ลิ้นมังกร …เลี้ยงง่าย ช่วยลดมลภาวะ

“ ลิ้นมังกร ” เป็นไม้อวบน้ำในสกุล Sansevieria ซึ่งเป็นชื่อที่นักชีววิทยาชาวอิตาลี Vincenzo Petagna ตั้งขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้อุปถัมถ์ของเขาคือท่านเคานต์ Pietro Antonio Sansevierino

 

ลิ้นมังกรมีถิ่นกำเนิดในพื้นที่แห้งแล้ง ตามทุ่งหญ้าสะวันนาชายขอบทะเลทรายของทวีปแอฟริกาและบางส่วนในตะวันออกกลาง อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ลิ้นมังกร
ลิ้นมังกรมีชื่อสามัญว่า Mother-in-law’s Tougue หรือลิ้นแม่ยาย ที่เรียกตามลักษณะใบที่ยาวคล้ายลิ้น
ลิ้นมังกร
จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของลิ้นมังกรคือ ช่อดอกยาวชูตั้ง บานตอนกลางคืนพร้อมส่งกลิ่นหอมฟุ้ง
ลิ้นมังกร
ลิ้นมังกรเคอร์คิอาย ซิลเวอร์บลู (S. kirkii ‘Silver Blue’)
ลิ้นมังกร
ว่านงาช้างแมมมอธ (S. stuckyi) มีใบอวบและยาวกว่า 1 เมตร

 

ในเมืองไทยมีผู้นำเข้ามาปลูกเลี้ยงกันมายาวนาน โดยชนิดแรกๆ ที่รู้จักและนิยมปลูกประดับรอบบ้านคือ Sansevieria canaliculata ที่เรียกกันว่า ว่านงาช้าง หรือว่านงู และ S. trifasciata ซึ่งเติบโตได้ดีให้สีสันสวยงามในบ้านเรา ปัจจุบันเกิดการกลายพันธุ์เป็นลักษณะใหม่ที่ต่างจากเดิม เช่น ใบด่าง ใบสั้น ใบบิด หรือแคระ และเป็นหนึ่งในไม้ประดับของไทย ที่มีการปลูกเลี้ยงและมีการปรับปรุงพันธุ์ให้เกิดลูกผสมที่สวยงามขึ้นกว่าเดิมมากมาย  ดังเช่นลูกผสมพันธุ์แคระของคุณปราโมทย์ โรจน์เรืองแสง แห่งสวนอัญมณี  

หลังจากประสบความสำเร็จในการผลิตลูกผสมอโกลนีมาขึ้นมากมาย ราว 4-5 ปีที่ผ่านมาคุณปราโมทย์ได้ทดลองผสมเกสรลิ้นมังกรขึ้นเป็นครั้งแรก โดยเน้นต้นที่มีฟอร์มต้นเล็กกระทัดรัด สีสันสวยงาม แตกหน่อง่าย มาเป็นพ่อ-แม่พันธุ์  ซึ่งก็ได้ลูกไม้ใหม่ๆ ที่มีรูปลักษณ์ที่แตกต่างจากเดิมอย่างชัดเจนนั่นคือ ทรงต้นแคระ สูงไม่เกิน 5-10 เซนติเมตร บางต้นมีลายด่างบนใบ ใบเล็กป้อม ดูน่ารัก เหมาะปลูกเป็นไม้กระถาง ตั้งบนโต๊ะทำงานริมหน้าต่าง

 

ลิ้นมังกร
ลิ้นมังกรแคระ ลูกผสมจากสวนอัญมณี

 

ลิ้นมังกร
ลิ้นมังกรหางเม่นด่าง (S. francisii (variegated)

อีกทั้งมีงานวิจัยพบว่า พืชสกุลลิ้นมังกรมีคุณสมบัติพิเศษที่สามารถผลิตก๊าซออกซิเจนในช่วงกลางคืน และยังดูดซับสารพิษในอากาศได้ดี ช่วยลดมลพิษให้อากาศอีกด้วย ทั้งยังเป็นเป็นไม้ประดับสวนและไม้ในบ้านที่ปลูกเลี้ยงง่าย  แข็งแรงและทนแล้งได้ดี  ด้วยเทคนิคง่ายๆ ในการปลูกเลี้ยงลิ้นมังกรให้สำเร็จคือ  เตรียมดินปลูกที่ร่วนระบายน้ำดี  เลือกภาชนะที่มีขนาดเหมาะสม มีแสงแดดส่องถึงอย่างน้อยช่วงครึ่งวันเช้า  หรือพรางแสง 50 เปอร์เซนต์  รดน้ำสม่ำเสมอ ทุกเช้า-เย็น  เพียงเท่านี้ ลิ้นมังกรก็เติบโตได้ดี ผลิหน่อใหม่ให้ตัดแยกไปปักชำได้

ลิ้นมังกร

อย่าลืมให้ปุ๋ยบ้างเป็นบางทุก 1-2 เดือน  อาจเป็นปุ๋ยเกล็ดละลายน้ำ หรือปุ๋ยเม็ดละลายช้าก็ได้  สิ่งสำคัญคือ ควรให้ทีละน้อย แต่สม่ำเสมอดีกว่า ให้ทีละมากๆ รับรองว่า ต้นลิ้นมังกรของคุณจะมีทรงต้นสวยงาม พร้อมแบ่งปันให้กับเพื่อนบ้านได้แน่นอน

ลิ้นมังกร
หากดินปลูกแฉะจะทำให้ลิ้นมังกรเน่าตายได้ ควรเปลี่ยนดินใหม่ ตัดส่วนที่เน่าทิ้ง และรองก้นกระถางด้วยหินภูเขาไฟก่อนใส่ดินปลูก จะช่วยระบายน้ำได้ดีขึ้น

 

 

 

 

 

 

 

สั่งซื้อได้ที่นี่

 

เรื่อง : วิฬาร์น้อย / ภาพ : สำนักพิมพ์บ้านและสวน


เรื่องที่น่าสนใจ