ความสมดุลในสวนครัวแบบอิกิไกบนพื้นที่อันน้อยนิด

นอกจากความประทับใจแรกคือการได้เห็น กระบะปลูกผัก ที่ทำจากแผ่นกระเบื้องมุงหลังคาเหลือใช้ อีกหนึ่งสิ่งที่เรียกรอยยิ้มและดึงดูดให้อยากทำความรู้จักสวนครัวแห่งนี้มากขึ้น ก็คือเจ้าแมว เถ้าเทา ที่ชอบนอนผึ่งแดดอยู่ในสวนท่ามกลางดอกไม้กระจิ๊ดริดที่กำลังแบ่งบานหลังผ่านฤดูร้อนมาแล้ว

แมวเหมียวก็ส่วนหนึ่ง แต่ใจความสำคัญของสวนครัวเล็กๆ ที่มี กระบะปลูกผัก ทำเองแห่งนี้ยังชวนค้นหา ในความเรียบน้อยแต่เหมือนมีเรื่องราวมากมายซ่อนอยู่ อะไรสักอย่างที่ถูกจัดให้เป็นหมวดหมู่เหมือนไม่ได้ตั้งใจ หรืออาจจะเป็นเหมือนวงล้อแห่งอิกิไก สวนที่เป็นความทับซ้อนของหลายๆ ปัจจัยจนกลายเป็นความสมดุลที่พอเหมาะในพื้นที่ตรงกลาง

กระบะปลูกผัก

คุณแบท ปกิจ ปะวะภูโต และ คุณแนน ธิติสุดา ธีรวิโรจน์ มาเฉลยคำตอบที่ไม่ไกลเกินคาด เพราะสวนครัวเล็กๆ ของทั้งคู่ที่กระจายปิดล้อมทั้งด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลังอาคารที่เป็นทั้ง บ้าน คาเฟ่ และสตูดิโอออกแบบนั้น คือพื้นที่ปรับสมดุลของร่างกายและเติมเต็มหัวใจ ให้การใช้ชีวิตในต่างจังหวัดดำเนินตามจังหวะในแบบที่ควรจะเป็น เป็นการทับซ้อนของคนสองคนที่มีบ้านเป็นที่พักอาศัย คาเฟ่เป็นที่เติมฝัน สตูดิโอออกแบบคืองานหล่อเลี้ยงชีพ และสวนครัวก็เป็นอีกหนึ่งวงล้ออิกิไก “สวนที่ทำให้รู้สึกสบายใจ”

“มันเป็นที่พักใจ ตื่นเช้าต้องไปที่สวนก่อนเลยครับ ไปดูว่าผลผลิตที่ปลูกไว้พร้อมเก็บเกี่ยวแล้วหรือยัง อันไหนพร้อมเก็บก็จะบอกคุณแนน เธอก็จะครีเอทเมนูขนมที่ใช้ประโยชน์จากพืชที่ปลูกได้ ที่ทำให้อิ่มใจก็ตอนที่ได้เห็นลูกค้าที่มาได้มีปฏิสัมพันธ์กับสวนของเรา ขอแบ่งเมล็ดพันธุ์กลับไปปลูกบ้าง บางทีคุณยายเพื่อนบ้านก็แวะมาเก็บดอกที่แห้งแล้วโรยเมล็ดลงแปลงทำให้ต้นดอกไม้งอกขึ้นมาใหม่ มันไม่ได้มีประโยชน์เฉพาะกับเราเท่านั้นแต่เป็นกับคนอื่นๆ ที่เข้ามาพื้นที่ตรงนี้ด้วย พอเห็นแล้วก็หายเหนื่อยเลยครับ” ใจความส่งท้ายของบทสนทนาของคุณแบทที่สรุปให้เข้าใจได้ว่าสวนให้อะไรกับเขาบ้าง

แต่ก่อนที่สวนจะเป็นความสบายใจของคุณแบทคุณแนน (และแมวเถ้าเทา) นั้น ที่ตรงนี้เริ่มก่อร่างสร้างตัวมาอย่างไร เราจะพาไปฟังจุดเริ่มต้นที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่โยงใยเชื่อมถึงกัน

