“น้ำผึ้ง”สารให้ความหวานจากธรรมชาติ ซึ่งถือเป็นยาอายุวัฒนะของไทยได้จากการ เลี้ยงชันโรง และผึ้ง ใช้แต่งรสยา เป็นยารักษาแผล บำรุงผิวพรรณ บำรุงหัวใจ แก้ไอ ฯลฯ มาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน
มีการศึกษาวิจัยคุณค่าของผลิตภัณฑ์จากผึ้งและการ เลี้ยงชันโรง เผื่อให้ได้น้ำหวานมากขึ้น นอกจากนี้มนุษย์ยังได้ประโยชน์จากผึ้งและ ชันโรง ในการช่วยเพิ่มผลผลิตในสวนแบบไม่ต้องพึ่งพาสารเคมี หนังสือ Garden & Farm Vol.6 มาเลี้ยงผึ้งและชันโรงกัน จึงนำเรื่องราวของแมลงนักผสมเกสรเหล่านี้มาให้ผู้สนใจได้รู้จักกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชันโรง”
ชันโรงเป็นแมลงขนาดเล็กอยู่ในวงศ์ Apidae เก็บน้ำหวานจากดอกไม้และละอองเกสรมาเป็นอาหารเช่นเดียวกับผึ้ง แต่ชันโรงไม่มีเหล็กใน จึงไม่ต่อยให้เราเจ็บปวด ทั่วโลกมีชันโรงมากกว่า 400 ชนิด ในทวีปอเมริกาใต้และทวีปเอเชีย สำหรับประเทศไทยพบเพียง 32 ชนิดและสามารถพบได้ทุกภาค
แต่ละภาคมีชื่อเรียกแตกต่างกันไป เช่น ภาคเหนือเรียกชันโรงที่มีขนาดเล็กว่า แมลงขี้ตึงหรือตัวขี้ตังนี ภาคใต้เรียก อุงหรืออุงแมงโลง แต่ชนิดที่มีขนาดใหญ่ภาคเหนือเรียก ขี้ย้า ส่วนภาคใต้เรียกว่า อุงหมี สำหรับภาคตะวันตกเรียก ตัวตุ้งติ้งหรือตัวติ้ง ภาคตะวันออกเรียก ชำมะโรงหรือแมลงอีโลม ส่วนคำว่าชันโรงคาดว่าเรียกตามพฤติกรรมการเก็บชันของแมลงชนิดนี้
การเลี้ยงชันโรงเพื่อใช้ประโยชน์อย่างจริงจังในประเทศไทยเริ่มเมื่อประมาณสิบกว่าปีที่ผ่านมา ช่วงแรกเลี้ยงกันที่จังหวัดสงขลา โดยลุงดาโห๊ะ หนิหะ เลี้ยงชันโรงในกระบอกไม้ไผ่โดยแขวนรังไว้รอบบ้าน และเก็บน้ำผึ้งชันโรงปีละครั้ง หลังเก็บก็ขยายรังไปพร้อม ๆ กัน อีกที่คือจังหวัดจันทบุรีและตราดที่ส่งเสริมการเลี้ยงชันโรงโดยศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตร จังหวัดจันทบุรี (ผึ้ง) จนปัจจุบันได้เผยแพร่ข้อมูลการเลี้ยงและแปรรูปผลิตภัณฑ์ชันโรงสู่เกษตรกรอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ที่นำแมลงเหล่านี้มาช่วยผสมเกสรเพิ่มผลผลิตในสวน
ในธรรมชาติสามารถพบปากทางเข้ารังชันโรง ซึ่งมีชันโรงงานคอยเฝ้าป้องกันศัตรูเข้ารัง เราสามารถพบรังชันโรงได้ทั้งในที่โล่งแจ้งเช่นเดียวกับการทำรังของผึ้งหลวง โพรงที่อยู่บนดิน เช่น โพรงต้นไม้ ตามรอยแตกแยกของหิน และโพรงใต้ดิน เช่น โพรงในรังปลวกหรือรังมด โดยมีลักษณะปากทางเข้ารังอยู่ 2 แบบ คือ รูปท่อ และรูปแตร
