ขยายพันธุ์มวนพิฆาต แมลงตัวห้ำที่ช่วยกำจัดหนอนแปลงผักอย่างปลอดภัย

หนึ่งในคอนเทนต์ที่ได้รับความสนใจจากแฟนฟาร์มเป็นอย่างมาก คือ แมลงดีมีประโยชน์ (ตัวห้ำ ตัวเบียน) และ ได้มีคำถามมากมายเกี่ยวกับแหล่งจำหน่าย วิธีการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์มาอย่างล้นหลาม ซึ่งทางศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) ก็มีองค์ความรู้ที่พร้อมเผยแพร่ให้กับผู้ที่สนใจ มวนพิฆาต

ศทอ. เป็นหน่วยงานราชการที่ทำงานด้านการป้องกันกำจัดศัตรูพืช โดยมุ่งเน้นการใช้แมลงตัวห้ำตัวเบียน และ เชื้อจุลินทรีย์ในการควบคุมแมลงเพื่อทดแทนการใช้สารเคมี รวมถึงมีการผลิตขยายเพื่อแจกจ่ายให้กับเกษตรกรหรือบุคคลทั่วไปที่สนใจสามารถนำไปใช้ได้ รวมถึง มวนพิฆาต

โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะมีหนอนหลายชนิดระบาดหนัก ทั้งหนอนใยผัก หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้หอม หนอนคืบกะหล่ำ ฯลฯ ซึ่งทางศูนย์ฯ ก็ได้แนะนำเป็น มวนพิฆาต (Stink Bug) แมลงในกลุ่มของตัวห้ำที่ช่วยกำจัดหนอนในแปลงผักได้เป็นอย่างดี เลี้ยงง่ายสามารถขยายพันธุ์ได้ไม่ยาก

หลักสำคัญในการเลี้ยงมวนพิฆาต คือ ต้องเลี้ยงหนอนนกด้วย เพื่อเป็นอาหารในขณะที่อนุบาลมวนพิฆาตอยู่นั่นเอง ก็จะช่วยให้สามารถเลี้ยงมวนพิฆาตได้อย่างครบวงจร

มวนพิฆาต

วิธีการเลี้ยงหนอนนก

1. เนื่องจากทางศูนย์ฯ ไม่ได้มีแจกหนอกนก จึงต้องหาซื้อหนอนนกก่อนโดยสามารถหาซื้อได้จากร้านขายอาหารสัตว์แถวจตุจักร ซึ่งหนอนนกที่จำหน่ายอายุประมาณ 60 วัน และ ให้เตรียมอาหารหนอนนกให้พร้อม คือ รำข้าวสาลี ฟักทอง และ ให้น้ำด้วยสำลีชุบน้ำ

2. พอได้หนอนนกมาแล้วจากนั้นให้เลี้ยงหนอนนกจนกระทั่งอายุได้ 80-90 วัน หนอนนกจะเริ่มเข้าดักแด้ ก็ให้แยกดักแด้มาเก็บไว้ในอีกกล่องหนึ่งเพื่อป้องกันโดนหนอนในกล่องกิน

3. พอผ่านมา 1 สัปดาห์ จากดักแด้ก็จะกลายเป็นด้วงสีดำ (ตัวเต็มวัย) ซึ่งให้แยกด้วงสีดำออกมาพร้อมกับใส่อาหารเอาไว้ โดย 1 กล่องจะมีด้วงสีดำ จำนวน 400 ตัว/กล่อง ก็ปล่อยให้ผสมพันธุ์ และ วางไข่ ซึ่งจะใช้ระยะเวลาประมาณ 7 วัน หลังจากนั้นก็ให้แยกพ่อแม่พันธุ์ออกมาในทุกๆ 1-3 วัน เพื่อให้ไข่ออกมาเป็นรุ่นเดียวกัน และ ใส่อาหารไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกหนอนมากินไข่หนอน

4. 7-10 วัน ผ่านไป ลูกหนอนจะฝักออกมาจากไข่ก็ให้อาหารเหมือนเดิม และ เลี้ยงจนกระทั่งอายุได้ 60 วัน ก็สามารถนำไปเป็นอาหารสำหรับมวนตัวห้ำได้แล้ว

มวนพิฆาต
มวนพิฆาตตัวเต็มวัยกำลังกินหนอนเพื่อเป็นอาหาร โดยมวนพิฆาต 1 ตัวสามารถติดหนอนได้เฉลี่ย 80 ตัว