กระบะปลูกผัก

ลาจากกรุงเทพ กลับสู่บุรีรัมย์ และทำแปลงผักฉบับทดลอง

ด้วยความตั้งใจอยากให้ทุกคนเข้าถึงสถาปนิกได้ คุณแบทเลือกเดินทางในบทบาทสถาปนิกชุมชนยาวนานนับ 10 ปี ก่อนจะหวนกลับมาที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ที่เป็นบ้านเกิดของเขาและตั้งต้นชีวิตใหม่ ในหมวกใบเดิมกับอาชีพสถาปนิก แต่แตกต่างออกไปตรงที่มีคุณแนนเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ของชีวิตด้วย

กระบะปลูกผัก

“เหตุผลสำคัญที่เลือกกลับบ้านเพราะคุณพ่อป่วยครับเลยเลือกกลับมาอยู่ใกล้ๆ ท่าน อย่างน้อยก็ได้พาท่านไปหาหมอบ้าง ตั้งใจว่าจะยังทำงานสถาปัตย์หาเลี้ยงชีพ และลองปลูกผักเป็นแปลงทดลองด้วยครับ ชอบปลูกต้นไม้เป็นทุนเดิม ตอนทำงานก็ได้เกี่ยวข้องกับการทำเกษตรอินทรีย์ เคยได้ไปลองเรียนกับคุณปริ้นซ์ เจ้าชายผัก ได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิสวนผักคนเมือง กลับมาบ้านเลยขอคุณแม่ทำแปลงเกษตร ทดลองทำเกษตรอินทรีย์ในแบบที่เรารู้ ซึ่งก็จะต่างจากที่ท่านเคยรู้เคยทำมาก่อน แล้วประจวบเหมาะกับเจอโควิดในช่วงแรก เกิดเหตุการณ์ล็อกดาวน์ ผลผลิตที่ผมปลูกได้เก็บพอดีทำให้ได้ส่งพืชผักไปขายที่กรุงเทพครับ เรียกว่าขายได้ดีเลย”

พาร์ทของการทำแปลงเกษตรอินทรีย์ไม่ได้ไปต่อเพราะงานเลี้ยงชีพเริ่มต้องทำให้เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เมื่อคุณแนน พาร์ทเนอร์ชีวิตเลือกจะต่อยอดความชอบในการทำเค้กสู่คาเฟ่เล็กๆ ในชื่อ baR nana ที่ทั้งคู่ต้องลงแรงและตั้งใจเป็นอย่างมาก

กระบะปลูกผัก

baR nana ก่อนเป็นคาเฟ่ เคยเป็นสวนกล้วยมาก่อน

baR nana ชื่อนี้ตั้งขึ้นจากเดิมที่เคยเป็นสวนกล้วยมาก่อน และยังคงหลงเหลือแซมอยู่บนที่ดินร่วมกับอาคารทรงจั่ว เรียบนิ่ง จนเกือบกลมกลืนไปกับชุมชนรอบข้าง แต่ก็ยังมีกิมมิกของงานดีไซน์ที่ทำให้ดูแตกต่าง อย่างการเว้นจังหวะของผนัง หรือการใช้ช่องลมตกแต่งให้กระจายไปกับแนวรั้วเตี้ยริมถนน แล้วใช้แปลงดอกไม้ตัดความแข็งตรงของเส้นสายสถาปัตย์ เกิดเป็นดีไซน์พื้นถิ่นที่ชวนมอง