สำหรับชันโรงที่สามารถเลี้ยงในลังและให้ผลผลิตมี 4 ชนิด คือ ชันโรงขนเงิน (Tetragonula pegdeni) ชันโรงถ้วยดำ (Tetragonula laeviceps) ชันโรงปากแตรสั้น (Lepidotrigona terminata) และชันโรงปากแตรยาว (Lepidotrigona ventralis)
ชันโรงทั้ง 4 ชนิดมีลักษณะตัวคล้ายกัน มักอาศัยในโพรงธรรมชาติเหนือดิน เช่น โพรงในต้นไม้ อาคารบ้านเรือน แต่ละชนิดใช้เวลาเจริญเติบโตในแต่ละระยะแตกต่างกัน และมีลักษณะการสร้างรังรูปแบบต่างกัน ทั้งปากทางเข้ารังซึ่งเป็นท่อสั้นหรือยาว หรือรูปแตร อุโมงค์ทางเดิน รูปแบบการเรียงตัวของถ้วยตัวอ่อนหรือถ้วยไข่สำหรับบรรจุไข่ ตัวอ่อนระยะหนอนและระยะดักแด้ ถ้วยเกสรบรรจุเกสรดอกไม้ และถ้วยน้ำผึ้งซึ่งสร้างจากยางไม้ ใช้บรรจุน้ำหวานจากดอกไม้
เลี้ยงชันโรงทำอย่างไร
การเลี้ยงชันโรงเป็นอีกช่องทางของการเพิ่มผลผลิตพืชแบบปลอดสารพิษ แม้มีรายละเอียดไม่มากเท่าการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ แต่นักเลี้ยงต้องมีการจัดการที่ดี เพื่อให้ได้น้ำผึ้งชันโรงและพรอโพลิสสมดังตั้งใจ ใครชำนาญหน่อยก็ต่อยอดเลี้ยงเพื่อขายรังหรือให้เช่ารัง ซึ่งเป็นอีกอาชีพที่ดี
ชันโรงแต่ละชนิดมีวิธีจัดการรังคล้ายกัน ก่อนอื่นต้องดูว่าควรเลือกชันโรงชนิดใดมาเลี้ยง แนะนำให้เลือกชนิดที่ปรับตัวและทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดี อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ ไม่ดุร้าย มีความกระตือรือร้น นอกจากนี้นางพญาต้องไข่ได้ปริมาณมาก มีขนาดรังไม่ใหญ่เกินไป ขยายพันธุ์ง่าย โดยสถานที่ตั้งรังต้องมีพืชอาหารสมดุลกับปริมาณชันโรง ปลอดภัยจากลม สารเคมี และศัตรู
การจัดการรังชันโรง
- วางกล่องเลี้ยงบนขาตั้งที่ทาน้ำมันเพื่อป้องกันมด มีวัสดุปิดฝากล่องเพื่อป้องกันน้ำเข้ารังในช่วงฤดูฝน
- วางกล่องเลี้ยงกระจายในสวนเพื่อประสิทธิภาพในการผสมเกสรและหาอาหาร อัตราส่วน 4 รังต่อไร่
- เปิดรังตรวจสภาพภายในอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อดูการเจริญเติบโตของไข่และถ้วยอาหาร รวมถึงศัตรูต่าง ๆ หากอาหารไม่เพียงพอควรย้ายที่ ถ้าภายในรังชันโรงเจริญเติบโตจนเกือบแน่นกล่องเลี้ยง ค่อยแยกขยายพันธุ์ต่อไป
เทคนิคแยกขยายรังชันโรง
มักทำในช่วงที่มีอาหารสมบูรณ์ เพื่อชันโรงจะได้ใช้ในการเจริญเติบโต ทำได้ดังนี้
1 ตรวจดูปริมาณไข่ ดักแด้ ตัวเต็มวัย ว่าสมดุลและมีจำนวนพอสมควรจึงแยกรัง
2 ใช้มีดตัดกลุ่มไข่ ดักแด้ โดยให้มีตัวเต็มวัยประมาณครึ่งหนึ่งของของเดิม และนำหลอดนางพญาติดไปด้วย
3 ย้ายถ้วยเกสรและถ้วยน้ำผึ้งมาวางใกล้ปากทางเข้าออกรัง ในกล่องที่เตรียมไว้
4 นำชันมาแปะบริเวณทางเข้ารังเพื่อล่อตัวเต็มวัย ให้กลับเข้ารังที่ย้ายใหม่
