อยากชวนคุณผู้อ่านที่สนใจจัด สวนกินได้ ในบ้าน มาลองออกแบบพื้นที่ โดยศึกษาจากแปลนสวนตัวอย่างของ คุณโป้ง-นลพจน์ พุ่มหิรัญ
นักจัดสวนและที่ปรึกษาโครงการThe Cotswold Khao Yai ซึ่งบ้านของคุณโป้งนั้น ตั้งอยู่ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา คุณโป้งใช้พื้นที่นี้เป็นทั้งที่ทดลองปลูกสมุนไพรฝรั่งและพืชผักกินได้ รวมถึงเป็นพื้นที่ขยายพันธุ์ต้นไม้สำหรับใช้จัดสวน
ออกแบบสวนที่ชอบ
เนื่องจากคุณโป้งประทับใจกับสวนชนบทอังกฤษตั้งแต่ครั้งไปศึกษาต่อที่นั่น เมื่อมาอยู่ที่นี่จึงออกแบบสวนสวยกินได้แห่งนี้ขึ้นมา ในพื้นที่ขนาด 15×18 เมตร หากสังเกตจากแปลนสวน จะเห็นว่า คุณโป้งออกแบบสวนรูปแบบกึ่งฟอร์มัล มีแกนกลางเป็นศาลาและซุ้มไม้ทอดยาว แบ่งพื้นที่สองฝั่งให้สมมาตรกัน พื้นที่ฝั่งซ้ายสุดกำหนดให้มีกระท่อมขนาดย่อมอยู่ตรงกลาง (สามารถปรับเป็นพื้นที่ใช้งานอื่นๆ เช่น บ้านพัก ห้องเก็บของสวน) สองข้างออกแบบเป็นเรือนเพาะชำ จากตัวกระท่อมเดินผ่านซุ้มโค้งมีลานนั่งเล่นเล็กๆ ซึ่งด้านซ้าย-ขวาเป็นแปลงสมุนไพรฝรั่ง บริเวณนี้ออกแบบขอบแปลงยกระดับเพื่อไม่ต้องก้มให้ปวดหลัง
จัดสวนสวยด้วยสมุนไพร
สวนแห่งนี้ 80 เปอร์เซ็นต์ปลูกพรรณไม้กินได้ที่ให้บรรยากาศแบบชนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมุนไพรฝรั่ง มีสมุนไพรไทยและผักที่กินบ่อยๆปะปนบ้าง ที่เหลืออีก 20 เปอร์เซ็นต์ปลูกไม้ดอกซึ่งบางชนิดก็กินได้ด้วย เพื่อเรียกแมลงตัวดี อย่าง ผีเสื้อ และมิ้ม มาช่วยผสมพันธุ์
พืชพรรณในสวน กำหนดให้มีไม้ยืนต้นประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์เพื่อให้ดูแลง่าย ที่เหลือเป็นพืชผักล้มลุกที่ปลูกสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป โดยโซนแปลงยกระดับใกล้กระท่อมหลังน้อย ปลูกสมุนไพรฝรั่งซึ่งมีอายุยืนยาวสักหน่อย ส่วนแปลงมาตรฐานฝั่งขวาปลูกพืชผักล้มลุกหมุนเวียนกันไป ทั้ง ผักสลัด กระเพรา โหระพา แมงลัก ฯลฯ
ส่วนทางเดินใต้ซุ้มไม้ที่ทอดยาวจากศาลาไปทั้งสองฝั่ง จัดวางไม้ดอกกระถางข้างทางเดินในภาชนะแบบดิบๆ วางม้านั่งไม้แทรกไว้ใช้งานให้บรรยากาศแบบชนบทอังกฤษ
รูปแบบแปลง
