นอกจากทุเรียนจะมีพันธุ์การค้าและพันธุ์พื้นเมืองแล้ว ปัจจุบันยังมี ทุเรียน DAP (Development of durian varieties by Assisted Pollination) เป็นเทคนิคการพัฒนารสชาติทุเรียนด้วยการช่วยผสมเกสร และผลที่ได้จะมีรสชาติเปลี่ยนไปตามคู่ผสมที่นำมาใช้
โดยรสชาติของ ทุเรียน DAP ที่ได้จะมาจากต้นแม่ 70% ส่วนอีก 30% จะมาจากสีและกลิ่นของต้นพ่อ เป็นการลดจุดด้อยและเพิ่มจุดเด่นของสายพันธุ์นั้นๆ ได้ เช่น ทุเรียนคู่ผสมจากต้นแม่หมอนทอง กับ เกสรจากต้นพ่อกบพิกุล ผลที่ได้มีขนาดใหญ่เหมือนหมอนทอง เนื้อหนาเนียน มีสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวานมันเข้มข้น เนื้อแห้ง และมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวของกบพิกุล
เทคนิคดังกล่าวริเริ่มจาก คุณตี๋ – มนตรี ตั้งไมตรีจิต ผู้ก่อตั้ง สวนประตูจันท์ ที่อยากมีทุเรียนสายพันธุ์ใหม่ แต่หลังจากทดลองปลูกตั้งแต่เมล็ด ปรากฏว่าใช้เวลาและทรัพยากรมาก จึงเริ่มผสมพันธุ์ทุเรียนเองและพบว่า ผลที่ได้นั้นมีกลิ่น สี และลักษณะเนื้อที่แตกต่างไปจากเดิม
จนกระทั่งมีโอกาสพบเจอกับ อาจารย์ไก่ – รศ.ดร.วรภัทร วชิรยากรณ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่พอได้ชิมผลทุเรียนจากการผสมเกสร ก็สัมผัสได้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไป สู่การจับมือกันร่วมพัฒนาทำคู่ผสมจากทุเรียน 1 แม่ ผสมด้วยเกสรจาก 5 พ่อ (1พู 1 พ่อ) หรือที่เรียกว่า ทุเรียน DAP 5Vsin1 เพื่อให้แต่ละพูที่เกิดขึ้นมีลักษณะที่แตกต่างกันไป
นับว่าเป็นการต่อยอดทุเรียนไทยให้มีความน่าสนใจและสามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ และทางคุณตี๋ก็ได้เล่าวิธีการผสมเกสรเพื่อทำทุเรียนแบบ DAP สำหรับท่านใดที่อยากศึกษาเบื้องต้นเอาไว้ด้วย
การทำทุเรียน DAP นอกจากจะช่วยให้ผลทุเรียนมีกลิ่น สี และลักษณะเนื้อที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังช่วยให้ผลทุเรียนมีรูปทรงผลที่ดีขึ้นด้วย
คุณตี๋ เล่าว่า “การปล่อยให้เขาผสมในดอกตัวเองเขาจะไม่แข็งแรงอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นการผสมข้ามเป็นการช่วยให้ผลทุเรียนสมบูรณ์ขึ้น ซึ่งก็มีเกษตรกรที่ทำมานานแล้ว จะเรียกว่า “ผ่าดอก” แต่พอเรียกว่าผ่าดอก มูลค่ามันไม่ค่อยมี เราเองมาพัฒนาต่อก็เรียกว่า DAP ด้วยปัจจัยที่ว่าเป็นการคัดเลือกทั้งสายพันธุ์พ่อและแม่ ที่เรามั่นใจว่าผสมไปแล้วมันจะดียิ่งขึ้น”
ขั้นตอนการทำทุเรียน DAP 1 IN 1