มวนพิฆาต คือ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eocanthecona furcellata (Wolf)

เป็นแมลงประเภทตัวห้ำ ที่ตัวอ่อน และ ตัวเต็มวัย ทำลายหนอนในกลุ่มของหนอนผีเสื้อ ได้แก่ หนอนบุ้ง หนอนกระทู้ผัก หนอนกระทู้ข้าวโพด หนอนเจาะสมอฝ้าย หนอนแก้วส้ม ฯลฯ โดยใช้ปากที่เป็นแท่งยาวคล้ายเข็มแทงเข้าไปในลำตัวหนอน แล้วปล่อยสารพิษทำให้หน่อยเป็นอัมพาตไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ จากนั้นจึงดูดกินของเหลวภายในตัวหนอนจนแห้งตาย โดยจะเริ่มเป็นตัวห้ำในระยะตัวอ่อนวัยที่ 2-5 ไปจนถึงระยะตัวเต็มวัย

มวนพิฆาต
กล่องสำหรับเลี้ยงมวนพิฆาต ต้องมีการเจาะรูเพื่อระบายอากาศ และ ติดตั้งตาข่ายเพื่อกันแมลงหลบหนี

วิธีการเลี้ยงมวนพิฆาต

ก่อนจะเริ่มเลี้ยงได้ก็ต้องมีพ่อแม่พันธุ์ก่อน โดยเกษตรกร และ ประชาชนทั่วไปสามารถขอรับพ่อแม่พันธุ์ได้จากกรมส่งเสริมการเกษตร หรือ ศทอ. ที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งพอได้พ่อแม่พันธุ์แล้วก็ให้เตรียมสถานที่สำหรับเลี้ยง โดยใช้กล่องพลาสติกนำมาเจาะรูติดตะแกรงตาถี่ เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอ่อนหลุดออกไป และ ช่วยระบายอากาศ นอกจากนี้ก็มีเจาะรูด้านบนเพื่อใช้ในการให้อาหาร

ทั่วประเทศจะมี ศทอ.ทั้งหมด 9 ศูนย์ฯ ที่ให้บริการดังกล่าวกระจายอยู่ทั่วประเทศ ได้แก่ จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดชัยนาท จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดชลบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จังหวัดสงขลา จังหวัดสุพรรณบุรี

มวนพิฆาต
นอกจากจะดูขนาดตัวเพื่อระบุเพศแล้ว สามารถดูจากบริเวณปล้องสุดท้ายได้ โดยเพศเมียจะมีสัญลักษณ์รูปตัว T

ให้ใส่พ่อแม่พันธุ์ลงในกล่องพลาสติกที่เตรียมไว้เป็นจำนวน 25 คู่ ซึ่งวิธีการจำแนกเพศให้ดูจากขนาดตัว โดยตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ และ ในส่วนปล้องสุดท้ายของตัวเมียจะมีสัญลักษณ์รูปตัว T ส่วนตัวผู้จะไม่มี พร้อมใส่หนอนนกเพื่อเป็นอาหาร และ สำลีชุบน้ำเอาไว้ ซึ่งอายุของหนอนนกที่ใช้สำหรับเป็นอาหารจะมีอายุ 60 วัน

ไข่ของมวนพิฆาตที่ใกล้จะฟักแล้ว สังเกตเห็นได้ว่า เริ่มมีสีน้ำตาลอมส้มมากขึ้น

ไข่มวนพิฆาต

หลังจากนั้น ประมาณ 1 สัปดาห์ พ่อแม่พันธุ์จะเริ่มผสมพันธุ์ และ วางไข่ติดไว้กับกล่องพลาสติก ซึ่งมักจะวางไข่ในช่วงบ่ายของวัน พอวางเสร็จก็ให้เก็บไข่ โดยวิธีการเก็บไข่จะใช้เล็บค่อยๆ ขูดไข่ออกมาอย่างเบามือ นำมาวางไว้บนใบไม้ที่เตรียมไว้ พร้อมกับสำลีชุบน้ำ

เหล่าตัวอ่อนของมวนพิฆาตวัย 1 กำลังดูดินน้ำจากสำลี

5-7 วัน ผ่านไป ตัวอ่อนจะเริ่มฟักออกมา โดยตัวอ่อนวัยที่ 1 จะกินน้ำจากสำลีเพียงอย่างเดียว และ ระวังไม่ให้น้ำในสำลีแห้งเด็ดขาด ห้ามสัมผัสตัวอ่อนเพราะบอบบางมาก

