ไม่ว่าจะเป็นการทำเกษตรเพื่อบริโภคเอง การผลิตเพื่อจำหน่าย หรือแม้แต่การทำเกษตรในเชิงพาณิชย์ ล้วนต้องอาศัยการจัดการที่ดีเพื่อให้ได้ผลผลิตมีคุณภาพสูง และ หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้การทำเกษตรเป็นเรื่องง่าย และ มีประสิทธิภาพมากขึ้นก็คือ เครื่องมือการเกษตร ซึ่งไม่เพียงช่วยลดแรงงาน และ ประหยัดเวลา แต่ยังช่วยเกษตรกรรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น
ในครั้งนี้เราจะพา #นักปลูก ไปรู้จักกับ เครื่องมือการเกษตร ทั้ง 18 ชนิดที่ควรมีติดสวนไว้ พร้อมแนะนำการใช้งาน และ ประโยชน์ของแต่ละชนิด เพื่อเป็นแนวทางสำหรับเกษตรกรทั้งมือใหม่ และ มืออาชีพในการเลือกใช้เครื่องมือให้เหมาะสมสำหรับการใช้งาน
เครื่องมือการเกษตร : เครื่องมือใช้งานกับดิน
1 I จอบ
เครื่องมือเกษตรที่ใช้ในการขุดดิน ขุดหลุมเพื่อปลูกพืช แต่นอกจากการขุดหลุม เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการปลูกพืชแล้ว ยังสามารถใช้ในการพรวนดินช่วยให้ดินมีความร่วนซุย การผสมดิน หรือ คลุกเคล้าวัสดุปลูกที่จะนำไปใช้ปลูกพืช รวมถึงใช้ถางวัชพืชที่ไม่ต้องการออกไปก็สามารถทำได้เช่นกัน เรียกได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมีตัดสวนอันดับหนึ่งเลย ซึ่งจอบสามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะ ได้แก่
- จอบถาก เน้นถากหน้าดิน กึ่งขุด หรือพรวนดิน
- จอบขุด หน้าจอบมีโค้งเว้า เน้นการขุดดินโดยเฉพาะ
- จอบขยัน เน้นการถากหน้าดิน พรวนดินตื้นๆ ในแปลงผัก
2 I คราด
มีลักษณะเป็นโลหะที่มีซี่เหล็กจำนวนหลายซี่ คล้ายกับแปรงขนาดใหญ่ โดยทั่วไปจะมีรูปร่างแบนและยาว มีมือจับที่ด้าม ใช้ในการเกลี่ยหน้าดิน เกลี่ยปุ๋ยให้กระจายตัวได้ดี ปรับหน้าดินให้เรียบเสมอกัน รวมถึงการโกยใบไม้หรือเศษหญ้า
3 I ช้อนปลูก
หน้าตาคล้ายกับพลั่วที่ย่อขนาดลง เหมาะกับการทำงานที่ต้องการความละเอียดมากขึ้น เหมาะสำหรับ ใช้ในแปลงผักขนาดเล็ก สามารถใช้ผสมดิน พรวนดิน รวมถึงปลูกต้นไม้ในพื้นที่กระทัดรัด เช่น การตักดิน และย้ายปลูกต้นกล้าลงในกระถางปลูก การพรวนดินในแปลงผักขนาดเล็กๆ การผสมดินในกระบะปลูก เป็นต้น
4 I ส้อมพรวน
มีขนาดพอๆ กับช้อนปลูก ใช้สำหรับพรวนดิน เพื่อดินร่วนซุย หรือ ผสมปุ๋ยเข้ากับดินปลูก ด้วยขนาดที่มีกระทัดรัด จึงเหมาะกับการดูแลพืชในพื้นที่ขนาดเล็ก เช่น สวนหลังบ้าน หรือแปลงปลูกต้นไม้เล็กๆ
5 I เสียม