- คัดเลือกดอกที่แข็งแรงสมบูรณ์โดยจะเริ่มทำในระยะดอกขาว ช่วงที่เกสรตัวเมียเริ่มแทงออกจากดอกแล้ว แต่ดอกยังไม่บาน ซึ่งมีเวลาในการเตรียมเกสรตัวเมียให้พร้อม ตั้งแต่เวลาช่วงเช้าถึง 5 โมงเย็นของวัน
- พอเลือกได้แล้วให้ตัดกลีบดอกและเกสรตัวผู้ทิ้งไปให้หมด
- ห่อด้วยกระดาษสา (ที่ใช้ห่อทุเรียน) เพื่อป้องกันแมลงมาผสมเกสร หรือ เกสรจากต้นอื่นปลิวมา
- ในวันเดียวกันหลังจาก 1 ทุ่ม (ช่วงที่อากาศเริ่มเย็น) จึงเริ่มผสมเกสรได้ โดยนำเกสรตัวผู้จากอีกสายพันธุ์มาผสม ให้ใช้พู่กันแตะกับเกสรตัวผู้ที่เตรียมไว้ สัมผัสเข้ากับยอดเกสรตัวเมียที่ต้องการผสมพันธุ์
ทางอาจารย์วรภัทร ก็ได้เล่าสาเหตุที่เกิดขึ้นว่า ทำไมหลังจากที่ผสมเกสรข้ามสายพันธุ์แล้ว ถึงทำให้รสชาติของทุเรียนเปลี่ยนไป
“หลังจากที่ได้ผลจากการผสมเกสรออกมาแล้ว เนื้อที่ได้แตกต่างจากเดิมมาจาก Xenia effect ก็คือ อิทธิพลจากเกสรตัวผู้ไปมีผลต่อลูก ทำให้ลักษณะของเนื้อ กลิ่น สี ที่ได้แตกต่างไปจากเดิม”
“ในช่วงปี 1800 ปลายๆ มีการศึกษาพบว่าในข้าวโพด พ่อสีม่วงผสมกับแม่สีขาว เม็ดข้าวโพดที่ได้จะมีสีขาวครึ่งหนึ่ง บางเม็ดม่วงเกือบเต็มเม็ด อิทธิพลจากเกสรตัวผู้ของต้นพ่อไปมีผลต่อลูก สามารถเห็นได้บนฝักข้าวโพดนั้นเลย อย่างทุเรียนเราก็หวังว่าสิ่งที่ได้จากการผสมทั้งลักษณะเนื้อ กลิ่น สี จากพ่อ ไปอยู่ในเนื้อนี้เลย เพื่อทำสินค้าที่แตกต่างออกไป”
ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่ข้าวโพดกับทุเรียนเท่านั้น อาจารย์วรภัทรอธิบายเพิ่มเติมว่า อิทธิพลจากต้นพ่อไปสู่ลูก ยังมีผลกับ มะพร้าวน้ำหอม (พ่อ) ไปผสมกับมะพร้าวน้ำหวาน (แม่) ทำให้ลูกมะพร้าวที่ได้มีกลิ่นหอมขึ้น และ ส้มโอทับทิมสยาม (พ่อ) ผสมกับขาวน้ำผึ้ง (แม่) ลูกที่ได้ก็จะมีสีของทับทิมสยามแต่อ่อนกว่า ซึ่งมีผลไม้อีกหลายชนิดที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้
การทำ ทุเรียน DAP 5Vsin1
จากจุดเริ่มต้นที่อาจารย์วรภัทรได้ให้ลูกศิษย์ไปศึกษาปัญหาทุเรียนผสมเกสรไม่ติดในช่วงฤดูฝน และได้ทดสอบสารละลายที่คิดค้นมาเพื่อช่วยให้ทุเรียนสามารถติดผลได้ทุกฤดูกาลที่สวนประตูจันท์ ก็พบว่า ที่นี่มีการผสมพันธุ์ทุเรียนข้ามสายพันธุ์ระหว่าง 2 ต้นอยู่แล้ว จากนั้นจึงได้ต่อยอดงานของคุณตี๋ สู่การทำทุเรียน DAP 5Vsin1
พออาจารย์วรภัทรได้ส่องดอกทุเรียนก็พบว่า แต่ละดอกจะมีจำนวนพูที่ไม่เท่ากัน และมีเนื้อเยื่อบางๆ กั้น จึงได้นำเกสรตัวผู้จาก 5 สายพันธุ์มาผสมกับต้นแม่ 1 สายพันธุ์ ซึ่งจะทำยากกว่าแบบ 1 IN 1 เพราะต้องระวังไม่ให้ผสมข้ามไปพูอื่น