แปลงผักและสมุนไพรในสวน กำหนดให้มีขนาด 1×3 เมตร ในระยะเอื้อมถึง ส่วนความสูงให้มีขนาดพอเหมาะกับการทำงาน โดยเว้นทางเดินกว้าง 0.60 เมตร เพื่อให้รถเข็นเล็กสามารถผ่านได้ นอกจากดูเป็นระเบียบ สะอาดตาแล้ว ยังดูแลง่าย เลือกใช้วัสดุอย่างอิฐมอญก่อขอบแปลงขึ้นมาให้ดูดิบๆ ได้บรรยากาศของสวนชนบทแบบ Raised bed kitchen garden และโรยพื้นว่างระหว่างแปลงด้วยเม็ดทรายล้างดูสะอาดตา
เตรียมวัสดุปลูกดีมีชัยไปกว่าครึ่ง
เนื่องจากสมุนไพรฝรั่งไม่ชอบสภาพน้ำขังแฉะ วัสดุปลูกของสวนนี้จึงใช้ดินใบก้ามปู ผสมด้วยใบไม้แห้งและปุ๋ยคอก ราดด้วยน้ำหมักชีวภาพ เติมมูลไส้เดือนและปล่อยไส้เดือนลงในแปลงเพื่อให้ดินร่วน ส่วนแปลงปลูกทำรูระบายน้ำไว้ โดยชั้นล่างใส่เศษอิฐลงไปก่อนเพื่อให้เกิดช่องว่างของอากาศและระบายน้ำดี จากนั้นจึงเป็นชั้นของดินผสม เมื่ออากาศในดินไหลเวียนดี จุลินทรีย์ก็ทำงานได้ รากพืชสามารถชอนไช ส่งผลให้ระบบรากและต้นแข็งแรง เมื่อพื้นฐานเรื่องดินและน้ำดีแต่แรก ในระยะยาวจะได้ต้นไม้ที่แข็งแรงและดูแลง่าย
สวยด้วยและกินได้
มีสมุนไพรฝรั่งหลายชนิดที่หาได้ยากในท้องตลาด คุณโป้งจึงขยายพันธุ์ไว้ส่วนหนึ่ง นอกจากใช้ประกอบอาหารแล้วอีกส่วนยังไว้สำหรับใช้จัดสวน อย่าง ต้นทารากอน ไทม์ โรสแมรี่ เฉาก๊วยญวณ และลาเวนเดอร์หลากสายพันธุ์ อีกทั้งยังนำส่วนต่างๆมาใช้ประโยชน์หลากหลาย อย่าง กุหลาบมอญนำกลีบมาใช้ชงชา ต้นเฮนน่าหรือเทียนหอมนำใบมาใช้หมักผม
ยิ่งดูแลต้นไม้เหล่านี้ด้วยตัวเอง นานวันเข้าก็ยิ่งรู้ใจ “เราปลูกผักสมุนไพรหลากหลายชนิด และมีไม้ดอกแซมเข้าไปด้วย จึงเกิดความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่องโรคและแมลงส่วนใหญ่จะให้ธรรมชาติจัดการกันเอง อย่าง กุ้ยช่ายฝรั่งลองดมดูครับ กลิ่นคล้ายกระเทียม เมื่อปลูกร่วมกับกุหลาบ จะช่วยป้องกันเชื้อราให้กุหลาบได้” คุณโป้งกล่าว
คุณโป้งยังบอกอีกว่า โดยส่วนตัวแล้วยอมลงทุนกับสวนช่วงแรก โดยสร้างงานฮาร์ทสเคป ปรุงดิน และวางระบบน้ำให้ดี เพื่อต่อไปในระยะยาวจะช่วยให้สวนดูแลได้ง่าย
ผู้อ่านที่สนใจออกแบบสวนสวยกินได้เอง ลองเริ่มต้นศึกษาจากสวนรูปแบบกึ่งฟอร์มัลอย่างสวนนี้ก่อน แล้วแบ่งสัดส่วนพื้นที่ใช้งานและแปลงปลูกออกเป็นส่วนๆ จะช่วยให้ออกแบบได้ง่ายขึ้น หรือดูตัวอย่างสวนอื่นๆเพิ่มเติมได้จากหนังสือ Edible Garden สวนสวยกินได้ ช่วยให้คุณเกิดไอเดียใหม่ๆได้แน่นอนค่ะ
เรื่องที่น่าสนใจ