ตัวอ่อนมวนพิฆาตวัยที่ 2 กำลังรุมกินดักแด้ของหนอนนก

3-4 วัน ผ่านไป ตัวอ่อนวัยที่ 1 จะเริ่มลอกคราบ เพื่อเข้าสู่ตัวอ่อนวัยที่ 2 โดยให้อาหารเป็นดักแด้หนอนนกหรือหนอนนกตัวเล็กเพื่อให้ตัวอ่อนสามารถดูดกินได้ง่าย

ตัวอ่อนมวนพิฆาตวัยที่ 3 พร้อมที่จะนำไปปล่อยในแปลงผักเพื่อกำจัดหนอนได้แล้ว
การให้น้ำจะย้ายจากบนพื้นกล่องมาไว้ด้านบนของกล่องบริเวณตะแกรงแทน เนื่องจากขณะที่แมลงดูดน้ำมักจะขับถ่ายไปด้วย ทำให้สำลีสกปรกได้ง่าย

3-4 วัน ผ่านไป ตัวอ่อนวัยที่ 2 จะเริ่มลอกคราบ เพื่อเข้าสู่ตัวอ่อนวัยที่ 3 ซึ่งเป็นวัยที่สามารถนำไปแจกจ่ายให้กับเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจได้แล้ว โดยในระยะนี้จะสามารถกินหนอนนกอายุ 2 เดือน ได้ โดยวิธีการให้หนอนนกจะใส่ในภาชนะ เพื่อไม่ให้เศษซากหนอนนกกระจายทั่วกล่อง

วิธีการเขี่ยตัวอ่อนมวนพิฆาตโดยใช้พู่กัน เพื่อนำไปปล่อยในแปลงผัก

วิธีการเตรียมก่อนปล่อย เริ่มจากย้ายแมลงเข้ามาในแก้วพลาสติกที่มีใบไม้เพื่อเพิ่มพื้นที่ และ ใส่หนอนเข้าไปเพื่อเป็นอาหารด้วย แต่ถ้าจะปล่อยเลยก็ไม่ต้องใส่หนอนนกก็ได้ โดยในขณะที่เคลื่อนย้ายจะใช้เป็นพู่กันค่อยๆ เขี่ยตัวแมลงจนได้จำนวนตามที่ต้องการแล้ว ก็ให้ปิดฝาให้เรียบร้อยเพื่อกันแมลงออก และ เก็บส่วนหนึ่งไว้เป็นพ่อแม่พันธุ์ชุดต่อไปด้วย

วิธีการปล่อย เปิดฝาใช้พู่กันเขี่ยแมลงเช่นเดิม โดยให้แมลงอยู่บนใบพืชที่จะปล่อย เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นแล้ว สำหรับแปลงผัก ให้ปล่อยมวนพิฆาต จำนวน 100 ตัว/ไร่ แต่ถ้าในแปลงผักมีจำนวนหนอนมาก ให้ปล่อยมวนพิฆาต จำนวน 2,000 ตัว/ไร่ และ การดูแลหลังปล่อย ไม่ควรฉีดสารกำจัดแมลงที่เป็นพิษต่อแมลงในกลุ่มนี้

เจ้าหน้าที่จาก ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช (ศทอ.) จังหวัดชลบุรี

สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ ศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตรด้านอารักขาพืช จังหวัดชลบุรี ในการแนะนำวิธีการเลี้ยงแมลงเพื่อใช้ในการกำจัดศัตรูพืช สำหรับใครที่อยู่ในภาคตะวันออก และ สนใจขอรับการสนับสนุนจากทาง ศทอ.ชลบุรี สามารติดต่อได้ที่เบอร์ติดต่อ 038-231-271 หรือสอบถามผ่านช่องทางเพจเฟสบุ๊ก Chonburi Plant Protection ก็ได้เช่นกัน ซึ่งรวมถึงมี ช่องยูทูป ศทอ. ชลบุรี ให้ไปติดตามด้วย 

เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์

ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม

รู้จัก ตัวห้ำตัวเบียน แมลงที่มีประโยชน์

แมลงศัตรูพืช เป็นแมลงไม่ดี อย่าให้มีในสวน