ผลไม้ชื่อแปลก อย่าง อาซาอิ (Acai) กลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง ด้วยกระแสของคนรักสุขภาพที่สรรหาเมนูอร่อยได้ประโยชน์มารับประทาน ซึ่ง อาซาอิคือหนึ่งในซุเปอร์ฟู้ดจึงได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นด้วย ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือในเมืองไทยสามารถปลูกได้ เช่นเดียวกับต้นปาล์ม
อาซาอิ เป็นผลไม้ที่กำลังได้รับความนิยมไปทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะเมืองไทยในตอนนี้เท่านั้น ดั้งเดิมชาวพื้นเมืองแถบอะเมซอนขนานนามว่าเป็น “ผลไม้ศักดิ์สิทธิ์” ผลไม้สุดวิเศษชนิดนี้ มีคุณประโยชน์มากมาย ให้พลังงานสูง อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระสูงอีกด้วย
- วิธีปลูกราสป์เบอร์รี่ ในเมืองไทยก็ปลูกได้
- เอบิว (Abiu) ไม้ผลแปลกน่าปลูก
- รู้จักองุ่นสายพันธุ์ทนร้อน ที่ปลูกและติดผลได้ง่ายๆ ข้างบ้าน
อาซาอิ (Acai) เป็นพืชในวงศ์ Arecaceae หรือพืชตระกูลปาล์ม มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Euterpe oleracea Mart. เป็นผลไม้ที่มีถิ่นกำเนิดในป่าดิบชื้นของประเทศแถบอเมริกากลาง และอเมริกาใต้ โดยเฉพาะในรัฐปารา ประเทศบราซิล โคลัมเบีย และเปรู ปัจจุบันมีการปลูกในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ในรัฐฟลอริดา รัฐฮาวาย ผลไม้ชนิดนี้เป็นอาหารหลักของชาวบราซิลในแถบตะวันออกเฉียงเหนือใช้รับประทานกับแป้งมันสำปะหลังหรือใช้คู่กับปลาและอาหารอื่นๆ ทั้งยังมีการนำไปทำน้ำผลไม้หมักเพื่อเป็นเครื่องดื่มชูกำลังอีกด้วย
ในปี 2023 ที่ผ่านมามีรายงานการส่งออกอาซาอิไปยังประเทศต่างๆ มากถึง 15,000 ตัน โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ประเทศแถบยุโรบ รวมไปถึงออสเตรเลียและญี่ปุ่น ซึ่งชี้ให้เห็นว่าอาซาอิกำลังเป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย สำหรับคนรักสุขภาพหลายคนจึงรู้จักกับอาซาอิ เพราะเป็นผลไม้ที่มีประโยชน์สูงดีต่อร่างกาย การรับประทานอาซาอิที่ผ่าน กระบวนการ freeze dried เนื่องจากสามารถคงประสิทธิภาพการต้านอนุมูนอิสระได้สูงกว่าในรูปแบบอื่นๆ รวมถึงเมนูยอดฮิต อย่าง อาซาอิ โบวล์ (Acai Bowl) ที่กลายเป็นเมนูขนมหวานของคนรักสุขภาพ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นอาซาอิ
ต้นอาซาอิ มีลักษณะคล้ายต้นปาล์ม เป็นทรงกระบอกเรียวสีน้ำตาลเทา สูงได้ถึง 25 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เซนติเมตร ลำต้นจะมีรอยของกาบใบที่หลุดร่วงไปแล้วคล้ายวงแหวนที่ทิ้งช่วงเป็นระยะ ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ยาวประมาณ 1.2-4 เมตร ดอกออกเป็นช่อขนาดใหญ่ที่ห้อยย้อยจากบริเวณยอด ดอกย่อยมีขนาดเล็กสีน้ำตาล ดอกตัวผู้และดอกตัวเมียจะอยู่แยกกัน ต้องอาศัยแมลงในการช่วยผสมเกสร