“ตอนออกแบบก็ตั้งใจไว้เลยครับว่าจะต้องเป็นอาคารที่กลมกลืนไปกับชาวบ้าน ไม่อยากให้โดดเด่นจนดูแปลกแยก การแบ่งพื้นที่เราวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะต้องเป็นบ้านพักด้วยนะ เป็นคาเฟ่ เป็นสตูดิโอออกแบบของเราทั้งคู่ และจะต้องมีมุมสวน ซึ่งมุมสวนทั้ง 2 มุมก็จะใช้ประโยชน์ต่างกัน อย่างด้านหน้าจะเน้นเป็นมุมต้อนรับ สวนต้องทักทายดึงดูด อีกมุมเป็นด้านหลังซึ่งอยู่เชื่อมต่อกับมุมครัวจะต้องเป็นสวนที่ใช้ได้จริง พืชผักที่ปลูกต้องได้ใช้ประโยชน์แบบนี้ครับ”

กระบะปลูกผัก

แบ่งพื้นที่ให้ครบ 4 ส่วนของหัวใจ พืชผักอยู่ได้อย่างเหมาะสม

การออกแบบพื้นที่ 4 ส่วนสำคัญ คือ ที่พัก คาเฟ่ สตูดิโอ และสวน บนพื้นที่ 100 ตารางวา ไม่ยากเกินไปสำหรับสถาปนิก แม้ที่ดินจะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนานยาวไปกับถนน แต่ข้อดีคือตัวอาคารที่วางเป็นแนวขวางตะวัน ทำให้กำหนดพื้นที่รับแสงแดดให้แปลงผักทั้งสองจุดได้ง่ายขึ้น

สวนจุดแรกคือทางเข้าคาเฟ่จากลานจอดรถ เป็นมุมตอนรับผู้มาเยือน ตำแหน่งนี้ได้รับแสงบ่ายยาวนาน พืชที่ปลูกจึงเน้นเป็นดอกไม้ Wild Flowers เช่น ดอกเดือนฉาย (Gaillardia) ดอกอิฟนิ่งพริมโรส (Evening Primroses) ดอกซูซานตาดำ (Black-eyed Susan) ดอกต้อยติ่งไทย ดอกผกากรอง เป็นต้น เน้นโชว์ความสดใส พลิ้วไหวตามแรงลมซึ่งช่วยให้ภาพรวมของตัวอาคารดูนุ่มนวลมากขึ้นด้วย ปลูกไล่ยาวไปกับแนวกำแพงอาคาร

สวนอีกมุมอยู่ในตำแหน่งด้านหลังอาคารเชื่อมต่อกับมุมครัว เป็นคอร์ตหลังบ้านที่ทำหน้าที่เป็นมุมนั่งเล่นแบบส่วนตัว มุมนี้ได้รับแสงเช้า พืชผักที่ปลูกจึงเน้นที่ใช้งานได้จริง ทั้งประกอบอาหารทานเอง ตกแต่งหน้าเค้ก จึงมีพืชกินได้คละกันหลากหลาย เช่น กลุ่มผักกินใบอย่าง ผักเคล ผักสลัด คะน้า กลุ่มสมุนไพรฝรั่ง เช่น โรสแมรี่ ไธม์ มินต์ กลุ่มดอกไม้กินได้สำหรับตกแต่งหน้าเค้ก เช่น ผีเสื้อแสนสวย มาร์กาเร็ตบอว์เนียว เดซี่ออสเตรเลีย กุหลาบ แมคคาโดเนีย และกลุ่มผักพื้นบ้านที่ใช้ในเมนูอาหารไทย เช่น ข่า ตะไคร้ มะเขือ พริก หอมแบ่ง โหระพา กะเพรา เป็นต้น

กระบะปลูกผัก

กระบะปลูกผัก

ไม่เพียงเท่านั้น มุมสวนครัวยังเป็นพื้นที่ทดลองปลูกไม้เมืองนอก อย่าง แบล็กเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ หน่อไม้ฝรั่ง ซึ่งหลายครั้งคุณแบทก็ปลูกสำเร็จสามารถเก็บผลให้คุณแนนใช้ตกแต่งเมนูขนมได้เสมอ

