เปิดป่าฤดูฝน รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับเห็ดป่า

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนหลายคนก็คงนึกถึง “เห็ดป่า” วัตถุดิบหายาก ที่ต้องเข้าไปเก็บจากในป่าลึก และ ปัจจุบันก็ยังเป็นที่นิยมบริโภคกัน อย่างแพร่หลาย ทั้งเห็ดโคน เห็ดระโงก เห็ดตับเต่า ซึ่งมักมีราคาสูงจากความต้องการ

ด้วยราคาของ เห็ดป่า ที่สูงทำให้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีความพยายามในการศึกษา และ พัฒนาเทคนิคการเพาะเห็ดป่าในพื้นที่เกษตร เพื่อช่วยลดปัญหาการบุกรุกป่า และ การเผาป่าเพื่อหาเห็ดในฤดูฝน

สำหรับใครที่อยากลองเพาะเห็ดป่าไว้กินเอง หรือ วางแผนจะเข้าป่าไปเก็บเห็ด ยังมีอีกหลายเรื่องน่ารู้ที่ควรศึกษาไว้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีเก็บเห็ดอย่างไรให้มีให้เก็บทุกปี หรือ แม้แต่การขยายเชื้อเห็ดให้เติบโตได้ในสวนของตัวเอง ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่ควรรู้ไว้ก่อนเริ่มต้น

เห็ดป่า

1 I ประเภทของเห็ด

เห็ด จัดเป็นเชื้อราประเภทหนึ่งที่มีเส้นใย และ ก่อตัวขึ้นมาเป็นโครงสร้างสืบพันธุ์ขนาดใหญ่ กลายมาเป็นส่วนที่เก็บมารับประทานได้นั่นเอง สามารถแบ่งออกมาได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ เห็ดย่อยสลาย เห็ดพึ่งพาอาศัย และ เห็ดปรสิต ซึ่งจะเป็นตัวบ่งบอกแหล่งที่พบของเห็ดแต่ละชนิดนั้นๆ ด้วย

  • เห็ดย่อยสลาย จะพบเจอบนขอนไม้ หรือ ไม้เนื้อแข็งที่ตายแล้ว ได้แก่ เห็ดฟาง เห็ดหอม เห็ดโคนน้อย เห็ดบด เห็ดนางรมนางฟ้า เห็ดขอนขาว และ เห็ดหูหนู เป็นต้น
  • เห็ดพึ่งพาอาศัย จะแบ่งเป็น 2 กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มเห็ดไมคอร์ไรซา (mycorrhiza) จะอาศัยอยู่กับรากพืชของไม้วงศ์ยาง เช่น เห็ดเผาะ เห็ดขมิ้น เห็ดระโงก เห็ดมันปู เห็ดผึ้ง หรือ เห็ดตับเต่า เห็ดไค หรือ เห็ดหล่ม ส่วนอีกกลุ่มคือ กลุ่มเห็ดที่อาศัยอยู่กับปลวก ซึ่งเห็ดชนิดนี้จะเจริญเติบโตร่วมกับปลวก โดยเฉพาะเห็ดในกลุ่มของเห็ดโคน
  • เห็ดปรสิต ได้แก่ เห็ดหลินจือ หรือเห็ดหมื่นปี
เห็ดป่า

2 I เก็บ เห็ดป่า อย่างไรให้มีเก็บได้ทุกปี

ไม่ว่าจะเก็บเห็ดป่ามากินหรือเก็บมาขยายเชื้อ ต้องเข้าใจวิธีขยายพันธุ์ของเห็ดก่อน โดยเห็ดจะขยายพันธุ์ได้ก็ต่อเมื่อดอกเห็ดแก่เต็มที่ ซึ่งจะผลิตปอร์ (Spore) ออกมา โดยสปอร์จะมีลักษณะเป็นฝุ่นผง ที่สามารถปลิวไปตามลมได้ดี ดังนั้น การเก็บเห็ดไม่ควรเก็บทั้งหมด แต่เหลือไว้ส่วนหนึ่งในธรรมชาติ เพื่อให้ดอกเห็ดสามารถแก่ตัว และแพร่กระจายพันธุ์ได้ต่อไป

เห็ดป่า

3 I การเผาป่าไม่ได้ช่วยให้เห็ดออกดอก

บ่อยครั้งมักมีความเชื่อที่ว่า การเผาป่าแล้วจะช่วยให้เห็ดออกดอก เห็ดป่าจึงกลายเป็นจำเลยในการเผาป่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว การเผาป่าส่งผลกระทบร้ายแรง เนื่องจาก เส้นใยของเห็ดได้รับความเสียหายจนไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้ ทำให้ปริมาณเห็ดในธรรมชาติลดลงอย่างมาก และ ไม่ใช่แค่นั้นการเผาป่ายังทำลายเศษใบไม้เศษหญ้าต่างๆ ที่เป็นแหล่งอาหารของเห็ด รวมถึงกล้าไม้ที่เป็นพืชอาศัยของเห็ดด้วย

เห็ดป่า

4 I ความสัมพันธ์ระหว่างเห็ดโคนกับปลวก 

เห็ดโคนมักพบขึ้นตามจอมปลวก จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า “เห็ดปลวก” เนื่องจากปลวกจะขนสปอร์เห็ดกลับไปเพาะไว้ในรัง ซึ่งปลวกจะได้อาหาร และ น้ำตาลเพื่อใช้เป็นอาหารของตัวอ่อน และ นางพญาปลวก จากการที่เห็ดย่อยสลายใบไม้ และ เศษไม้ ส่วนเห็ดจะได้สารที่ปลวกขับถ่ายออกมา เพื่อเป็นอาหารด้วยเช่นกัน แต่พอเข้าสู่ฤดูฝนที่มีความชื้นในดินสูง ก็จะกระตุ้นให้สปอร์เห็ดที่เหลือเติบโต และ โผล่ขึ้นพ้นผิวดิน กลายเป็นดอกเห็ด จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมถึงมีเห็ดโคนเกิดอยู่ที่จอมปลวก

