หลายคนอาจเคยมีประสบการณ์เห็นพ่อค้าแม่ค้าในตลาดเรียก “ขึ้นฉ่าย” ว่า “ตั้งโอ๋” ทำให้เราคิดว่าผักชนิดนั้นมี 2 ชื่อ แต่จริงๆ แล้วนั้น ขึ้นฉ่าย ตั้งโอ๋ เป็นผักคนละชนิดกัน และ ยังอยู่คนละวงศ์อีกด้วย!
สาเหตุที่หลายคนมักเข้าใจผิดเรียก ขึ้นฉ่าย ตั้งโอ๋ สลับกัน อาจมาจากรูปลักษณ์บางส่วนที่คล้ายกัน อีกทั้งยังเป็นพืชสมุนไพร ที่นิยมนำมาปรุงอาหารในเมนูคล้ายกัน เช่น ต้ม ผัด หรือ ทำน้ำซุป แต่ถ้าไม่อยากสับสนอีกต่อไป ครั้งนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับผักทั้ง 2 ชนิด อย่างละเอียด เริ่มตั้งแต่ ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ วิธีการปลูก การดูแล จนพร้อมเก็บเกี่ยว
- สวนผักตามสะดวกของผู้ประกาศข่าวที่บอกให้ผักสู้ชีวิต
- เรื่องเล่าจาก สวนผักบนดาดฟ้า ห้องทดลองปลูกของ “แพรี่พาย”
ขึ้นฉ่าย หรือ ขึ้นฉ่ายจีน (Chinese Celery)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Apium graveolens L. เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE) จึงมีบางส่วนที่ดูคล้ายกับผักชี แต่ใบใหญ่กว่า ส่วนรสชาติมีความหวานเล็กน้อย และ มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์ มีถิ่นกำเนิดจากประเทศจีน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของขึ้นฉ่ายจีน จะมีลำต้นกลวง มีกลิ่นหอมทั้งต้น มีอายุประมาณ 1-2 ปี ลักษณะของใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ขอบใบแยกเป็นแฉกลึก แต่ละแฉกเป็นรูปสามเหลี่ยม ใบมีสีเขียวอมเหลือง ก้านใบยาวแผ่ออกเป็นกาบสูงประมาณ 30 ซม. และ นอกจากนี้ก็มีขึ้นฉ่ายฝรั่ง หรือขึ้นฉ่ายเทศ (Celery) ที่เป็นขึ้นฉ่ายอีกสายพันธุ์หนึ่ง ที่หน้าตาคล้ายคลึงกับขึ้นฉ่ายจีน แต่ลำต้นจะอวบใหญ่กว่า และ สูงประมาณ 40-60 ซม. ลำต้นขาวใบเหลืองอมเขียว
วิธีปลูก : ขึ้นฉ่ายจีนสามารถปลูกได้ตลอดปี เริ่มตั้งแต่นำเมล็ดมาหยอดลงในหลุม 2-3 เมล็ด กลบดินให้มิด รดน้ำให้ชุ่ม ใช้เวลา 5-7 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก จนมีอายุได้ประมาณ 15-20 วัน หรือ ต้นกล้ามีใบจริง 3-4 ใบ จึงย้ายปลูกลงแปลงได้ และ ไม่ควรย้ายกล้าในช่วงที่อากาศร้อนจัด ซึ่งจะสามารถเก็บเกี่ยวขึ้นฉ่ายได้เมื่อมีอายุ 40-50 วัน
ตั้งโอ๋ (Garland Chrysanthemum)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ Glebionis coronaria เป็นพืชที่มีความใกล้ชิดกับสกุลเบญจมาศ และอยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE) เป็นพืชล้มลุกฤดูเดียว มีถิ่นกำเนิดอยู่ในภูมิภาคแถบเมดิเตอร์เรเนีย
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของตั้งโอ๋ มีใบเดี่ยวขนาดใหญ่ แผ่นใบยาวตั้งแต่โคนใบถึงปลายใบ ขอบใบหยักโค้ง แฉกเป็นหยักมน ใบมีความอ่อนนุ่ม บอบบาง ฉีกขาดได้ง่าย ก้านใบกลมมีขนาดเล็ก เวียนสลับตรงข้ามกันบนลำต้น รูปร่างคล้ายกับผักร็อกเก็ต (Eruca sativa) แต่เมื่อใกล้ถึงระยะออกดอก ก้านจะยาวขึ้นและใบจะเรียวเล็กลง สามารถสูงได้ 30-70 ซม. และ เมื่อเติบโตถึงระยะออกดอก แผ่นใบจะเรียวยาวและเว้าลึกมากขึ้น
วิธีปลูก : ตั้งโอ๋เป็นผักที่ปลูกในฤดูหนาว ช่วงเดือนธันวาคม – มกราคม ถึงจะเจริญเติบโตได้ดี ไม่ชอบแดดจัด สามารถปลูกได้ด้วยเมล็ดเริ่มเริ่มจากหว่านลงในกระถางปลูก แล้วกลบดินและรดน้ำให้ชุ่ม ใช้เวลา 2-3 วัน เมล็ดจะเริ่มงอก และเมื่อมีอายุได้ 2-3 สัปดาห์ หรือมีใบจริง 2-3 ใบ ก็ให้ย้ายปลูกได้ เมื่อมีอายุประมาณ 45 วัน หรือมีความสูงประมาณ 10-15 ซม. จึงสามารถเก็บเกี่ยวได้ หากตัดเฉพาะใบจะสามารถให้ผลผลิตได้เรื่อยๆ
ขึ้นฉ่าย กับ ตั้งโอ๋ แตกต่างกันอย่างไร?
- ขึ้นฉ่ายเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ผักชี (APIACEAE) ส่วนตั้งโอ๋เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ทานตะวัน (ASTERACEAE)
- ใบขึ้นฉ่ายจะมีใบประกอบแบบขนนก ขอบใบแยกเป็นแฉกลึก แต่ละแฉกเป็นรูปสามเหลี่ยม ส่วนตั้งโอ๋จะเป็นใบเดี่ยว แผ่นใบยาวตั้งแต่โคนใบถึงปลายใบ ขอบใบหยักเว้าเล็กน้อยแต่ไม่แหลม
- ก้านใบขึ้นฉ่ายมีก้านใบที่ยาว ฐานก้านมีขนาดใหญ่ ส่วนตั้งโอ๋ ก้านเล็ก และสั้นกว่าใบ แต่เมื่อถึงระยะมีดอก ก้านจะยาวขึ้นและใบจะเรียวเล็กลง
- ฤดูกาลเพาะปลูก ขึ้นฉ่ายสามารถปลูกได้ทุกฤดู ส่วนตั้งโอ๋จะเจริญเติบโตได้ดีในช่วยฤดูหนาว จึงนิยมปลูกในช่วงฤดูหนาว
เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถแยกระหว่างขึ้นฉ่ายและตั้งโอ๋กันได้แล้ว และ ครั้งหน้าถ้าไปตลาดจะได้ไม่สับสนระหว่างผักทั้ง 2 ชนิดนี้ สุดท้ายนี้ใครที่กำลังศึกษาเรื่องผักพื้นบ้านของไทย สามารถแวะไปดูเพิ่มเติมกับ หนังสือ ผักพื้นบ้านไทย Thai Local Vegetables กันได้
อ้างอิง : ฐานข้อมูลท้องถิ่น จังหวัดกำแพงเพชร-ตาก