ผลของอาซาอิ มีลักษณะกลมคล้ายกับองุ่น แต่มีเนื้อน้อยกว่า ขนาดเล็กประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร เมื่อผลเริ่มสุกเปลือกจะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงเข้มหรือสีเขียวม่วง ขึ้นอยู่กับชนิด 1 ช่อจะมีผลประมาณ 500-900 ผล เมล็ดมีขนาดใหญ่ อาซาอิ 1 ต้นสามารถให้ผลผลิต 8 ช่อต่อปี แต่ละช่อจะหนักถึง 6 กิโลกรัม
วิธีปลูกอาซาอิ และการขยายพันธุ์
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการปลูกอาซาอิต้องเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ ชอบอากาศแบบร้อนชื้นและมีฝนตกชุก ที่อุณหภูมิตั้งแต่ 23-30 องศาเซลเซียส ชอบดินที่ระบายน้ำได้ดี อุดมไปด้วยแร่ธาตุ ต้องการแสงแดดบางส่วน
การขยายพันธุ์ของอาซาอิจะใช้เมล็ดที่แก่จัดมาเพาะให้เป็นต้นกล้า ต้นกล้าต้องการน้ำสม่ำเสมอ อาจใช้เวลาในการงอกนานถึง 6 เดือน เมื่อเจริญเติบโตสักระยะต้องทำการตัดแต่งกาบใบ เพื่อกระตุ้นให้ต้นสร้างใบใหม่อย่างรวดเร็ว
อาซาอิสามารถเจริญเติบโตได้อย่ารวดเร็ว แต่ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี ในการให้ผลผลิตครั้งแรก และสามารถให้ผลผลิตได้นานถึง 30 ปี การเก็บเกี่ยวทำได้ 2 ช่วง คือ เดือนมกราคมถึงมิถุนายน และเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม
การแปรรูปและการนำ อาซาอิ ไปใช้ประโยชน์
อาซาอิเป็นผลไม้ที่มีไขมันสูง จึงทำให้เน่าเสียได้ง่าย เมื่อเก็บผลผลิตผู้คนในท้องถิ่นมักนำมารับประทานทันที หรือนำมาเป็นส่วนผสมของอาหาร เครื่องดื่ม หมักเป็นไวน์ สำหรับการส่งออก จะส่งออกในรูปแบบผลไม้อบแห้งหรือบดเป็นผงในรูปอาหารเสริม หรือแม้กระทั่งส่งออกในรูปแบบแช่แข็ง และยังพัฒนาเป็นเครื่องสำอาง ที่ได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น รวมถึงประเทศไทย ก็เริ่มมีการนำผลอาซาอิเข้ามาทำเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น อาหารเสริมในรูปแบบต่างๆ
คุณค่าทางอาหารจะประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ ไฟเบอร์ วิตามินต่างๆ เช่น วิตามิน A, B1, B2, B3, C และ E มีแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นเหล็ก แคลเซียม โพแทสเซียม และแมกนีเซียม อีกทั้งยังมีสารต้านอนุมูลอิสระในระดับสูงสุด หรือที่เรียกว่า Super Antioxidant
นอกจากนี้ยอดของอาซาอิยังสามารถนำมารับประทานหรือนำมาประกอบอาหารเหมือนกับยอดมะพร้าว ยอดตาลได้อีกด้วย ซึ่งการเก็บเกี่ยวนั้นไม่จำเป็นต้องตัดยอดออกมาทั้งหมด เพียงแต่ลอกเอากาบใบที่แก่และแข็งออกแล้วตัดเฉพาะกาบใบส่วนที่อ่อนมาใช้
อาซาอิเป็นพืชที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์มากมาย ทั้งส่วนของลำต้น ใบ และผล โดยเฉพาะผลของอาซาอิที่กำลังได้รับความสนใจในเรื่องของอาหารเพื่อสุขภาพ การปลูกในเมืองไทยยังไม่เป็นที่นิยมนัก แต่ก็เป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจมากเลยทีเดียว
เรื่อง สรวิทย์ บุญประสพ