บล็อกช่องลมที่เหลือจากงานก่อสร้างนำมาทำเป็นขาโต๊ะทานอาหาร

กระบะปลูกผัก ในสวนครัวจากวัสดุเหลือใช้ 100%

แผ่นกระเบื้องมุงหลังคา ไม่ใช่วัสดุแปลกใหม่ในพื้นที่สวนครัว เพราะหลายแห่งได้มีการประยุกต์ใช้ทำเป็นแปลงปลูกแบบฝังกับพื้นดิน หรือใช้รองโต๊ะปลูกเพื่อช่วยระบายน้ำมาบ้าง แต่การประยุกต์ใช้กับสวนนี้ต้องยอมรับว่าเป็นดีไซน์ที่น่าสนใจมากๆ เลยทีเดียว

กระบะปลูกผัก

“มันเริ่มจากมีกระเบื้องมุงหลังคาเหลือจากก่อสร้างตัวอาคารครับ ผมใช้เป็นหลังคาลอนเล็กซึ่งต้องสั่งผลิตเฉพาะเลยสั่งมาเผื่อเหลือเผื่อขาด ทำให้มีกระเบื้องเหลือจากสร้างอาคาร บวกกับเราอยากได้แปลงผักดีไซน์เหมือนแปลงต่างประเทศ แต่ราคาก็สูงมาก เลยนำพวกกระเบื้องที่เหลือๆ นี่แหละมาทำเป็นกระบะปลูกผักซะเลย ขั้นตอนการทำก็ง่ายมาก ใช้งานจริงๆ แล้วเวิร์คเลยครับ แล้วก็กลมกลืนไปกับตัวอาคารด้วย”

ideas

คุณแบทอธิบายวิธีการทำแบบง่ายๆ คือหากทำเป็นแปลงใหญ่จะใช้กระเบื้องลอนเล็ก ขนาด 54 x 120 เซนติเมตร จำนวน 3 แผ่น ครอบสันเพิงแหงน 4 ชิ้น ซึ่งจะมีความยาวที่ 54 เซนติเมตรพอดี ตัดกระเบื้อง 1 แผ่นแบ่งความยาวให้เหลือครึ่งนึ่งคือ 60 เซนติเมตร จะได้แผ่นกระเบื้องทั้งหมด 4 ชิ้นแล้วมาประกอบเข้ามุมด้วยครอบสันเพิงแหงนทั้ง 4 มุม เจาะรูด้วยสว่านเพื่อยึดน๊อตเข้าให้แน่น ก็เป็นอันเสร็จสิ้น จะได้แปลงปลูกผักจากกระเบื้องลอนเล็กขนาดกว้าง 60-70 เซนติเมตร ยาว 120-130 ซนติเมตร และสูง 54 เซนติเมตร

ทั้งนี้สามารถลดความสูงได้ด้วยการตัดแบ่งครึ่งให้เหลือ 27 เซนติเมตร ก็จะได้แปลงผักที่ไม่ลึกมาก ปลูกผักรากสั้น อย่าง ผักสลัด คะน้า ต้นหอม ผักชี ได้แบบไม่ต้องเปลืองดิน ซึ่งคุณแบทเลือกเติมดีไซน์ขาตั้งไม้เข้าไปเพิ่ม ดูแล้วก็เข้ามุมสวนได้เป็นอย่างดี

กระบะปลูกผัก

“แปลงผักที่สูง 50 เซนติเมตร มันก็ทำให้เราใช้งานได้ง่ายครับ ยืนเก็บผักได้เลยไม่ต้องเว้นระยะทางเดินให้กว้างเผื่อตอนนั่ง ลงตัวกับพื้นที่สวนที่มีจำกัดพอดี ส่วนด้านล่างกระบะผมจะรองก้นด้วยเศษหินก้อนอิฐที่เหลือจากงานก่อสร้างก่อนครับ แล้วค่อยเติมกิ่งไม้ใบไม้ ปุ๋ยคอก และเติมดินปลูกด้านบนอีกที หากปลูกผักไปแล้วดินยุบก็เติมดินเข้าไปเพิ่มเรื่อยๆ ครับ”