หลังจากแยกขยายรังแล้ว ให้ปิดทางเข้าของรังเดิมด้วยชันหรือกระดาษแล้วย้ายออกไปไกลกว่าจุดเดิม 20-30 เมตร โดยนำรังที่แยกขยายใหม่มาตั้งแทนจุดเดิม เพื่อให้ชันโรงงานกลับเข้ารัง รอจนพลบค่ำจึงย้ายรังเดิมกลับมาที่เดิมพร้อมเปิดปากทางเข้ารัง แล้วนำรังใหม่ไปไว้ในที่ที่ต้องการ โดยห่างจากจุดเดิมไม่น้อยกว่า 50 เมตร และคอยระวังมดเข้าไปกินน้ำหวานและทำลายหลอดดักแด้ ซึ่งจะทำให้รังที่เพิ่งแยกขยายเสียหาย เพื่อให้การเลี้ยงประสบผลสำเร็จ นักเลี้ยงต้องจัดการรังให้แข็งแรง โดยหมั่นสังเกต ตรวจสภาพรังอย่างสม่ำเสมอ
Tips
- ขณะปฏิบัติงานต้องแต่งกายรัดกุมและใส่หมวกตาข่ายกันชันโรงกัด
- ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการแยกขยายรังคือช่วงมีแดดไม่เกิน 4 โมงเย็น เพื่อเผื่อเวลาให้ชันโรงออกไปหาน้ำหวานซ่อมแซมรังที่เสียหาย
- อุปกรณ์ที่ใช้และขั้นตอนการเก็บน้ำผึ้งต้องสะอาด ใช้มือสัมผัสโดยตรงน้อยที่สุด เพื่อให้ได้น้ำผึ้งชันโรงที่สะอาด มีสิ่งเจือปนตามธรรมชาติ เช่น เกสร ชัน และอื่น ๆ น้อยที่สุด มีความข้นและหนืดสูง และเก็บในอุณหภูมิห้องได้นานกว่า 6 เดือนโดยไม่ระเบิด ไม่เกิดส่าเหล้า
สำหรับการเก็บน้ำผึ้งชันโรงสามารถทำพร้อมกับการแยกขยายรังได้ โดยรวบรวมถ้วยน้ำหวานใส่ในภาชนะที่มีถุงพลาสติกรองรับอีกชั้นเพื่อความสะอาดและสะดวกในการเก็บ จากนั้นตัดมุมถุงที่เก็บถ้วยน้ำหวานชันโรงไว้ เทเฉพาะน้ำผึ้งผ่านกระชอนที่ซ้อนกัน 2 ชั้น โดยมีผ้าขาวบางวางแทรกไว้ตรงกลาง เพื่อให้น้ำผึ้งสะอาดปราศจากเศษชันหรือตัวชันโรงที่ตายแล้ว ก่อนนำน้ำผึ้งที่กรองแล้วไปตากแดดเพื่อลดความชื้นให้มีความเหนียวหนืดประมาณ 6-7 วัน ตักสารแขวนลอยบนผิวหน้าทุกวัน แล้วกรองด้วยผ้าอีกครั้ง บรรจุใส่ขวดที่ผ่านการนึ่งหรือฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้วเพื่อเก็บไว้รับประทานหรือจำหน่ายต่อไป
ติดตามเรื่องราวการเลี้ยงผึ้งและชันโรง โดยเฉพาะความรู้พื้นฐานและขั้นตอนการเลี้ยง จนกระทั่งได้น้ำผึ้งมารับประทานและจำหน่าย ได้ในหนังสือ Garden & Farm Vol.6 มาเลี้ยงผึ้งและชันโรงกัน
ขอขอบคุณ : ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดจันทบุรี (ผึ้ง) ตำบลมะขาม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ 0-3938-9244 และคุณสวัสดิ์ จิตตเจริญ กลุ่มอนุรักษ์ชันโรงผึ้งโพรงไทยบ้านทุ่งตลาด ตำบลวังแซ้ม อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี โทรศัพท์ 08-7127-1115
เรื่อง : วิรัชญา จารุจารีต / ภาพ : อภิรักษ์ สุขสัย
เรื่องที่น่าสนใจ