อาจารย์วรภัทร เล่าว่า “ผมก็เอาเกสรทุเรียนที่นักศึกษากำลังศึกษาเรื่องการงอกไปใส่ในสารละลาย พอดูว่าเกสรมันงอก ก็นำไซริงค์ไปดูดเกสรแล้วไปหยอดในแต่ละพูของดอกทุเรียน พูไหนที่ไม่ได้หยอดก็เอาพลาสติกปิดเอาไว้ รอให้น้ำหวานซึมเข้าไป อับเรณูของตัวผู้มันก็จะงอกลงไป และข้ามไปพูอื่นไม่ได้ แต่ถ้าเราจับคู่ผสมผิดแม้แต่นิดเดียวหรือพูเดียว ดอกจะร่วงไปเลย เพราะอิทธิพลจากเกสรตัวผู้พอผสมไม่ได้ก็จะสร้างสารขึ้นมาทำให้ดอกนั้นร่วงไป”
และเพื่อไม่ให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับทุเรียน DAP ทางคุณตี๋ ก็ได้แนะนำวิธีการเรียก “พ่อ 5 สายพันธุ์ ผสมกับ 1 แม่ เรียก DAP 5Vsin1 เราไม่ได้เรียกทุเรียนลูกผสม 5 สายพันธุ์อันนี้ผิด และสำหรับการเรียกชื่อทุเรียน DAP ให้ใช้คำว่า “คู่ผสม” ส่วนที่เพาะแล้ว ให้ใช้คำว่า “ลูกผสม” อย่างทุเรียนจันทร์ 1-10 เราเรียกว่าเป็นทุเรียนลูกผสมแล้ว หรือเปรียบเทียบได้ว่าเป็นทุเรียน DAP ที่เอาเมล็ดไปเพาะแล้ว”
ส่วนในเรื่องการตรวจสอบนอกจากการชิม สามามารถตรวจสอบได้โดยการนำเมล็ดไปเพาะ ก็จะรู้ได้ว่ามาจากสายพันธุ์ไหน ซึ่งตอนนี้ทางอาจารย์วรภัทรก็มีการเตรียมทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเก็บสีและกลิ่นสำหรับทุเรียน DAP ด้วย
สำหรับท่านใดที่สนใจอยากลองซื้อทุเรียน DAP ไปลองชิมสามารถติดต่อผ่านเฟซบุ๊กเพจ สวนประตูจันท์ หรือ มาเลือกซื้อกันได้ที่งาน “Amazing Thai Fruit Paradise 2024” ตั้งแต่ วันนี้-31 พฤษภาคม 2567 ที่ เมืองสุขสยาม ณ ไอคอนสยาม ที่มาพร้อมกับเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนผลไม้ไทย
นอกจากทุเรียน DAP ก็ยังมีทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองอีกมากมาย ได้แก่ กบสุวรรณ นวลทองจันทร์ หมอนทองน้ำกร่อย ทุเรียนชะนีเกาะช้าง โอวฉี หลงลับแล หลินลับแล ก้านยาว ชะนี จันทบุรี 1 กบพิกุล กบเล็บเหยี่ยว พวงมนกกระจิบ กระดุมทอง
รวมถึงมีผลไม้ตามฤดูกาลอย่าง สละสุมาลี เงาะ ลองกอง มังคุด ส้มโอทับทิมสยาม มะละกอเรดเลดี้ ลิ้นจี่ฮงฮวย มะม่วงน้ำดอกไม้ ลำไยพวงทอง ขนุนแดงสุริยา เมล่อน แตงโมแบล็คชูการ์ เสาวรสพันธุ์หม่าเทียนซิน ส่วนผลไม้นำเข้าตามฤดูกาล ได้แก่ แอปเปิ้ลชินาโนะโกลด์ แอปเปิ้ลฮารุกะ แอปเปิ้ลเมเก็ตสึ ให้เลือกซื้อกันด้วย
เรื่อง : กิตตินัย อัศวเลิศลักษณ์
ภาพ : สวนประตูจันท์ / สุดารัตน์ หาญชนะ