงเดียวกัน’ เท่านั้นก็น่าจะเพียงพอ” คุณก๊อกกล่าวทิ้งท้าย

นี่เป็นเพียงบางส่วนที่สื่อสารด้วยเรื่องราวความเป็นมาได้อย่างน่าทึ่ง แต่ยังมีสินค้าเกษตรดั้งเดิมอีกหลายชิ้นที่พร้อมให้เลือกสรร และแต่ละชิ้นล้วนเล่าเรื่องของคนและเมืองได้อย่างน่าสนใจ

เดอะมนต์รักแม่กลอง เปิดบริการทุกวันเสาร์ แต่หน้าร้านออนไลน์เปิด 24 ชั่วโมง
ชมสินค้าได้ที่>> เดอะมนต์รักแม่กลอง สมุทรสงคราม

เรื่อง : JOMM YB
ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข

ไปตามหาไอเดียปลูกพืชผักและจัดสวนกินได้ ในหนังสือ Outdoor Café

เบลนด์ชาสมุนไพรตามสไตล์ของตัวเองที่ Sawanbondin Farm & Tea House