จัดการ กระบะปลูกผัก ให้ดูแลง่าย เป็นระเบียบและเป็นระบบ

นอกจากการกำหนดตำแหน่งแปลงให้ได้รับแสงตามเหมาะสมแล้ว การรดน้ำทุกวันก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่ละแปลงจึงต้องสามารถเข้าไปจัดการดูแลได้ง่าย ส่วนบางมุมที่เข้าถึงได้ยากก็จะวางระบบน้ำหยดเอาไว้ เพื่อช่วยให้เวลาการดูแลสวนในทุกวันสั้นลงแต่ดูแลได้อย่างทั่วถึง

“ดินปลูกผักผมจะใช้ดินเดิมของสวนครับ โชคดีที่เป็นสวนกล้วยหน้าดินจึงค่อนข้างสมบูรณ์ จึงเก็บไว้ก่อนปรับพื้นที่ สูตรผสมดินปลูกก็จะใช้ปุ๋ยคอก แกลบดิบ แกลบเผา และดิน ผสมในอัตรส่วนเท่าๆ กันหมักทิ้งไว้ก่อนปลูก แล้วก็มีมุมทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ด้วยนะครับแต่กว่าจะได้ก็ใช้เวลานาน หากไม่ทันจริงๆ ก็จะใช้ดินจากร้านขายต้นไม้ใกล้ๆ บ้าน ซึ่งเขาจะมีปุ๋ยคอกที่รับมาจากชาวบ้านด้วย เราก็จะได้วัสดุปลูกในราคาไม่สูงมาก”

นอกจากการจัดการพื้นที่จำกัดให้ใช้ประโยชน์ได้ครบแล้ว สวนครัวของคุณแบทจะต้องเป็นระเบียบอยู่เสมอ นั่นเพราะในการใช้ชีวิตจริง ทำสวนจริง จะเต็มไปด้วยอุปกรณ์ช่างจำนวนมาก จึงต้องมีห้องเก็บอุปกรณ์อยู่ใกล้ๆ ซึ่งเขาได้ดีไซน์ให้อยู่กับมุมแท็งก์น้ำได้อย่างแนบเนียน

กระบะปลูกผัก
แปลงคีย์โฮลสำหรับทำปุ๋ยจากเศษอาหาร

สวนครัวที่ไม่มีสิ่งใดไร้ประโยชน์

แปลงผักจากแผ่นกระเบื้องที่กำหนดขนาดให้ไม่มีเศษเหลือทิ้ง บล็อกช่องลมที่เหลือจากงานก่อสร้างที่นำมาทำเป็นขาตั้งโต๊ะ อ่างล้างมือเซรามิกจากร้านของเก่าที่นำมาปลูกดอกไม้ เศษไม้ที่ถูกปรับใช้เป็นค้างปลูกพืช การทำปุ๋ยหมักจากเศษใบไม้ หรือการทำคีย์โฮลเพื่อทำปุ๋ยจากเศษอาหารในครัวเรือน เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการใช้ทุกอย่างได้อย่างคุ้มค่าที่มองเห็นผ่านด้วยดวงตา แต่ที่สุดแล้วสิ่งที่ทำให้สวนครัวแห่งนี้น่าค้นหาคงจะเป็นวิธีคิดของคนออกแบบ สารตั้งต้นแห่งกระบวนการสร้าง การใช้ให้คุ้ม ทำน้อยแต่ได้ผลมาก และไม่ทิ้งให้สิ่งใดไร้ประโยชน์หรือหมดความหมายนั่นเอง

เถ้าเทานอนอาบแดดในสวน

แวะเยี่ยมชม baR nana ได้ที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ แผนที่ >> https://bit.ly/3xlmhls

เรื่อง JOMM YB

ภาพ Nostagrams

จากแปลงผักก่อนนอนสู่สวนครัวข้างบ้านของสไตลิสต์และกราฟิกดีไซเนอร์

สวนครัวที่ปลูกให้คนรัก กับแนวคิดการทำเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ต้องเร่งรีบ

ติดตามบ้านและสวน Garden&Farm