ใบเสียมมักจะมีลักษณะเป็นแผ่นโลหะแบนหรือมีปลายแหลม ด้ามยาวและตรง เสียมจะใช้สำหรับการขุดดินหรือขุดหลุมที่มาขนาดเล็กและลึก เหมาะสำหรับการขุดดินที่มีความละเอียดมากกว่าจอบ เช่น การขุดหน่อแยกออกจากต้นแม่ แล้วไม่อยากให้กระทบโดนต้นแม่มากเกินไป รวมถึงการขุดร่อง และ เซาะแปลง
6 I พลั่ว
ลักษณะมีแผ่นโลหะแบนกว้าง และ ปลายด้ามจะมีมือจับเพื่อให้สามารถควบคุมการตักดินได้ดีขึ้น โดยพลั่วจะใช้สำหรับงานที่เกี่ยวข้องกับการตักดิน หรือ การขนย้ายวัสดุปริมาณมากๆ ในคราวเดียว ส่วนพลั่วที่มีหัวแหลม นอกจากจะขนย้ายดินได้แล้ว ก็ยังสามารถใช้ขุดได้เช่นกัน แต่การขุดจะเหมาะกับการขุดหลุมขนาดเล็กมากกว่า
เครื่องมือการเกษตร : เครื่องมือรดน้ำ / พ่นยา
7 I บัวรดน้ำ
อุปกรณ์สำหรับรดน้ำต้นไม้ที่มาพร้อมหูจับและคอที่ยื่นยาว ออกแบบมาเพื่อให้น้ำไหลผ่านบัวรดน้ำที่มีรูเล็กๆ ช่วยกระจายละอองน้ำอย่างทั่วถึงโดยไม่แรงเกินไป ปัจจุบันบัวรดน้ำมีให้เลือกหลากหลายขนาด เพื่อตอบโจทย์การใช้งานตั้งแต่ต้นไม้ขนาดเล็กไปจนถึงต้นไม้ขนาดใหญ่
8 I เครื่องพ่นยา
อุปกรณ์ที่ใช้สำหรับฉีดพ่นปุ๋ยยา หรือ สารต่างๆ ในแปลงเกษตร โดยภายในจะมีแบตเตอรรี่ และ มอเตอร์ที่ทำหน้าที่พ่นของเหลวที่อยู่ภายในออกมา ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญมาก เพราะพืชต้องการการบำรุง และ ป้องกันแมลง รวมถึงโรคพืชอยู่เสมอ ซึ่งหลังจากใช้งานเสร็จแล้ว ให้เทสารที่อยู่ภายในถังออกจนหมด แล้วเติมน้ำและฉีดพ่นเพื่อเป็นการทำความสะอาดด้านในเพื่อป้องกันการอุดตันในอนาคต
9 I กระบอกฉีด
การใช้งานเหมือนกันเครื่องพ่นยา เพียงแต่ใช้มือในการอัดลมเข้าไป ในกระบอกฉีดเพื่อเพิ่มแรงดันภายในแทน จะเหมาะกับการทำงานที่มีความกระทัดรัด เช่น การฉีดพ่นบำรุงกล้าผัก การรดน้ำถาดเพาะเมล็ด เป็นต้น
เครื่องมือตัดแต่ง
10 I กรรไกรตัดกิ่ง
เป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการตัดแต่งกิ่งที่มีขนาดเล็กของต้นไม้ โดยกรรไกรชนิดนี้จะมีใบมีดที่หนาและคม มีด้ามจับที่แข็งแรงกว่า เนื่องจากกิ่งของพืชบางชนิดมีทั้งความเหนียว และ ความแข็ง จึงต้องใช้แรงในการบีบด้ามกรรไกรเพื่อตัดแต่ง ซึ่งไม่ควรใช้กรรไกรทั่วไปในการตัดแต่ง เพราะจะชำรุดได้ง่าย ลักษณะของกรรไกรตัดแต่งกิ่ง ก็มีหลายแบบด้วยกัน เช่น กรรไกรตัดกิ่งปากตรง กรรไกรตัดกิ่งปากโค้ง กรรไกรตัดแต่งพุ่มไม้ เป็นต้น
11 I กรรไกรตัดหญ้า
