มะลิสปา ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

มะลิวัลย์ ชัยบุตร กับการทำเกษตรเพื่อปลดหนี้ในวันที่ชีวิตติดลบ

ในชีวิตคนเราจะมีช่วงเวลาที่เลวร้าย ตกต่ำ หรือย่ำแย่ได้สักกี่ครั้ง สำหรับบางคนอาจจะเจอครั้งแล้วครั้งเล่า หรือเข็มนาฬิกาของบางคนอาจจะยังไม่พาไปถึงจุดนั้น แต่ที่แน่ๆ มันจะต้องมีบางช่วงบางจังหวะที่เราเผลอไปเหยียบกับดักของโชคร้ายจนอาจจะทำให้เกิดความพลิกผัน กลายเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตไปเลย

มะลิวัลย์ ชัยบุตร ก็เช่นเดียวกัน จากผู้หญิงคนหนึ่งที่เคยมีชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ในกรุงเทพฯ มีหน้าที่การงานรุ่งโรจน์ บทบาททางสังคมในอาชีพโปรแกรมเมอร์ มีเงินเดือนรายได้ที่ส่งเสียเลี้ยงดูลูกๆ ได้เป็นอย่างดี แต่วันหนึ่งเมื่อเธอตื่นขึ้นมาพร้อมกับหนี้ก้อนโตกว่า 6 ล้านบาทและสามีที่เคยเป็นเสาหลักของครอบครัวทิ้งเธอไป ทุกอย่างได้พังทลายลงมา รวมทั้งตัวเธอด้วย หนี้ก้อนโตไม่อาจจะเทียบเท่ากับความเจ็บปวดแสนสาหัสที่สามีเธอฝากไว้ ร่างกายและจิตใจที่เหมือนคนไร้วิญญาณต้องพักฟื้นเยียวยาโดยจิตแพทย์อยู่นานถึง 6 เดือน ลูกชายและลูกสาววัยเรียนต้องรับหน้าที่รักษาบาดแผลทางใจของผู้เป็นแม่ ทั้งๆ ที่พวกเขาควรให้ความสำคัญกับการศึกษามากกว่ามาคอยดูแลผู้ป่วยอย่างเธอ

“ตอนนั้นเราไม่เหลืออะไรเลย รู้สึกเป็นแม่ที่แย่ แต่ยังดีที่กลับบ้านถูก”

ท่องเที่ยวเชิงเกษตร มะลิสปา

ใบหน้าเปื้อนยิ้มของหญิงวัยห้าสิบปีฉายขึ้นหลังจากเล่ามาถึงช่วงเวลาที่ผ่านมรสุมชีวิตด่านแรก ก่อนเริ่มนับหนึ่งใหม่หลังจากฉุกคิดได้ว่าตนเองนั้นกำลังเป็นตัวถ่วงในชีวิตลูกๆ และเธอต้องกลับมาเป็นเสาหลักให้ครอบครัว ให้ลูกได้เรียนต่อ ชดใช้หนี้สินที่ติดตัวเธอมา 3 คนแม่ลูกจึงกลับมาสร้างชีวิตใหม่ที่บ้านบางหมาก จังหวัดชุมพร ในสวนมะพร้าวซึ่งเป็นที่ดินมรดกของครอบครัว

“หลังจากกลับบ้านมา เราก็ไปไหนไม่ได้ เพราะเราทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพฯนานถึง 30 ปี ไม่มีความรู้เรื่องเกษตรหรือสวนมะพร้าวเลย ที่แรกที่ทำให้เรามีชีวิตแบบนี้คือเกษตรเมือง ตอนนั้นได้คุณสังคม ชูสุข ซึ่งเป็นเกษตรตำบลบางหมาก เข้ามาแนะนำให้ปลูกพืชเศรษฐกิจที่ชาวบ้านละแวกนี้ปลูกกัน อย่างปาล์ม ผักหวานบ้าน แต่ด้วยสภาพจิตใจเราที่ยังแย่อยู่ ก็ทำตรงนั้นไม่เสร็จ แล้วต้องมาเจอกับปัญหามะพร้าวราคาถูกอีก เลยคิดหาหนทางแปรรูปมะพร้าวเพื่อเพิ่มมูลค่า จึงได้ลองทำเรื่องเวอร์จิ้นออยล์หรือน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น โดยใช้มะพร้าวจากสวนที่ราคาตกต่ำนี่แหละ”

ภาพจาก https://web.facebook.com/maliispa/

เหมือนว่าโชคชะตาเริ่มเข้าข้างเธอ หลังจากทดลองผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ออกจำหน่าย เดือนแรกขายได้ 4,000 บาท เดือนที่สองขายได้ 10,000 เดือนที่สามขายได้ 40,000 ยอดขายที่เติบโตขึ้นเป็นคำถามให้มะลิวัลย์ตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรต่อไป จนสุดท้ายคุณสังคมก็แนะนำให้ไปกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งเขาก็แนะนำให้เรียนโครงการ NEC ส่งเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพของกิจการ เรียนรู้การทำแผนธุรกิจเป็นเวลา 6 เดือนแบบจริงจัง และแผนธุรกิจของเธอได้นำเสนอที่โครงการของสสว.(สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก) ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พัฒนาปรับปรุงเรื่องแพ็กเกจให้น่าสนใจ จนได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ และนำผลิตภัณฑ์บินสู่ประเทศมาเลเซียเป็นครั้งแรก ก่อนกลับมาปรับปรุงพัฒนาแพ็กเกจใหม่ มีโลโก้โคโคเด้นซ์และเกิดเป็นแบรนด์มะลิสปา สินค้า OTOP ของตำบลบางหมาก

มะลิสปา ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

หลังจากสินค้ามะลิสปาส่งออกต่างประเทศ ผ่านไป 3-4 ปี กับยอดขายรวม 22 ล้านบาท มากกว่าหนี้ก้อนเดิม 6 ล้านที่เคยเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตเธอถึงเกือบ 4 เท่านั้น มะลิวัลย์ไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เธอมองว่าสิ่งหนึ่งที่สร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้เธอและครอบครัวคือการทำเกษตรกรรม

มะลิสปา ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

“มาทำภาคเกษตรตอนปี 2556 ที่ดินในสวนมะพร้าวเป็นท้องร่องสวน ปลูกอะไรไม่ได้เลย เราจึงค่อยๆ ถมที่โดยใช้ดินลูกรัง ได้เงินจากมะลิสปาก็นำมาถมดินทีละแปลง ทีละไร่ ตอนนั้นเริ่มต้นที่ปลูกมะนาวในท่อ ได้งบมาก้อนหนึ่งเพื่อทำตรงนี้เราก็ใช้วิธีเดิมคือ ผ่อนท่อเดือนละ 5 ท่อ จนได้ทั้งหมด 60 ท่อกระจายปลูกในสวน ไม่มีความรู้เรื่องนี้ก็ไปขอความรู้จากม.เกษตร ม.แม่โจ้ ม.ลาดกระบัง มทร.ศรีวิชัยสงขลา ไปขอดูงานวิจัยต่างๆ ที่เคยมีคนศึกษาไว้เพื่อเป็นองค์ความรู้สำหรับการทำเกษตร ในสวนจึงปลูกพืชผักหลายอย่างมากๆ ที่เห็นผลดีที่สุดคือเพาะเห็ดนางฟ้า เพาะเห็ดโรงหนึ่งใช้งบ 7,000 พอขายได้กำไรสร้างโรงที่ 2  ได้กำไรจากโรงที่ 2 ก็สร้างโรงที่ 3 จนมีโรงเรือนเพาะเห็ด 7 หลังด้วยกัน”

มะลิสปา ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

“หลังจากนั้นโรงเพาะเห็ดก็ขยายออกมากถึง 10 โรงเรือน แต่ด้วยความรู้เรามีน้อยเลยไปเชิญอาจารย์จากมทร.ศรีวิชัย สงขลา มาแนะนำเรื่องนวัตกรรมการเลี้ยงเห็ดโดยไม่พึ่งสภาพแวดล้อม เราก็มาศึกษาเชิงลึกว่าเก็บเห็ดช่วงไหนเห็ดจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง จนได้รับ GIP (Good Importing Practices) รับรอง ทำให้สามารถส่งขายที่ห้างสรรพสินค้าได้ ส่วนเห็ดที่ไม่ผ่านการคัดเลือกก็นำไปแปรรูปเป็นอาหารอื่นๆ เช่น นางฟ้าสะบัดงา ลูกชิ้นเห็ด เป็นรายได้อีกช่องทาง ”

มะลิสปา ปุ๋ยมูลไส้เดือน ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

แต่น่าเสียดายนักที่ตอนนี้โรงเรือนเพาะเห็ดต้องหยุดชะงักเพราะติดปัญหาเรื่องเวลา แต่ภายในสวนแบบผสมผสานของมะลิวัลย์ยังมีพืชผักที่ปลูกคละกันอีกหลายร้อยชนิด บางส่วนยังเป็นท้องร่องสวนมะพร้าวเดิมให้เห็น บางส่วนมีการถมดินเพื่อทำการเกษตรตามที่เจ้าตัวบอกเล่า ซึ่งปัญหาใหญ่ที่เธอเจอคือเรื่องดิน เพราะดินที่ใช้ถมที่นั้นเป็นดินลูกรังไม่สามารถปลูกพืชผักใดๆ ได้ แต่เธอต้องหาวิธีโดยเริ่มจากเรียนทำปุ๋ยไม่กลับกองจาก ม.แม่โจ้ เลี้ยงไส้เดือนเองให้ผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน เพื่อเป็นสารอาหารให้พืชผักในสวน และแบ่งขายได้ในราคากิโลกรัมละ 25 บาท บางช่วงเดือนมีรายได้จากตรงนี้ถึง 20,000 บาทเลยทีเดียว

“เราเคยลำบากจึงรู้ว่าเงินเพียง 500 หรือ 1,000 บาทก็สามารถทำธุรกิจใหม่ได้”

มะลิสปา ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

“เราเคยลำบากจึงรู้ว่า เงินเพียง 500 หรือ 1,000 บาทก็สามารถทำธุรกิจใหม่ได้ ถ้าอยากเป็นเกษตรกรที่พึ่งตัวเองได้ ให้ทำจากเล็กๆ แล้วค่อยๆ ทำ ผลผลิตจะตามมา อย่าใจร้อนลงเงินก้อนโต และให้ลงมือทำเรื่อยๆ ในช่วงที่มะพร้าวในสวนเริ่มมีผลผลิตน้อย เราก็เปลี่ยนมาเป็นบริหารจัดการศูนย์มะพร้าวแทน มาทำเรื่องผักกูด เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ทั้งไก่ไข่และไก่เนื้อ คนอาจจะมองไม่เห็นว่ารายได้มาจากตรงไหน แต่ลองคิดง่ายๆ ว่า เก็บพริกขายวันหนึ่งจะได้ประมาณ 4 กิโลกรัม ราคากิโลละ 100 บาท มะพร้าวเก็บเดือนละครั้งประมาณ 300 ลูก ราคาลูกละ 7 บาท ส่วนผักออร์แกนิกกระถางละ 10-50 บาท ทุกอย่างที่อยู่ในสวนเราขายได้หมดเลย มีช่วงที่มะนาวพร้อมขายเราเปิดขายทางโซเชียลมีเดียได้มากกว่า 1,000 ลูกและหมดในเวลารวดเร็ว”

มะลิสปา ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
ผักออร์แกนิกจากสวน // ภาพจาก https://web.facebook.com/maliispa/

“การขายสินค้าเกษตรอย่าให้ตลาดนำ เราต้องรู้จักวางแผนไว้เลยว่าช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน พริกจะราคาแพง ถั่วราคาแพง ปีใหม่เราต้องเริ่มปลูกแล้ว เราจะทำอย่างไรให้ช่วงนั้นผลผลิตที่เรามีออกตลาดเยอะๆ ถ้ามัวแต่ไปทำแข่งช่วงที่ผลผลิตล้นตลาด เกษตรกรเจ้าเล็กๆ อย่างเราก็สู้ไม่ไหวเช่นกัน และที่สำคัญการทำเกษตรถ้าคุณอยู่คนเดียวยังไงก็ไม่รอด จะต้องมีเครือข่ายคอยช่วยคุณ”

มะลิสปา ท่องเที่ยวเชิงเกษตร

ในระยะเวลาเพียง 6 ปี ดูเหมือนว่าการเรียนรู้อย่างจริงจังของมะลิวัลย์จะทำให้ภาพ “การทำเกษตรอย่างยั่งยืน” แสดงผลออกมาอย่างเด่นชัด ในสวนแห่งนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชมบ้านบางหมาก เป็นแหล่งศึกษาดูงานให้เกษตรกรรุ่นใหม่ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และเป็นวิสาหกิจชุมชนโดยกลุ่มเยาวชนในชุมชนในพื้นที่ เกิดเป็นเครือข่ายที่คอยสนับสนุนส่งเสริมซึ่งกันและกัน

 

ร่วมกิจกรรมเวิร์คชอปกับ มะลิวัลย์ ชัยบุตร  ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทอปกรีนเวอร์จิ้นออยล์ ในงาน Sustainable Brands (SB) การประชุมสัมมนาด้านความยั่งยืนของแบรนด์ระดับโลกที่ใหญ่ที่สุดในโลก วันที่ 25 -26 ตุลาคม ศกนี้ ณ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จังหวัดชุมพร สำรองที่นั่งได้ที่ www.sustainablebrandsbkk.com

 

เรื่อง : JOMM YB

ภาพ : เอกรัตน์ ปัญญะธารา