5 I เห็ดโคนจะอาศัยอยู่กับปลวกที่เหมาะสม

อย่างที่ทราบกันว่า เห็ดโคนมีความสัมพันธ์แบบพึ่งพาร่วมกับปลวกในธรรมชาติ แต่ก็ไม่ได้หมายความเห็ดโคนจะจับคู่กับปลวกได้ทุกชนิด เพราะ ปลวกแต่ละสายพันธุ์จะอาศัยอยู่ร่วมกับเห็ดโคนบางชนิดเท่านั้น ซึ่งหมายความว่า ถ้าจะขยายเชื้อเห็ดโคนได้ ก็ต้องนำเชื้อเห็ดไปเพาะขยายกับรังปลวกที่เหมาะสมเท่านั้น

  • ปลวกกิลวัส (Macrotermes gilvus) จะอาศัยอยู่กับ เห็ดโคนก้านกลวง เห็ดโคนปลวกสีส้ม เห็ดนมหนู)
  • ปลวกแมลงกะตั๊ก (Macrotermes annandalei) และ ปลวกคาร์โบนาเรียส (Macrotermes carbonarius) จะอาศัยอยู่กับ เห็ดโคนก้านกลวง เห็ดโคนปลวกสีส้ม เห็ดโคนใหญ่
  • ปลวกเลือด (Macrotermes makhamensis) จะอาศัยอยู่กับ เห็ดโคนก้านกลวง เห็ดนมหนู

6 I วิธีขยายเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซากับกล้าไม้วงศ์ยา

เห็ดในกลุ่มไมคอร์ไรซาที่เป็นที่นิยม ได้แก่ เห็ดเผาะ เห็ดระโงก ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถเพาะในถุงก้อนขี้เลื่อยได้เหมือนเห็ดทั่วไป เนื่องจากต้องอาศัยรากพืชในกลุ่มไม้วงศ์ยางในการเจริญเติบโต

วิธีขยายเชื้อเห็ดต้องใช้เห็ดที่แก่จัด เพื่อให้สปอร์มีความสมบูรณ์มากที่สุด มาผสมกับน้ำสะอาด และ ผสมน้ำยาล้างจานเพียงเล็กน้อยเพื่อลดแรงตึงผิว แล้วนำไปเท หรือ หยอด ให้สัมผัสกับรากของกล้าไม้วงศ์ยาง ทำแบบนี้ซ้ำทุกๆ 1-2 เดือน และ ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 4 เดือน เพื่อให้เชื้อเห็ดเกาะกับรากของกล้าไม้ได้ดี แล้วจึงค่อยนำไปปลูกต่อได้

7 I วิธีขยายเชื้อ เห็ดป่า แบบเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ

เห็ดป่านอกจากจะหาเก็บในป่าได้แล้ว ยังสามารถนำมาขยายในห้องแลปได้ด้วยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โดยจะใช้ส่วนที่เป็นก้าน หรือ เนื้อของเห็ด จะไม่ใช้ใต้ดอกที่เป็นสปอร์ เพราะอาจเกิดการกลายพันธุ์ได้ มาขยายในอาหารวุ้นใช้เวลา 1 เดือน เพื่อให้เกิดเส้นใย แล้วนำไปขยายในข้าวโพดดิบ หรือ ข้าวสารที่อบฆ่าเชื้อแล้ว ใช้เวลา 2-3 เดือน แล้วค่อยนำไปขยายต่อได้ตามวิธีของเห็ดชนิดนั้นๆ

8 I ลักษณะของเห็ดพิษ

ในการออกไปเก็บ เห็ดป่า การสังเกตและแยกแยะเห็ดมีพิษจำเป็นต้องใช้ความชำนาญ เนื่องจากจำแนกได้ยาก เพราะเห็ดในสกุลเดียวกันบางชนิดรับประทานได้ แต่บางชนิดกลับมีพิษร้ายแรง การสังเกตเห็ดพิษเบื้องต้นได้ก็จะช่วยได้มาก

โดยลักษณะของเห็ดพิษ ได้แก่ หมวกเห็ดจะมีผิวขรุขระ ดอกแก่มีกลิ่นแรง มีสีฉูดฉาด มีวงแหวนใต้หมวก ขึ้นใกล้กับมูลสัตว์ เปลือกหุ้มโคนแนบติดก้าน ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยไม่ควรรับประทานเห็ดที่ไม่คุ้นเคย เนื่องจากไม่คุ้มกับความเสี่ยง เพราะความเป็นพิษของเห็ดอาจทำให้เกิดอาการอาเจียน ท้องร่วง ทำลายระบบประสาท ตับ ไต และอาจอันตรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

อ้างอิง : สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) / มูลนิธิชีววิถี (BioThai) / เห็ดธรรมชาติ เอกสารเผยแพร่กลุ่มวิจัยและพัฒนาการปฏิรูปที่ดิน

เพาะเห็ดถังแบบคนเมือง ลงมือขยายเชื้อเห็ดอย่างง่าย ๆ ด้วยไม้เสียบลูกชิ้น

ตามสืบ ที่-เกิด-เห็ด ในห้องแอร์ที่ Earthling Mushroom Farm