ใช้สำหรับกำจัดวัชพืชที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่สะดวกต่อการใช้เครื่องตัดหญ้า เช่น บริเวณโคนต้นไม้ พื้นที่แคบ หรือ ริมแปลงผักที่ต้องระมัดระวังมากๆ นอกจากนี้ยังช่วยในการตัดแต่งทรงพุ่มที่มีกิ่งไม่แข็งมากได้
12 I มีดต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ การปลอกเปลือกผลผลิต การหั่นสับ การตัดกำจัดวัชพืช รวมถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิตล้วนแล้วต้องใช้มีดทั้งสิ้น ซึ่งมีดในการเกษตรก็มีหลากหลายประเภทด้วยกัน แบ่งตามการใช้งาน ได้แก่ มีดหวด มีดพร้า มีดเหน็บ มีดปารัง เป็นต้น
อุปกรณ์ป้องกัน
13 I แว่นตา
ช่วยป้องกันดวงตาจากอันตราย ที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการทำงานในแปลงเกษตร ทั้งการตัดแต่งกิ่งไม้ การใช้เครื่องตัดหญ้า เศษฝุ่น เศษดิน ที่อาจปลิวเข้าตาได้
14 I หน้ากาก
ช่วยป้องกันอันตรายจากสารต่างๆ ที่ใช้ในการฉีดพ่นในงานเกษตร โดยหน้ากากจะมีตัวกรองที่ช่วยป้องกันละอองจากสารต่างๆ ได้
15 I ถุงมือ
ตัวช่วยที่คอยปกป้องมือของเราจากสิ่งสกปรกไม่ว่าจะเป็นดินหรือวัสดุปลูก ช่วยป้องกันอันตรายจากการใช้อุปกรณ์ที่มีความแหลมคม และ ป้องกันหนามจากต้นไม้ รวมถึงป้องกันสารต่างๆ ที่ใช้ในการฉีดพ่นในแปลงเกษตรอีกด้วย
16 I รองเท้าบูธ
ช่วยป้องกันเท้าจากอันตราย เช่น หนาม เศษแก้ว หรือวัสดุที่อาจทำให้บาดเจ็บ รวมถึงสัตว์มีพิษ นอกจากนี้สามารถป้องกันน้ำได้ดี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนังที่เท้า รวมถึงช่วยป้องกันการลื่นไถล ในพื้นที่ปีกชื้นหรือบริเวณที่เป็นดินโคลนได้ดี
เครื่องมือขนย้าย / ผสมวัสดุปลูก
17 I รถเข็น
อุปกรณ์ทุ่นแรงที่ช่วยในการขนย้าย ดิน ปุ๋ย หรือวัสดุที่มีน้ำหนักมาก ให้เคลื่อนย้ายไปอีกที่หนึ่งได้ เช่น การใส่ปุ๋ยในรถเข็นในการใส่ปุ๋ยในแปลงผัก การขนย้ายวัสดุปลูก การขนย้ายต้นไม้ เป็นต้น
18 I กระบะผสมวัสดุปลูก
ใช้สำหรบผสมวัสดุปลูกให้เข้าด้วยกัน หรือ ทำปุ๋ยหมักใช้เอง ซึ่งกระบะก็มีทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ ขึ้นอยู่กับจำนวนพืชที่ต้องการปลูก อีกทั้งยังช่วยให้ลดการสูญเสียของวัสดุ ที่อาจกระจัดกระจาย ช่วยไม่ให้เลอะเทอะ และ เป็นระเบียบมากขึ้น
การเลือกใช้เครื่องมือการเกษตรที่เหมาะสม สามารถช่วยให้การทำงานในแปลงเกษตรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ควรหมั่นดูแลรักษาเครื่องมือเหล่านี้ให้พร้อมใช้งานอยู่เสมอ เพื่อยืดอายุการใช้งาน และ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว